ชาติพันธุ์ล้านนา - ยางแดง, กะเหรี่ยงแดง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ยางแดง

ยางแดง
หรือ กะเหรี่ยงแดง หรือ เรียกตามภาษาของเขาว่า “ ฉั่ว ” เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีรูปร่างสูงใหญ่ บึกบึน หน้า กว้าง จมูกโด่ง หูกาง ภาษาพูดคล้ายคลึงภาษายางกะเลอหรือกะเหรี่ยงกะเลอ ตัวหนังสือคล้ายอักษรขอมหรือพม่า โดยมากอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ตามป่าในเขตพม่า ทางภาคเหนือของประเทศไทยมียางแดงอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และลำปาง สำหรับจังหวัดเชียงรายมีอยู่หลายแห่ง ที่อยู่ใกล้เคียงกับตัวเมืองเชียงราย อยู่ที่ราบเชิงเขาริมน้ำตก บ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ ประมาณ 20 หลังคาเรือน เดิมชาวยางแดงหมู่บ้านนี้มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ได้อพยพเข้าไปอยู่ในเขตจังหวัดเชียงรายเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพราะพื้นที่ดินจังหวัดลำปางไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์สำหรับทำการเพาะปลูก

ชาวยางแดงแต่งกายผิดกับยางพวกอื่น ๆ ตรงที่ใช้ผ้าสีแดงหรือขอบริมเสื้อสีแดง นิยมโพกศรีษะด้วยผ้าสีแดงสลับขาวสวมเสื้อแดงหรือขาวขอบริมแดงมากกว่าสีอื่น ๆ ผู้ชานสวมกางเกงขากว้างสีดำ หรือกางเกงแบบชาวไทใหญ่ ผู้หญิงสวมเสื้อชุดขาวยาวรวดเดียวจากบ่าลงไปจนถึงข้อเท้าแบบกระโปรงแต่ไม่มี จีบหรือรัดเอว คือปล่อยให้ยาวลงไปอย่างถุง แขนเสื้อสั้น ชายแขนรัด เสื้อผ้าออกครึ่งหลังครึ่งหน้า ติดกระดุมเหนืออกบน ชายกระโปรงสีขาวกับคอเสื้อบนใช้ผ้าสีแดงเล็ก ๆ เย็บเป็นขอบตลอด ซึ่งใช้เป็นเครื่องแต่งกายของหญิงสาวพรหมจารี หญิงที่มีสามีแล้วจะแต่งกายแตกต่างกันเป็นบั้ง ๆ สวมเสื้อสีแดงยาวลงมาใต้เอวเล็กน้อย บางคนสวมเสื้อสีดำ แต่ปักด้วยไหมสีแดงรอบ ๆ คอ และเสื้อตรงบั้นเอวคล้ายคลึงยางกะเลอ

ชาวยางแดงไม่ชอบอยู่ปะปน กับชาวเหนือ หรือชาวพม่ามอญ มักตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบติดกับป่าไม้ ริมชอกเขาที่มีห้วยลำธาร น้ำตก หรือแม่น้ำไหลผ่าน สามารถนำเอาน้ำเข้าไปใช้ในสวน หรือหมู่บ้านของเขาได้โดยสะดวก ปลูกบ้านอย่างเดียวกันกับชาวบ้านตามชนบท แต่ค่อนข้างเล็ก คือมีชานนอกชายคาเรือน มีที่วางหม้อน้ำ มีระเบียงรับแขกข้างนอก ห้องนอนมีเตาไฟอยู่กลางห้องโถง คนมีฐานะดีก็ปลูกบ้านหลังใหญ่แต่ไม่สู้จะแน่หนาถาวร หลังคามุงด้วยหญ้าคา บริเวณบ้านมียุ้งข้าว เล้าไก่ คอกหมู ต้นกล้วย หรือพืชที่ใช้ในการทำครัว เช่น ข่า ตะไคร้ ฯลฯ

ชาวยางแดงมีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชประเภทล้มลุกชั่วระยะเวลาไม่ถึงขวบปี เช่น ข้าว พริก ฝ้าย มะเขือ มันเทศ ยาสูบ ข้าวโพด ฟัก แตง ฯลฯ เลี้ยงสัตว์จำพวกหมู ไก่ สำหรับไว้รับประทาน และเพื่อฆ่าประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนี้ยังหาของป่า ล่าสัตว์ ผู้หญิงทอผ้า ตำข้าว ช่วยผู้ชายทำไร่ ทำนา ทำสวน หาอาหารให้หมู ทำอาหาร ชาวยางแดงเป็นชนชาติที่ขยันขันแข็งในการทำงาน เวลาว่างจากทำนา ทำไร่ ทำสวนก็ปั่นฝ้าย ทอผ้า ตอนกลางคืนทั้งหญิงชายช่วยกันรองใบคาเตรียมเอาไว้สำหรับมุงหลังคาบ้าน

