ชาติพันธุ์ล้านนา - ลื้อแจ้ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลื้อแจ้ง

ลื้อแจ้ง หรือ ไตแจ้ง เดิมอยู่เมืองหลวงภูคา ต้นลำแม่น้ำทา ทางทิศตะวันนออกเฉียงใต้เมืองสิงห์ เหนือเมืองหลวงพระบาง

เหตุที่อพยพเข้ามาทำมาหา กินในแดนไทย เพราะทางเมืองนั้นทุรกันดาร ไม่มีที่ทำมาหากินพื้นดินไม่เหมาะแก่การทำนาและเพาะปลูก ที่อยู่ปัจจุบันมีอยู่ที่บ้านปอ ตำตลปอ บ้านท่าข้าม ตำบลม่วงยาย บ้านพร้าวกุด ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ลื้อแจ้งเรียกตนเอง ลื้อแท้ มีสำเนียงภาษาพูดคล้ายชาวเหนือ แต่ละประโยคมักลงท้ายด้วยคำว่า “ แอ่ ” เสมอไป เช่น ไปไหนแอ่ เครื่องแต่งกายของลื้อแจ้ง ผู้ชายคล้ายกับลื้อเมืองอื่น ๆ คือสวมเสื้อคอกลมแขนสั้นย้อมสีน้ำห้อม ( สีน้ำเงินเข้มซึ่งได้มาจากในใบครามตามป่า ) มีสองกระเป๋า นุ่งกางเกงขากว้างสีดำ ส่วนผู้หญิงชาวลื้อแจ้ง นุ่งผ่าซิ่นที่ชายพกเย็บด้วยผ้าสีแดง กว้างขนาดฝ่ามือ ตรงกลางซิ่นทอเป็นริ้วลายสีต่าง ๆ เชิงซิ่นทำด้วยผ้าสีน้ำห้อม สวมเสื้อป้ายข้างคล้ายหญิงจีน หญิงสาวแก่ แม่หม้าย แต่งเหมือนกันหมด ใช้ผ้าพันศีรษะสีขาวแทบทุกวัย หญิงชายชาวลื้อแจ้งทุกคนนิยมย้อมฟันสีดำเป็นเงางาม และถือกันว่าลื้อแจ้งคนใดไม่มีฟันสีแล้วหาใช่ลื้อแจ้งที่แท้จริงไม่

วิธีทำให้ฟันดำนั้น เขาเอาเปลือกไม้ ส้มโอ ต้นมะเขือขื่น กะลามะพร้าว วางลงในกระบอก เอาสังสะสีปิดไว้แล้วนำไปตั้งไฟ กะว่ายางไม้ที่เผาติดสังกะสีที่ปิดอยู่แล้ว เอาน้ำป้ายยางไม้ทาที่ฟัน เคี้ยวลูกสมอ 4–5 ผล เพื่อให้รสฝาดของผลสมอรัดสียางไม้ให้จับแน่นอีกทีหนึ่ง

ตำบลปอตั้งอยู่บนพื้นที่ ราบ ล้อมรอบไปด้วยภูเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จำนวนบ้านมีอยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน ก่อนถึงหมู่บ้านริมทาง มีเขื่อนบ้าน ( ประตูที่มีไม้วางบนเสาทั้งสอง ) ศาลเจ้าหมู่บ้านเรียกว่า “ เจ้าเมืองเวียงดึงส์ ” ซึ่งศาลนั้นสร้างเป็นเรือนหลังน้อยมีบันได และที่วางดอกไม้ธูปเทียนสำหรับตั้งบูชาและอีกแห่งหนึ่งสร้างในป่าใหญ่ ลักษณะเหมือนศาลเจ้าเวียงดึงส์

รูปร่างลักษณะบ้าน ไม่ผิดแปลกจากบ้านตามชนบทธรรมดาของชาวไทยใหญ่ ยุ้งข้าวสร้างสูงท่วมศีรษะ ใต้ยุ้งข้าวใช้สำหรับให้สัตว์นอน ส่วนคอกหมูส่วนมากไม่ทำกันเพาะเลี้ยงบ้านละ 2-3 ตัว นิยมใช้เชือกผูกไว้ใต้ยุ้งข้าว ห้องนอนและห้องรับแขกสร้างติดกันมีฝากั้นกลาง ในห้องนอนมีผากั้นกลางอีกชั้นหนึ่ง ทำประตูเข้าสู่ห้องนอน ปลายเท้าที่นอนเป็นครัวไฟที่วางอาหาร ช้อน ชาม ทำที่ไว้เหนือเตาไฟ ทำด้วยไม้ซางผ่าซีกยาวประมาณ 1 วา มีไม้ซางทั้งเล่มยึดปลายไม้ซางผ่าซีกด้านทั้งสอง บ้านหนึ่งอยู่หลายครอบครัว ถ้าลูกชายมีภรรยาก็นำภรรยามาอยู่รวมบ้านเดียวกันหมดทุกคน

การอาชีพ มีการทำนา ทำไร่พริก ฝ้าย ปลูกยาสูบพันธุ์พื้นเมือง ก่อนลงมือทำไร่ เขาฟันไม้ใหญ่ลงแล้วถางป่า ลงมือปลูกข้าวไร่ ข้าวไร่เก็บเกี่ยวเสร็จก็ลงมือปลูกฝ้าย หรือพริกต่อไป เดือนมิถุนายนลงมือทำนาเป็นต้นไป ลื้อแจ้งทำทั้งนาและไร่ทำขนาดพอให้มีเหลือใช้บ้างเล็กน้อย ถ้าเหลือก็ขาย ทุกบ้านเก็บฟืนไว้ใต้ถุนบ้านในฤดูแล้ง เพื่อสะดวกเมื่อถึงฤดูฝน เครื่องใช้ภายในบ้านเหมือนชาวพื้นเมืองเหนือตามชนบท การหาปลาใช้แหทอดในลำน้ำงาว การล่าสัตว์นาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่งทุกครัว เรือนเลี้ยงหมู 2-3 ตัว ไก่และเป็ด 15-20 ตัว เป็ด 15-20 ตัว เป็ดเลี้ยงทุกบ้านที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำ ถ้าตั้งบ้านอยู่ห่างไกลน้ำก็ไม่เลี้ยงเป็ด จะทำสวนครัวข้างบ้านหรือหลังบ้านแทน ซึ่งหญิงสาวลื้อแจ้งเป็นผู้รับหน้าที่นี้

