วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ยาง (อ่าน “ ญาง ” )

ยาง หรือ กะเหรี่ยง หรือระยะหลังนิยมเรียก ปากะญอมีหลายพวกคือ ยางกะเล ยางขาว ยางคง ยางน้ำ ยางดอย ยางสวย กะบาน ฯลฯ กลุ่มชนเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามป่าห่างจากเขตความเจริญ บางพวกอาศัยอยู่บนเนินเขา เช่น ยางดอย หรือกะเหรี่ยงเขา ชาวล้านนานิยมจัดกลุ่มชาวยาง เป็นสองกลุ่มง่าย ๆ คือ ยางแป (อ่าน “ ญางเปียง ” ) หรือกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามพื้นราบ

ปัจจุบันยางหรือ กะเหรี่ยงอยู่ด้านจังหวัดชายแดน ไทย-พม่า ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลตะนาวศรีของพม่า เหตุที่กระจายไปอยู่หลายแห่ง เนื่องจากสมัยโบราณกาลได้เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า แต่ละครั้งพวกกะเหรี่ยงได้หลบหนีภัยไปอยู่ถิ่นอื่นบ้าง ถูกพม่ากวาดต้อนเอาไปเป็นเชลศึกบ้าง พวกที่ถูกกวาดต้อนเอาไปเป็นเชลย ช่วงประมาณ พ.ศ. 2490 มีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่แถบตะโก้ง (ร่างกุ้ง) หงสาวดี อังวะ ตองอูและมณฑลตะนาวศรี สหภาพพม่า ที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อย และต่างกระจายกันอยู่ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เช่น ภาคเหนือมีอยู่ที่อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นส่วนมาก จังหวัดเชียงราย อยู่ที่อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมือง อำเภอแม่จัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอื่น เช่น กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ฯลฯ แต่โดยเหตุที่ชนชาติยางหรือกะเหรี่ยงนี้ได้กระจายกันไปอยู่หลายแห่งเป็นเวลา นานแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนภาษาและเครื่องแต่งกายของชาวยางในแต่ละถิ่นจึงแตกต่างกันไปบ้าง
ยางหรือกะเหรี่ยงเป็น ชนกลุ่มใหญ่ และมีประชากรอยู่เป็นจำนวนมากในเขตพม่า ชนกลุ่มนี้ได้ก่อความยุ้งยากแก่ทางพม่า โดยทำการสู้รบกับกองทหารของรัฐบาลอย่างเรื้อรัง โดยอาศัยธรรมชาติที่เป็นป่าเขาทำการต่อสู้กับทหารพม่าแบบกองโจร แต่ชนกลุ่มนี้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนไม่ได้นานก็จะแตกแยกไป เพรามีความคิดเห็นในทางศาสนาจารีตประเพณีต่างกัน

ยางหรือกะเหรี่ยงพวกต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้

ยางกะเลอ

ยางกะเลอ เดิมเป็นกลุ่มที่ชาวล้านนาทั่วไปเห็นว่าไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องความ สะอาด ชนในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพบในเขตอำเภอแม่จัน คือบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ตำบลปงน้อย มีอยู่ตระกูลเดียวคือ ตระกูล “ ก้างยาง ” มีประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้มียางกะเลอจำนวน 40 ครอบครัวอพยพจากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ไปตั้งย้ายเรือนอยู่บ้านดอยหมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมีหมื่นพรหมเป็นหัวหน้า ครั้นภายหลังมีผู้อพยพติดตามมามากขึ้นทุกที จึงแยกออกเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านชื่อว่า “ บ้านห้วยสัก ” หรือบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลปงน้อย

ส่วนที่มาแห่งตระกูล “ ก้างยาง ” นั้น คือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 พระแสนสิทธิเขตร นายอำเภอแม่จัน ไปตรวจราชการและได้แวะเยี่ยมเยียนหมู่บ้านยางกะเลอแห่งนี้ ท่านได้ถามถึงชื่อนามสกุล ปรากฏว่าทุกคนต่างไม่มีนามสกุล ท่านจึงตั้งให้ว่า “ ก้างยาง ” โดยถือเอาชื่อของ บิดาหมื่นพรหม ซึ่งชื่อว่านายก้างเป็นต้นตระกุล พวกยางกะเลอ 2 หมู่บ้านนี้จึงใช้นามสกุล “ ก้างยาง ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ชาวยางกะเลอชอบตั้งบ้าน เรือนอยู่ในที่สูง เป็นเนินเตี้ย รอบบ้านเป็นป่าโปร่ง ไม่มีรั้วรอบหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านจะมีศาลเจ้าอันเป็นที่ประทับของดวงวิญญาณผีหมู่บ้านอยู่ข้าง ต้นไม้นอกหมู่บ้าน ในการเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้านนั้นจะให้หมอผีหรืออาจารย์ประจำหมู่บ้านทำ พิธีเสี่ยงทายโดยการปักกระดูกไก่ ว่าที่ตรงนั้นควรจะตั้งหมู่บ้านหรือไม่ ถ้าปักกระดูกไก่ส่อแสดงไปในทางไม่ดี ก็ไปหาทำเลตั้งบ้านในที่ใหม่ ถึงแม้พื้นที่ตรงนั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและดินเหมาะแก่การเพาะปลูกก็ตาม
บ้านของชาวยางกะเลอ มีแบบแปลนคล้ายคลึงกับบ้านชาวเหนือตามชนบท คนที่มีฐานะดีก็ทำบ้านด้วยพื้นไม้ฝากระดาน หลังคามุ้งด้วยกระเบื้องไม้สัก (แป้นเกล็ด) ส่วนที่ฐานะรองลงมาก็ปลูกบ้านเรือนด้วยเสาไม้แก่นพท้น ฟากฝาสานขัดแตะ หลังคามุงด้วยใบคาที่กรองเป็นตับ ๆ ห้องครัวนิยมทำไว้ห้องเดียวกันกับห้องนอน เล้าไก่ และคอกหมูทำให้แข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย เช่น เสือ เสือปลา งู ฯลฯ ส่วนหมูนั้นจะปล่อยให้หากินตามลำพังในป่ากลางวัน เวลากลางคืนต้องขังไว้ในคอก

