วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ปะนะ

ปะนะ
เป็น ชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต - พม่า มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาได้อพยพเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะถูกทางการจีนขูดรีดภาษีและศึกสงคราม ปัจจุบันตั้งถ่นฐานอยู่บ้านบ่อเปียด เมืองหลวงน้ำทา จำนวน ๔๒ ครอบครัว อีกส่วนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว เผ่าปะนะมีภาษาพูดซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาทิเบต - พม่า คล้ายกับภาษาของชนเผ่าอีก้อ แต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง คนรุ่นเก่าจึงใช้ตัวหนังสือของจีนในการสื่อสาร ส่วนเด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาลาวเนื่องจากได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน เผ่าปะนะดำรงชีพอยู่ด้วยการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยมาตั้งแต่ในอดีต ภายหลังจากรัฐบาล สปป . ลาว มีนโยบายให้ประชาชนยุติการถางป่า จึงหันมาทำไร่แบบหมุนเวียน ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง บางกลุ่มจึงเปลี่ยนมาทำนาตามหุบเขาแบบลาวลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยตามธรรมชาติ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เพื่อใช้แรงงานและประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือผี

  • ด้านการปกครอง เดิมเผ่าปะนะปกครองใน ระบบแบ่งออกหลายตระกูลหรือ “ สิง ” แต่ปัจจุบัน เหลือเพียง ๓ สิง คือ สิงลี สิงเซา และสิงฟุ้ง ทั้งนี้เพราะสาเหตุจากการเจ็บป่วย ประชากรของเผ่าล้มตาย ทำให้บางสิงหมดคนสืบตระกูล การปกครองในปัจจุบันใช้ระบบจัดตั้งของรัฐ โดยมีนายบ้านแนวโฮมบ้าน สหพันธ์แม่ญิงบ้าน และชาวหนุ่มเป็นคณะอำนาจการปกครองของบ้าน ขึ้นตรงต่อเมืองและแขวง

จารีตประเพณีที่สำคัญ

ชนเผ่าปะนะมีประเพณีและความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างลัทธิการนับถือผีกับลัธิการบูชา บรรพบุรุษของจีน ประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ บุญกินเจื๋อง บุญข้าวใหม่ ส่งเคราะห์บ้าน เลี้ยงผีบ้าน และเฮ็ดผีเรือน

  • บุญกินเจื๋อง มีชื่อเรียกเป็นภาษาปะนะว่า กวอวือกวอก เป็น เทศกาลบุญกินเจื๋อง ทุกคนจะหยุดการประกอบหน้าที่การงานประจำมาร่วมประกอบพิธีกรรมกับครอบครัวและ สนุกสนานในหมู่บ้านเป็นเวลา ๓ - ๕ วัน

  • บุญข้าวใหม่ เป็นการจัดขึ้นเฉพาะของแต่ ละครอบครัวภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมาชุมนุมกัน ฆ่าหมู ไก่ พร้อมทั้งหุงข้าวใหม่จัดเป็นพาข้าว ( สำรับอาหาร ) ทำพิธีเซ่นผีเรือน เพื่อขอความคุ้มครองให้ทุกคนมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง การทำบุญข้าวใหม่จะจัดขึ้นในปีที่สามชิกของครอบครัวและสิ่งเดียวกันดำรง ชีวิตอยู่เป็นปกติ แต่ถ้าปีใดมีคนตายจะงดจัดในปีนั้น เพราะถือว่ามีเหตุอัปมงคล

  • ส่งเคราะห์บ้าน เรียกว่า ซิเยะ จัด ขึ้นในเดือน ๑๐ ของเผ่าปะนะ ในราวเดือนกันยายน วัตถุประสงค์ของการส่งเคาะห์บ้าน เพื่อทำพิธีขับไล่สิ่งที่ชั่วร้ายทั้งปวงให้ออกพ้นไปจากหมู่บ้าน ในวันประกอบพิธีกรรมจะปักเฉลวรอบหมู่บ้าน “ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ” กล่าวคือ ห้ามชาวบ้านออกไปนอกหมู่บ้าน และห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในหมู่บ้านผู้ใดฝ่าฝืนเข้าไปโดยตั้งใจหรือไม่ ตั้งใจก็ตาม จะถูกปรับไหมตามการตัดสินของอำนาจการปกครองหมู่บ้าน

  • การเลี้ยงผีบ้าน เรียกว่า ปาเยะ จัดขึ้นในวันขึ้น ๒ ค่ำเดือนกันยายนของทุกปี ประกอบพิธีที่ดงผีบ้านซึ่งเป็นป่าหวงห้ามอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปร่วมพิธีกรรมครอบครัวละอย่างน้อย ๑ คน ส่วนมากเป็นผู้ชาย เพราะเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ขวัญอ่อน หากเข้าร่วมพิธีอาจถูกผีเข้าสิงอาจทำให้เจ็บป่วยได้ ในการประกอบพิธีกรรมมีการฆ่าหมู ๑ ตัว ไก่ ๑ ตัว เหล้า ๑ ขวด เพื่อขอความคุ้มครองให้สมาชิกของหมู่บ้าน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงปลอดภัยจากภยันตราย ขอให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เสร็จแล้วผู้ไปร่วมพิธีกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน

ผีเรือน เป็น วิญญาณของพ่อแม่ที่ตายแล้ว จะถูกเชิญให้เจ้าของบ้านไปเป็นผีเรือน โดยให้สถิตอยู่ในกล่องเล็กๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในกระบอกไม้ไผ่แขวนไว้บนหัวนอนของเจ้าของบ้าน ผีเรือนจะสถิตอยู่ที่บ้านของพี่ชายคนโต ถ้าหากพี่ชายคนโตเสียชีวิต น้องชายคนรองจะทำหน้าที่สืบต่อผีเรือนไปตามลำดับ หากมีแต่ลูกสาวจะสืบต่อผีเรือนไม่ได้เพราะต้องไปเข้าอยู่กับผีเรือนของสามี การสืบผีเรือนของเผ่าปะนะ จะสืบต่อไปถึงชั่วลูกเท่านั้น จะไม่สืบต่อกันไปถึงชั่วหลาน การเลี้ยงผีเรือนโดยปกติจะกระทำปีละครั้ง คือบุญกินข้าวใหม่ ถ้าสมาชิกในครอบครัวเดินทางไกลไปค้างแรมที่อื่น หรือมีบุคคลภายนอกมาพักอยู่ในเรือน จะต้องบอกกล่าวให้ผีเรือนรับทราบ เพื่อให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในการเดินทาง ( ดูเพิ่มที่ กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว )