ชาติพันธุ์ล้านนา - ลื้อเชียงรุ่ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลื้อเชียงรุ่ง

ลื้อเชียงรุ่ง คือคนไทที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเขตเมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองพันนา ( ปันนา ) ในอาณาเขตมณฑลยูนนานตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อกลางปี พ . ศ .2492 พากันอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 20 หลังคาเรือน

เชียงรุ่งเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงชาวเมืองเรียกว่า “ เจียงฮุ่ง ” จีนเรียกว่า “ กิ่วลุงเกียง ” ทั้งแคว้นเรียก “ สิบสองพันนา ” มีที่ราบเพียงเล็กน้อยล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และภูเขาหลายสิบลูก จึงต้องแบ่งเอาที่ดินพื้นที่ราบไว้ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ชาวเมืองเชียงรุ่งปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ตามบนเนินเขาที่ลาดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งพอที่จะสร้างบ้านเรือนได้จึงรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งมีจำนวนราว 20-60 หลังคาเรือน

ในหมู่บ้านหนึ่งมี ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สารวัตรปกครองกำนันเรียกว่า “ พระญา ” ผู้ใหญ่บ้านเรียกว่า “ จ่า ” สารวัตรเรียกว่า “ ล่าม ” หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นเมืองหนึ่ง เช่น เมืองเชียงรุ่ง มีประมาณ 70 กว่าหมู่บ้าน มีเจ้าผู้ครองเมืองเรียกว่า “ เจ้าฟ้า ” เจ้าฟ้ามีอำนาจเหนือศาลสถิตยุติธรรมแห่งเมืองนั้น เมื่อประชาชนพลเมืองมีเรื่องราวฟ้องร้อง เจ้าฟ้าจะเป็นผู้ตัดสินความได้ตามอำเภอใจ แต่เมืองเชียงรุ่งนี้ขึ้นอยู่ในการปกครองของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนแต่งตั้งเจ้าเมืองหรือผู้สำเร็จราชการบริหารงานอีกต่อหนึ่ง เรียกกันว่า “ เจ้าฮ่อ ” เจ้าฮ่อมีอำนาจอีกส่วนหนึ่งแต่เหนือกว่าเจ้าฟ้า มีศาลยุติธรรมตัดสินคดีต่างหาก การปกครองจึงขึ้นอยู่กับเจ้านายสององค์ เมื่อราษฎรมีถ้อยความคดีอะไรก็ต้องไปหาเจ้าไทหรือเจ้าฟ้าก่อน ถ้าเจ้าไทหรือเจ้าฟ้าตัดสินคดีความไปแล้วยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ส่งไปให้เจ้าฮ่อตัดสินอีกครั้งหนึ่ง และเป็นอันว่าคดีสิ้นสุดลง

ก่อนถึงเมืองเชียงรุ่งมี ภูเขาลูกใหญ่หลายลูกสูงตระหง่านถ้าเราเดินผ่านพ้นไปแล้ว เหลียวหลังไปดูจะเห็นภูเขาเหล่านั้นเป็นรูปคนนอนเรียงกันอยู่ 3 คน เรียกกันว่า “ ดอยนัง ” ทุก ๆ ปีมีการเซ่นเจ้าที่ภูเขาลูกนี้ โดยถือว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของนารีแน่งน้อยผมสวยงามผู้มีฤทธานุภาพ สามารถบันดาลให้ผู้คนเดินทางเจ็บป่วยหรือประสบภัยอันตราย ผู้คนเดินทางไปมาต่างมีดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาไว้ข้างทาง เชียงรุ่งมีกำแพงเมืองธรรมชาติอันมหึมา โดยใช้ภูเขาสูงทะมึนลูกนี้กั้นเขตแดนระหว่างเมืองลวงกับเมืองเชียงรุ่ง

เมืองเชียงรุ่งมีคนหลาย ชาติ ทั้งชาวเขาและชนชาติพื้นที่ราบ ส่วนมากเป็นคนไทลื้ออาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงตัวเมือง ตำบลในเมืองเชียงรุ่ง เช่น บ้านเชียงคำ บ้านติ้ว บ้านกองหลวง บ้านดอนตัน บ้านมอง ฯลฯ

ไทลื้อบ้านมองนั้น สำเนียงพูดเป็นชาวเชียงแสนแต่ออกจะแปร่งไปบ้างเล็กน้อย พวกไทลื้อบ้านมองเล่าให้ฟังว่า เดิมปู่ย่าตาทวดของเขาอยู่เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้อพยพขึ้นไปอยู่ในบริเวณเขตเมืองเชียงรุ่งในสมัยเชียงแสนถูกพม่ายกกองทัพ มารุกราน จึงพากันหนีพ่ายไปทางเหนือ บรรพบุรุษผู้ทราบเรื่องราวเมืองเชียงแสนสมัยนั้นได้สิ้นชีวิตไปหมดแล้ว คงตกค้างอยู่แต่บรรดาลูกหลาน ซึ่งจำความจากปู่ย่าตาทวดของเขาเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่งว่า เดิมเป็นคนเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ไทลื้อบ้านมองหรือไทเชียงแสนยังคงกระจัดกระจายอยู่อีกหลายแห่ง การแต่งกายและขนบธรรมเนียมเหมือนกันกับไทลื้อเชียงรุ่ง

  • ขนบธรรมเนียมการแต่งกาย หญิง เด็กสาวจะแต่งกายเหมือนกับคนแก่และแม่เรือน คือมีผ้าโพกศีรษะ ใช้ผ้าขนหนูสีฟ้า สีชมพู สีขาว ใส่เสื้อขาวหรือสีต่าง ๆ ที่ชอบที่สุดคือสีน้ำเงิน ขาว สวมเสื้อสองชั้นซ้อนกัน เสื้อชั้นในแขนสั้นคว้านคอไม่ค่อยลึก มีลูกไม้ติดกระดุมเป็นแถวถี่ ๆ บางทีไม่ต้องเจาะรังดุม ใส่กระดุมทั้งสองข้างเอาด้ายผูกติดกันให้มิดชิด เสื้อชั้นนอกผ่าอกมีสาบคอ และตลอดที่ผ่าอกใช้ผ้าชื้นเดียวกันคล้ายเสื้อยะวาของไทยเรา แต่เมื่อสวมแล้วต้องถึงสาบที่อกไปผูกติดกับด้าย ซึ่งเย็บติดไว้ที่ตะเข็บข้าง ๆ ห่างจากรักแร้ประมาณ 1 คืบ เมื่อใส่แล้วแนบติดตัวกะทัดรัดดี เสื้อยาวแค่เอวพอดี นุ่งผ่าซิ่นสองชั้น ชั้นนอกเป็นตา ๆ คล้ายซิ่นลื้อเชียงคำหรือบางทีก็นิ่งซิ่นเป็นตา ๆ เหมือนของเชียงใหม่ต่อหัวต่อท้ายใช้สีดำหรือเขียว ซิ่นชั้นในเวลาสวมยาวแลบออกมาให้เห็นประมาณ 4 นิ้ว เย็บเป็นเกล็ด ๆ ไปตามยาว ส่วนล่างจะติดแถบริบบิ้นสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำเงิน สีชมพู ริบบิ้นนี้มีลวดลายที่ส่งมาจากเมืองยูนนาน ผู้หญิงสูงอายุแต่งกายแปลกไปบ้าง ก็เพียงผ้าโพกศีรษะดำทอด้วยไหมเงินเป็นริ้ว ผืนหนึ่งยาวประมาณ 6 นิ้ว ผู้ชายโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวไม่สู้ใหญ่และยาวนัก

 