อาชีพของยางกะเลอ คือการทำนา ทำไร่ ปลูกพืช เช่น พริก ฝ้าย ข้าวโพด ข้าง ฟัก แตง ผักกาด ฯลฯ และเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ภายในครอบครัว เพราะตำบลที่ชาวยางกะเลออยู่กันดารและห่างไกลจากถนน ไม่ค่อนมีการติดต่อกับตำบลอื่น ๆ การทำนา ทำไร่ ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ทำกันแต่พอกิน

การเลี้ยงสัตว์ มี วัว ควาย หมู กลางคืนเอาหมูใส่คอกไม้ขังไว้อย่างแน่นหนา เพราะเกรงสัตว์ร้ายมารบกวนทำอันตราย ในเวลากลางวัน เมื่อให้อาหารแล้วก็ปล่อยให้ไปหากิน การล่าสัตว์ของชาวยางกะเลอใช้หน้าไม้ ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา เป็นอาวุธ

ตามปกติผู้หญิงมีหมูแม่ เล้าอยู่ 1 ตัว ถ้าตัวหนึ่งตายลงก็ต้องหามาเลี้ยงแทนใหม่ ถ้าเจ้าของตายก็จะเอาหมูตัวนั้นเซ่นศพแล้วนำมาเลี้ยงแก่ชาวบ้าน เหลือจากชาวบ้านรับประทานก็เอาไปทิ้งในป่าพร้อมกับศพ ไม่เอาหมูส่วนที่เหลือไว้ในบ้านเพราะถือว่าเป็นสมบัติของผู้ตาย การเลี้ยงหมูนั้น จะเลี้ยงไว้ 3 อย่าง คือเลี้ยงไว้เพื่อแต่งงาน เลี้ยงไว้เพื่อเป็นเพื่อนตายและเลี้ยงเพื่อไว้ฆ่ารับประทาน

เครื่องแต่งตัวตามขนบ ธรรมเนียมดั้งเดิมของเขา ผู้ชายนุ่งโสร่งตาขาวสลับแดงเป็นตารางเล็ก ๆ ส่วนเสื้อมีสองแบบ แบบหนึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองสีน้ำเงินเข้ม ย้อมด้วยใบห้อมเป็นสีคราม เสื้อผ่าอก มีคอกปกเสื้อลักษณะคล้าย ๆ กึ่งเสื้อกุยเฮง เสื้อเชิ้ตแขนสั้น อีกแบบหนึ่งใช้ผ้าขาวพื้นเมืองสองชิ้นเย็บต่อกันเป็นรูปเสื้อ แล้วผ่าตรงรอยเย็บพอสวมลงไปได้ คล้ายเสื้อแฟชั่นของสตรีสมัยโบราณที่ผ่าอกผ่าหลัง แต่มาในปัจจุบันนิยมนุ่งแบบไทย

สำหรับเครื่องแต่งตัวของ ผู้หญิงที่มีสองแบบ คือหญิงโสดตามประเพณีของเขาสวมเสื้อมีลักษณะคล้ายกระโปรงยาวเพียงแต่ไม่มี รอยจีบหรือคาดด้วยเข็มขัดหรือรัดด้วยผ้า ทั้งเสื้อและผ้านุ่งเป็นชิ้นเดียวกัน ปลายแขนและคอขลิบด้วยด้ายสีแดง

เครื่องแต่งกายของ ผู้หญิงที่มีสามี หรือหญิงที่ผ่านการมีสามีมาแล้ว ตามประเพณีบังคับให้สวมซิ่นสีแดงสลับขาวสลับสีน้ำเงินเข้มเป็นลายขวาง ส่วนเสื้อใช้ผ่าคอแบบชายแต่ประดัยด้วยลูกเดือยหิน ซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสารแต่ขนาดโตและยาวกว่าร้อยด้วยเส้นด้าย และเย็บติดเสื้อตั้งแต่ข้างล่างขึ้นไปถึงราวนม เย็บเป็นตาสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเล็ก ๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนบนขึ้นไปปล่อยทิ้งไว้ ส่วนปลายแขนและคอขลิบด้วยเส้นด้ายสีแดง
เครื่องแต่งตัว ของเด็กทั้งหญิงหรือชาย เมื่อยังเล็กอยู่สวมเครื่องแต่งกายแบบสาวพรหมจารี เว้นแต่เด็กผู้ชายมีอายุสูงกว่า 7-8 ขวบขึ้นไป มักแต่งกายแบบไทย เครื่องประดับกายอย่างอื่นนิยมสวมกำไลมือโลหะเงิน มีลักษณะเป็นวงกลมเป็นเกลียวโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ที่หูใส่ห่วงหรือต่างหูซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “ ลาน ” ตรงรอยเจาะหรือบางทีใส่ปิ่นหรือลานหู ผู้ชายไม่นิยมใช้ ชอบทัดแต่ดอกไม้ผู้หญิงใช้ดอกไม้เหน็บแซมผม

ยางหรือกะเหรี่ยงมีอยู่ หลายพวกด้วยกัน แต่ละพวกมีภาษาเป็นของตนเองคล้ายกัน พวกยางกะเลอภาษาพูดคล้ายภาษาพม่า ดังจะยกมาเป็นตัวอย่าง คือ อ่อเหมาะซ้องย่อ แปลว่า สบายดีหรือ, อ่อป่อเหมอะเอ๊ แปลว่า ไม่ค่อยสบาย, หนี่คะแหล่ละไก่ แปลว่า ไปที่ไหนมา, หรี่กะเผ่า แปลว่า ไปตลาด, หรี่อำเภอ แปลว่า ไปอำเภอ, หรี่ใจ่ออซะกู่มือเนาะ แปลว่าไปเที่ยวสาว, หรี่ลุภาษีใช้ แปลว่า ไปเสียภาษีนา, หรี่ใช่เผ่าอะไถ่ แปลว่า ไปท้องนามา, อะหมี่ก่องหยั่ว แปลว่า รับประทานอาหารแล้วหรือยัง, อะหมี่ก่องละเอ๊ะ แปลว่า รับประทานอาหารยังไม่เสร็จ, หรี่ควะแล่ก๊วะท้าย แปลว่า ไปไหนมา, อามี่ แปลว่า กินอาหาร, อาหลู่ที้ แปลว่า อาบน้ำ, มหน่า แปลว่านอน, หรี่จาย แปลว่า ไปเที่ยว, ลำมะซ้า แปลว่า กลางคืน ลำมาซ้า แปลว่า กลางวัน, หว่า แปลว่า สามี, ม๊า แปลว่าภรรยา, ปู่ส่าคว้า แปลว่า เด็กผู้ชาย, อะมี แปลว่า เด็กผู้หญิง

