วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลวะ

ลวะ ซึ่งนักวิชาการระยะหลังมักเขียนและออกเสียงว่า “ ลัวะ ” เป็นชาวพื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือและกระจายไปถึงเมืองเชียงตุงและ เมืองยอง ในเขตเชียงใหม่-ลำพูน ศูนย์กลางของลวะอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ เพราะหอผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของชาวลวะอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ และเชื่อกันว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะ เช่นเดียวกับขุนหลวงวิลังคะหรือวิรังคะ ซึ่งเป็นหัวหน้าชาวลวะยุคสุดท้ายก็เป็นลูกหลานปู่แสะย่าแสะ ตำนานเจ้าสุวรรณคำแดงกล่าวถึงถิ่นที่อยู่ของลวะอยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพและ เรียงรายลงมาที่ราบริมน้ำปิง

ตำนานในล้านนามีทัศนะต่อ ลวะแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นตำนานพระธาตุในล้านนา ซึ่งมักกล่าวถึงลวะในความหมายที่เป็นคนที่อยู่ในภาคเหนือมาก่อน ภาพของลวะจึงเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่ม ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าชนกลุ่มอื่น ตำนานมักอ้างถึงพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพอยู่ได้เสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพบกับลวะผู้ หนึ่งถวายอาหารดังเช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวงกล่าวถึงลวะอ้ายกอนถวายน้ำผึ้ง และตำนานพระธาตุช่อแฮกล่าวถึงขุนลวะอ้ายค้อมถวายหมาก เป็นต้น

ตำนานกลุ่มที่สอง เป็นตำนานเก่าแก่ล้านนา คือ ตำนานมูลสาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ กล่าวเปรียบเทียบ ลวะเป็นคนเกิดในรอยเท้าสัตว์ มีสัตว์จำพวก ช้าง แรด วัว และเนื้อ และอยู่กันเป็นกลุ่มตามพันธุ์สัตว์สะท้อนการเป็นสังคมชนเผ่าที่ใช้สัตว์ สะท้อนการเป็นสังคมชนเผ่าที่ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ แต่ตำนานดังกล่าวไม่ระบุว่าคนเกิดในรอยเท้าสัตว์เป็นลวะ ตำนานรุ่นหลังคือตำนานสุวรรณคำแดง นำมาอธิบายว่าคนในรอยเท้าสัตว์เป็นลวะ ตำนานคลาสสิกเขียนโดยพระเถระชั้นสูงในยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง จึงเห็นลวะเป็นคนล้าหลังทางวัฒนธรรม เพราะไม่นับถือพระพุทธศาสนา

