วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ข่า

เป็นชนอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ในหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ นับข่าเป็นชาวเขาอีกกลุ่มหนึ่ง โดยถือว่า ข่า เป็นชื่อเรียกชาวเขาปลายกลุ่มซึ่งมิใช่พวกที่ได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ข่ามุ-ขมุ ข่าค้อ-อีก้อ และข่าบิด เป็นต้น หากเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิจากจีนแล้วจะเรียกว่า แข่

ข่าเป็นกลุ่มขนที่มีความเป็นมายาวนาน เล่าเป็นนิยายปรัมปราเรื่อง อมแปกอมแงน ซึ่งกล่าวถึงน้ำท่วมโลกว่า มีสองพี่น้องชายหญิงพากันไปขุดตุ่น (บ้างว่าขุดอ้น) เมื่อพบตัวตุ่นแล้วก็ทราบว่าจะเกิดน้ำท่วมโลก ตัวตุ่นบอกให้สองพี่น้องหลบเข้าไปข้างในกลอง ดังนั้นเมื่อถึงบ้าน สองพี่น้องจึงได้ทำกลองขนาดใหญ่แล้วหลบเข้าไปอยู่ข้างใน ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมโลก ผู้ตนตายหมด เหลือแต่สองพี่น้องคนที่อยู่ในกลอง จากนั้นสองพี่น้องจึงแยกย้ายกันไปมาคู่ครอง แต่ไม่พบใครรอดชีวิต ดังนั้นสองพี่น้องจึงตกลงอยู่กินกันฉันสามีภรรยา หลังจากนั้น 3 ปี ก็มีบุตรคลอดออกมาเป็นน้ำเต้า จึงนำไปแขวนไว้ข้างเตาไฟ ในขณะที่สองสามีภรรยาไปทำงานในไร่ ก็ได้ยินเสียงผู้คนร้องอยู่ในน้ำเต้าลูกนั้นหลายคราว วันหนึ่งผู้เป็นสามีจึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะรูผลน้ำเต้า ทันใดนั้นก็ได้มีผู้คนพากันเบียดเสียดกันออกมาจำนวนมาก เขาจึงใช้สิ่วเจาะอีกรูหนึ่งให้กว้างขึ้น ผู้คนที่เหลืออยู่ก็พากันกรูออกมาตามรูที่เจาะ บรรดาผู้คนที่ออดมาก่อนจึงมีผิวคล้ำเพราะต้องเบียดเสียด สีกับเขม่าไฟ ซึ่งเชื่อว่าต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าข่า ถือเป็นผู้อ้ายหรือพี่ของชนเผ่าอื่น ส่วนชนเผ่าไท-ลาวและเผ่าอื่น ๆ ซึ่งออกมาตาม

ช่องที่ใช้สิ่วเจาะจึงมีผิวขาวและถือ เป็นผู้น้อง นิยายปรัมปราเรื่องนี้เล่าสืบต่อกันเป็นหลายกลุ่ม มีเนื้อหาแตกต่างกันไปบ้าง เช่น เผ่าลาวมีนิทานเรื่องน้ำเต้าปุงซึ่งกล่าวถึงเรื่อง น้ำท่วมโลกในทำนองเดียวกัน ( ประชัน รักพงษ์ การศึกษาสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนในเขตเส้นทางสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย -ลาว-จีน 2537 หน้า 169 )

ข่าแบ่งเป็นหลายพวก เช่น ข่ามุ ข่าเมต ข่าฮอก ข่าเกี่ยว ข่าเพน ข่าลอก ข่าก้อ ข่าปอก ข่าน้อย ข่ากะเวน ข่าวะ ฯลฯ ในที่นี้กล่าวเฉพาะกลุ่มใหญ่ 3 พวกแรกคือ ข่ามุ ข่าเมต และข่าฮอก