วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

มูเซอ

ชนชาวมูเซอ เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ ๓ รองจากกะเหรี่ยงและแม้ว มูเซอจะเรียกตัวเองว่า ล่าหู่ (LAHU)

ชาวเขาเผ่านี้มีเชื้อสายมาจากพวกโลโล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนในแถบที่ราบสูงทิเบต

หลักฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีน ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวถึงมูเซอว่า จีนได้จัดให้ชนเผ่านี้เป็นพวก ซางตี่เอียน เดิม อยู่ในที่ราบสูงทิเบต - ชิงไห่ และมีการอพยพเคลื่อนย้ายอยู่เรื่อย ๆ ตามสัตว์เลี้ยง ( แสดงว่าชนเผ่ามูเซอเป็นกลุ่มเร่ร่อนมาก่อน )

คำว่า มูเซอ นี้ นักมานุษยวิทยาบางท่านสันนิษฐานว่า มาจากคำที่พวกพม่าและไทใหญ่ในรัฐฉานใช้เรียกชนกลุ่มนี้ มีความหมายว่า นายพราน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะนิสัยอันโดดเด่นของมูเซอที่มีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์ และไทยก็ใช้คำนี้เป็นภาษาทางราชการตลอดมา

นักภาษาศาสตร์จัดกลุ่มภาษาของมูเซอแยกจากสายตระกูลแม่ คือ สายตระกูลจีน - ทิเบต (Sino Tibetan)
ประวัติการอพยพ

Anthony R.Walker นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเคยค้นคว้าเกี่ยวกับมูเซอ ได้กล่าวถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับมูเซอไว้ว่า
ก่อนคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๙ พวกมูเซอเคยเร่ร่อนมาก่อน ต่อมาได้มีอาณาจักรของตัวเองในดินแดนที่เรียกว่า “ ดินแดนแห่ง ๑๘ หัวหน้าเผ่า ” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ ลิเคียงกาซี ” อยู่ในแถบมณฑลยูนนาน ศาสตราจารย์ต้วน ลีเซิง นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีมูเซอในมณฑลยูนนาน ( ปี พ . ศ . ๒๕๒๕ ) ถึง ๓๒๐ , ๐๐๐ คน และ อยู่ในพื้นที่อำเภอล้านช้างถึง ๑๕๔ , ๐๐๐ คน ฉะนั้นจึงสันนิษฐานว่าชุมชนใหญ่ของมูเซอคงจะอยู่ที่อำเภอล้านช้าง ในแถบสิบสองพันนา มณฑลยูนนานนั่นเอง

ต่อมาช่วงต้นคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๙ จีนได้ให้อำนาจปกครองตัวเองแก่มูเซอ โดยยังคงให้อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของจีน แต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง ก็ส่งทหารเข้ามาควบคุมดินแดนของมูเซอ ทำให้กลุ่มมูเซอไม่พอใจและกระทำการต่อต้านแต่ไม่สำเร็จ บางกลุ่มจึงต้องจำยอมอยู่ภายใต้อาณัติของจีนจนกลายเป็นชาวจีน ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ยอมถูกกดขี่ ก็พากันอพยพลงทางใต้สู่แคว้นเชียงตุงซึ่งอยู่ ในเขตสหภาพพม่าปัจจุบัน

ขณะมีการอพยพนั้น เขตเชียงตุงอยู่ในอำนาจปกครองของอังกฤษ เมื่อชาวมูเซอเข้ามาอยู่มนเชียงตุงก็พบปัญหาถูกชาวอังกฤษ ( โดยเฉพาะกลุ่มหมอสอนศาสนา ) พยายามโน้มน้าวให้นับถือศาสนาคริสต์ ชาวมูเซอซึ่งมีความศรัทธาต่อศาสนาดั้งเดิมของตัวเองไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อสร้างอาณาจักรของตัวเอง ให้เป็นอิสระจากการเข้าครอบงำของอังกฤษ แต่ก็ถูกทหารอังกฤษปราบปราม จนต้องหนีเข้าประเทศไทย ผู้นำการอพยพครั้งนั้นชื่อ “ มะแฮ - กื่อซา ” เป็นผู้นำทางศาสนาที่สำคัญของมูเซอ

การอพยพครั้งใหญ่เกิด ขึ้น เมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่าปกครองตนเอง พม่าจึงใช้นโยบายปราบปรามชนกลุ่มน้อย ซึ่งรวมถึงมูเซอด้วย ทำให้มูเซอต้องลุกขึ้นต่อต้านอีกครั้งหนึ่งและผู้นำการต่อต้านครั้งนี้ คือผู้นำทางศาสนาเช่นเดียวกัน ชื่อ “ เหมาะนะตูโบ ” การรวบรวมผู้คนเพื่อต่อต้านพม่าครั้งนี้สามารถรวบรวมชาวมูเซอได้เป็นจำนวน มาก รวมทั้งทรัพย์สินเพื่อซื้ออาวุธไว้ต่อสู้ด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากศรัทธาที่ชาวมูเซอมีต่อผู้นำทางศาสนาของตนนั่นเอง แต่การต่อต้านก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นเคย เหมาะนะตูโบจึงต้องพาบริวารหนีเข้าเขตไทยสู่บ้านต้นน้ำขุนมาว ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเสียชีวิตในที่นี้เมื่อปี พ . ศ . ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ นับเป็นการอพยพครั้งสำคัญของมูเซอที่เข้าสู่ประเทศไทย

ผลจากการอพยพเข้าสู่ไทย ของเหมาะนะบูโตทำให้บริวารแตกกระจัดกระจายไปหลายกลุ่ม กลุ่มที่สำคัญและก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมแก่รัฐบาลไทยต่อมาคือ กลุ่มพญาจะอือ ซึ่งเป็นลูกของเหมาะนะบูโต และกลุ่ม “ เอบิ ” ซึ่งเป็นลูกน้องของพญาจะอือ ๒ กลุ่มนี้มีเครือข่ายการปฏิบัติงานโยงใยกับขบวนการขนฝิ่นร่วมกับขุนส่าด้วย

หลังจากนั้นการอพยพก็มี ประปราย เพราะพม่ายังคงดำเนินนโยบายเช่นเดิมอย่างไม่หยุดยั้งทำให้ชนกลุ่มน้อยต้อง หนีเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก


นอกจากนั้นการอพยพอันเนื่องจากการชักนำของหมอสอนศาสนา ของญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทย ก็ยังมีอยู่มาจนถึงทุกวันนี้