ชาติพันธุ์ล้านนา - ลาว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลาว

คำ ว่า ลาว ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนานอื่นที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นคำ นำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงว่าบุคคลผู้นั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าของชุมชน เทียบเท่ากับตำแหน่งกษัตริย์ของคนในกลุ่มนั้น บุคคลแรกที่ใช้คำนำหน้านามดังกล่าวก็คือ ลวจังกราช ซึ่งในการกำเนิดบุคคล ดังกล่าวนั้นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้ระบุว่าเป็น “...เทวบุตรตนหนึ่งชื่อลวจังกรเทวบุตร...” ซึ่งพระอินทร์ได้อาราธนาว่า “ ...ท่านจุ่งลงไพเกิดในมนุสสโลกเมืองตนที่เมืองเชียงลาวที่นั้น แล้วกระทำราชภาวะเปนท้าวพระญามหากระสัตร เปนเจ้าเปนใหย่แก่ท้าวพระญาทังหลายในเมืองล้านนาไท แลรักษายังวรพุทธสาสนาเทิอะ ว่าฉะนั้น... ”

เทวบุตรดังกล่าวถือ กำเนิดด้วยโอปปาติกปฏิสนธิ คือเกิดมาเป็นคนวัยหนุ่มในทันที มีชื่อว่า “ลวจังกรเอกราชะ” ในปีจุลศักราชที่ ๑ คือ พ.ศ. ๑๑๘๑ เมื่อได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์แล้วก็ได้ปกครองบ้านเมืองมีลูกหลานปกครอง เมืองสืบต่อมา ในตำนานฉบับเดียวกันนี้ได้กล่าวว่า “...พระยาลาวจงคือ ลวจังกราชะ” ซึ่งแสดงว่า ลวจังกราชะหรือลวจังกรเอกราชะ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ลาวจง” ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงษ์ลาว ซึ่งครองเมืองเชียงลาวหรือเชียงราว ในปี พ.ศ.๑๑๘๑ และมีการปกครองเมืองนั้นสืบมาโดยมีคำว่า “ ลาว ” นำหน้าชื่อต่อมาอีก คือ ลาวจง ลาวเล้าแก้วมาเมืองลาวเสา ลาวตั้ง ลาวกม ลาวเหลว ลาวกับ ลาวกืน ลาวเครียง ลาวกิน หรือลาวคริว ลาวทึง ลาวเทิง ลาวตน ลาวโฉม ลาวกวัก ลาวกวิน ลาวจง ลาวจอมผาเรือง ลาวเจือง (พระญาเจือง) ลาวเงินเรือง ลาวชื่น ลาวมิ่ง ลาวเมง และลำดับที่ ๒๕ ในราชวงศ์นี้คือมังราย ซึ่งมิได้ใช้คำนำหน้านามว่า “ ลาว ” แต่ไปใช้คำว่า “ พระญา ” แทน

ครั้นพระญามังรายอพยพลง มาจากเมืองเชียงราย ลงมาตีได้เมืองหริภุญชัย ในปี พ.ศ.๑๘๒๔ และสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ แล้วกษัตริย์หลังพระญามังรายก็ถือว่าเป็นราชวงศ์มังรายและใช้คำนำหน้านามว่า “ พระญา ” ซึ่งเป็นภาษามอญในยุคกลาง แปลว่ากษัตริย์เช่นเดียวกับคำว่า “ ลาว ” และในปริมณฑลของเชียงใหม่ก็มิได้ใช้คำว่า “ ลาว ” ในฐานะของคำที่มีความหมายว่ากษัตริย์อีกต่อไป