ชื่อของผู้ชาย มีดังนี้ กิลิ จ่อเป นู มีพ้อ แซขั่ง พาแซ ดอพ้อ จังหลี่ สือเมือง จ่อบี้ เมืองคังชานู่ จัมเป่ง จ้างแก่ว ส้งจี่ โปหวี่ จั้งดี ชื่อของผู้หญิงมีดังนี้คือ ขั่งคิ้ว จั่งจี่ จั่งถี่ ด่าจี่ จังผู่ ก่างแว้ ข่าเอ้ย จ่อส่าง เซอพอ น่ำเบ่ะเซ้า ยาพอ มิแหล่ว ผ่าแหว่ สั้งแก่ว ฯลฯ ชื่อลิ่งของและสัตว์ เช่น มือ(ข้าว) ที้ (น้ำ) มี (ไฟ) รังคู (ดิน) หรี่(ลม) ชั้ง(ไก่) โกะ (หมู) จี่(เงิน) ท้อง (ทองคำ) ยาพู (ปลา) ฯลฯ

พวกยางกะเลอมีนิสัย มัธยัสถ์ อาหารการกิน และความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ไม่ฟุ่มเฟือย วิธีปรุงอาหารและเครื่องปรุงก็ง่าย เนื้อที่บริโภค เช่น เนื้อกวาง อีเก้ง กระจง ที่เขาล่ามาได้หรือไก่ ปลา หมูซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นก็มีเผือกมัน และพืชไร่ ไม่ชอบบริโภคกะปิน้ำปลาหรือกุ้งแห้ง การรับประทานใช้ถาดวางกับพื้น รับประทานโดยใช้มือเปิบข้าว แต่บางคนก็ใช้โต๊ะแล้วแต่ฐานะของบุคคล เวลาทำนาต่างห่อข้าวเหนียวกับเกลือและพริกสด 2-3 เม็ด ไปรับประทานกลางวันที่นาหรือเป็นอาหารกลางวัน เวลาเข้าป่าไปตัดฟื้นตัดไม้เป็นต้น ชาวยางกะเลอมีนิสัยประหยัดในการกินอยู่ สิ่งเสพย์ติดมีหมาก บุหรี่ เมี่ยง ผู้หญิงแทบทุกคนนิยมสูบยาเส้นจากกล้องยาสูบ

ชาวยางกะเลอมีสุขภาพ อนามัยดี ไม่ค่อยเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ที่เป็นบ้างก็มีเพียงปวดหัว ตัวร้อน หรือไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ การรักษาพยาบาลนิยมใช้เครื่องยาสมุมไพรและยากลางบ้านส่วนโรคติดต่อนั้นนาน ๆ จะมีครั้งหนึ่ง เช่น ปี พ.ศ. 2487-2488 พวกชาวยางกะเลอเป็นไข้ทรพิษระบาดอยู่ทั้งสองหมู่บ้าน มีผู้คนเสียชีวิตประมาณ 200 คน เหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากเช่นนี้เป็นเพราะการคมนามคมไม่สะดวก การป้องกันรักษาพยาบาลไม่ถูกต้องตามหลัก และวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งขณะนั้น (พ.ศ. 2490) ยังไม่มี ส่วนแพทย์ประจำหมู่บ้านและประจำตำบลก็เป็นแพทย์แผนโบราณ ใช้รักษาโดยวิธีการเป่าเวทย์คาถา สะเดาะเคราะห์หรือรักษาด้วยยาสมุนไพรจึงไม่เกิดผลดีในการรักษาโรค

ชาวยางกะเลอเป็นคนมี อัธยาศัยใจคอดี เอื้ออารีต่อเพื่อนบ้านและบรรดาแขกต่างถิ่น เมื่อเวลามีแขกไปเยี่ยมเยียนพวกเขาจะต้อนรับเป็นอย่างดี บรรดาเพื่อนบ้านใกล้เคียงไปเยี่ยมเยียน สนทนาวิสาสะด้วยแม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน การต้อนรับมีการจัดหมากพลู พานบุหรี่ น้ำเย็น มาต้อนรับ ถ้าเป็นแขกสำคัญ เช่น กำนันหรือข้าราชการ ก็จะนำสุราอาหารมาต้อนรับ ชาวบ้านต่างกุลีกุจอมาช่วยกันทำอาหารรับแขกเป็นพิเศษ เจ้าของบ้านให้ความสะดวกแก่แขกในเรื่องที่พักอาศัยหลับนอน
ชีวิตความเป็น อยู่ประจำวันของชาวยางกะเลอไม่ผิดกับคนไทยตามชนบท คือหลังอาหารเช้า ผู้หญิงก็เข้าป่าหาผักผลไม้ ช้อนปลาหรือไปไร่สวนแล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละคนส่วนผู้ชายเข้าป่าหาของป่า ล่าสัตว์หรือแผ้วถางป่าเพื่อทำนา ทำสวนหรือทำไร่ ส่วนพวกเด็ก ๆ หรือคนแก่ ถ้าไม่ช่วยบิดามารดาหรือบุตรหลายทำการงานก็อยู่กับบ้าน การทำไร่ทำสวน ช่วยกันทำทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถ้าเป็นฤดูทำนาผู้ชายไปทำนา ผู้หญิงอยู่บ้านทำงานบ้าน วิธีปลูกดำไถหว่านหรือเก็บเกี่ยวข้าว นิยมวิธี “ หลั่ง ” คือลงแขกช่วยกันทำ เหมาให้เสร็จเป็นเจ้า ๆ ไป เครื่องใช้ในบ้านและการทำสวน หรือการประกอบอาชีพอื่น ๆ ทุกอย่างเหมือนกับเครื่องมือเครื่องใช้ของคนไทยตามชนบททั่วไป