  • เครื่องแต่งกายของชายหนุ่มสวมเสื้อกุยเฮงสีต่าง ๆ กางเกงจีน สีกรมท่าและสีขาว ตัดผมสั้น ไม่ไว้ผมยาวเหมือนสมัยก่อน ซึ่งเดิมไว้ยาวม้วนเป็นมวยผมอย่างผู้หญิง บางคนชอบสวมกำไลข้อมือทำด้วยเงินทองหรือหยก เครื่องประดับกายสำหรับผู้หญิงนั้น ผู้หญิงไทลื้อเชียงรุ่งแทบทุกคนจะเจาะหูใส่ต่างหู ซึ่งเขาเรียกว่า “ ลาน ” ที่มวยผมมีดอกไม้ทำด้วยเงินปักไว้อย่างเดียวกับปักปิ่น มีกำไลข้อมือทำด้วยเงินหรือทองคำ รองเท้าของผู้ชายทำใช้กันเอง โดยเอาหนังสัตว์มาแช่น้ำปูนและน้ำฝาดของต้นไม้บางชนิด นำเอามาผึ่งใช้ทำเป็นรองเท้าบางทีก็ใช้ผ้าเย็บทำกันเอง รูปร่างรองเท้าไม่สู้สวยงาม นอกจากนั้นมักจะซื้อจากที่อื่น


ตามปกติเวลาไม่มีงานพิธี ทางศาสนาหรืองานขึ้นบ้านใหม่ที่สำคัญแล้ว ชาวลื้อเขาสวมเสื้อกางเกงย้อมสีกรมท่าหรือสีครามหรือสีดำ เขาทำสีขึ้นใช้เองโดยนำเอาใบไม้ชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ไม่ยากนักตามป่าริมห้วย ลำธาร ชาวไทลื้อเรียกใบไม้ชนิดนี้ว่า “ ห้อม ” นำมาหมักไว้ใช้ผ้าย้อม ถ้าต้องการสีเข้มก็ย้อมหลาย ๆ ครั้ง ๆ ทุก ๆ หลังคาเรือนมีผู้หญิงรับหน้าที่ทอผ้าไว้ใช้เอง และเมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ทุกหลังคาเรือนต้องมีผ้าไปทำบุญ สำหรับบ้านที่มีผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปถึง 50-60 ปี ปีหนึ่งมีผ้าขาวคนละ 1 วา เอาเตรียมไว้ทำบุญถวายทานที่วัด เพราะเหตุนี้ผู้หญิงชาวไทลื้อทุกคนจึงต้องทอผ้าเป็น และทุกบ้านมีกี่สำหรับทอผ้าไว้ใช้งาน

  • บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของเขา รักษาความสะอาดเป็นอย่างดี แทบทุกหลังคาบ้านจะผูกวัวควายไว้ใต้ถุน นอกจากนี้ยังทำเล้าไก่ไว้ใต้ถุนเรือน เมื่อเขานำวัวควายออกไปเลี้ยงแล้วเจ้าของบ้านจะทำความสะอาดกไม่ปล่อยให้ สกปรก โดยเก็บเอามูลสัตว์ไปกองรวมกันไว้เป็นแห่ง ๆ เมื่อแห้งดีแล้วก็เผาทำเป็นปุ๋ยสำหรับนำเอาไปใส่ที่ดินในเรือกสวนไร่นาของ เขา ที่ใต้ถุนเรือนทำเป็นที่ทำงานอย่างอื่น เช่น โม่แป้ง โม่ข้าวเปลือก คือเขามีโม่ซ้อมข้าวให้เปลือกบิแตกแล้วนำเอาไปตำกับครกกระเดื่องอีกทีหนึ่ง
  • บ้านเรือนชาวไทลื้อเชียง รุ่งทำแบบเดียวกันหมด เว้นแต่ขนาดใหญ่หรือเล็กเท่านั้น คือยกพื้นสูงพอท่วมศีรษะมีหลังคาลาดลงมาแต่ชายคาต่ำ จากพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตรหรือเมตรครึ่ง มีชานเล็ก ๆ ครัวไฟทำที่เดียวกันกับห้องรับแขกมีห้องนอนกั้นฝาระหว่างห้องนอนกับห้องรับ แขก