การทำครัวเป็นหน้าที่ของ ผู้หญิง พร้อมทั้งตักน้ำตำข้าว ให้อาหารสัตว์ อาหารที่ใช้รับประทานมีแกงอ่อมและเนื้อลาบเท่านั้นที่ชอบ ลื้อแจ้งเป็นคนกินง่าย เช่น ตั้งน้ำตะไคร้สับหมูใส่ ตำพริกขี้หนูกับเกลือใส่ลงไป ตั้งไฟนานพอสมควรแล้วเก็บใบพริกขี้หนูใส่ลงไปอีก พอใบพริกเหลืองก็รับประทานได้ บางทีเอากาน้ำขึ้นตั้งไฟ เก็บใบแคลนไฟพอเหี่ยวเด็ดใส่กาน้ำพอเดือดยกลงดื่มต่างน้ำชาหรือ “ น้ำล้า ” บางครั้งเอา “ น้ำล้า ” ใส่ถ้วยตราไก่ ผสมกับข้าวเหนียว คนพอเปียกดี ก็ตักขึ้นรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยอย่างเรารับประทานโจ๊ก ลื้อแจ้งชอบรับประทานข้าวปนน้ำร้อนมากหลังอาหารทุกมื้อต้องดื่มน้ำล้าหรือ น้ำชาเสมอ

เครื่องแต่งกายชายสูง อายุ เหมือนชาวเหนือตามชนบทสวมเสื้อกุยเฮงรูปกระบอก หรือเสื้อเชิ้ต สวมกางเกงจีนชนิดขาสั้นเพียงหัวเข่า หญิงแก่สวมเสื้อป้ายข้าง นุ่งซิ่น ชายพกซิ่นแดงเท่าฝ่ามือ กลางซิ่นทำเป็นรูปดอกไม้หรือลวดลายต่าง ๆ ชายซิ่นสีน้ำเงินแก่ หนุ่มสวมเสื้อเชิ้ต นุ่งกางเกงจีน หญิงสาวแต่งกายอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น สำหรับหญิงมีสามี หญิงหม้ายแต่งกายเหมือนหญิงสูงอายุ เด็กหญิงนุ่งซิ่นย้อมสีน้ำห้อม ( สีน้ำเงินเข้ม ) ทั้งผืน สวมเสื้อเชิ้ต หรือเสื้อรูปกระบอกหญิงสาวหรือหญิงสูงอายุรวมทั้งแม่หม้าย เกล้าผมเป็นมวยกลางศีรษะมาข้างหน้าผาก รูหูเจาะกว้าง เอาใบลานม้วนเป็นรูปกลมขนาดรูหู ยาวขนาดหนึ่งข้อมือใส่ไว้ในรูนั้น กำไลแขนซึ่งทำเป็นรูปวงกลมแล้วบิดเป็นเกลียวใส่ที่ข้อมือทั้งสอง เป็นที่นิยมทั้งสาวและหญิงสูงอายุรวมทั้งเด็กหญิงเด็กชาย ที่คอเด็กก็ใส่ห่วงเงินหรือกำไลเงิน เด็กหญิงลื้อแจ้งมีแต่เด็ก ๆ หรือผู้ชายบางคนเท่านั้นสวมรองเท้า

ภาษา คล้ายภาษาชาวเหนือ ชื่อคน สิ่งของ เรียกคล้ายกัน ผิดกันบ้าง เช่น “ ทิด ” เรียกว่า “ ใหม่ ” หรือ “ หนาน ” ชื่อผู้ชาย ใหม่จ๋อย ปัน คำ น้อย เมือง กุย วอน ปิง จั๋น สี ฯลฯ นามสกุล สมฤทธิ คำพีระ บุญยัง กาวิละ ไชยลังการณ์ ลือชา สมควร ฯลฯ ตัวหนังสือใช้ตัวพื้นเมืองแบบชาวเหนือ ชื่อลื้อ ผู้หญิง เช่น แสง เงิน คำ แก้ว นวล วัน ดี บาง ทา ฯลฯ ชื่อสิ่งของ เช่น รองเท้า ว่า ซ็อก ถุงเท้า – ถุงแข้ง ไม้ขีดไฟ - กับไฟ โซ้ กระป๋องตักน้ำ - หม้อแขก กางเกงใน - เตี่ยวซ้อน ยาฉุน - ยาแข้น ข้าวโพด - ข้าวดวง แตงโม - มะแตงน้ำ ประโยค เช่น ไปเยี่ยมบ้านศพว่าไปแอ่วเฮินฮ้าย เด็กคนนี้ซุกซนเหลือเกินบ่านี่ด้านใบ้ด้านง่าว ไม่รู้จะหาอะไรมารับประทาน - เอาอีสังมากินมื้อนี้ฮ้า กลัวผีเหลือเกิน - จักย่านผีแต๊ ๆ แหละ ทั้งนี้ลื้อแจ้งคือคนไทยเราซึ่งได้พลัดพรากกันไปอยู่คนละทิศละทาง โดยเหตุที่อยู่ห่างไกล สำเนียงภาษาที่ใช้พูดจึงผิดเพี้ยน และแตกต่างกันไปบ้าง