ตำนานกลุ่มสุดท้าย เป็นตำนานที่เขียนในสมัยหลัง ที่สำคัญคือตำนานเจ้าสุวรรณคำแดง หรือตำนานเสาอินทขีล ซึ่งเขียนราวต้นรัตนโกสินทร์ ตำนานนี้เน้นความสำคัญของลวะเป็นพิเศษ เพราะกล่าวว่าลวะสร้างเวียงเจ็ดลิน เวียงสวนดอกและเวียงนพบุรีหรือเชียงใหม่ ลวะมีอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากมาย และยังเน้นการผสมกลมกลืนระหว่างลวะกับคนไทยจากประสบการณ์ที่อ่านเอกสาร คัมภีร์ใบลานพบว่า ตำนานสุวรรณคำแดงแพร่หลายไม่น้อย ซึ่งบางครั้งก็ปะปนกับเรื่องอื่นๆ ตำนานพระบาทดอนกลาง จอมทอง เขียนในสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ เป็นตำนานที่ให้ความสำคัญต่อลวะมาก ซึ่งเคลื่อนย้ายลงมาจากดอยสุเทพมาสร้างเวียงหลังจากกินเมืองนานแล้วก็หนี กลับขึ้นดอย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นเมืองร้าง ตำนานกลุ่มสุดท้าย สะท้อนความเจริญของชนเผ่านี้มากถึงขนาดสร้าง “ เวียง ” ซึ่งเป็นลักษณะสังคมที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ตำนานได้บอกชัดเจนถึงการมีชุมชนลวะอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนลวะได้รับวัฒนธรรมจากภายนอก เพราะจากการศึกษาคัมภีร์ใบลาน “ อวหาร ๒๕ ” ได้กล่าวว่า ปู่แสะ ย่าแสะ และลูกหลานเริ่มรับพระพุทธศาสนา โดยไม่ฆ่าสัตว์ยอมไหว้พระบฎ และให้ลูกได้บวชเป็นฤาษี สอดคล้องกับตำนานที่กล่าวถึงฤาษีวาสุเทพอยู่ดอยอุจฉุบรรพตหรือดอยอ้อยช้าง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อดอยตามชื่อฤาษีตนนี้ เชื่อกันว่าฤาษีวาสุเทพเป็นลูกหลานปู่แสะย่าแสะ การรับวัฒนธรรมดังกล่าวสะท้อนการยอมรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมของชาวลวะและ คงมีลวะบางกลุ่มที่มีความเจริญอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ดังจะเห็นว่าลวะมีความสามารถในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยเหล็กมาช้านาน จนในสมัยล้านนากษัตริย์ราชวงศ์มังรายได้ให้ลวะส่งส่วยเป็นสิ่งของที่ผลิตจาก เหล็ก และสังคมชนเผ่าลวะมีหัวหน้าเรียกว่า “ สะมาง ” ซึ่งอาจจะมีการจัดตั้งทางสังคมที่ซับซ้อนพอสมควรแล้ว ฤาษีวาสุเทพในตำนาน ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นผู้สร้างเมืองลำพูน ฤาษีวาสุเทพมีฐานะเป็นผู้รู้ “ ผู้นำวัฒนธรรม ” ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์ของรัฐชนเผ่า

เหตุการณ์ที่ทำให้ทราบ เรื่องราวของลวะต่อมา คือเรื่องขุนหลวงวิลังคะหรือวิรังคะกับพระนางจามเทวี เข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งเป็นช่วงที่พระนางจามเทวีครองราชย์ในเมืองหริภุญชัยแล้ว ขุนหลวงวิลังคะเป็นหัวหน้าชาวละบริเวณเชิงดอยสุเทพทำสงครามกับพระนางจามเทวี สาเหตุของสงครามคงเกิดจากความไม่พอใจของชาวพื้นเมืองลวะ ที่ถูกชนต่างถิ่นซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่าเข้ามาแทรกแซง ขุนหลวงวิรังคะทำสงครามพ่ายแพ้ ชาวลวะส่วนหนึ่งคงกระจัดกระจายไปตามป่าเขา และตามที่ต่างๆ แต่ลวะอีกส่วนหนึ่งคงยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพระนางจามเทวี นับเป็นการสิ้นสุดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของลวะซึ่งเคยมีมาพระนางจามเทวี แต่งตั้งขุนลวะให้ปกครองชุมชนลวะและให้ส่งส่วนประจำ ชุมชนลวะคงรวมตัวกันอยู่ที่เชิงดอยสุเทพต่อมา และกลุ่มลวะนี้เองที่เป็นพันธมิตรช่วยเหลือพระญามังรายตีหริภุญชัย น่าสังเกตว่าพระญามังรายมีขุนนางที่ใกล้ชิดเป็นลวะหลายคน ดังเช่น อ้ายฟ้าได้ครองเมืองลำพูน หลังจากช่วยยึดครองลำพูนได้ มังคุมมังเคียนหัวหน้าลวะได้ครองเชียงตุงและขุนไชยเสนา ได้ครองลำปาง เมื่อขับไล่พญาเบิกไปแล้ว แสดงว่าพระญามังรายมีความสัมพันธ์อันดีกับลวะ และค่อยๆ มีการสลายความเป็นชนเผ่าลวะให้กลายเป็นไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยหริภุญชัยแล้วกลุ่มเม็ง และลวะยังมีลักษณะเป็นคนต่างเผ่าพันธุ์และแยกเป็นคนละพวกกัน