เวลามีการปลูกสร้างบ้าน
ใหม่บรรดาผู้ชายทุกหลังคาเรือนจะพากันไปช่วยตัดไม้แบกหามกันมา ปลูกสร้างบ้านเรือนคนละไม้คนละมือ บ้านบางหลังปลูกสร้างเสร็จภายในวันเดียวไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างแรงงานหรือ เลี้ยงอาหารชาวบ้าน เพราะบรรดาผู้ช่วยงานจะกลับไปรับประทานอาหารที่บ้านของตนเองแต่เจ้าของบ้าน ต้องเตรียมสุรา และเครื่องแกล้มเอาไว้บ้างเล็กน้อยสำหรับเวลาเสร็จงานตอนเย็น ก่อนที่ผู้มาช่วยงานจะกลับบ้าน

ชาวยางแดงเป็นคนซื่อ สัตย์ ไม่มีการหลอกลวงหรือคดโกงลักโขมย พูดจาสุภาพเรียบร้อย มีใจเข้มแข็งหนักแน่น รักเหตุผลและความจริง ทุกคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนบ้านและบรรดาแขกต่างถิ่นที่ไปเยือน รักษาสามัคคีกันระหว่างเพื่อนบ้าน ชอบทำบุญและสนุกรื่นเริง เวลากลางคืนเดือนหงายจะได้ยินเขาดีดซึง และร้องเพลงเล่นระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว
อาหารการกินของ ชาวยางแดงค่อนข้างประหยัด กินอยู่อย่างง่าย ๆ เก็บเอาผักตามสวนและตามป่า เช่น หน่อไม้ ผักกูด หวายอ่อน เห็ด ต๋าว ฯลฯ หาปลาตามลำห้วยหรือหนองน้ำที่มีอยู่ใกล้เคียง ว่าง ๆ ก็เข้าป่าล่าสัตว์ในป่าบริเวณใกล้หมู่บ้านของเขา ซึ่งเป็นหุบเขาที่มีสัตว์ป่าชุกชุ ใช้หน้าไม้ยิงนก ดักแร้วไก่ป่าและนกมาเป็นอาหาร แทบทุกบ้านจะเลี้ยงหมูและไก่ไว้ ชาวยางแดงรับประทานได้ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า สำหรับข้าวเจ้าของเขานั้น เมล็ดกลม ๆ อย่างข้างพันธุ์เบาทั่วไป พืชไร่ที่เหลือจากการับประทาน และของป่าที่เก็บได้ก็เอามาขายที่ตลาดในตำบลของตน ซึ่งเป็นระยะเดินทางด้วยเท้าประมาณ 6 กิโลเมตร

สุขภาพและอนามัยของชาว ยางแดงค่อนข้างดี ความเป็นอยู่สะอาดและเป็นระเบียบ หญิงสาวอาบน้ำทุกวัน การอาบน้ำตามจารีตเดิมของเขานั้น คืออาบกันในห้วยลำธารที่มีน้ำใสถอดเสื้อไว้ข้าง ๆ ตลิ่งหรือเอาไปพันศีรษะ เปลือยร่างล่อนจ้อนอาบน้ำกันอย่างมีศิลป์ โดยนั่งชันเข่า พวกหนุ่ม ๆ ที่ชอบเมียงมอบก็จะไม่เห็นอะไรอื่นนอกจากเห็นหลังขาว ๆ เท่านั้น พวกผู้หญิงสะอาดกว่าผู้ชายเพราะขยันอาบน้ำ