ภาษาที่พูด สำเนียงเหมือนลื้อทางอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เช่น คำว่า “ พลู ” ชาวไทลื้อเชียงรุ่งว่า “ ใบ ” คำว่า “ เคี้ยวหมาก ” ว่า “ อมใบ ” คำว่า “ ข้าวเหนียว ” ว่า “ ข้าวโหน ” “ ข้าวเจ้า ” เป็น “ ข้าวอาน ” “ เนื้อ ” ว่า ” เน้อ ” “ วัว ” ว่า “ โฮ ” “ ควาย ” ว่า “ กาย ” ชื่อคนไทลื้อโดยมากไม่มีนามสกุล แม้ชื่อซ้ำกันแต่ก็เรียกขนาดรูปร่างของคนนั้น ๆ ต่อท้าย หรือบางทีก็เอาชื่อบิดาและหมู่บ้านตำบลนั้นเป็นนามสกุล ชื่อผู้หญิงคนธรรมดาสามัญใช้คำว่า “ อี่ ” นำหน้านาม เช่น อี่แก้ว อี่เปง อี่จัน ฯลฯ จะเป็นสาวหรือเด็กเรียก “ อี่ ” ทั้งนั้น ถ้าโตขึ้นมีลูกหลาน ผู้มีอายุอ่อนกว่าเรียกผู้อาวุโสกว่าว่าน้า ป้า อาว แม่หลวง พ่อหลวง พ่อเฒ่า ปู่ ย่า ฯลฯ แต่คนที่มีอายุมากเรียกผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่าว่า “ อี่ ” ถึงคนอื่นจะเรียกว่า น้า ป้า อาว ก็ตาม คำว่า ” นาง ” ใช้กับเจ้านายที่เป็นญาติสนิทกับเจ้าฟ้า พระญาจ่า และล่าม

เครื่องดนตรีของชาวลื้อ เชียงรุ่ง มีซออู้ ซอด้วง ปี่ ฆ้อง กลอง ฯลฯ สำหรับฆ้องกลองปี่นั้นใช้ในงานพิธีทำบุญ หรือขึ้นบ้านใหม่ เข้าหรือออกพรรษา

การอาชีพโดยมากทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกต้นไม้ยืนต้นล้มลุกเหมือนอย่างชาวเหนือ ผลไม้มีไม่กี่ชนิด เช่น ลิ้นจี่ พืชผักหลายอย่าง เช่น ถั่ว มะเขือ พริก ฝักกาด และพืชหลายชนิดที่ส่งมาจากเมืองซือเหมา เมืองคุณหมิง อาหารที่ชอบรับประทานมากที่สุด คือเนื้อวัว หมู ไก่ ปลา วิธีปรุงรับประทานมียำ ปิ้ง ลาบ แกงอ่อม ฯลฯ รับประทานร่วมกันหมดทั้งครอบครัวไม่รับประทานแยกกัน มีสำรับซึ่งเขาเรียกว่า “ สะโตก ” ใช้ตะเกียบคนละคู่ ช้อนคนละอัน รับประทานข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าได้ทั้งสองอย่าง เมื่อรับประทานอาหารแล้ว ต้องมีน้ำชาดื่มตามไปด้วย สักครู่จึงเคี้ยวหมาก สูบบุหรี่มวนด้วยใบตองกล้วย ไม่นิยมการกินเมี่ยง การเจ็บไข้โดยมากเป็นไข้จับสั่น ปวดท้อง ลงท้อง ไส้ตัน ฝีในท้อง ฯลฯ หมอใช้ยาพื้นเมือง

เมื่อสมัยก่อนสงครามมีโรงพยาบาลของคณะมิชชันนารีตั้งอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง แต่ชาวไตลื้อไม่ค่อยนิยมใช้หมอและยาแผนปัจจุบัน จึงมีผู้มาทำการรักษาน้อยราย สวนมากใช้หมอผีปล่อยเคราะห์ เป่าน้ำมนต์ เสกคาถาอาคม ผูกข้อมือ เซ่นผี บางรายใช้รากไม้ใบหญ้ามาต้มดื่มแก้โรค