เมื่อพระญามังรายก่อตั้ง เมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองระบุว่าบริเวณนี้ “ เป็นที่อยู่ที่ตั้งแห่ง ท้าวพระญามาแต่ก่อน ” ซึ่งหมายถึงเคยเป็นที่อยู่เดิมของหัวหน้าลวะ ตำนานนพบุรีเมืองพิงค์เชียงใหม่กล่าวว่า หลังจากพระญามังรายสร้างเวียงเชียงใหม่แล้ว เมื่อจะเสด็จเข้าเมืองได้สอบถามสรีขุนจุกขุนนางชาวลวะถึงประตูเข้าเมืองที่ เป็นมงคล ซึ่งสรีขุนจุกได้ไปสอบถามจากหัวหน้าชาวลวะ จึงทราบว่าต้องเข้าทางประตูช้างเผือก ในพิธีราชาภิเษก จึงมีจารีตให้กษัตริย์เข้าเมืองทางประตูช้างเผือก การยอมรับว่าลวะเป็นเจ้าของดินแดนนี้มาก่อน ยังแสดงออกในพิธีราชาภิเษกด้วย โดยในพิธีจะให้ลวะจูงหมานำขบวนเสด็จกษัตริย์เข้าเมือง พิธีนี้คล้ายกับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เมืองเชียงตุง ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์มังราย และเชียงตุงก็เคยเป็นที่อยู่ของลวะมาก่อน ในเชียงตุงมีพิธีไล่ลวะคือในพิธีจะทำผามให้ลวะกินอาหาร เมื่อกินเสร็จแล้วก็ไล่ลวะไปแล้วเข้าครองแทน

เนื่องจากเชียงใหม่เป็น ที่อยู่ของลวะมาช้านาน อิทธิพลด้านความเชื่อของลวะที่สืบทอดมาจึงมีให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน ที่สำคัญคือการนับถือเสาอินทขีล ในอดีตเสาอินทขีลอยู่ที่วัดสะดือเมือง ตรงกลางเวียงเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ย้ายเสาอินทขีลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เสาอินทขีลเป็นเสาหลักเมืองถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะซึ่งเป็นผีที่รักษาเมืองเชียงใหม่ โดยชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ยังปฏิบัติกันอยู่ทุกปี แม้ว่าเคยเลิกไปสมัยหนึ่งแล้ว

ครั้งศึกษาถึงตำนานพื้น เมืองเชียงใหม่ในระยะหลังพบว่ามีการแต่งตั้งพรานป่าชื่อทิพย์ช้างชาวลำปาง ซึ่งเป็นหัวหน้าในการขับไล่ทัพพม่าออกจากลำปางไปนั้นให้เป็นเจ้าเมือง มีชื่อว่า “ พระญาสุลวลือชัยสงคราม ” ซึ่งจะพบว่ามีคำว่า “ ลว ” หรือ “ ลวะ ” อยู่ด้วยในชื่อดังกล่าว โดยในตำนานกล่าวว่านายพรานช้างเป็นคนในท้องถิ่นนั้น และไม่มีข้อมูลใดที่บ่งว่านายพรานผู้นี้เป็นชนเผ่าลวะ จึงทำให้เข้าใจได้คำว่า “ ลวะ ” หรือ “ ลวะ ” ในที่นี้แปลว่าชนพื้นเมืองมากกว่าชื่อของชนเผ่า