แต่กระนั้น คำว่า “ ลาว ” ในภาษาล้านนารุ่นเก่ายังมีความหมายว่าใหญ่ หรือใหญ่กว่าปกติ ส่วนในภาษาลาวปัจจุบันมีความหมายว่า มีเกียรติหรือยิ่งใหญ่ ซึ่งให้ความหมายสอดคล้องกัน ต่อมาเมื่อล้านนาติดต่อกับกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะแรกๆ นั้น ล้านนาโดยเฉพาะเชียงใหม่จะเป็นประเทศราช แต่ก็ได้เป็นเมืองสหายร่วมศึกกับกรุงรัตนโกสินทร์มาก่อน จึงยังไม่พบร่องรอยของการใช้คำว่า “ ลาว ” ในเชิงบวกหรือลบ แต่พบว่าในยุคที่มิชชันนารีอเมริกันซึ่งมาประกาศศาสนาที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น ก็เรียกบริเวณล้านนาว่า “ ลาว ” และเมื่อพิมพ์พจนานุกรมอักษรล้านนาแปลเป็นภาษาอังกฤษที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ก็เรียกว่า An English-Laos Dictionany อยู่ และพบว่าบันทึกการประชุมระดับสูงสุดของประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นมีการกล่าวคำว่า “ ลาว ” ด้วยทัศนะในเชิงลบ และยิ่งคำนี้ได้เป็นชื่อเรียกประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเจริญน้อยกว่าไทย ด้วยแล้ว
ก็พลอยทำให้คนทั่วไปมีความเข้าใจต่อคำนี้ในเชิงตรงกันข้ามกับความหมายดั้งเดิม

ในเรื่องคำว่า ลาว นี้ สรัสวดี อ๋องสกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา อย่าง ละเอียดครอบคลุมไปถึงแง่ที่เป็นชื่อของราชวงษ์ด้วย และว่าตามธรรมเนียมการเขียนวรรณกรรมล้านนานั้นจะนิยมใช้ภาษาบาลีแทรกในการ ดำเนินเรื่องเสมอ โดยเฉพาะชื่อบุคคลและชื่อสถานที่ซึ่งเป็นภาษาถิ่นหรือล้านนามักจะแปลงให้ เป็นภาษาบาลีอีกด้วย ซึ่ง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุ ชัดเจนว่าปฐมกษัตริย์ของราชวงษ์นี้ มีชื่อเป็นภาษาบาลีว่าลวจังกราชหรือลวจักราช และชื่อในภาษาล้านนาว่าลาวจง จากวิธีการดังกล่าว “ ลาวจง ” จึงเป็น “ ลวจังกราช ” “ ลาวจก ” เป็น “ ลวจักกราช ” และคำว่าลาวและ “ ลวะ ” นี้ทำให้มีคำอธิบายถึงเผ่าพันธุ์ที่มาของราชวงศ์แยกออกมาเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกมีความเห็นว่ากลุ่มลวจังกราชเป็นชาวพื้นเมืองมาก่อน โดยว่า “ ลว ” หมายถึงชนเผ่าลวะซึ่งอยู่ในที่สูง ส่วนฝ่ายหลังมีความเห็นว่ากลุ่มจังกราชคงเป็นไทยกลุ่มหนึ่ง ที่อพยพเข้ามาในดินแดนของลวะ โดยใช้หลักฐานจาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ กล่าวถึงลาวจงปฐมกษัตริย์เสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน แต่ทั้งนี้ก็ได้มีผู้ให้ความเห็นว่า ลาวจง หรือลาวจก เป็นชื่อที่ตำนานเก่าแก่ใช้ภายหลังมาแปลงชื่อเป็นภาษาบาลีว่า ลวจักกราช หรือ ลวจังกราช คำว่า “ ลาว ” นี้เองทำให้คนรุ่นหลังที่ไม่ถนัดภาษาบาลีไม่ทราบความเป็นมา ผู้เขียนตำนานสมัยหลังจึงมักอธิบายว่าลวะหรือละว้าไป และแต่งเรื่องอดีตชาตินับพันปีของลวจังกราชเป็นหัวหน้าชนเผ่าลวะ

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าว ว่าในครั้งที่พระเจ้าอนิรุทธมหาราชเชิญกษัตริย์ของเมืองต่างๆ ไปประชุมเพื่อตั้งศักราชใหม่ ประชาชนในเมืองเชียงลาวใกล้น้ำแม่สายไม่มีตัวแทน เพราะขาดกษัตริย์ปกครอง ซึ่งในการขาดกษัตริย์นี้สอดคล้องกับการสลายตัวของราชวงศ์สิงหนวัติ ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ “ พระอินทร์ ” จึงส่งลาวจงเทวบุตรลงมาในสภาพชายหนุ่มอายุ ๑๖ ปี ไต่บันไดเงินจากสวรรค์มาลงบริเวณดอยตุง พร้อมบริวาร ๑ พันคน ชาวเมืองเชียงลาวจึงยกลาวจงขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก นับเป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์ลาว ซึ่ง ชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกว่า “ วงศ์ลาว ”