ชาวยางแดงนับถือผีและถือ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผีปีศาจเฝ้าดูแลรักษา ในป่ามีผีป่า บ้านมีผีเรือน ผีหมู่บ้าน ผีเมืองการเลี้ยงผีหมู่บ้าน เรียกว่า “ เลี้ยงผีน้อย ” ซึ่งมีพิธีเลี้ยงผีน้อยในราวเดือน 10 เหนือ ทุกหลังคาเรือนฆ่าไก่ 1 คู่ นำไปเซ่นผีหมู่บ้าน ซึ่งปลูกศาลไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมหมู่บ้าน มีการผูกข้อมือด้วยเส้นด้าย โดยมีอาจารย์ทางไสยศาสตร์หรือหมอผีประจำหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ประกอบพิธีเป่า เสกเวทมนตร์คาถาสะเดาะเคราะห์ขับไล่ความชั่วร้ายทั้งหลายให้ออกไปจากร่างกาย และจิตใจ การเลี้ยงผีน้อยนั้น ชาวบ้านทุกคนต้องหยุดงานไม่ไปไร่สวนเป็นเวลา 3 วัน ต่างช่วยกันทำซุ้มประตู ซึ่งอยู่ระหว่างหัวหมู่บ้านกับท้ายหมู่บ้าน ปิดเครื่องหมายเฉลวเพื่อห้ามคนต่างถิ่นหรือต่างหมู่บ้านเข้าออกภายในบริเวณ หมู่บ้านของเขาตลอดเวลาที่มีงาน ถ้าหากมีคนต่างถิ่นเข้าไปก็จะถูกห้ามออกจากหมู่บ้านก่อนจะเสร็จพิธีเลี้ยงผี น้อยหรืองานเซ่นผีหมู่บ้าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะถูกปรับไหมทันที ที่ประทับผีหมู่บ้านทำเป็นศาลหลังสูงประมาณ 2 เมตร ไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างนำไก่ต้ม 1 คู่ สุรา 1 ขวดใส่ถาดอาหารไปเส้นผีน้อยหรือผีหมู่บ้าน เมื่อเสร็จแล้วก็นำมารับประทานกัน และมักมีการร้องทำเพลงอย่างสนุกสนาน

งานเลี้ยงผีหลวง หรือเรียกว่า “ ผีเมือง ” เขาทำพิธีกันในเดือน 5 เหนือ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วหรือเรียกว่างานกินข้าวใหม่ก็ได้ เพราะงานนี้จะมีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ชาวยางแดงหยุดงานไม่ไปไหนทั้ง 3 วัน อย่างเดียวกับงานพิธีเลี้ยงผีน้อยหรืองานเลี้ยงผีหมู่บ้าน มีการฆ่าไก่มากน้อยแล้วแต่ฐานะของบุคคล ถ้าคนในหมู่บ้านมีฐานะดีก็ฆ่าหมูแต่อย่างน้อยที่สุดหลังคาเรือนหนึ่งจะต้อง ฆ่าไก่ไม่ต่ำกว่า 1 คู่ คนมั่งมี 2-3 คู่ หรือฆ่าหมูหนึ่งตัว นำเอาไปเซ่นผีหลวงหรือผีเมือง ตลอดงานที่ซุ้มประตูกั้นทางเดินเข้าสู่หมู่บ้านจะมีเครื่องหมายเฉลวห้ามไม่ ให้ต่างถิ่น หรือต่างหมู่บ้านเข้าออกภายในหมู่บ้านของเขา มีพิธีผูกข้อมือด้วยเส้นด้ายเรียกขวัญเลี้ยงสุราอาหาร วันสุดท้ายพิธีเลี้ยงผีหลวงนี้ มีการชุมนุมร้องเพลงโต้ตอบกันอย่างลำตัด หญิงชายอยู่คนละฝ่ายร้องเพลงเกี้ยวพาราสี และรำพันถึงความเป็นไปในรอบปีที่ผ่านพ้นไปแล้ว