เครื่องดนตรีของลื้อมี อยู่ชนิดเดียว คือ “ ขลุ่ย ” แต่ที่จริงชาวเหนือเรียกว่า “ ปี่ ” รูปร่างลักษณะอย่างเดียวที่ชาวเหนือเรียกว่า “ ปี่ ” รูปร่างลักษณะอย่างเดียวที่ชาวเหนือใช้เป่าในวงซอ ( ร้องเพลง ) ปี่คู่เกี้ยว ลื้อแจ้งก็เรียกเหมือนกัน เพราะเวลาไปเที่ยวสาวต้องมีปู่คู่เกี้ยวนี้เป่าไปด้วย เป่าตั้งแต่ลงบันไดบ้านชายหนุ่มจนถึงบ้านหญิงสาว จึงหยุดหรือใช้เป่าเวลามีพิธีมงคลต่าง ๆ ตลอดจนงานปีใหม่ก็มีเป่าด้วยผู้ที่เป่าไม่เป็นก็ขับ ( ร้องเพลง ) ปี่ใช้คลอเสียงคนขับ เนื้อเพลงเกี๊ยวสาวดังจะยกมาไว้ ดังนี้

“ ฟังเตาะตัวแม่ มอนตาไหลหน่วยนิลนกป้าวปี้เฮย เบ้าย่างก้อมสะ จะน้องอย่างไร ปี้นิโตไปได้ ใจคอบ่ต่างเป็นดังเอ้งต่างต้าวโตน้อยไขเป็นกู้หุงคำ ” แปลว่า ฟังเถอะแม่น้องสาวดวงตาของน้องอย่างดวงตาของนกเป้า กิริยาเรียบร้อย ตัวพี่ไปใจพี่อยู่ พี่เปรียบเป็นนกเอี้ยง ซึ่งคู่กับหงส์ทองคำ

เนื้อสัตว์ที่ใช้เป็น อาหารประจำวันมี หมู วัว ควาย ไก่ ปลา ลื้อแจ้งชอบเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันหรือน้ำมันปนอยู่เลย ถ้าจำเป็นต้องใช้หมูเป็นอาหารก็ตัดส่วนไขมันและหนังทิ้งเสีย อาหารที่ลื้อแจ้งโปรด คือลาบและแกงอ่อม จะมีการทำอาหารทั้งสองชนิดในงานพิธีเซ่นผีหรือแต่งงาน ภาชนะที่ลื้อแจ้งใช้ คือขันโตกหรือถาดไม้ทำตีนสูงจากพื้นขนาดหนึ่งศอก มีชาม ช้อน ตะเกียบ การรับประทานนั่งล้อมรอบถาดไม้ ผู้หญิงนั่งพับเพียบ ผู้ชายนั่งยอง ๆ หรือนั่งลาบบนพื้น ผู้ที่ชอบสุราก็มีสุราตั้งไว้ข้าง ๆ แต่น้ำล้าหรือน้ำชาต้องมีไว้เสมอ ถึงจะไม่รับประทานอาหารก็ตาม เพราะลื้อแจ้งไม่ชอบดื่มน้ำเย็น

ลื้อแจ้งชอบเคี้ยวหมาก แทบทุกคนทั้งชายหญิง ที่เคี้ยวเป็นประจำเวลาเลยก็มี ลื้อแจ้งนิยมคนที่มีฟันสีดำเพราะเขาว่าสวย ถ้าไปเที่ยวตำบลปอ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงาย จะเห็นลื้อแจ้งทุกคนฟันดำ หลังอาหารจะอมเมี่ยงต่างของหวาน บางคนถึงกับไม่ทำงานไม่ได้อมเมี่ยง ยาฝิ่นสูบเฉาพะคนเฒ่าคนแก่ ผู้ที่สูบฝิ่นชอบของหวาน นอนตะแคงหันหน้าเข้าหากัน มีตะเกียงตั้งตรงกลางพร้อมทั้งกล้องสูบยาฝิ่น ใบลาน ลวดแหลมเล็ก บุหรี่ ถ้วยน้ำชาพร้อมกาน้ำ ก่อนจะเอายาฝิ่นเข้ารูใส่กล้องสูบ เอาเหล็กแหลมปั้นฝิ่นเป็นลูกกลมเล็กติดปลายเหล็กแหลม คลึงฝิ่นบนใบลานพอกลมดี จึงใส่ลงไปในรูกล้องเอาหัวกล้องจ่อไฟ พร้อมทั้งนอนตะแคงเอาหัวพาดบนไม้หนุนหรือหมอนกระเบื้อง เอาเท้าขวาปิดตรงก้นผู้นอนดูด การสูบผู้สูบต้องนอนสูบเรื่อยๆ โดยมิต้องถอนปากออกจากกล้อง แต่ระบายลมทางมุมปากทั้ง 2 ข้าง และทางจมูก จนหมดฝิ่นที่สูบ เสร็จการสูบฝิ่นก็จะสูบบุหรี่และดื่มน้ำร้อนพร้อมทั้งกินของหวาน

อุปนิสัยชาวลื้อแจ้ง เป็นคนเยือกเย็น ไม่โหดร้าย ชอบแต่ความสนุกสนานร่าเริง หาคนพาลเกเรในหมู่ลื้อแจ้งได้ยาก รักใคร่เพื่อนบ้าน โอบอ้อมอารีต่อกัน มีการช่วยเหลือปลูกสร้างบ้านเรือนหรือการอื่นๆ โดยมิต้องจ้างเพียงแต่ขอแรงช่วยเท่านั้นอัธยาศัยต่อแขกต่างบ้าน ถ้าแขกถึงเรือน เจ้าบ้านจะออกมาต้อนรับ มีหมาก เมี่ยง บุหรี่ ไต่ถามถึงการมาของแขกว่าต้องการหาสิ่งใดในหมู่บ้านนี้ ถ้าต้องการยาสูบก็จัดการหาซื้อให้โดยสะดวก พร้อมทั้งเชิญให้พักผ่อนบนเรือน ข้าวปลาอาหารจัดหาให้อย่างพร้อมเพรียง นิสัยตามธรรมชาติรักสงบ ไม่รังแกซึ่งกันและกัน ชอบทำไร่ ทำนา ไม่ชอบการค้าขาย