ครั้นโยงไปถึงการศึกษาคำ ว่าลาว ซึ่งเป็นคำนำหน้านามแทนคำบอกตำแหน่งกษัตริย์แล้ว จะพบว่า คำว่า ลาว และ ลวะ เป็นคำเดียวกัน และเมื่อย้อนกลับไปเทียบดูการปรากฏของลวะในตำนานต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง จะทำให้เห็นว่า “ ลวะ ” ที่ได้พบพระพุทธเจ้านั้นอาจจะไม่เป็นชนเผ่าลวะ แต่คงเป็นชนพื้นเมืองในท้องถิ่น และเมื่อศึกษาถึงการใช้คำเรียกชนกลุ่มนั้นแล้ว พบว่าในตำนานดอยตุงมีการเรียกปู่เจ้าลาวจกว่า “ มิลักขะ มิลักขุ่ย มิลักขยุ ” และในกรณีของ “ ขุนหลวงวิลังคะ ” ซึ่งเป็นหัวหน้าของชาวลวะที่เชิงดอยสุเทพนั้น พบว่ามีการใช้ “ บ่าลังคะ มะลังคะ มิลักขะ มิลักขุ ” โดยเฉพาะคำว่า “ มิลักขุ ” เป็นภาษาบาลีมีความหมายว่า “ คนป่าเถื่อน ” เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “ ลาว ลวะ มิลักขะ ” มีความหมายที่ไม่ต่างกัน คือแปลว่าคนป่าเถื่อนหรือคนที่ด้อยความเจริญ ซึ่งหมายรวมถึงคนพื้นเมืองแต่เป็นชาวบ้านนอกหรือชาวบ้านป่าที่มิได้รับ อารยธรรมแบบเมืองทั้งที่แต่เดิมแล้ว “ ลาว ” หมายถึงกษัตริย์ดังกล่าว ซึ่งทำให้อาจสรุปได้อีกว่า ลวะ คือคนในพื้นถิ่นนั้นหรือเป็นชาวบ้านซึ่งด้อยความเจริญ แต่ในขณะเดียวกัน ลวะ ก็คำที่ชาวล้านนาเรียกชื่อชนเผ่าที่ด้อยความเจริญคู่กับชาวกะเหรี่ยง ดังในสำนวนที่เช่น “ เพรอะเหมือนลวะเหมือนยาง ” คือสกปรกเลอะเทอะเหมือนชาวลวะและชาวกะเหรี่ยง

ทั้งนี้บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าลวะไว้ในหนังสือชื่อ ๓๐ ชาติในเชียงราย ว่า ในจังหวัดเชียงรายเท่าที่ทราบ มีหมู่บ้านชาวลวะอยู่ ๕ แห่งด้วยกัน คืออำเภอเมือง ๒ หมู่บ้าน อำเภอพาน ๒ หมู่บ้าน อำเภอเวียงป่าเป้า ๑ หมู่บ้าน สำหรับอำเภอเมืองม มีอยู่ในเขตตำบลบัวสลี ๑ แห่ง กับตำบลแม่กรณ์ ๑ แห่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกตำบลนี้ แต่ละแห่งมีประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน

ในเชียงใหม่ ลวะส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอสะเมิง ส่วนลวะที่แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อยและอำเภอแม่สะเรียง

ชาวลวะ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกบ้านฮ่องขุ่น ตำบลบัวสลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายนั้น ตั้งหมู่บ้านบนที่ราบเชิงเขาดอยปุย ปลูกบ้านเรือนหลังเล็กๆ แบบชาวเหนือที่อัตคัดตามชนบท คือมีบ้านฝาสานขัดแตะ ห้องครัวอยู่ต่างหาก ต่อจากห้องนอน มีระเบียง และชานนอกชายคา โรงวัวควาย เล้าไก่ ยุ้งข้าวอยู่ห่างกัน