ชาวยางกะเลอนับถือศาสนา พุทธควบคู่กับการถือผีมีวัดตั้งอยู่ที่บ้านห้วยสัก หมู่ที่ 7 ตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน เรียกว่า “ วัดห้วยสัก ” เจ้าอธิการวัดขณะนั้นเป็นยางกะเลอเป็นนักธรรมโท ชาวบ้านมักไปวัดในวันธรรมสวนะเทศกาลเข้าพรรษา พ้นจากเวลานั้นแล้วไม่ค่อยไปกัน เว้นแต่ผู้เฒ่าที่มีศรัทธาแก่กล้าจึงไปวัดอยู่เสมอ

ชาวยางกะเลอมีนิสัย เอื้อะเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อผู้ใดมีงานอย่างหนึ่งอย่างใดเขาไม่ต้องออกปากขอร้องไหว้วานหรือจ้าง ด้วยสิ่งของเงินทอง เพียงแต่เกริ่นข่าวให้รู้ว่าวันนี้ เวลานั้นผู้นั้นจะปลูกบ้าน พวกเพื่อนบ้านจะถือมีดพร้าจอบเสียมมาช่วยงานคนละไม้คนละมือจนเสร็จ ชาวบ้านต่างพร้อมกันช่วยงานตั้งแต่ตัดฟันไม้เสา เลื่อยไม้กระดาน ทำกระเบื้อง “ ลฯ หรือไม่ก็เอาไม้ไผ่มาสับเป็นแผ่นเรียกว่า “ ไม้ฟาก ” กรองแฝกตามฐานะของแต่ละบุคคล ช่วยเหลืองานปลูกสร้างบ้านเรือนจนเสร็จเป็นหลัง ด้วยเหตุนี้บ้านเรือนของชาวยางกะเลอจึงค่อนข้างแน่นหนากว่าบ้านคนไทยซึ่ง อยู่ในตำบลเดียวกัน เพราะเขาช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจ และไม่คิดค่าจ้างรางวัลอีกทั้งระหว่างเวลาปลูกบ้านยังไม่เสร็จนั้น เจ้าของบ้านไม่ต้องคอยเป็นห่วงจัดหาสุราอาหารไปเตรียมต้อนรับเพื่อนบ้านเลย เพราะบุตรภรรยาของผู้ที่ไปช่วยงาน จะนำเอาข้าวปลาอาหาร บุหรี่ เมี่ยง ไปส่งให้แก่บิดาหรือสามีของตนเอง หรือถ้าเจ้าของบ้านใจดีเลี้ยงสุราอาหารบ้างเล็กน้อยเขาก็ไม่ขัดข้อง ส่วนมากนิยมเลี้ยวกันเพียงอาหาร ส่วนข้าวนั้นผู้ช่วยงานทุกคนนำมาจากบ้านของตน เมื่อเสร็จการปลูกบ้านแล้ว มีพิธีขึ้นบ้านใหม่บางคนนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็นหรือมีเทศน์ 1 กัณฑ์ บางคนไม่มีพิธีแต่อย่างใด พอบ้านเสร็จแล้ว ก็ขนของขึ้นไปอยู่ทันทีก็มี

ชาวยางกะเลอทำพิธีการมัด มือเรียกขวัญ คล้ายคลึงชาวเหนือตามชนบท ต้นเหตุแห่งการมัดมือเรียกขวัญมี 2 อย่าง คือเมื่อผู้เจ็บป่วย และได้ทำการบวงสรวงเซ่นเครื่องสังเวยแก่ผีสางเทวดานั้นเสร็จแล้ว จึงมัดมือเรียกขวัญอย่างหนึ่ง นอกจากนี้จะมัดมือให้แก่คู่สมรสในพิธีอีกอย่างหนึ่ง เครื่องใช้ในการมัดมือไม่มีอะไรมาก มีข้าวสุก 1 ก้อน กล้วยน้ำว้าสุก 1 ผล ดอกไม้ธูปเทียนและสายสิญจน์สีขาว ผู้ที่ประกอบพิธีได้แก่ คนมีอาวุโสหรือหมอผีในหมู่บ้านนั้น

การเลี้ยวผีหมู่บ้าน หรือเรียกว่า “ เสื้อบ้าน ” มีอยู่ 2 ระยะ คือ 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง และเลี้ยงทุก ๆ ปีอีกตอนหนึ่งการเลี้ยงผีบ้าน 3 ปีต่อครั้งนั้น จะฆ่าหมูเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ส่วนการเลี้ยงทุกปีหรือประจำปีใช้ไก่เป็นเครื่องสังเวย

เมื่อถึงเทศกาลเดือน 5 เหนือ (เดือนยี่) กับเดือน 9 ทุก ๆ ปี ผู้เป็นหัวหน้าในพิธีเซ่นผีจะประกาศเกณฑ์เก็บข้าวสารครัวเรือนคนละหนึ่งกอบ (2 กำมือ) ข้าวที่เก็บได้นี้นำเอาไปหมักเป็นสุรา ส่วนแป้งเชื้อสุราทีใช้หมักเป็นสุรา ส่วนแป้งเชื้อสุราที่ใช้หมัก ใช้หญิงสาวพรหมจารีเป็นผู้ทำ

พิธีทำแป้งเชื้อ คือให้สาปแช่งใส่แป้งเชื้อสุรา ซึ่งล้วนแต่เป็นถ้อยคำหยาบคายลามก แป้งเชื้อสุรานั้น มิได้ใส่หรือเติมเครื่องอื่นใดลงไปอีก เพียงแต่คำสาปแช่งของสาวน้อยพรหมจารีกับแป้งข้าวเหนียวเปล่า ๆ ก็ใช้เป็นเชื้อหมักสุราได้ผู้เป็นหัวหน้าเซ่นผีนำเอาไปทำสุรา ในระหว่างที่หมักดองเป็นกะแช่ตลอดจนถึงระยะต้มกลั่น ผู้ใดจะชิมรสดูไม่ได้เป็นอันขาด นัยว่าผีสางเทวดาจะโกรธเคืองและจะบันดาลให้เป็นอันตรายแก่ชาวบ้าน ผู้เป็นหัวหน้าเกณฑ์ไม่ครอบครัวละ 1 ตัว เพื่อนำไปเซ่นผี เมื่อเซ่นเสร็จแล้ว ไก่นั้นต้องรับประทานกันกลางป่าริมหมู่บ้าน เพราะผีประจำหมู่บ้านจองพวกยางกะเลอจะมีศาลคล้ายศาลพระภูมิเจ้าที่อยู่ที่ ต้นไม้ใหญ่ริมป่านอกหมู่บ้าน เครื่องเซ่นมีสุรา ไก่ หรือหมู นอกจากนี้มีไม้ดอกธูป เทียน แต่มีแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะต้องนำเอาขาไก่กลับบ้านด้วย 2 ขา ให้บุตรภรรยาที่อยู่บ้านรับประทานทุกคน คนในครอบครัวมีอยู่กี่คนต้องรับประทานให้ทั่วถึง