ชาวไทลื้อเชียงรุ่งเป็นผู้มีใจโอบอ้อมอารี พูดจาสุภาพเรียบร้อย รักญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น การปลูกบ้านเรือนและการเก็บเกี่ยวข้าว หรือมีงานต่าง ๆ ก็ช่วยกันทำ ไม่ข่มเหง ทำร้าย ลักขโมย ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันด้วยความสงบ เคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีประหยัดการใช้จ่าย

ชาวไทลื้อเชียงรุ่งเป็นคนขยันทำงานก็จริงอยู่ แต่ไม่ชอบการสร้างบ้านเรือนเครื่องใช้ให้แน่นหนาถาวร ทำกันเพียงชั่วคราวเพราะเชียงรุ่งเคยประสบโจรภัยปล้นสะดม หรือเกิดศึกฮ่อบ่อยครั้ง เหตุนี้ชาวไทลื้อเชียงรุ่งจึงหวาดเกรงต่อภั้ยโจร และความอลเวงทางการเมืองของจีนยูนนานอยู่เสมอ เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งกับรัฐบาลจีนใหม่ในอาณาเขต มณฑลยูนนาน ซึ่งได้กระทบกระเทือนถึงเมืองเชียงรุ่งด้วย ยางคราวมีกองโจรฮ่อยกพวกจำนวน 500-600 คนเข้ามาปล้นสะดมหมู่บ้านต่าง ๆ ในเมืองเชียงรุ่ง เพราะฉะนั้นทุกครอบครัวเรือนจึงไม่ปลูกบ้านเรือนให้ใหญ่แน่นหนาต่างเตรียม กระบุง หรือ เรียกว่า “ กว้าย ” ซึ่งมีหูสำหรับเอาไม้คานสอดหาบหามหนีเข้าป่าประจำตัว ทุกคนจะเลือกเอาแต่ทรัพย์สินเงินทองเสื้อผ้าที่จำเป็นและสำคัญ ตลอดจนเสบียงอาหารเตรียมอพยพหลบลี้ภัย นิยมปลูกต้นไม้ให้ผลเพียงปีหนึ่ง หรือ 2-3 ปีเท่านั้น ไม่ปลูกต้นไม้มีอายุนานหลายสิบปีให้เสียเวลา เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ตลอดไปหรือจะต้องอพยพโยกย้ายกันไปแห่งหนตำบลใด