ครกตำข้าวของชาวลวะทำ ด้วยท่อนไม้สูงประมาณ ๑ เมตร เจาะเป็นหลุมลงไปประมาณ ๑ คืบ ใช้ตำด้วยมือโดยตั้งครกไว้ใกล้บันไดเรือนในร่วมชายคา บางบ้านใช้ครกกระเดื่องซึ่งใช้เท้าถีบ ใต้ถุนเรือนเตี้ยใช้เก็บของ ใช้เครื่องหีบเมล็ดฝ้ายด้วยเมือง ทุกหมู่บ้านมีวัดทางศาสนาพุทธ มีพระภิกษุ สามเณร การเทศน์ใช้ภาษาชาวเหนือ หนังสือจารึกบนใบลานที่ใช้เทศน์ก็เป็นอักษรพื้นเมืองเหนือ

ชาวละมีขนบธรรมเนียมเครื่องแต่งกายต่างกับชาวเหนือ
ผู้ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบน หรือโสร่ง ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำผ่าอก แขนยาว ปักเป็นแผ่นใหญ่ที่หน้าอกตามแถวกระดุม และแถวรังดุมรอบคอ ปักที่ชายแขนเสื้อตรงข้อมือทั้งสองข้าง และที่ใต้สะโพกรอบเอวด้วยดิ้นเลื่อม ไหมเงิน คล้ายเสื้อขุนนางไทยโบราณ ผ้าซิ่นติดผ้าขาวสลับดำเล็กๆ ตอนกลางเป็นริ้วลาย ชายซิ่นติดผ้าสีดำ กว้างประมาณ ๑ ศอก ตามปกติผู้หญิงอยู่บ้านไม่ค่อยสวมเสื้อ ชอบเปิดอกเห็นถัน ถ้าเข้าไปในเมืองก็จะแต่งกายอย่างชาวเหนือ ถ้าออกไปหาผักตามป่าจะเอาผ้าขาวโพกศีรษะ สะพายกระบุงก้นลึก โดยเอาสายเชือกคล้องศีรษะตรงเหนือหน้าผาก ใส่คาคอรองรับน้ำหนักอีกชั้นหนึ่ง ไม่สวมเสื้อแต่ดึงผ้าซิ่นขึ้นไปเหน็บปิดเหนือถันแบบนุ่งผ้ากระโจมอก มักมีกล้องยาเส้นทำด้วยรากไม้ไผ่เป็นประจำ เสื้อของผู้ชายอย่างเดียวกันกับผู้หญิง แต่ไม่ปักดอกลวดลายที่คอเสื้อและชายเสื้อ เครื่องแต่งกายดังกล่าวนี้ ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว หันมานิยมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกกลาง กางเกงจีนธรรมดา แต่ผู้ชายที่นุ่งผ้าโจงกระเบนยังมีอยู่บ้าง

ชาวลวะ มีอาชีพทางกสิกรรม ทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์จำพวกวัว ควาย หมู่ ไก่ หมูของเขาปล่อยให้หากินตามบริเวณบ้าน ถ้าฤดูข้าวเหลืองจึงนำมาขังไว้ในคอก เวลาว่างก็ทอผ้า ตำข้าว จักสาน เช่น กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ฤดูแล้งชองเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่อได้สัตว์ป่ามาหนึ่งตัว ผู้ล่าแบ่งเอาไว้ครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านตีเกราะสัญญาณเรียกชาวบ้านแบ่งกันไปจนทั่วทุกหลังคาเรือน การปลูกสร้างบ้านเรือน ชาวบ้านจะช่วยกันทั้งหมู่บ้านไม่ต้องจ้าง

