ชาติพันธุ์ล้านนา - ไทยอง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ยอง (อ่าน “ ญอง/ยอง ” )

  

ยองหรือไทยอง ชาวล้านนาจะออกเสียงเป็น “ ญอง ” แต่กลุ่มชาวไทยยองมักออกเสียงเป็น “ ยอง ” ซึ่งยอง หรือไทยองนี้ ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง และกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆ ในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ กลุ่มชาวเมืองยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่ ด้วยสาเหตุของสงครามการรวบรวมกำลังคน ต่อมาก็ได้กระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา

จากการสำรวจครั้งล่าสุด (พ.ศ.๒๕๓๖) การเดินทางจากประเทศไทยไปเมืองยอง ตามเส้นทางที่เริ่มจากท่าขี้เหล็ก ผ่านเมืองโก ตลาดท่าเดื่อ (เมืองเลน) ถึงเมืองพะยาก ระยะทาง ๘๓ กิโลเมตร สภาพทางอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้กว้างขึ้น ก่อนถึงเมืองพะยากเป็นตลาดซึ่งมีทางแยก หากแยกขวาจะไปเมืองยอง แยกทางซ้ายไปเชียงตุง ถนนจากเมืองพะยากไปเมืองยองระยะทาง ๗๔ กิโลเมตร ถนนแคบเต็มไปด้วยฝุ่น รถวิ่งได้เฉลี่ย ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สรัสวดี อ๋องสกุล พ.ศ.๒๕๓๗)

คำว่ายองหรือ “ ญอง ” อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “ มหิยังคนคร ” (ตำนานเมืองยอง) ทั้งนี้ ในภาษาล้านนา คำว่า ยอง แปลว่าสดใส เปล่งปลั่ง

เมืองยองตั้งอยู่ทางทิศ ตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๑๕๗ กิโลเมตร บริเวณเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก แม่น้ำสายสำคัญ คือน้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก

เมืองยองมีประตูเวียง ๗ ประตู คือประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประตูม่อนแสน ประตูปางหิ่ง ประตูหูหูดและประตูผาบ่อง บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิ์มีไม้ค้ำโดยรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรีเช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา

เมืองยอง เป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวถึงพัฒนาการของบ้านเมืองที่เริ่มขึ้นในราวพุทธ ศตวรรษที่ ๑๘ โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งได้แก่พวกลวะหรือทมิฬ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีกลุ่มคนไทยจากเมืองเชียงรุ่งนำโดยเจ้าสุนันทะโอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน ได้แก่ การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามา ภายหลังกับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและระบบบรรณาการกับเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุงและการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง เช่น เชียงแสน เชียงของ เป็นต้น เมืองยองในยุคต้นของตำนานจึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมือง เชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด

จากความสัมพันธ์ ดังกล่าว คนเมืองยองจึงสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมือง อื่นๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๔๘ คนทั่วไปจึงเรียกว่า คนเมืองยอง เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียกขานกันตามชื่อบ้าน เมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น ในกรณีของคนเมืองยองต่อมาคำว่าเมืองได้หายไป คงเหลืออยู่คำว่าคนยอง ดังนั้น ยอง จึงมิใช่เป็นชาติพันธุ์ เมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว คนยองก็คือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง

เมืองยอง ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบไม่กว้างใหญ่นัก มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งนี้ที่ดี นับเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจึงมีผู้คนอพยพจากที่ต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดเวลา เขตกำแพงเมืองลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ดังนี้