ระหว่างที่มีการเช่นผี หรือเทพารักษ์นี้ เขาห้ามบุคคลภายในออกจากหมู่บ้านไปทำงานนอกหมู่บ้าน และห้ามไม่ให้คนภายนอกหรือคนต่างหมู่บ้านเข้าออกผ่านเขตหมู่บ้านของเขามี กำหนด 3 วัน เขาเรียกการปิดหมู่บ้านนี้ว่า เข้ากำบ้าน หากมีผู้ฝ่าผืนเขาถือว่าเป็น “ เสนียด ” แกหมู่บ้าน ต้องเรียกปรับไหมเป็นเงิน 2 บาท มีด้วยกันกี่คนก็ตาม เขาเรียกปรับเพียง 2 บาทเท่านั้น และเงินนี้นำไปขมาต่อผีหมู่บ้านหรือเรียก ส้อมผี แล้วนำไปซื้อสิ่งของที่จะได้จำนวนมากที่สุด เช่นเกลือ แล้วนำเอาแบ่งปันแจกจ่ายกันไปทั่วทุกหลังคาเรือน

การเลี้ยงผีชนิด 3 ปีต่อครั้งนั้น มีพิธีเซ่นผีอย่างเดียวกันกับพิธีประจำปี ผิดแต่เรียกเก็บเงินครอบครัวละ 2 บาท รวบรวมไปซื้อหมูเป็นเครื่องเซ่นสังเวยแทนไก่ ในระหว่างมีงานพิธี ทุกคนต้องไม่จ่ายเงิน ไม่ให้ชาวหมู่บ้านไปค้างแรมบ้านหลังอื่นหรือหมู่บ้านอื่น นอกจากไปค้างแรมนานมเกินกว่า 3 คืน

การเลี้ยงผีบ้านก็เช่น เดียวกับการเลี้ยงผีหมู่บ้าน ผิดกันแต่ต้องทำบุญบ้านเรือนของตน มีพิธีหุงข้าวทำอาหาร ระหว่างทำกับข้าวและหุงข้าวนี้ จะพูดจากับคนแปลกหน้าหรือคนอื่น นอกจากครอบครัวเดียวกันไม่ได้ เมือทำอาหารเสร็จจึงพูดจาปราศรัยกันได้ ตามปกติมี อยู่กำบ้าน 3 วัน เหมือนกัน คือระหว่างนี้ คนอื่น ๆ จะไปขอหรือหาซื้ออะไรภายในเขตรั้วบ้านของเขาไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าการซื้อขายนั้น ผู้ซื้อจะให้ราคางามถึงสิบเท่าร้อยเท่าตัวของราคาที่ซื้อขายธรรมดาก็ตามการ เลี้ยงผีบ้านและผีหมู่บ้านเป็นประเพณีดั้งเดิมของพวกยางกะเลอ พวกยางกะเลอไม่ยอมเรียกผีต่าง ๆ ของเขาว่า “ ผี ” เป็นอันขาด เขาถือว่าเป็นพระเจ้าไม่ใช่ผี และใช้เรียก “ จารีตดั้งเดิม ” แทน ถ้าผู้ใดไปเรียกว่าพวกยางกะเลอนับถือผีแล้ว พวกเขาจะไม่พอใจ

งานปีใหม่ของชาวยางกะเลอ เช่นเดียวกับงานตรุษสงกรานต์ของชาวเหนือ มีการเที่ยวเล่นรดน้ำสาดน้ำโดยเฉพาะในพวกหนุ่มสาว มีการเลี้ยงสุราอาหารอย่างสนุกรื่นเริง พวกผู้เฒ่าที่ศรัทธาในศาสนาก็ไปวัดฟังเทศน์ พวกที่ไม่ค่อยศรัทธาทางศาสนาก็จับกลุ่มพูดคุยกันเป็นหมู่ ๆ ไม่มการทำบุญตักบาตรและปล่อยนอก การบวชนาคก่อนหรือภายหลังพิธีปีใหม่ไม่มีกัน เพราะพวกยางกะเลอเพิ่งเริ่มหันมานับถือศาสนาพุทธเมื่อไม่นานมานี้เอง

การเกี้ยวสาวนั้น ชายหนุ่มไปเยือนหญิงสาวถึงเรือนและเมื่อมีใจสมัครรักใคร่กันแล้ว ชาวหนุ่มจะไปล้วงที่ช่องใต้ถุนตรงที่นอนของหญิงสาวกลางคืน การล้วงนั้นล้วงได้แต่เฉพาะมือ เพราะผู้หญิงเมื่อเติบโตเป็นนางสาวแล้วทุกคนต้องไปทำช่องเล็ก ๆ ไว้สำหรับคู่รักมาล้วง หญิงที่มีคู่รักแล้วไม่ปั่นฝ้ายอยู่ระเบียงนอกชายคาเรือนในเวลากลางคืน เว้นแต่เมื่อได้ห่างเหินขาดรักกันไป จึงออกมานั่งปั่นฝ้ายอยู่ข้างนอกเพื่อจะได้มีชายหนุ่มมาสนทนาเกี้ยวพาราสี ด้วยจนกว่าตนจะพอใจรักใคร่ชายหนุ่มคนใหม่ หญิงสาวเมื่อถูกล้วงแล้วถ้าทราบว่าเป็นคู่รักของตนมาล้วง จะออกไปสนทนากันตรงระเบียงนอกโดยลำพังในที่มืด ๆ แต่ถ้าผู้ที่มาล้วงไม่ใช่คู่รักของตนหรือเป็นผู้ที่ตนไม่พอใจรักใคร่ ก็ไม่ออกไปสนทนาด้วย