ผู้หญิงสาวยางแดง มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวเนื้อขาวผุดผ่องตามธรรมชาติ เวลาพบปะแบเห็นยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ การเที่ยวสาวของชาวยางแดงคล้ายคลึงชาวเหนือ คือขึ้นไปสนทนากันบนบ้านตรงระเบียงห้องรับแขก เมื่อชายหนุ่มขึ้นไปบนบ้านของเขา บิดามารดาของหญิงสาวจะทักทายปราศรัยเล็กน้อย แล้วบอกให้ลูกสาวของตนออกมานั่งสนทนากับชายหนุ่มผู้มาเยือน ตนเองจะหลบเข้าไปอยู่ในห้องนอนปล่อยให้หนุ่มสาวนั่งสนทนากันตามลำพัง ถ้าหญิงสาวชอบพอรักใคร่ชายหนุ่มจะถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาวก็ได้ เว้นแต่เมื่อได้เสียกันก็ต้องจัดการให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามธรรมเนียม แล้วต่างนัดวันแต่งงาน
ในวันแต่งงานเขา เชิญชาวบ้านและญาติพี่น้อง ซึ่งอยู่ต่างหมู่บ้านมาร่วมงานสนุกสนานด้วย มีการร้องเพลงโต้ตอบกัน ตีฆ้อง กลอง แห่เจ้าบ่าวอย่างครึกครื้น ทั้งบ้านเจ้าบ่าวและบ้านเจ้าสาวต้องเตรียมฆ่าหมู และไก่ไว้สำหรับต้อนรับแขกที่ไปในพิธีแต่งงาน ตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดใหม่ เครื่องแต่งกายชุดเก่าให้เพื่อนฝูงหรือญาติที่สนิทสนมหมด ไม่ให้เหลือไว้แม้แต่ชิ้นเดียว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่เหล่านี้เขาไม่ต้องซื้อหามา เพราะทางฝ่ายญาติเจ้าสาวทอส่งมาให้ และทางญาติฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะทอผ้าเย็บส่งไปให้เจ้าสาวไว้ใช้เช่นเดียวกัน การฆ่าหมูหรือไก่ใช้จำนวนมากหรือน้อยนั้น แล้วแต่ฐานะของทั้งสองฝ่าย ถ้าต่างมั่งมีก็มีการเลี้ยงสุราอาหารอย่างไม่อั้น แต่ถ้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวมีฐานะค่อนข้างยากจน การเลี้ยงจะใช้วิธีประหยัด เขาถือว่าวันแต่งงานเป็นวันสำคัญที่สุดของชีวิต

เริ่มเตรียมงานวันแรก จะมีชาวบ้านทั้งหญิงชายมาช่วยงานตั้งแต่เช้าตรู่ ทาอาหารไว้สำหรับต้อนรับแขก พอสาย ๆ ประมาณ 10,000 นาฬิกาของวันนั้น บรรดาพวกผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันไปรวมที่บ้านเจ้าบ่าว มีการเลี้ยงสุราอาหารกันบนบ้านเจ้าบ่าวจนถึงเวลาเที่ยวงัน จึงตีฆ้อง กลองฟ้อนรำ แห่เจ้าบ่าวสู่บ้านเจ้าสาว นำเอาเจ้าบ่าวไปนั่งคู่เคียงกันกับเจ้าสาว ท่านผู้เฒ่าปั้นข้าวสุกเป็นก้อน 1 ก้อน ข้างในก้อนข้าวนั้นใส่เครื่องในหมูต้มกับเกลือยื่นให้เจ้าบ่าว เจ้าบ่างจะรับมาแบ่งให้เจ้าสาวรับประทานกันคนละครึ่ง ข้าวปั้นนี้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะทิ้งไม่ได้ ถึงไม่ชอบต้องฝืนใจรับประทานจนหมดคล้ายกับว่าสอนให้คู่บ่าวสาวอยู่ด้วยกันจน ตายจากกันไป นอกจากนี้ ยังจัดให้เพื่อนของเจ้าบ่าวกับเพื่อนหญิงเจ้าสาว ซึ่งต่างมีสามีภรรยาแล้วฝ่ายละหนึ่งคน และไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกับสามีภรรยา หรือไม่เคยหย่าร้างเป็นพ่อหม้ายแม่หม้ายมาก่อนต่างเอาเส้นด้ายมาผูกข้อมือ ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เพื่อนหญิงของเจ้าสาวให้พรแก่เจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าวให้พรแก่เจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะนำเอาสุราอาหารมาเลี้ยงแก่บรรดาชาวบ้านที่ไปในงานมีการร้อง เพลงขับกันคล้าย ๆ ลำตัดหรือเพลงเรือ โดยหญิงฝ่ายหนึ่ง ชายฝ่ายหนึ่ง เนื้อเพลงขับทำนองให้พรและหยอกล้อเจ้าบ่าวเจ้าสาว ครั้นเสร็จพิธีแล้วยังไม่ส่งเจ้าบ่าวเข้าห้อง บรรดาพวกผู้ชายจะพากันแห่นำเจ้าบ่าวกลับไปบ้านของเขาอีก เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวมีการเลี้ยงสุราอาหารแก่บรรดาเพื่อนบ้าน หนุ่มบางคนร้องเพลงขับรำพันหยอกล้อเจ้าบ่าวเจ้าสาว บางทีเจ้าบ่าวร้องเพลงตอบ มีการร้องเพลงเลี้ยงสุราอาหารจนถึงกลางคืน พวกชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ชายล้วน ๆ ไปบ้านเจ้าบ่าว แห่นำ ตีฆ้อง กลอง ร้องเพลง ฟ้อนรำ สนุกรื่นเริงจนได้เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกาของคืนวันนั้น แล้วต่างพากันแห่นำเจ้าบ่าวไปส่งยังบ้านเจ้าสาว ส่วนเครื่องแต่งกายชุดใหม่ของเจ้าบ่าวทั้งหมดจะส่งล่วงหน้าไปก่อนในเวลาเย็น