สุขภาพอนามัย ลื้อแจ้งชอบสะอาด ทั้งเครื่องแต่งกายและบ้านช่อง โรคประจำของลื้อคือไข้มาเลเรีย ถ้าป่วยไข้ได้เจ็บมีการักษาแบบหมอกลางบ้าน มีการบีบนวดเมื่อเกิดขัดยอกหรือปวดบวมขึ้นตามร่างกาย ถ้าไม่หายก็มัดมือเรียกขวัญส่งเคราะห์ชนิด “ เครื่องแปด ” มีสิ่งของแปดอย่าง เช่น หมาก พลู เมี่ยง เกลือ ยาสูบ เนื้อหมูดิบ ปลาดิบ ไก่ดิบ ถ้าเป็นการสังเคราะห์ชนิด “ เครื่องเก้า ” ก็มีของบูชาเก้าอย่าง นอกจากนี้มีการปัดเป่า เชน ถูกภูตผีพราย มีใบหนาด น้ำส้มป่อย โดยใช้ใบหนาดชุบน้ำมนต์ซึ่งทำโดยอาจารย์ แล้วสะบัดใบหนาดทั่วร่างของผู้ถูกผี และให้ดื่มน้ำมนต์นั้นอีกด้วย การทำสะทวง ทำด้วยกาบกล้วยเป็นรูปสี่เหลี่ยมเอาไม้เสียบเป็นช่อง ๆ แล้วเอาสิ่งของใส่ทั้งหวานและคาวปั้นรูปช้าง ม้า นก หนู ฯลฯ ให้ครบจำนวนสัตว์แปดชนิดด้วยดินเหนียว การรักษาแผนปัจจุบันก็มีบ้างเหมือนกัน แต่น้อยราย

การต้อนรับแขก เริ่มตั้งแต่ขึ้นบ้าน รับรองด้วยหมาก เมี่ยง บุหรี่ พร้อมทั้งน้ำล้าออกสู่ เมื่อถึงเวลาอาหารก็เชิญร่วมรับประทานด้วย ถ้าแขกขอพักมีการต้อนรับจัดหาที่หลับที่นอนปูให้ พร้อมทั้งข้าวปลาอาหารทุกมื้อตลอดเวลาที่แขกขอพัก โดยไม่มีความรังเกียจ ถ้าแขกจะออกเดินทางไปจากบ้านก็จัดห่อข้าวปลาอาหาร หมาก เมี่ยง บุหรี่ ให้ติดตัวไปด้วยเพื่อกินระหว่างเดินทาง

การตำข้าว เป็นหน้าที่ของ ผู้หญิง เพราะผู้ชายไม่ค่อยมีเวลาว่างทำงานชนิดนี้ ตื่นเช้าต้องออกไปไร่ ไถนา หรือเข้าป่าตัดไม้ นอกจากวันฝนตกไปไหนไม่ได้ ชายจึงช่วยดำ เวลาตำข้าวกำหนดไม่ค่อยได้ คือว่างเวลาใดก็ตำเวลานั้น ส่วนมากตำหลังจากรับประทานอาหารเช้า ลักษณะของครกเหมือนครกกระเดื่องใช้เท้า บางแห่งก็เป็นโรงมุงหลังคาบางแห่งก็ไม่มุงหลังคาหากมุงด้วยใบคามีเสา 4 เสา เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนตกรดข้าวและผู้ตำข้าว

การปลูกบ้านใหม่ ไม่มีการจ้าง เพราะขอแรงช่วยเหลือกันได้ เสาเอกจะมีต้นกล้วยมัดติดอยู่ โดยผูกด้วยด้ายสีแดงและดำเท่านั้น เรือนหลังใหญ่ใช้เวลาสองวันเสร็จ ถ้าหลังเล็กวันเดียงก็เสร็จ เพราะเจ้าของเตรียมหาไม้หญ้าคาไว้พร้อมแล้ว นอกจากช่วยกันปลูกขึ้นเท่านั้น มีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารผู้มาช่วยแรง ถ้าเสร็จแล้ว เวลาเย็นรุ่งขึ้น เจ้าของบ้านใหม่จะเชิญคนเฒ่าคนแก่ออกเดินชมห้องที่สร้างขึ้นโดยตลอดทุกแห่ง แล้วขนของขึ้นอยู่บนเรือน หลังจากนั้นมีการเลี้ยงสุราอาหาร ขับ ( ร้องเพลง ) และอุ่น ( กล่อม ) เจ้าของบ้านพร้อมครอบครัวจนถึงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืน จึงเลิกรุ่งเช้าก็พากันไปไร่ไถนา ทำการงาน พอพลบค่ำก็พากันไปยังบ้านใหม่ มีการกินเลี้ยงอีกครั้งหนึ่งอย่างคืนแรก แต่ดึกกว่าคืนแรกหรือบางทีตลอดคืน ใครอยากหลับก็หลับไปบนบ้านใหม่นั้น ถ้าเจ้าของเป็นคนมั่งมีก็เลี้ยงรับรองแขกเป็นการใหญ่ คือฆ่าวัว หมู เป็ด ไก่ พร้อมทั้งสุราเป็นไห ๆ ถ้าฐานะอัตคัดก็เลี้ยงกันอย่างพอเป็นพิธี แต่ต้องใช้เวลา 2 คืน เหมือนกันหมด

การมัดมือเรียกขวัญ
คนแก่เป็นคนทำพิธี มีกล้วยไข่สุก หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ ข้าวสุก เส้นด้ายสำหรับมัดมือคนถูกเรียกขวัญ การมัดมือเรียกขวัญทำในเวลาที่สงสัยว่า ผีทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย ถ้าถูกผีหมู่บ้านก็เรียกว่า ถูกเจ้าเมืองเวียงดึงส์ ถ้าถูกผีป่าก็เรียกว่า ผีน้อย ผีหนองหรือผีโป่ง เป็นต้น