ถ้าชายหนุ่มหญิงสาวตกลง ปลงใจจะร่วมเรียงเคียงหมอนเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันตลอดชั่วชีวิต ต้องมีการแต่งงานตามจารีตประเพณี แต่การได้เสียเป็นคู่สมีภรรยากันก่อนพิธีแต่งงานก็มีอยู่มาก ราย ถ้าชายได้เสียหญิงสาวแล้วไม่เอาเป็นภรรยาหญิงสาวจะแจ้งแก่บิดามารดาของตน ฝ่ายชายจะถูกปรับไหมค่าทอดทิ้งเป็นเงินประมาณ 100 บาท อัตราเหล่านี้แตกต่างกันไปไม่เหมือนกันทุกหมู่บ้าน

ก่อนแต่งงานจะมีการสู่ขอ คือเมื่อชายหญิงต่างผูกสมัครรักใคร่ตกลงปลงใจร่วมหอร่วมเรือนกันแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะแจ้งให้แก่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายทราบ แล้วผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็ไปสู่ขอ การสู่ขอนี้ไม่มีสินสอดทองหมั้นแต่ประการใด นอกจากมีข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนและเงินสำหรับคารวะผีบ้านผีเรือนฝ่ายหญิง อย่างมากเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 15 บาท แล้วพูดจาตกลงกันเพื่อให้หนุ่มสาวได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากัน ทั้งนี้พบว่ามีการให้สินสอดทองหมั้นเหมือนกัน แต่ก็เป็นไร่นา หรือถ้าหากเป็นเงินก็ไม่เกิน 300 บาท แล้วแต่ฐานะของผู้ชายถ้ามีฐานะดีก็เสียมาก

เมื่อตกลงแต่งงานกันต้อง แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ในวันแต่งงานชาวบ้านต่างนำสุรามาช่วยงานคนละขวดสองขวดเส้นด้ายที่ปั่นแล้ว คละ 1-2 กลุ่ม มีการเชิญบุคคลสำคัญในตำบล เช่น กำนัน ครู ผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่มาร่วมอวยพรให้ด้วย อนึ่ง ตามธรรมเนียมหญิงสาวทุกคนต้องเลี้ยงหมูไว้ตัวหนึ่ง เพื่อใช้ทำอาหารเลี้ยงแขกในวันแต่งงานของตนในอนาคต หมูที่เลี้ยงนั้นแม้แก่ชราหรือโตเกินขนาดเพียงไรก็จะนำเอาไปขายไม่ได้ ถ้าหมูที่เตรียมไว้นี้ตายลงก็ต้องหามาเปลี่ยนใหม่แทนทันที ทางฝ่ายชายก็ต้องจัดเตรียมไว้เช่นเดียวกัน

พิธีแต่งงานทำกันสองตอน คือทำที่บ้านฝ่ายชายตอนหนึ่งฝ่ายหญิงตอนหนึ่ง พิธีแต่งงานที่บ้านฝ่ายชายนั้นเจ้าสาวแต่งกายด้วยชุดที่แสดงว่าเป็นสาว พรหมจารี คือสวมกระโปรงยาวสีขาว ทัดดอกไม้แห่กันมาบ้านฝ่ายชาย มีการกินเลี้ยงแขกที่มาในงาน รับประทานกันข้างนอก เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งป้อนข้าวกันอยู่ในห้องนอนสองต่อสอง การป้อนข้าวนั้น คือเจ้าบ่าวป้อนเจ้าสาวคำหนึ่ง เจ้าสาวป้อนให้เจ้าบ่าวคำหนึ่ง สุราคนละจิบสลับกันไป ขณะนั้นจะมีการร้องเพลงขับกันเป็นพวก ๆ ประมาณ 5-6 คน หญิงฝ่ายหนึ่งชายฝ่ายหนึ่งนั่งล้อมวงร้องเพลงทำนองคล้ายลำตัด มีลูกคู่ กล่าวแก้และถามกัน เช่น

ฝ่ายชายว่า “ จะผู้หม่อควาถุเพาะโหม่กว่าคะยาซะหยี่โหย่ ” แปลว่า “ เมื่อเธอยังเป็นสาว เราเคยเล่นหัวกันอยู่บัดนี้จะได้คู่เป็นคนอื่น น่าเสียดายจริงหนอ ”

ฝ่ายหญิงแก้ว่า “ มาหมี่ตาพูหม่อหล่อรีดุถ่อ เลอะขี่อะแมะควี่ ” แปลว่า “ จะมามัวเสียดายอะไรกับคนเก่า คนใหม่ยังมีเหลือเป็นสาวเป็นแส้อีกตั้งมากมาย ”