การแห่นำเจ้าบ่าวไปส่ง ครั้งหลังนี้ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมายเพียงนำเจ้าบ่าวให้เข้าสู่เรือนหอ เมื่อไปถึงก็ร้องเพลงขับหยอกล้อเจ้าบ่าวเจ้าสาวเพียงเล็กน้อยแล้ว ต่างก็ชวนกันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวให้นั่งคู่กับเจ้าสาวบนเรือหอ แล้วแม่ยายจูงมือลูกเขยพาลูกสาวเข้าห้อง วันรุ่งขึ้นลูกเขยตื่นนอกแต่เช้าตรู่ เดินลงบันไดบ้านเจ้าสาวไปยังบ้านเรือนของตน และรับประทานอาหารที่บ้านของตนตลอดวัน จะไปพบปะเจ้าสาวและพ่อตาแม่ยายได้ก็เฉพาะเวลาค่ำชั่วเอนหลังนอนเท่านั้นทำ เช่นนี้อยู่ประมาณ 1 หรือ 2 เดือน ถ้าชายต้องการอยู่บ้านภรรยาเวลากลางวันด้วย ก็จะชวนภรรยาออกจากบ้านเวลาเช้าตรู่ไปหาปลาตามห้วยลำธารหรือหนองน้ำ เมื่อได้ปลามาแล้วนำไปให้พ่อตามแม่ยายปิ้ง หรือทำอาหารรับประทาน นับตั้งแต่วันที่หาปลาเป็นต้นมา ชายผู้เป็นเขยจึงอยู่ร่วมบ้านกับพ่อตาแม่ยายในเวลากลางวันได้

ขนบธรรมเนียมชาวยางแดง มีการผลัดเปลี่ยนกันอยู่บ้านซึ่งกันและกันคนละ 2-3 ปี คือในระยะแรกชายหนุ่มต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยายก่อน แล้วจึงนำภรรยามาอยู่บ้านของตนภายหลัง ต่อจากนั้นไปปลูกบ้านเรือนอยู่ต่างหากในระหว่างที่อยู่บ้านของกันและกันนี้ ต้องทำงานสารพัดอย่างให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณให้แก่ทั้งสองฝ่าย ชายหญิงชาวยางแดงมีจารีตประเพณีผัวเดียวเมียเดียว จะมีเมียน้อยหรือผัวหลายคนไม่ได้

ถ้าปรากฏว่ามีชาวยางแดง ถึงแก่ความตายลงภายในหมู่บ้าน เจ้าของบ้านคนตายจะใช้คนไปบอกชาวบ้านให้มาช่วยงานศพ เขามักจัดพิธีทำศพกันอย่างสนุกสนานครึกครื้นเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน โดยถือว่าผู้ตายได้ไปเกิดใหม่หรือขึ้นสวรรค์ จะมีการทำบุญปลูกศาลาอุทิศเป็นทานให้แก่ผู้ตายไว้ภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนต่างพากันหยุดงานไม่ไปไร่สวนหรือไปกิจธุระอื่น ต่างช่วยงานศพกันอย่างคับคั่ง เอาเสื้อพันรอบศพแล้วมัดเอาผ้าคลุมไว้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้ตายนำเอามาไว้ข้างศพด้วย ผู้ที่ฐานะดีก็ทำโลงอย่างหยาบ ๆ ใส่ถ้าคลอดบุตรตายหรือตกต้นไม้ตายเข้าถือว่าตายไม่ดี ไม่มีวันได้ผุดได้เกิด จึงเอาศพไว้บ้านเพียงวันเดียว แต่ถ้าตายด้วยอาการเจ็บป่วยธรรมดาเอาศพไว้นานกี่วันก็ได้ เมื่อมีคนตายภายในบ้านของตน เจ้าของบ้านต้องฆ่าหมูฆ่าไก่ต้มสุรามาเลี้ยงชาวบ้าน ชาวยางแดงเป็นผู้มีอารมณ์ดีชอบการสนุกรื่นเริง เมื่อมีงานพิธีอะไร ชาวบ้าน ชาวยางแดงเป็นผู้มีอารมณ์ดีชอบการสนุกรื่นเริง เมื่อมีงานพิธีอะไรชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าหนุ่มสาวต่างร้องเพลงโต้ตอบกันคือหญิง ฝายหนึ่ง ชายฝ่ายหนึ่ง ร้องเพลงกล่อมดวงวิญญาณคนตานขอให้ไปเสวยสุขในเมืองสวรรค์ ถ้าไปเกิดใหม่ขอให้ไปเกิดในตระกูลที่มั่งมี และเจริญด้วยลาภยศนานาประการบางทีก็สนุกด้วยการร้องเพลงทำนองเกี้ยวพาราสี กัน ฝ่ายใดมีคารมดีร้องเพลงได้จับใจ คนฟังก็ปรบมือ ป้อนข้าวสุราอาหารเป็นรางวัล