การเลี้ยงผีมีทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน
ผีนอกหมู่บ้าน คือผีป่า เลี้ยงเครื่องเซ่นผีกันในป่า ถ้าคนใดคนหนึ่งในบ้านถูกผีก็มีการเลี้ยงด้วยไก่ต้มสุกแล้ว 2 ตัว เป็ด 1 ตัว สุรา 1 ขวดใหญ่ วิธีเลี้ยงนำเอาสิ่งของเครื่องเซ่นเหล่านี้เข้าไปตั้งไว้ในป่าที่แห่งใดแห่ง หนึ่ง ซึ่งคนเจ็บคะเนว่าถูกผีทำร้ายเอาตรงนั้น แล้วคนนำเครื่องเซ่นไปตั้งลงมือกราบไหว้ขอให้เจ้าผีมารับเครื่องเซ่น ขอให้ผีช่วยผู้ถูกกระทำหายจากป่วย ถ้าทำอะไรเป็นการล่วงเกินก็ขอให้ยกโทษด้วย เอาเอาไก่ เป็ด อย่างละชิ้นน้อย ๆ พร้อมทั้งสุราวางไว้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็กล่าวขอแล้วนำเอาของที่ใช้สังเวยนั้นกลับบ้าน

ผีหมู่บ้าน ชื่อเจ้าเมืองเวียงดึงส์ สร้างไว้ที่นอกเขตบ้านเป็นศาลาหลังใหญ่ ๆ มีมุงหลังคาและบันไดขึ้นไปบนศาลนั้นพร้อมทั้งเครื่องธูปเทียนดอกไม้ อีกแห่งหนึ่งทำศาลไว้ดงใหญ่เป็นศาลผีป่า ถ้าเกิดวัวควายล้มตายโดยเป็นโรคสัตว์ระบาดชาวบ้านจะไปกราบไหว้ขอให้ช่วย เหลือ เจ้าพ่อเวียงดึงส์มาเข้าทรงคนในหมู่บ้าน ถ้าคนถูกผีเจ้าพ่อเข้าทรงพูดเสียงใหญ่จะกลายเป็นพูดเสียงเล็ก คนเสียงเล็กเป็นเสียงใหญ่ ตรงกันข้ามกับเสียงของผู้ถูกเข้า จึงรู้ว่าพ่อเข้าทรงแล้ว ถ้าเจ้าพ่อบอกให้ทำอย่างไร ชาวบ้านต้องทำตาม โรคระบาดจึงหยุด เช่น ให้ฆ่าวัว ควาย มาเซ่น ชาวบ้านก็จะทำตาม ชาวลื้อแจ้งมีทั้งหิ้งบูชาและพระและหิ้งผี หิ้งพระสร้างไว้บนที่สูงในห้องรับแขกบนหิ้งพระนั้นมีพระพุทธรูปทำด้วยดินปูน หรือทองเหลืองตามแต่หาได้ พร้อมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว และของศักด์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่น ของขลังตามแต่เขานับถือ มีถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่ข้าวปลาอาหารพร้อมทั้งกระถางดอกไม้แห้งทำด้วยกระดาษ ข้าวปลาและน้ำต้องเปลี่ยนทุกเช้าก่อนเจ้าของบ้านรับประทานอาหาร

หิ้งผีสร้างไว้ในห้องนอน บนที่สูง มีดอกไม้และของบูชาว่าศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่มีข้าวน้ำตั้งไว้อย่างหิ้งพระ ไม่มีพระพุทธรูปหรือสิ่งแกะสลักอย่างหนึ่งอย่างใด การสวดไหว้สักการะทำกันแต่หิ้งพระ ภายหลังจากเอาข้าวน้ำตั้งไว้บนหิ้งพระแล้วการสวดไม่เอาสวดอย่างพระสงฆ์ แต่เป็นการขอศีลขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุขเท่านั้น เวลาถึงวันขึ้นปีใหม่ก็มีการสร้างน้ำพระพุทธรูป คือ ขัดสีตามองค์พระพุทธรูป และมีอาหารหลายอย่างบูชา

ผีป่าเลี้ยงกันในป่า
เรียกกัน “ ผีดอยธาตุ ” เลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ผีป่ามารังควานคนในหมู่บ้าน หรือเวลาออกทำการล่าสัตว์ตัดไม้ตัดฟืน เลี้ยงกันในเดือนมิถุนายน ( เดือน 9 ของลื้อแจ้ง ) เดือนสิบเหนือ ในเวลาเย็นของเดือนนั้น มีเครื่องเซ่นพร้อมทั้งสุราอย่างเลี้ยงเจ้าพ่อเวียงดึงส์ พอพลบค่ำก็นำสุราอาหารกลับบ้านของตน ผีไร่ชื่อว่า “ ผีข้าวแฮก ” เลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ มาทำลายพืชผักและข้าวพริก ฝ้าย ยาสูบ ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในไร่ เลี้ยงกันในกลางเดือนธันวาคม มีสุราอาหารอย่างเลี้ยงผีดอยธาตุ ผีหลวง คือผีเจ้าเมืองเวียงดึงส์ อภินิหารของผีหลวง หรือเจ้าเมืองเวียงดึงส์เวลาเจ้าเข้าทรงจะไม่อยู่สุข เที่ยวเดินไปมา ชาวบ้านขึงลวดเส้นเล็กไว้สูงจากพื้นดินหนึ่งวา คนทรงขึ้นเดินไต่ไปมาโดยเส้นลวดไม่ขาดจากกันเลย