ด้านเหนือ ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน

ด้านใต้ ติดที่ราบโดยมีแม่น้ำยองไหลผ่าน มีประตูเสื้อเมือง

ด้านตะวันออก ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง และประตูน้อย

ด้านตะวันตก ติดเทือกเขา มีประตูปางหิ่ง

ในยุคที่อาณาจักรล้านนา สมัยรางวงศ์มังรายเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจ เมื่อกองทัพฮ่อยกกองทัพเข้ายึดเมืองได้และเลยมาตีถึงเชียงแสน สมัยพระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.๑๙๔๗-๑๙๔๘) กองทัพเชียงใหม่สามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเชียงแสนและเมืองยองได้ เมืองยองจึงได้หันมาส่งบรรณาการให้กับเชียงใหม่ ในสมัยที่ล้านนามีอำนาจสูงสุด พระญาติโลกราช (พ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐) ได้ขึ้นไปปกครองเมืองยองอยู่ระยะหนึ่งในราว พ.ศ.๑๙๘๕ เพราะตำนานเมืองยอง และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจของล้านนาไปจนถึงดินแดนสิบสองพันนา พระญาติโลกราช ซึ่งในตำนานได้ระบุว่า “ พระเจ้าอโศก ” ได้บูรณะพระธาตุจอมยอง และทรงทะนุบำรุงพุทธศาสนาในเมืองยองให้เจริญมั่นคง สันนิษฐานว่าพุทธศาสนาแบบลังกาได้ขึ้นไปเผยแผ่ถึงหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนระยะเวลานี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเชียงใหม่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย


 
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ในยุคที่อาณาจักรขนาดใหญ่ได้ขยายตัวออกไปโดยการทำสงคราม เช่น พม่า จีน หรือสิบสองพันนา ดังนั้น ล้านนาและล้านช้างจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังคน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขยายอำนาจและการสร้างอาณาจักร และยังใช้เป็นสิ่งที่แสดงอิทธิพลเหนือดินแดนต่างๆ ในปริมณฑลแห่งอำนาจหรือเมืองชายขอบ จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองยองจึงอยู่ท่ามกลางการขยายอำนาจ และการแสดงอิทธิพลของศูนย์อำนาจต่างๆ ตลอดเวลา การอยู่ในฐานะรัฐกันกระทบหรือรัฐกันชน (Buffer State) ระหว่างอาณาจักรใหญ่ จึงต้องปรับตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจจากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ทำให้เมืองยองมีลักษณะเป็นเมืองที่เรียกกันว่า “ เมืองสามฝ่ายฟ้า ” เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการ ( tribute ) และเชิงอำนาจกับจีน พม่า และเชียงใหม่ ในเวลาเดียวกันในยามทำสงคราม เมืองยองจึงถูกดึงเข้าสู่การสู้รบโดยถูกเกณฑ์ทั้งเสบียงอาหารและผู้คนตลอดจน การกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ ครั้งที่มีความสำคัญมากที่สุด คือเมื่อกองทัพเชียงใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ นำโดยเจ้าอุปราชธัมมลังกา และเจ้าคำฟั่น ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนที่เคยมีความสัมพันธ์กันในด้านสังคมและวัฒนธรรม มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพระเจ้ากาวิละ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองต่างๆ ในล้านนา เพราะได้รับความเสียหายจากสงครามและการยึดครองของพม่า

เมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายที่พม่าได้ใช้เป็นฐานกำลังสำคัญในการควบคุมหัว เมืองต่างๆ ในดินแดนทางตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้ถูกกองทัพของเจ้ากาวิละตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ ในปีถัดมา พ.ศ.๒๓๔๘ กองทัพจากหัวเมืองต่างๆ นำโดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปถึงเมืองยองและได้ “ เทครัว ” คือนำผู้คนในเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้คนเบาบาง การ “ เทครัว ” จากเมืองยองครั้งนี้ เป็นการอพยพผู้คนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่มีการนำมาทั้งระบบของเมืองอันประกอบด้วยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และผู้นำท้องถิ่นระดับต่างๆ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน
ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละและญาติได้ตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางเขตเมือง ลำพูน จนมีกำลังคนเพียงพอแล้ว จึงได้เข้ามาตั้งมั่นและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละยังได้ดำเนินการรวม และกวาดต้อนผู้คนต่อมาอีกหลายครั้ง และได้ขยายขอบเขตการกวาดต้อนผู้คนออกไปยังบริเวณอื่น โดยเฉพาะในแถบตะวันออกของแม่น้ำคง ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ดำรงตำแหน่งเจ้าประเทศราช ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ ทำให้พระเจ้ากาวิละเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาและหัวเมืองทางตอนบน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากในคราวที่พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปตีเชียงแสน ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ – ๒๓๔๗ ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกรุงเทพฯ เวียงจันทร์ เมืองลำปาง เมืองน่าน และครั้งที่ยกไปตีและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้รับการสนับสนุนกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน และเชียงตุง ที่มีกำลังคนถึง ๑๙,๙๙๙ คน นับเป็นการยกทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้ากาวิละ