ในการเคลื่อนศพออกจากบ้าน
หมอผีหรืออาจารย์ประจำหมู่บ้านเดิมนำหน้าสะพายย่ามแดง ภายในบรรจุเครื่องใช้ประจำของตัวผู้ตาย มีฆ้อง กลอง และการฟ้อนรำนำหน้าขบวนศพ ยิงปืนขึ้นฟ้าก่อนจะเคลื่อนศพไปสู่ป่าช้า ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต่างพากันไปส่งศพ ตามขนบธรรมเนียมชาวยางแดงเดิมนั้นใช้เผา คือใช้ไม้ไผ่แห้งหรือที่ชาวเหนือเรียก “ ไม้บั่ว ” ไปกองรวมกันไว้ทำเป็นแท่นรองรับ วางสูงประมาณ 2 เมตร เมื่อนำศพไปถึงป่าช้าแล้วก็นำวางไว้บนกองไม้ ตีฆ้อง ร้องเพลง ฟ้อนรำเวียนไปมารอบ ๆ เริ่มเผา และใส่ฟืนทยอยกันเข้าไปจนศพไหม้เหลือแต่กระดูก แต่ปัจจุบันนี้ชาวยางแดงบางหมู่บ้านได้ละทิ้งขนบธรรมเนียมจากการเผามาฝังแทน เพราะไม่ต้องลำบากไปหาฟืนมาใช้ในการเผา

เมื่อเสร็จพิธีการฝังศพแล้ว ผู้ไปส่งศพทุกคนเอาน้ำส้มป่อยพรมศีรษะ และร่างกายคนละเล็กละน้อย เพื่อขับไล่ความอัปมงคลหรือป้องกันไม่ให้ผีคนตายหรือผีในป่าช้าเข้ามาสู่ ร่างกายผู้ไปส่งศพ เพราะคนที่ขวัญอ่อนอาจตกใจง่ายและเจ็บป่วยได้ ขากลับเดินกลับเป็นกลุ่ม ๆ ระหว่างทางทุกคนเด็ดใบหนาดคนละใบมาทัดหู ทั้งนี้เพื่อป้องกันผีคนตายหรือผีในป่าช้าอื่น ๆ ติดตามมายังหมู่บ้านของตน เพราะเขาถือว่าใบหนาดเป็นใบไม้ที่ผีกลัวที่สุด

ขนบธรรมเนียมดังที่เขียนนี้ ยังมีอยู่ตามหมู่บ้านชาวยางแดงที่เคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี แต่หมู่บ้านชาวยางแดงริมน้ำตกบ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ จังหวัดเชียงรายนั้น ได้เลิกขนบธรรมเนียมเดิมของเขา มานับถือศาสนาคริสเตียนแทนนับถือผี ตลอดจนขนบธรรมเนียมการแต่งกายก็กลายเป็นแบบเดียวกันกับชาวเหนือแทบทั้งหมู่ บ้านการเดินทางไปบ้านโป่งพระบาท ออกจากตัวเมืองเชียงรายโดยรถยนต์ตามถนนพหลโยธิน ประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงบ้านดู่ แวะลงเดินไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 6 กิโลเมตรก็ถึงหมู่บ้านชาวยางแดงซึ่งมีน้ำตกอยู่ใกล้เคียง
(ปรับปรุงจาก บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ 30 ชิตในเชียงราย พ.ศ. 2493 หน้า 311-382)