คำว่า ลาว นี้ ปัจจุบันในล้านนามีการใช้อยู่บ้างในแง่คำวิเศษณ์ที่แปลว่า ใหญ่ หรือดีเป็นพิเศษ เช่น เรียกไหข้าว และกล่องใส่ข้าวขนาดใหญ่ทรงป้อมว่า ไหเข้าลาว และ กล่องเข้าลาว ดอกลั่นทมนั้นชาวล้านนาจะเรียก จุมปาลาว ซึ่งหมายถึงจำปาที่มีขนาดใหญ่และหอมเป็นพิเศษ ส่วนทางประเทศลาวนั้นยังคงใช้คำนี้ในคำแปลที่ว่า ยิ่งใหญ่ หรือมีเกียรติยิ่ง

ส่วน ลาว ที่ปรากฏในฐานะชื่อกษัตริย์ใน “ ราชวงศ์ลาว ” ที่ครองเมืองเชียงลาวเงินยางตามลำดับ ดังที่ระบุไว้ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ นับตั้งแต่ พ . ศ . ๑๑๘๑ มีดังนี้

•  ลาวจง ครองเมือง ๑๒๐ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ . ศ . ๑๓๐๒

•  ลาวเล้าแก้วมาเมือง ครองเมือง ๔๕ ปี

•  ลาวเสา ครองเมือง ๓๘ ปี

•  ลาวตั้ง ครองเมือง ๒๖ ปี

•  ลาวกม ครองเมือง ๑๘ ปี

•  ลาวเหลว ครองเมือง ๑๖ ปี •  ลาวกับ ครองเมือง ๑๕ ปี •  ลาวกืน ครองเมือง ๑๗ ปี •  ลาวเครียง ครองเมือง ๑๖ ปี

•  ลาวกิน หรือลาวคริว ครองเมือง ๒๐ ปี •  ลาวทึง ครองเมือง ๑๕ ปี •  ลาวเทิง ครองเมือง ๒๐ ปี •  ลาวตน ครองเมือง ๑๗ ปี

•  ลาวโฉม ครองเมือง ๒๑ ปี •  ลาวกวัก ครองเมือง ๒๗ ปี •  ลาวกวิน ครองเมือง ๑๕ ปี •  ลาวจง ครองเมือง ๑๖ ปี

•  พระญาจอมผาเรือง ( ที่ไม่มีคำว่าลาวนำหน้าเพราะเป็นน้องของลาวชื่น แต่ลาวชื่นมิได้ครองเมือง ) พระญาจอมผาเรือง ครองเมือง ๑๘ ปี

•  ลาวเจือง ขุนเจือง พระญาลาวเจือง ซึ่งเป็นกษัตริย์ลาวผู้มีอนุภาพปราบไปถึงเมืองแกวและมีเรื่องราวของท่านค่อน ข้างมาก ครองสมบัติ ๔๑ ปี

•  ลาวเงินเรือง ครองเมือง ๒๖ ปี •  ลาวชื่น ครองเมือง ๒๑ ปี •  ลาวมิ่ง ครองเมือง ๒๑ ปี •  ลาวเมง ครองเมือง ๔๑ ปี เป็นองค์สุดท้ายในราชวงศ์ลาว

บุตรของลาวเมงคือมังราย ประสูตรเมื่อ พ . ศ . ๑๗๘๑ หรือประมาณ พ . ศ . ๑๗๘๒ ครองราชย์เมื่อ พ . ศ . ๑๘๐๒ และต่อมาใช้คำเฉลิมนามว่า “ พระญา ” เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ( ดูประกอบที่ พระญา และ ลวะ )

การคลอดบุตร หมอตำแยเป็นผู้ตัดสายสะดือโดยใช้ผิวไม้รวก ใส่รกในกระบอกไม้ผสมด้วยเกลือ ผู้เป็นเจ้าของรกระหว่างอยู่ไฟต้องหมั่นเอาไม้ตำรกในกระบอกเพื่อให้เน่า แล้วจึงนำไปห้อยบนกิ่งไม้ การที่ทำเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รกนั้นมารังควานเด็กที่เกิดใหม่ หรือเรียกว่าไม่ให้มารังควานน้อง การอยู่ไฟใช้ไม้สุมให้เกิดความร้อนแล้วผู้อยู่ไฟนอนริมกองไฟนั้น พร้อมทั้งกินยารากไม้ต้ม การรับขวัญเด็ก ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนรับขวัญ มีมัดมือให้อายุมั่นขวัญยืน ใช้นมมารดาเลี้ยงเด็ก

