ประวัติศาสตร์ล้านนา - สมัยรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง (พ.ศ. 2427 – 2476)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
01/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

สมัยรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง (พ.ศ. 2427 – 2476)

  

การรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง รัฐบาลกลางวางเป้าหมายของการปฏิรูปการปกครองเพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว ในการดำเนินการจะต้องกระทำสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลส่งข้าหลวงมาปกครอง ขณะเดียวกันก็พยายามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเสีย โดยรัฐบาลกลางลิดรอนอำนาจของเจ้าเมืองก็สลายตัวไป ประการที่สอง การผสมกลมกลืนชาวบ้านล้านนาให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยเช่นเดียวกับ พลเรือนส่วนใหญ่ของประเทศ กล่าวคือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติซึ่งแต่เดิมมีความ รู้สึกแบ่งแยกเป็นคนละพวก คนทางใต้เข้าใจว่าชาวล้านนาเป็นลาวไม่ใช่ไทย รัฐบาลกลางใช้วิธีจัดการปฏิรูปการศึกษาโดยจัดระบบโรงเรียนหนังสือไทยแทนการ เรียนอักษรพื้นเมืองในวัด และกำหนดให้กุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยซึ่งประสบผลสำเร็จ ชาวเชียงใหม่และล้านนาต่างถูกผสมกลมกลืนจนมีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทย

การดำเนินการมีการ เปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา การสาธารณสุขและอื่น ๆ โดยจัดเป็นระบบเดียวกับกรุงเทพฯ ในทุกด้าน ระหว่างการปฏิรูปการปกครองในช่วงก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2427 – 2442) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 – 2439) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้า เมืองในทันที ยังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติแต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผล ประโยชน์ทีละน้อย รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาน โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่ ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้อง ส่งกรุงเทพฯ บอกจากนั้นป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานได้ถูกโอน เป็นของรัฐใน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว รับบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางเป็นอย่างดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 8 (พ.ศ. 2444 – 2452)

หลังจากการดำเนินงานช่วง แรก (พ.ศ. 2427 – 2442) ประสบความสำเร็จ รัฐบาลกลางได้ดำเนินการขั้นต่อมาโดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2442 – 2476) ซึ่งเป็นการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชของล้านนา โดยถือว่าหัวเมืองประเทศราชล้านนาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรอย่าง แท้จริง อำนาจการปกครองจะเป็นของข้าหลวงประจำเมืองต่าง ๆ โดยที่เจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติแต่เพียงในนามเท่านั้น ดังนั้นทั้งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ และเจ้าแก้วนวรัฐจึงยังมีฐานะเป็นประมุขของเมืองเชียงใหม่

ในด้านผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ รัฐบาลเข้าควบคุมมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป นอกจากนั้นยังจัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองเป็น 3 ส่วน คือ

1. เงินเดือน
2. เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้
3. เงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์
ซึ่ง รวม 3 ส่วนแล้ว ปีหนึ่งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จะต้องมีรายได้ไม่น้อยนัก ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้และเงินแทนเกณฑ์ ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มลดลงทุกปี ดังนั้นปี พ.ศ. 2451 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จึงขอพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำเดือนละ 20,000 บาท จึงมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และนับเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ในเวลา ต่อมา

ในสมัยรัชการที่ 7 ได้มีการกำหนดเป็นนโยบายการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทุกองค์ โดยถือว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เป็นต้นไป หากตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลง จะไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นอีก ส่วนเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนตลอดไปจนถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2482 จึงเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยปริยาย หลังจากนั้นเจ้านายฝ่ายเหนือผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และ ณ น่าน ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมืองซึ่งแสดงถึงอดีตดินแดนล้านนาเคยมีเจ้านาย และคนเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ยังเรียกเจ้านายบุตรหลานชั้นสูงว่า “ เจ้า ” และเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในพิธีกรรมสำคัญของบ้านเมือง เสมอ

นโยบายดึงอำนาจสู่สถาบันกษัตริย์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มเจ้านายเสียอำนาจอย่างมหาศาล ดังนั้นเมื่อเริ่มการปฏิรูปเจ้านายเมืองเหนือส่วนหนึ่งพยายามขัดขวางในรูป แบบต่าง ๆ เช่น สำแดงกิริยาผ่านทางม้าขี่ (คนทรงเจ้า) การทำหนังสือกราบบังคมทูล แต่ไม่เป็นผล ต่อมาจึงสนับสนุนกบฏพระญาผาบที่เชียงใหม่ พ.ศ. 2432 และกบฏไทใหญ่ที่แพร่ พ.ศ. 2445 ปฏิกิริยาของเจ้านายดังกล่าวคือความพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานะใหม่

เมื่อเจ้านายไม่อาจเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ จากสภาพฐานะการเมืองและเศรษฐกิจที่หดหายไป ทำให้เจ้านายต้องแสวงหารายได้ เช่น ทำป่าไม้ บุกเบิกขุดเหมือนทำฝายเพื่อให้เช่าที่นา สร้างตลาด และทำธุรกิจอื่น ๆ ตลอดจนเข้ารับราชการ