  • ชีวิตความเป็นอยู่ภายในครอบครัวของชาวไทลื้อเชียงรุ่ง คล้ายคลึงกับชาวไทหย่า ซึ่งอาศัยอยู่ตอนใต้เมืองคุนหมิงและอยู่อย่างประปรายในเขตเชียงรุ่ง ผู้หญิงชาวไทลื้อตื่นนอนเวลาเช้าตรู่พร้อม ๆ กับผู้ชาย ผู้ชายมีหน้าที่ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกสร้างบ้านเรือน ตัดต้นไม้ ผ่าฟืน เอาวัวควายไปเลี้ยง ฯลฯ ส่วนผู้หญิงนอกจากช่วยเหลือผู้ชายทำงานตามปกติแล้วยังต้องเลี้ยงลูก ทอผ้า โม่แป้ง โม่ข้าวเปลือก เพื่อนำไปตำในครกกระเดื่อง ทำอาหาร ต้มผักให้หมู ฯลฯ
  • การศึกษาของชาวไทลื้อเชียงรุ่ง ในช่วง พ . ศ .2493 อาศัยเรียนตามบ้านตามวัด ใช้ตัวอักษรพื้นเมืองคล้ายอักษรชาวล้านนา ไม่นิยมเรียนหนังสือ ผู้ที่ได้รับการศึกษามักเป็นลูกหลาน เจ้าฟ้า พระยา จ่า และล่าม หรือบรรดาลูกหลานของผู้ที่นับถือศาสนาคริสเตียนลัทธิโปรเตสแตนส์เท่านั้น จึงจะมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนประจำเมือง มีการสอนภาษาจีนขณะนั้นหาได้บังคับให้พลเมืองที่ขึ้นอยู่กับเขาต้องศึกษา เล่าเรียนไม่
  • ชาวไทลื้อเชียงรุ่งนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับนับถือผี มีวัดวาอารามไม่สู้ใหญ่โต อะไรนัก แต่มีอยู่ทุกหมู่บ้านพระสงฆ์สามเณรไม่ค่อยเคร่งครัดต่อระเบียบพระธรรมวินัย จิตใจของชาวไทลื้อเชียงรุ่งทุกคนนิยมการทำบุญกุศล และการสนุกสนานร่าเริง เมื่อมีงานพิธีอะไรก็มีการตีฆ้องกลองฟ้อนรำแห่ไปมาครึกครึ้น งานปีใหม่เริ่มในกลางเดือนเมษายน วันสงกรานต์ต่างซักเสื้อผ้า ยิงปืน จุดประทัด มีการทำบุญตักบาตรถวายอาหารอุทิศให้แก่บรรดาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ไม่มีการรดน้ำอย่างชาวเหนือ การเข้าพรรษามีพิธีแห่ตีฆ้องกลอง และร้องรำทำเพลงอย่างเดียวกันกับอย่างชาวไทใหญ่ นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้ว แทบทุกคนยังนับถือผี มีผีบ้าน ผีหมู่บ้าน ผีเมือง และมีการเซ่นผีอยู่เสมอในเวลาเจ็บป่วย งานปีใหม่หรือเวลารับประทานข้าวใหม่ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้เพราะมีหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้เดินทางเข้าไปสั่งสอนศาสนา ตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาลตามเมืองต่าง ๆ ในเขตยูนนานตอนใต้ ( ดูประกอบที่ คริสเตียนฯ )
  • การเที่ยวสาวของชายหนุ่มชาวไทลื้อเชียงรุ่ง เขาไปเที่ยวที่กลางลานบ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านทำเอาไว้ โดยกล่องไฟให้ลุกโชนสว่างในเวลากลางคืน หญิงสาวกไปนั่งปั่นฝ้ายรอคอยชายหนุ่มที่จะไปสนทนาด้วยอยู่ข้าง ๆ กองไฟนั้น เมื่อชายหนุ่มรับประทานอาหารค่ำผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ก็จะเดินขับเพลงออกจากบ้านของตนมายังบ้านหญิงสาวปั่นฝ้ายอยู่ ก็เข้าไปทักทายปราศรัย และนั่งลงข้าง ๆ หญิงสาวและพูดจาเกี้ยวพาราสีกัน ถ้าบิดามารดาหญิงสาวนั่งอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะลุกหนีขึ้นเรือนไป ปล่อยให้หนุ่มสาวสนทนาเกี้ยวพาราสีกันได้เต็มที่ การเกี้ยวพูดอย่างตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม เมื่อหญิงสาวชอบพอ ชายหนุ่มจะแตะเนื้อต้องตัวได้ไม่ถือว่าเป็นการ “ ผิดผี ” แต่ถ้าหญิงสาวไม่ชอบจะปัดป้อง กระเถิบถอยห่างออกไป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยกิริยาท่าทางและคำพูดว่าหญิงสาวไม่เสน่หาในตน ชายหนุ่มผู้นั้นจะผละไปเที่ยวเกี้ยวหญิงสาวในลานบ้านอื่น ๆ ต่อไป ถ้าทั้งสองฝ่ายได้เสียกันแล้ว ถือว่าเป็นการผิดผีหรือผิดขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา หญิงสาวจะบอกให้บิดามารดาของตนทราบ บิดามาราดาหญิงจะให้ผู้ใหญ่หรือตนเองไปแจ้งแก่บิดามารดา หรือผู้ปกครองของชายหนุ่มให้มาจัดการตามประเพณี คือต้องสู่ขอแต่งงาน ถ้าชายหนุ่มไม่ยอมแต่งงานด้วยก็มีการปรับไหมกันถือเป็นการผิดประเพณี การแต่งงานนั้นจะมีการปรับไหมกันถือเป็นการผิดประเพณี การแต่งงานนั้นจะมีการฆ่าวัวฆ่าหมูทำอาหารเลี้ยงกันรวมทั้งสุรา และมีการร้องรำทำเพลง ผูกข้อมือ ให้พรแก่คนทั้งสอง
  • ถ้าปรากฎว่ามีคนตายขึ้น ภายในบ้าน เจ้าของบ้านจะไปแจ้งให้แก่ล่ามหรือสารวัตร ล่ามจะป่าวประกาศให้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนทราบ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายไปช่วยงานศพกันอย่างคับคั่ง เจ้าของบ้านผู้ตายจะไปขึ้นบันไดผู้ใดบ้านผู้ใดในระหว่างศพอยู่บนบ้านของตน ไม่ได้เป็นอันขาด เขาถือว่าจะนำเอาความพินาศมาสู่บ้านนั้น ถ้ามิเชื่อฟังมีการปรับไหมนำเอาเงินมาซื้อไก่ฆ่าต้มเซ่นผีบ้าน เวลานำเอาศพไปป่าช้า ฝังเสร็จแล้วมีการทำบุญถึงผู้ตาย เมื่อภายหลังถ้ามีคนไปช่วยงานศพมาก เจ้าของบ้านต้องฆ่าวัวฆ่าหมูทำแกงอ่อมเลี้ยงเป็นการใหญ่ การจะเอาศพไว้ที่บ้านนานกี่วันก็สุดแต่ฐานะความต้องการของเจ้าบ้าน และอาการที่ตายคือถ้าตายปกติก็ไว้นานหลายวัน