การนับวันเดือนปีของชาวลวะ
ผิดกับชาวเหนือและไทยภาคกลาง คือเดือน ๔ ของลวะเป็นเดือน ๕ ของไทย ชาวลวะมีนิยายประวัติประจำชาติ ซึ่งได้ทราบจากปากคำท่านผู้เฒ่าชาวลวะว่า เดิมพญาลวะกับพญาไตเป็นเพื่อเกลอกัน ต่อมาพญาไตยกกองทัพไปรบกับพญาแมนตาตอก ซึ่งเป็นใหญ่ในบรรดาภูตผีปิศาจ พญาไตพ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของพญาแมนตาตอก จึงมาหลบซ่อนตัวอยู่กับพญาลวะ พญาแมนตาตอกติดตามไปถึงบ้านลวะ พญาลวะกล่าวปฏิเสธว่าไม่พบเห็นพญาไต พญาไตจึงเป็นหนี้บุญคุณพญาลวะ ลวะกับไตจึงเป็นมิตรกันนับตั้งแต่นั้นมา

ชาวลวะนอกจากนับถือศาสนา พุทธ ยังนิยมนับถือผี
มีการถือผีเสื้อบ้าน ส่งเคราะห์ ผูกเส้นด้ายข้อมือถือขวัญ เวลาเจ็บป่วยใช้ยารากไม้สมุนไพร เสกเป่า และทำพิธีฆ่าไก่เซ่นผี ถ้าตายก็จะทำพิธีอย่างชาวเหนือ มีพระสงฆ์สวดมนต์บังสุกุล เอาศพไปป่าช้า ฝังมากกว่าเผา แต่ถ้าตายอย่างผิดธรรมดาก็เผา

ในวันงานพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน (ผีหมู่บ้าน) เขาทำซุ้มประตูสานไม้เป็นรูปรัศมี ๘ แฉก ติดไว้เพื่อห้ามไม่ให้คนต่างถิ่นเข้าสู่เขตหมู่บ้าน เครื่องหมายนี้ชาวภาคเหนือเรียก “ ตาแหลว ” ซึ่งคนไทยกลางเรียก “ เฉลว ” เขาปิดบ้านทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน ๑ วัน ถ้าเดินทางไปพบเครื่องหมายเฉลวนี้ แล้วต้องหยุดอยู่ มีธุระอะไรก็ตะโกนเรียกชาวบ้านให้ไปพูดกันที่ตรงนั้น เช่น ขอดื่มน้ำหรือเดินหลงทางมา ถ้าขืนเดินล่วงล้ำเขตหมู่บ้านของเขาก็จะถูกปรับเป็นเงิน ๕ บาท ถ้าไม่ยอมให้ปรับเขาบังคับให้ค้างแรม ๑ คืน เวลาเกิดมีโรคสัตว์ระบาดหรือไข้ทรพิษเกิดขึ้นแก่คนภายในหมู่บ้านแล้วก็จะปิด เฉลวหรือเครื่องหมายห้ามเข้าหมู่บ้านเช่นเดียวกัน

ภาษาของชาวลวะไม่เหมือน ภาษาไทยเลย เช่น คำว่า กิน ชาวลวะว่า จ่า แมว-อั่งแมง หมู-ว่า สุนัข-ขื้อ ไฟ-มีท่อ น้ำ-ลาง ลูก-อังย่ะ เมีย-ข่ามบ๊ะ ผัว-อังบลอง อยู่ใกล้-อังดื้อ อยู่ไกล-อังเวอ บ้านท่านอยู่ทีไหน-อาส่างข่องดิ่งแง รับประทานอาหารกับอะไร-ไม้เจ่อจ่าแอ รับประทานข้าว-ห่างจ่า ไปเที่ยวไหนมา-เกิงบ่แอ ไปไหน-อาละเกิงแอ ฯลฯ

