วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

กุ่ย

กุ่ย เป็นชื่อเฉพาะของชนเผ่าลาวสูงกลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า ซึ่งมีคำศัพท์และสำเนียงภาษาพูดคล้ายกับภาษามูเซอและอีก้อ เผ่ากุ่ยมีวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ล้าหลังกว่าชนเผ่าอื่น ๆ อาศัยอยู่ในเขตภูดอยที่ห่างไกลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาวในเขตเชียงแขง ต่อมาได้หนีภัยสงครามอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองสะโบกบ่อ สบโหลย ในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เผ่ากุ่ยมีหลายตระกูล เช่น พอส้าง พอหน่อ พอจะใหม่ พอหวัง พอนังหล้า พอหล้าแลว เป็นต้น

การตั้งบ้านเรือน

ชนเผ่ากุ่ยจะเลือกตั้งบ้าน เรือนอยู่ตามไหล่เขาสูงที่มีน้ำห้วยไหลผ่าน ไม่นิยมอาศัยอยู่ในเขตที่ราบ ลักษณะของบ้านเป็นเรือนแบบชั่วคราว ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ยกพื้นสูงจากพื้นดินราว 1.0 – 1.5 เมตร เสาเรือนมีขนาดเล็กทำด้วยไม้จริง มีห้องนอน 3 -4 ห้อง แยกห้องนอนชาย – หญิง สามี – ภรรยา จะนอนแยกกันคนละห้อง แต่จะมีประตูเปิดเชื่อมติดต่อกันได้หลังคาบ้านมุงด้วยใบหวาย ใบก้อหรือนำไม้เฮียะ (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง) มาสับเป็นฟากมุงหลังคา ฝาและพื้นบ้านทำด้วยฟาก ตัวเรือนมีประตูเข้า 1 ประตู ครัวไฟอยู่ในเรือนจะเก็บสิ่งของเครื่องใข้ไว้ในเรือน เบื้องหัวนอนมีหิ้งผีเรือน ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปเตะต้อง ถ้าฝ่าฝืนจะถือว่าผิดจารีตอย่างหนักจะต้องถูกปรับไหมและฆ่าหมูเซ่นเลี้ยงขอ ขมาผีเรือน

ประเพณีที่สำคัญในรอบปี

เทศกาลสำคัญมี 4 ประเพณี ได้แก่

1. กินวอหลวง เรียกว่า “ คอสะโลง ” เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของเผ่ากุ่ย จัดขึ้นปีละครั้งหลังฤดูเก็บเกี่ยว ราวเดือนธันวาคมของทุกปี ในเทศกาลคอสะโลจะทีการเซ่นบูชาผีเรือนเป็นพิเศษ ทุกหลังคาเรือนจะฆ่าหมู ฆ่าไก่ และต้มเหล้าเซ่นถวายผีเรือนแลเตรียมไว้เลี้ยงแขก ชาวบ้านจะหยุดงานทั้งหมู่บ้ายเพื่อเฉลิมฉลองเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน หนุ่มสาวจะลงข่วงมีการละเล่นต่าง ๆ อย่งสนุกสนาน ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสเลีอกคู่ครองไปด้วย

2. กินวอข้าวโพด เรียกว่า “ คอบาแจะ ” เป็นการตำผลผลิตข้าวโพดมาต้มเซ่นบูชาผีเรือน จัดขึ้นราวเดือนมิถุนายน ประกอบพิธีกรรม 1 วัน

3. บุญกินเผือกกินมัน เรียกว่า “ คอพาสาด ” จัดขึ้นในราวเดือนกันยายน แต่ละบ้านนึ่งเผือกมันและนำเทียน 1 คู่ ไปรวมกันที่บริเวณที่จัดเลี้ยงผีบ้านซึ่งอยู่ทางหัวบ้าน จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีจุดเทียนกล่าวคำบูชาเผือกมันถวายแก่ผีฟ้าเพื่อขอความ คุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ให้เผือกมันเจริญงอกงามดีในปีต่อ ๆ ไป จากนั้นก็ร่วมกันกินเผอกกินมันเป็นเสร็จพิธี งานบุญกินเผือกกินมัน หรือคอพาสาด เป็นพิธีกรรมที่เก่าแก่ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษในยุคที่กิน เผือกกินมัน แม้ว่าในปัจจุบันจะรู้จักการปลูกข้าวแบบยังชีพและเลี้ยงสัตว์ ก็ยังขุดเผือกมันไว้กินในยามที่ขาดแคลนข้าวบริโภค ชนเผ่ากุ่ยมัหลักในการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย โดยมีคติว่า “ ป่าใดถ้าหมูป่ามีชีวิตอยู่ได้ไม่ตาย ชนเผ่ากุ่ยก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ตายเช่นเดียวกัน “ ทั้งนี้เพราะการดำรงชีวิตของเผ่ากุ่ยผูกพันอยูกับป่า ต้องแสวงหาเผือกมันและอาหารจากธรรมชาติ

4. บุญกินข้าวใหม่ เรียกว่า “ ติชิ “ ประกอบพิธีกรรมในเดือนตุลาคม หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวไร่ โดยแต่ละหลังคาเรือนจัดเตรียมนึ่งข้าวใหม่ เนื้อหมู ไก่ 1 ตัว เหล้า 1 ขวด นำไปรวมกันที่บริเวณข่วงของบ้าน จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีกล่าวคำบูชาผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือนให้มาชุมนุมร่วมกันรับเครื่องเซ่นถวาย เสร็จชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกัน มีการเต้นรำขับลำนำโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานถึง 3 วัน 3 คืน