งานขึ้นปีใหม่มีการดำหัว ผู้เฒ่าผู้แก่และกำนันผู้ใหญ่บ้านไปวัดฟังเทศน์ ขนทรายเข้าวัด รดน้ำกัน ขับร้องรำทำเพลง มีการจุดพลุหลายร้อยกระบอกในบริเวณวัดเวลาเย็น พลุของใครคนนั้นก็นำเอาไป พอเย็นมาพร้อมกันแล้วพระสงฆ์ลงมือจุดพลุก่อนจากนั้นชาวบ้านจุดกันทีละกระบอก จนหมด การกินข้าวนาใหม่เจ้าของนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่นาของตน ขอข้าวที่เกี่ยวได้นอดและกองไว้เสร็จแล้วกลับบ้าน ลื้อแจ้งเรียกว่า “ ขอขวัญข้าว ” เมื่อขอเสร็จแล้วจึงนำเอาข้าวไปบ้านใส่ในยุ้งฉางของตน งานเลี้ยงผีหลวง หรือผีเจ้าเวียงดึงส์ มีการนัดเชิญชาวบ้านเป็นพิเศษถ้าเกิดมีวัว ควาย ล้มตายขึ้นให้ไปพร้อมกันที่หอผีหลวงพร้อมทั้งนำวัว หมู อย่างละ 1 ตัว ไก่ เป็ด เรือนละ 3-4 ตัว ส่วนวัวและสุกร เรี่ยไรคนทั้งหมู่บ้านซื้อ เมื่อพร้อมกันที่หอผีหลวงแล้วก็ลงมือฆ่าสัตว์ที่นำไปทั้งหมดนั้น จัดแจงต้มน้ำลวกสัตว์แวนำไปตั้งไว้ที่หอผีหรือศาลเจ้าพ่อพร้อมทั้งสุราอาหาร จัดแจงจุด ดอกไม้ธูปเทียนเชิญเจ้าพ่อมาเสวยเครื่องเซ่น ชาวบ้านอีกหนึ่งเป็นผู้ทำอาหารสุก มีลาบ และแกงอ่อม เมื่ออาหารทั้งสองนี้สุกแล้วก็ยกขึ้นไปถวายเจ้าพ่ออีก พร้อมทั้งเครื่องเซ่นสุกดิบ สุรา ดอกไม้ธูปเทียน พวกลูกบ้านที่ไปพร้อมกันที่นั่นก็นั่งพับเพียบ พนมมือ หมอบก้มหน้าลงกับพื้นดินเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง คะเนว่าเจ้าเสวยสุรา อาหารสุก กิน เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าจึงยกมือขึ้นไหว้เจ้าพ่อ แล้วนำเอาเครื่องเซ่นทั้งหมดลงจากศาลเจ้าพ่อลงสู่พื้นดิน มีการเลี้ยงกันระหว่างชาวบ้านทั้งหมดจนอิ่มดีแล้ว จึงพากันกลับบ้าน

งานบวชนาคหรือบวชลูกแก้ว
เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำผู้บวชให้สะอาดที่วัดที่จะบวชตอนเวลาเย็น อาบน้ำเสร็จแล้วพาลูกแก้ว ( นาค ) ไปที่บ้านผู้บวชมาหาคนเฒ่าคนแก่ มีการอุ่นลูกแก้ว ( กล่อมทำให้ผู้บวชสบายใจ ) ด้วยการขับร้องเพลงและเลี้ยงสุราอาหารแก่แขกเหรื่อที่เชิญมา พอถึงเวลาเที่ยงคืนผู้นำบวชไปวัดนุ่งเหลืองห่มเหลือง พาเดินรอบอุ
โบสถ 3 รอบแล้วนำเข้าไปข้างใน แล้วจึงเริ่มต้นรับศีลเป็นเณรแต่บัดนั้น

งานพิธีเดือนยี่ เป็งหรือเพ็ญเดือนยี่ มีการตัดไม้ฟืนในป่าตอนเช้าแล้วนำไปกองไว้นอกวัดรวมไว้ที่เดียวกัน ชาวบ้าน ๆ ละ 4-5 ท่อน หรือท่อนเดียวก็ได้แล้วมีเทศน์หนึ่งกัณฑ์ในโบสถ์ โดยมีสายสิญจน์จากในโบสถ์ไปมัดไว้ยังกองฟืน พอค่ำประมาณ 2 ทุ่ม ชาวบ้านพร้อมทั้งดอกไม้ธูปเทียนไปที่วัด เมื่อเห็นว่าพร้อมกันโดไม่มีใครจะมาอีกแล้ว พระภิกษุสามเณรก็พาชาวบ้านเดินรอบกองฟืน 3 รอบ เวลาเดินพนมมือพร้อมทั้งดอกไม้ธูปเทียนอยู่ในมือ เมื่อครบ 3 รอบ พระภิกษุสามเณรลงมือจุดกองฟืน แล้วชาวบ้านทั้งหมดก็ลงมือจุดทุกคน พอไฟติดดีชาวบ้านต่างพากันกลับบ้าน ลื้อแจ้งเรียกว่า “ ทานกองฟืน ” ลื้อนับถือศาสนาพุทธจึงมีการฟังเทศน์ มีดำหัวปีใหม่ เช่น ชาวเหนือ ( ดูประกอบที่ ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า )

ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน หญิงตื่นก่อนชาย เพราะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารให้ฝ่ายชายรับประทาน แล้วต้องห่อให้ไปอีกด้วยเพื่อรับประทานระหว่างหยุดทำงานกลางวันในไร่หรือใน ป่า ลื้อแจ้งขยันทั้งหญิงชาย ถ้าครอบครัวไหนขี้เกียจจะมีชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นมาด่าว่าต่าง ๆ ให้ขยัน หรือไม่ก็ให้อพยพไปอยู่นอกหมู่บ้าน หลังจากอาหารเช้าแล้วมีการตำข้าว ปั่นด้าย ทอเสื้อผ้าซิ่น หรือหาผักให้หมูกิน ถ้าเข้าป่าก็พากันไปหลาย ๆ คนทั้งสาวแก่แม่หม้าย เพื่อหาอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ เป็นต้น สาวแก่แม่หม้ายทำงานเหมือนกันหมด เด็กหญิงชายมีหน้าที่เลี้ยงควาย ส่วนชายถ้าไปไร่ปลูกพริก ฝ้าย ถ้าไปนาก็ไถนา มีการหาปลาในลำน้ำงาวโดยทอดแห หรือเข้าป่าล่าสัตว์