ชาวหลวงพระบางนับถือ ศาสนาพุทธ ในระหว่างเข้าพรรษา ทุกวันพระ มีการไปวัดตักบาตร ตอนบ่ายฟังเทศน์ ถ้าคนเฒ่าคนแก่ที่ศรัทธาในศาสนามาก ก็มีการนอนวัดด้วยกับขนบธรรมเนียมในเรื่องศาสนาไม่ผิดกับไทย เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองที่รักษาวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมไว้อย่างดียิ่งถ้าเรา ไปถึงถิ่นจะเห็นว่าวัดวาอารามและขนบธรรมเนียมยังอยู่ในเมืองนี้อย่างพร้อม มูล การศาสนาก็เคร่งครัด เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาทางพุทธศาสนามาก ไม่มีวัดหรือโบสถ์ศาสนาอื่น แม้ว่ามีชาวต่างประเทศเข้าไปเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีต่างๆ ก็หามีผู้นิยมนับถือศาสนาอื่นไม่

เมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่ตาย บรรจุในโรงศพที่ประดับด้วยกระดาษซึ่งตัดเป็นรูปดอกและลวดลายต่างๆ เพื่อนบ้านใกล้เคียงจะมาเยี่ยมศพ และเล่นการพนันกันด้วย ศพใช้วิธีฝัง การทำบุญให้คนตายนั้น ถ้าเป็นคนมั่นมีก็ทำกัน เช่น อุทิศข้าวของ เช่น หมอน เตียง ให้แก่พระสงฆ์

การเดินทางไปหลวงพระบาง ใน การจะทำหลวงพระบางนี้ ออกจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยเรือยนต์ล่องไปตามลำน้ำโขง ผ่านผาถ่าน ผากันตุง ประมาณ ๓ ชั่วโมง ก็ถึงห้วยทรายของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ฝากตรงกันข้ามอำเภอเชียงของ พักอยู่ที่นั่น ๑ คืน รุ่งขึ้นออกเดินทางไปพักบ้านท่าคุณ ไปถึงหลวงพระบางตอนบ่าย ระหว่างทางจะผ่านเกาะแก่งต่างๆ มากมาย เช่น ผาไหล โคกต๋ม ดอนตื่น ปากสิด แก่งและดอกเทศ ดอนเขื่อน ผาโค้ง แก่งพาก ผานาง แก่งห่าง โคกตัน บ้านลาดหาน ปากเสือง จะพบหมู่บ้านชาวลาว ชาวลื้อ ชาวข่ามุ ฯลฯ ตลอดทางมีภูเขาสองฟากแม่น้ำโขง เป็นภาพธรรมชาติที่สวยงามมาก

ในจังหวัดเชียงราย ชาวหลวงพระบางอาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำโขง ที่อำเภอเชียงแสน เชียงของ ในเขตอำเภอเทิง มีหมู่บ้านชาวหลวงพระบางอยู่ ชื่อบ้ายห้วยกั้ง ติดต่ออำเภอเมืองทางตำบลห้วยสัก หมู่บ้านนี้มีการปลูกต้นหม่อนเลี้ยงไหม และยังนิยมใช้จารีตประเพณีดั่งเดิมของเขาอยู่อย่างพร้อมมูล รวมทั้งการแต่งกายและภาษาที่พูดด้วย เป็นที่น่าพึงสังเกตว่าชาวลวะหรือชาวหลวงพระบางก็ดี เวลาอยู่ในหมู่บ้านของเขาจะพูดภาษาเดิม แต่พอเข้าไปในเมืองหรือต่างหมู่บ้านของเขาจะพูดภาษาล้านนา ซึ่งจะให้เข้าใจว่าเป็นชาวเหนือ อย่างไรก็ตามชาวหลวงพระบาง ชาวลื้อ ชาวไทใหญ่ ก็คือคนไทย ( ดูเพิ่มที่ หลวงพระบาง , เมือง )

( ปรับปรุงจาก “ ลาวอินโดจีน ” ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ใน ๓๐ ชาติในเชียงราย , ๒๔๙๓ หน้า ๒๓๗ – ๒๗๑ )