ป่าช้าของชาวไทลื้อเชียง รุ่งว่าแปลก เพราะเขาแยกเป็นหลายป่าช้า ฝังกันคนละแห่ง ๆ แบ่งเป็นประเภท ๆ ไป และตามแต่ละชนิดของบุคคลที่ถึงแก่ความตายนั้น ๆ เช่น พระภิกษุ สามเณร เด็ก คนแก่ ฝังคนละแห่ง นอกจากนี้ยังแยกประเภทอาการตายด้วยโรคชนิดใด เชน ไข้ธรรมดา บวมลงท้อง ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตาย คนต่างถิ่น ศพไม่มีญาติ ซึ่งต่างจะฝังไว้คนละแห่งถ้าตายด้วยการถูกมาตกรรม ถือว่าเป็นการตายโหง เขาไม่เอาไว้บ้านนานเกินกว่าหนึ่งวัน รีบหามศพเอาออกไปทันที และฝังไว้พวกหนึ่งต่างหาก ไม่ปะปนกับพวกที่ตายธรรมดา ศพไม่ใช้เผาเมื่อฝังเสร็จแล้วเอาไม้ปักทำเป็นเครื่องหมายไว้ด้านหัวของศพ


เวลาว่างกิจธุระ จะมีการพนันกันบ้างมีแต่มีไม่กี่ชนิด สุราและฝิ่นมีชุกชุม สุราทำกันขึ้นเองโดยใช้ข้าวเปลือกทำ มักนำเอามาเลี้ยงแขกที่เขาชอบหรือในงานพิธีต่าง ๆ ฝิ่นมีจำนวนมากเพราะบริเวณเมืองเชียงรุ่งล้อมรอบไปด้วยภูเขาอันเป็นที่อยู่ ของพวกชาวเขาหลายพวก เช่น อีก้อ แข่ ลีซอ แม้ว เย้า มูเซอ ข่าเลาะ ข่าปอก กุ้ย ขาง ฯลฯ ซึ่งปลูกฝิ่นเป็นอาชีพและนำมาขายให้แก่ชาวเมืองเชียงรุ่งอยู่แทบทุกวันจึงมี พ่อค้าฝิ่นชาวไทใหญ่และชาว จีนฮ่อเดินทางไปหาซื้อนำลงมาจำหน่ายที่ชายแดนไทยตอนเหนืออยู่เสมอ เครื่องเสพติดนี้ ชาวชนบทไม่นิยมสูบ ถือว่าเป็นสิ่งโปรดปรานของเจ้าฟ้า พระญาจ่า และบรรดาข้าราชการหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้องรังชนิดรักษาไม่หาย โดยใช้เป็นเครื่องบรรเทาความเจ็บปวด