การเที่ยวสาว ก่อนจะลงจากเรือนไปเที่ยวสาว พวกหนุ่ม ๆ แต่งตัวอย่างสวยงามพร้อมทั้งมีปี่ติดมือไปด้วยพวกละ 3-4 คน ตลอดทางก่อนถึงบ้านหญิงสาวมีการขับและเป่าปี่ไปเรื่อย ๆ ถ้าถึงบ้านหญิงสาวที่ตนชอบก็ขึ้นไปนั่งสนทนาด้วย ปล่อยให้เพื่อนเลยไปบ้านสาวอื่น การเกี้ยวสาวจะเกี้ยวกันที่ห้องรับแขกตรงระเบียง ประโยคเกี้ยวสาวเช่นว่า “ ถ้าบุญปี้มี จะได้มาอยู่เฮือนน้องสาวนี้ ถ้าบุญบ่มีหลายบ่ได้มาอยู่นี่ “ ถ้าสาวเจ้าเรือนไม่พอใจชายหนุ่มผู้มาเที่ยว จะพูดจะถามสิ่งใดก็นิ่งเฉย ถ้าโกรธมากก็หนีเข้าห้องนอน ถ้ารักใคร่ต้องการแต่งงาน หนุ่มสาวจะแตะเนื้อต้องตัวกันได้ ถ้าชอบพอกัน ถ้าไม่ชอบหรือไม่รักก็พยายามไม่ให้ถูกเนื้อตัวเลย การได้เสียกันก่อนแต่งงานมีบ้างเป็นบางราย ซึ่งถือว่า “ ผิดผี ” ชายนั้นต้องแต่งงานกับหญิงนั้นจึงจะพ้นผิด ทั้งนี้การแต่งงานจะจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง

การสู่ขอทางชายหนุ่มให้ผู้ใหญ่ไปขอให้ วันไปพูดจาสู่ขอผู้เฒ่าผู้แก่แต่งตัวธรรมดาแบบลื้อแจ้ง เงินสินสอดทองหมั้นมีแต่เงิน 5 บาท เป็นของขวัญแต่งงาน ถ้าไม่ตกลงแต่งสาวคืนเงินให้แก่ชาย ถ้าตกลงแต่งกันก็เชิญผู้ใหญ่บ้านกำนันผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงไปพร้อมกันที่บ้านหญิงสาวก่อนที่ฝ่ายคนเฒ่า คนแก่ของฝ่ายหญิงสาวจะไปนำเจ้าบ่าวมาเรือน ที่เรือนเจ้าบ่าวมีการขับร้องเพลงและเลี้ยงสุราอาหารแก่เพื่อนเจ้าบ่าวก่อน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจึงพากันไปรับตัวเจ้าบ่าวมาเรือนเจ้าสาว เจ้าบ่าวแต่งตัวสวยงามพร้อมทั้งมี่อมสะพายบนบ่ามาด้วย 1 ใบ บรรจุเสื้อผ้ากางเกงอย่างละ 1 ฃิ้น พร้อมทั้งผ่าห่ม 1 ผืนขึ้นไปบนบ้าน แม่ของเจ้าสาวจะรับเอาย่ามนั้นเข้าไปในห้องเจ้าสาวทันที แล้วเลยพาตัวเจ้าสาวออกมานั่งเคียงคู่กับเจ้าบ่าวยังห้องที่จะแต่งงานกัน เชิญให้คนเฒ่าคนแก่ และกำนันผู้ใหญ่บ้านมัดมือก่อน แล้วพ่อแม่ของคนทั้งสองมัดมือต่อจึงถึงแขกที่เชิญมาภายหลัง มีการอวยพรและให้เงินแก่คู่บ่าวสาว หลังจากนั้นมีการอุ่นคู่บ่าวสาว ( กล่อมหอ ) ด้วยการขับ เป่าปี่และเลี้ยงข้าวปลาอาหาร การแต่งงานนี้จัดในเวลาเที่ยงวัน ถ้าได้เสียโดยไม่มีการแต่ง ทำกันเวลากลางคืน มีการมัดมือและอุ่นคู่หนุ่มสาวเหมือนกัน มีการเลี้ยงเล็กน้อย การฆ่าสัตว์ในการแต่งงานจะฆ่าเพียงสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นคือวัวหรือหมู ฝ่ายชายเป็นผู้ออกเงินซื้อมาห่าแล้วนำเอาไปให้หญิงสาวครึ่งหนึ่งของเนื้อ สัตว์ เจ้าสาวแต่งตัวอย่างสาวลื้อแจ้ง แต่ไม่สวมรองเท้า เครื่องใช้ไม้สอยคงเหมือนอย่างที่เคยใช้ในเวลาปกติ

ภายหลังจากการแต่งงานกันแล้ว ผู้ชายกลับไปอยู่บ้านของตน 3 วัน จึงกลับไปบ้านหญิงพร้อมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ของเขามีกำหนดอย่างช้า 3 ปี หญิงไปอยู่บ้านชาย 3 ปี ถ้าฐานะทั้ง 2 ฝ่ายไม่ดี คือยากจน อยู่ฝ่ายละ 1 ปี จะลงตั้งบ้านอยู่ต่างหากก็ได้ การช่วยเหลือต้องทำทั้งสองฝ่าย หญิงช่วยฝ่ายชายชาช่วยฝ่ายหญิง หญิงชายนอนห้องเดียวกัน ถ้าเกิดอยากอย่าร้างกันโดยความตกลงใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีการเสียเงินเสียทองหรือสัตว์สิ่งของ ถ้าชายคิดจะหนีจากหญิงต้องเสียเงิน 7.50 บาท นำไปให้แก่หญิง สิ่งอื่นไม่ต้องเสีย บางคนมีภรรยาน้อย บางคนไม่มี ส่วนมากภรรยาน้อยไม่อยู่ร่วมเรือนกับภรรยาหลวง การเอาหญิงหม้ายหรือหญิงผัวทิ้ง ไม่มีการแต่งงานเพียงแต่เสียเงิน 5 บาท ก่อนจะอยู่ด้วยกัน ฝ่ายชายมีคนเฒ่าคนแก่ไปขอเหมือนกัน แต่ไม่มีการแต่งงานหรือมัดมือนอกจากมีการเลี้ยงสุราอาหารนิดหน่อย และมีการผลัดกันอยู่บ้านละ 3 ปี