บทเพลงเหล่านี้ ใช้ขับร้องเมื่อมีพิธีแต่งงาน หรือเมื่อมีผู้ตาย แต่ร้องเนื้อเพลงทำนองไว้ทุกข์ล้อมรอบศพ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีรื่นเริงมี ฆ้อง กลอง สำหรับตีประโคมในงานแห่หรืองานวัดนอกจากนี้มี ซึง ซออู้ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายซออู้จีน การร้องเพลงในพิธีแต่งงานทำนองหยอกเย้าอวยพรและเกี้ยวพาราสี
เมื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวป้อนอาหารกันเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาทำพิธีผูกเส้นด้ายที่ข้อมือให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว การผูกมือนั้นก็ต้องให้พ่อสื่อแม่หมอเป็นผู้ผูกก่อน พ่อสื่อแม่หมอนี้ คือคู่สามีภรรยาที่เป็นผู้ที่มีอายุน้อย ไม่เคยมีประวัติการหย่าร้างมาก่อน เมื่อพ่อสื่อแม่หมอผูกมือให้แล้ว ต่อไปจึงให้ผู้เฒ่าและญาติมิตรผูกต่อ ๆ กันไป เสร็จพิธีแล้วก็แห่กันมาทำพิธีที่บ้านเจ้าสาวอีก เจ้าบ่าวแต่งตัวด้วยชุดใหม่และดีที่สุดมีผ้าแพรแถบแดงกว้างประมาณ 4 นิ้วฟุต พาดเฉียงผ่านไหล่ซ้ายแบละมีผ้าชนิดหนึ่งขนาดเดียวกันคาดเอว สามหมวกทัดดอกไม้และแซมดอกไม้ตามยอดหมวกแลดูคล้ายนาค ชาวบ้านพากันแห่เจ้าบ่าวไปส่งบ้านเจ้าสาว จะถูกฝ่ายเจ้าสาวรดน้ำ 1 ถัง ผู้ที่จะเป็นแม่ยายเดินลงมาล้างมือล้างเท้าให้แก่ผู้เป็นเขยในอนาคตแล้วจูง เจ้าบ่าวไปในห้องที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งมีเจ้าสาวแต่งตัวงดงามนั่งคอยอยู่บนที่นอน ตรงหน้ามีสุรา 1 ขวดกับไก่ต้ม 2 ตัว วางอยู่ในถาด เจ้าบ่าวรินสุราใส่ถ้วย 1 ใบ ตนเองจิบก่อนแล้วยื่นให้เจ้าสาวจิบ เจ้าสาวรินให้เจ้าบ่าวตอบแทนกัน ต่อจากนั้นรินส่งให้แก่บรรดาญาติของเจ้าสาวและญาติเจ้าบ่าวจิบเพียงเล็กน้อย ให้ทั่วถึงกัน ผู้ที่ไม่ได้เป็นญาติจะไม่รินสุราให้ดื่ม เจ้าบ่าวหยิบข้าวสุกกับเนื้อไก่ต้มป้อนเจ้าสาว 1 ครั้ง เจ้าสาวป้อนตอบ 1 ครั้ง แล้เพื่อนเจ้าบ่าวเพื่อนเจ้าสาวที่เป็นพ่อสื่อแม่หมอฝ่ายละ 1 คน ผู้ซึ่งมีเรือนแล้วและไม่เคยทะเลาะวิวาทหรือเคยหย่าร้าง จะป้อนข้าวกับไก่ให้แก่กัน อย่างเดียวกับเจ้าบ่าวเจ้าสาว การทำพิธีที่บ้านฝ่ายหญิงก็เช่นเดียวกับที่บ้านฝ่ายชาย

การแต่งงานสำหรับหญิงแม่ หม้าย มักแต่งงานในเดือน 4 บ่าวสาวแต่งงานเดือน 6,8, 9 การแต่งงานแม่หม้ายไม่สู้มีพิธีรีตองมาก เพียงมีสุรา 1 ขวด ไก่ 2 ตัว สำหรับเซ่นผีแต่สำหรับคู่บ่าวสาวแล้ว ต้องแจ้งข่าวให้บรรดาญาติพี่น้องเพื่อนบ้านทั้งใกล้ไกลทราบทั่วถึงกัน ฆ่าหมูทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงฝ่ายละ 2-3 ตัว แล้วแต่ฐานะของทั้งสองฝ่าย และญาติพี่น้องฝ่ายใดมีมากกว่าก็ฆ่ามาก รับประทานกันตลอดวันตลอดคืน แขกที่มาร่วมงานนำเอาเงิน สุรา ยาสูบ บุหรี่ พริก เกลือ มาช่วยคนละเล็กละน้อย และมาร่วมงานจนเสร็จพิธี

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก่อนที่แขกลากลับ ญาติของเจ้าบ่าวเจ้าสาวนำช่อดอกไม้ปักกระเป๋าเสื้อให้แก่แขกและมีเส้นด้ายสี ขาวประมาณ 1 ไจ ไปผูกข้อมือให้แก่ผู้เป็นแขก เจ้าบ่าวต้องนอนที่บ้านเจ้าสาวจนครบ 3 วัน 3 คืน ต่อจากนั้นฝ่ายหญิงต้องมานอนที่บ้านฝ่ายชายอีก 3 วัน 3 คืน

หลังจากพิธีแต่งงานแล้ว หญิงจะไปอยู่บ้านชายหรือชายไปอยู่บ้านผู้หญิงก็ได้ แล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละฝ่ายที่ตกลงกันไว้ การอยู่หมายความถึงอยู่กับบ้านบิดามารดาฝ่ายหญิง จะอยู่ให้นานเท่าไรก็ได้ จนกว่าจะสามารถแยกเป็นครอบครัว แต่ถ้าฝ่ายหญิงไปอยู่กับบิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายชายแล้ว ต้องแยกครอบครัวภายใน 1 เดือน ถ้าสามีภรรยาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ก็ต้องจัดเตรียมเครื่องปลูกสร้างบ้านไว้คราวละเล็กละน้อย เช่น ระยะแรกจะเตรียมเสาก่อน ต่อไปเตรียมไม้กระดานไม้ไผ่หรือไม้ฟาก ถ้าเตรียมพร้อมเมื่อใดจึงแยกไปปลูกบ้านอยู่ใหม่ต่างหาก

การปรนนิบัติระหว่างสามี ภรรยา สะใภ้ต่อพ่อผัวแม่ผัวหรือลูกเขยพ่อตาแม่ยายคงเป็นไปอย่างคนไทยทั่วไป แต่หญิงผู้เป็นสะใภ้ต้องเคารพนับถือพ่อผัวแม่ผัวเสมอเป็นบิดามารดาบังเกิด เกล้าของตน เมื่อมีการทะเลาะวิวาทระหว่างครอบครัวถึงขั้นแตกหักอันควรหย่าร้างหรือไม่ก็ ตาม จะทำการตกลงกันระหว่างญาติหรือผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย อย่างมากก็พาไปถึงกำนันไม่ปรากฏว่ามีเรื่องมาถึงอำเภอหรือโรงศาลเลย

ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ก็คง ทำงานตามปกติ เมื่อถึงกำหนดคลอดก็เรียกหมอตำแยประจำหมู่บ้านมาทำคลอด ตัดสายสะดือโดยใช้คมไม้รวก ส่วนรกบางคนใช้ฝังไว้ใต้ฐานบันได บางคนเอาใส่กระบอกไม้ซางไปแขวนไว้อย่างหมิ่นเหม่ที่ต้นไม้ บางคนใช้ไม่ปักเป็นสามเส้าแล้วเอารกใส่กระบกไม้ซางหรือไม้ไผ่ไปตั้งบนนั้น เหตุที่เอารกไปแขวนกิ่งไม้ไว้นั้น เพราะเชื่อว่าเวลาเด็กเติบโตขึ้นจะปีนต้นไม้เก่ง