ถ้าเป็นคำที่เรียกชื่อคน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เรียกเป็นภาษาชาวเหนือทั้งสิ้น เช่น บัวจั่น คำปัน พรหมมา ฯลฯ เข้าใจว่าชื่อเดิมของลวะนั้นไม่ได้เรียกกันดังนี้ มานิยมใช้ชื่อแบบชาวเหนือภายหลัง ส่วนชื่อเครื่องใช้นั้นเรียกตามสมัยโบราณ เครื่องใช้แบบปัจจุบันชาวลวะไม่มีใช้และไม่รู้จัก เมื่อซื้อไปใช้ก็เลยเรียกชื่อตามที่ชาวเหนือเรียก ที่อยู่ของชาวลวะใกล้เคียงชาวเหนือ ขนบธรรมเนียมจึงคล้ายชาวเหนือ เพราะชนชาตินี้ถูกกลืนได้ง่ายที่สุด ดังปรากฎว่าลวะที่อยู่ในเขตไทใหญ่ได้กลายเป็นชาวไทใหญ่โดยมาก

ชาวลวะจะหยุดการทำงานใน วันพระ ตลอดจนการเที่ยวสาวก็พลอยงดไปด้วย การเที่ยวสาวนั้นคือขึ้นไปนั่งสนทนาเกี้ยวพาราสีหญิงสาวบนบ้าน หากหญิงพอใจรักใคร่แล้วจะล่วงเกินเอาเป็นภรรยาได้ โดยใส่ผีเป็นเงิน ๑๒ บาท จากนั้นต้องไปทำงานให้พ่อตาแม่ยายเป็นเวลา ๑-๓ ปี จึงแยกปลูกสร้างบ้านเรือนต่างหากได้ ในปีแรกจะแยกเอาภรรยาไปอยู่บ้านตนหรือปลูกบ้านอยู่ต่างหากไม่ได้เป็นอันขาด อย่างน้อยต้องทำงานรับใช้พ่อตาแม่ยาย ๑ ปี เพราะต้องการใช้แรงงานบุตรเขย

การเดินทางไปบ้านลวะ ตำบลบัวสลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายนั้น ออกจากตัวเมืองเชียงรายโดยรถยนต์ตามถนนพหลโยธินเชียงราย-พาน ทางทิศใต้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านฮ่องขุน ซึ่งมีตลาดประจำตำบลที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งแล้วลงเดินแยกไปทางทิศตะวันออกมุ่ง ตรงไปสู่ดอยปุย ตามเส้นทางเดินเท้าใช้เวลา ๒-๓ ชั่วโมง ก็ถึงหมู่บ้านลวะดอยปุยซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบริมเชิงเขาประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน ชาวลวะเหล่านี้ เวลาอยู่ระหว่างพวกเดียวกันชาวลวะจะพูดภาษาลวะ และแต่งกายแบบครึ่งลวะครึ่งชาวเหนือ แต่ถ้ามาในเมืองแล้วจะแต่งกายแบบชาวเหนือ จนไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาเป็นชาวลวะ แม้แต่ชาวเชียงรายเอง น้อยคนที่ทราบว่ามีชาวลวะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับที่พวกเขาอาศัยอยู่

ลวะ ๙ ตระกูล

ลวะ ๙ ตระกูล เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานสุวัณณะ-ตำแดง หรือ ตำนานเสาอินทขีล ของเมืองเชียงใหม่และในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม โดยในตำนานกล่าวว่าแต่ก่อนในบริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันนี้เป็นที่ อยู่ของพวกลวะ ต่อมาเมื่อลวะถูกผีร้ายรบกวนก็ได้ขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ก็ให้ลวะทั้งหลายถือศีลและรักษาความสัตย์ เมื่อพวกลวะกระทำตามแล้วพระอินทร์ก็บันดาลให้มีบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วเกิดขึ้นในเมืองนั้น นอกจากนี้พระอินทร์ให้ลวะทั้ง ๙ ตระกูลแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อรักษาขุมทรัพย์บ่อละ ๓ ตระกูล ต่อมาลวะทั้ง ๙ ตระกูลได้สร้างเวียงสวนดอกขึ้นอีกเวียงหนึ่ง บางท่านว่าเมืองเชียงใหม่ที่ชื่อ นพบุรี มาจากเหตุที่มีลวะ ๙ ตระกูลนี้