การคลอดบุตรใช้หมอกลางบ้านหรือหมอตำแย เวลาคลอดนั่งคลอด การตัดสะดือเอาผิวไม้รวกตัด นำรำใส่กระบอกไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้ใหญ่ในป่า การแพ้ท้องลื้อแจ้งเรียกว่า “ ฮากลม ” การอยู่ไฟให้ผู้คลอดนอนบนกระดานแล้มีไฟสุมตรงที่ท้องมีกำหนดเวลา 1 เดือน ระหว่างอยู่ไฟให้กินแต่ข้าวจี่กับน้ำล้า ( น้ำชา ) การรับขวัญหลังจากเด็กอายุได้ 1 เดือนแล้ว พ่อผัวแม่ผัวพร้อมทั้งพ่อ แม่เด็กทำการมัดมือรับขวัญ เครื่องใช้เวลามัดขวัญมีเส้นด้ายสีขาว สำหรับผูกมือเด็ก ไก่ต้ม 1 ตัว จอบ มีด ขวาน หน้าไม้ พร้อมทั้งอุปกรณ์ ทำไร่ ทำนา หมาก เมี่ยง พลู บุหรี่ วางไว้ตรงหน้าเด็ก คนแก่เริ่มผูกข้อมือทั้งสองข้างของเด็กพรอ้มทั้งอวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน พ่อแม่เด็กผูกข้อมือเด็กต่อไปเป็นอันเสร็จการมัดขวัญการเลี้ยงเด็กเลี้ยงนม มารดา ถ้าเด็กโตพอเคี้ยวอาหารได้บ้างแม่จะเคี้ยวข้าวใส่ปากเด็ก เครื่องเล่นของเด็ก คือดินทรายไม้ไร่ตามลานบ้าน เมื่อเด็กอายุได้ขวบเศษจะหย่านม การศึกษามีโรงเรียนประชาบาล การแต่งกาย เด็กหญิงนุ่งซิ่นสวมเสื้อผ่าอก เด็กชายเสื้อคอกลมรูปกระบอก กางเกงขาสั้น

ชาวลื้อแจ้งนับถือศาสนาพุทธ มีการฟังเทศน์ในวัด ไปวัดในวันธรรมสวนะเท่านั้น เวลารับประทานไม่มีการสวดมนต์ นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังนับถือผีควบคู่ไปด้วย

ถ้าเด็กตายไม่ใส่โลง นอกจากเอาเสื่อรำแพนพันรอบกายศพ คนแก่หรือหนุ่มสาวใส่โลง หลังจากตายแล้วจะมีการอาบน้ำศพให้สะอาด มีเทศน์ให้แก่ผู้ตาย 1 กัณฑ์ แล้วจึงใส่โลง ฐานะเจ้าบ้านร่ำรวยก็เอาศพไว้หลายคืน ถ้ายากจนก็เอาไว้คืนเดียว ตอนเย็นมีพระเทศน์ ทุกเย็นมีการเลี้ยงแขกที่มางานศพกลางคืนเล่นการพนัน มีการแต่งหีบศพด้วยกระดาษสีต่าง ๆ เป็นรูปดอกลวดลาย ส่วนผู้ตายแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอย่างดี ไม่มีการเผา ขุดหลุมฝังมีความลึกประมาณครึ่งเอว หลังจากฝังได้ 3 วันแล้ว มีการทำบุญให้คนตายโดยเลี้ยงพระสงฆ์ และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน

การเดินทางไปหมู่บ้าน ลื้อแจ้ง ณ ตำบลปอ ใน พ . ศ . 2493 นั้น ออกจากกิ่งอำเภอเชียงแสนลงเรือยนต์ไปขึ้นที่บ้านจำบอง ซึ่งผ่านอำเภอเชียงของไปประมาณ 4 กิโลเมตร ขึ้นบ้านจำบองผ่านบ้านลื้อ บ้านบ่อ บ้านม่วงยาย บ้านไหล่งาว บ้านหลู่ บ้านขวาก บ้านลื้อท่าข้าม บ้านโล๊ะ บ้านกลาง บ้านดอน บ้านกอก บ้านบางหัก บ้านผาแล บ้านปอ ถึงบ้านที่ลื้อแจ้งอยู่ ใช้เวลาเดินทาง 1 หรือ 2 วัน แล้วแต่เรือยนต์ออกเช้าหรือบ่ายจากกิ่งอำเภอเชียงแสนไปมีเรือยนต์ออกจากท่า ทุกวันตลอดทางจะผ่านวิวธรรมชาติสวยงาม มีก้อนหินผุดโผล่กลางลำแม่น้ำโขง มีภูเขาตั้งทะมึนอยู่ 2 ฟากทาง หาดทรายสีทองจากกิ่งอำเภอเชียงแสนไปเชียงของใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากเชียงของไปเรือถ่อราว 4 กิโลเมตร จะถึงบ้านจำบอง จากบ้านจำบองเดินทางด้วยเท้าหรือม้าราว 15 กิโลเมตรก็ถึงตำบลปอ ในเขตอำเภอเชียงของ