การอยู่ไฟ เขาอยู่กันโดยสุมฟืนตลอด เมื่อเด็กคลอดแล้วมีแม่มดหรือแม่ช่างมาแกว่งข้าวเสี่ยงทายดูว่าผู้ใดมาเกิด เป็นเด็กนั้น สมมติว่าลุงที่ตายไปแล้วนั้นมาเกิดใหม่ เขาจะให้ป้าที่ยังมีชีวิตอยู่มาผูกข้อมือให้ หรือญาติข้างฝ่ายลุงที่ชอบพอรักใคร่กันมาในขณะยังมีชีวิตอยู่นั้นมาผูกข้อ มือ การผูกข้อมือรับขวัญเด็กเมื่อแรกเกิดมีข้าวสุก 3 ก้อน กับก้อนกรวด 1 ก้อน เป็นเครื่องรับขวัญ และกล่าวคำให้พรตามสมควร คลอดมาได้ประมาณ 2-3 วัน ก็ป้อนข้าวให้กินนมเรื่อยไป จะหย่านมเมื่อเห็นเวลาสมควร เช่น เวลาเมื่อมารดาตั้งครรภ์ใหม่

ชาวยางกะเลอนับถือศาสนา พุทธ นิยมไปจัดเฉพาะวันธรรมสวนะในเทศกาลเข้าพรรษา พ้นช่วงนั้นแล้วไม่ค่อยไปเว้นแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีศรัทธาทางพระพุทธศาสนา เพราะชาวยางกะเลอส่วนมากไม่ใผ่ใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงเพียง เริ่มนับถือเท่านั้น เพราะเขาเคยนับถือผีสางเทพารักษ์มาแต่โบราณกาล

ถ้าปรากฏว่ามีผู้ตายใน หมู่บ้านจะมีการ อยู่กำบ้าน หนึ่งวันคือเมื่อศพยังอยู่ในบ้านนั้น ชาวบ้านไปทำการงานนอกหมู่บ้านไม่ได้ ต้องอยู่ช่วยงานศพจนกว่าจะเสร็จ และศพเก็บไว้ภายในบ้านเพียง 1 คืน หรือบางที 3 คืนเป็นอย่างมาก เวลามีงานชุก เช่น ฤดูทำนา ก็เอาศพไว้เพียงคืนเดียว ทั้งนี้เหมือนกันทั้งศพเด็กและผู้ใหญ่ พิธีทำศพไม่ยุ่งยาก ใช้ผ้าห่มของผู้ตายคลุมศพแล้วห่อด้วยเสื่อและตราสัง แล้วนำศพนั้นไปวางไว้ใกล้หัวบันไดถ้าเป็นศพผู้ใหญ่จะมีขบวนแห่นักร้องเพลงมา นั่งล้อมวงร้องเพลงไว้อาลัยแก่ศพ คล้ายพระสวดมนต์อภิธรรมหน้าศพครั้งแรกเขาให้ผู้เฒ่าร้องเพลง ถัดมาเอาชายหนุ่มร้อง ครั้งที่ 3 เอาหญิงสาวร้อง และครั้งต่อ ๆ ไปก็เอาหนุ่มสาวเปลี่ยนเวรกันร้องเพลงทีละครั้งรอบ ๆ ศพ เนื้อเพลงจะกล่าวคำระลึกถึงดวงวิญญาณ และบอกทางไปสวรรค์ให้แก่ผู้ตาย

ถ้าศพนั้นเป็นศพเด็กทารก หรือเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่มีพิธีอะไรมากมาย ไม่มีคนร้องเพลงไว้อาลัย การ้องไห้รำพันก็มีเป็นธรรมดาสำหรับญาติผู้ตาย การปลงศพใช้วิธีฝัง เวลาฝังนั้น ญาติพี่น้องของผู้ตายจะจัดหม้อข้าวหม้อแกง จอบ เสียม มีด พร้า และของใช้สอยที่จำเป็นในการครองชีพกับเงินอีกเล็กน้อย แต่เงินนี้นำเอาใส่ปากใส่มือ ไม่ใส่ไว้ในโลง ใช้เสื่อห่อศพและฝังลงไปกับศพ มีคติเชื่อถือกันว่า สิ่งของทุกชิ้นที่ฝังลงไปกับศพนี้ ผู้ตายจะเอาไปใช้ในเมืองสวรรค์

การนำศพจากเรือนไปสู่ ป่าช้า จะนำไปเวลาก่อนเที่ยงเสมอ ไม่ขบวนแห่ ไม่มีพระสงฆ์คอยนำหรือทำพิธีอื่นใดอีกมีเพียงญาติพี่น้องผู้ตาย และผู้มาช่วยไปส่งเท่านั้น เมื่อฝังศพแล้วก็พากันกลับบ้าน บางคนมีฐานะดี เวลาตายญาตินำเงินไปฝังให้ถึง 200-300 บาท หรือมากกว่านั้น เพื่อเอาไปใช้จ่ายในระหว่างเดินทางไปสวรรค์ และไม่เคยปรากฏว่าศพเหล่านี้ถูกผู้ร้ายขุดค้นหาทรัพย์เลย

เมื่อฝังศพเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการไว้ทุกข์ คือ อยู่กำบ้าน ให้ แก่ผู้ตายอีก 3 วัน แต่การอยู่กำบ้านครั้งนี้ คงทำเฉพาะที่บ้านผู้ตายเท่านั้น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงผู้ตายจะทำเมื่อถึงโอกาสอันสมควร

การเดินทางไป เที่ยวบ้านยางกะเลอที่ตำบลปงน้อย ในสมัย พ.ศ. 2490 นั้น เริ่มจากอำเภอแม่จัน ผ่านตำบลสันทราย ตำบลท่าข้าวเปลือก ตำบลปงน้อย ไปสู่บ้านยาง หมู่ที่ 5 บ้านดอย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านปงน้อย ประมาณระยะทาง 37 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางในฤดูแล้ง 12 ชั่วโมง ถ้าฤดูฝนประมาณ 18 ชั่วโมง การคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินทางด้วยเท้า อีกทางหนึ่งคือเดินทางด้วยเรือถ่อล่องไปตามลำน้ำกก ออกจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ไปตำบลท่าข้าวเปลือก แล้วไปตำบลปงน้อย จังหวัดเชียงราย