หลังจากทัพพม่าที่เชียงแสน ถูกทัพจากเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ แล้ว ทัพเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปตีเมืองยองก่อนเมืองอื่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ว่าเป็นศูนย์อำนาจย่อยของหัวเมืองบริเวณใกล้เคียง ดังเช่นในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๙๑) พม่าได้มอบหมายให้เมืองยองดูแลหัวเมืองต่างๆ ถึง ๑๒ หัวเมืองมาก่อน การที่ทัพเชียงใหม่ยกมาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เมืองยอง โดยเห็นได้จากภายหลังที่เมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว มีผลทำให้หัวเมืองอื่นๆ ในบริเวณแถบนี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้กองทัพเชียงใหม่สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปถึงสิบสองพันนาและหัวเมือง อื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของพม่าได้สะดวก

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นเอกสารพื้นเมืองเพียงฉบับเดียวที่ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพ เชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ในการที่พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยองครั้งนี้ ก็อ้างว่าเป็นการกระทำดังที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายได้ปฏิบัติมาก่อน แต่จากการที่เมืองยองได้ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี และยังได้ถวายสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงนางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องต่างมารดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองให้กับเจ้าอุปราชธัมมลังกาด้วย พร้อมกับผู้คนอีก ๑๙,๙๙๙ คน และอาวุธต่างๆ เช่น ปืนใหญ่ถึง ๑,๙๙๙ กระบอก กับช้างม้าเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทางเมืองยองก็ได้มีกำลังไพร่พลและอาวุธอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำนานเมืองยองไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกล่าวถึงการสู้รบอย่างหนักติดต่อกันนานถึง ๓ วัน กองทัพของเชียงใหม่ที่ยกมายังประกอบด้วยกองทัพของเจ้าเชียงตุงและเจ้าจอมหง (เจ้าเชื้อสายเชียงตุง) การรบครั้งนี้ทำให้เจ้าจอมหงแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายเชียงใหม่เสียชีวิต แต่เมืองยองก็แพ้ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่ ดังที่ตำนานเมืองยองกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ ...แต่นั้นครั้นรบกัน ได้แพ้(ชนะ) เมืองยองแล้ว ก็เอากันไปหาบ้านเมืองแห่งเขาหั้นและ... ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองยองไม่ได้ยอมสวามิภักด์ตามที่ตำนานพื้นเมือง เชียงใหม่กล่าวไว้ และในขณะที่เอกสารที่เขียน โดยชาวอังกฤษชื่อ เจ ยอร์จ สกอตต์ (J.George Scott) ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า คนเมืองยองได้ตื่นตระหนกตกใจหนีเข้าป่าไปจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งถูกบังคับและกวาดต้อนไป บ้านเมืองถูกทำลายและได้รับความเสียหายจากกองทัพสยาม
ในขณะที่กองทัพ เชียงใหม่พักไพร่พลอยู่ที่เมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้ถือโอกาสยกทัพออกไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองยองและดินแดนสิบสองพันนา ได้แก่ บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองขัน เชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหน(หุน) เมืองแช่ เมืองราย (ฮาย) เมืองเจื่อง ท่าล้อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองของ เมืองวัง เมืองมาง เมืองขาง เมืองงาด เมืองออ เมืองงิม เมืองเสี้ยว เชียงรุ่ง ทำให้อำนาจของเชียงใหม่ขยายกว้างใหญ่ดังที่เป็นมาแล้วในสมัยราชวงศ์มังราย ครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละน่าจะได้มอบหมายให้เจ้าเมืองยองและไพร่พลเข้ามาตั้ง อยู่ในเขนเมืองเชียงใหม่และลำพูน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งไพร่พลเมืองยองให้กับเมืองต่างๆ เพียงแต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าไพร่พลเหล่านั้นของตนไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใดของ เมืองเชียงใหม่หรือลำพูน แต่น่าจะเป็นบริเวณรอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีชื่อหมู่บ้านและชุมชนกระจายตัวอยู่รอบๆตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะ บ้านเมืองก๋าย บ้านเมืองเลน บ้านเมืองลวง บ้านวัวลาย บ้านตองกาย บ้านท่าสะต๋อย บ้านเชียงขาง วัดเชียงรุ่ง เป็นต้น จะมีเพียงเจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องพร้อมกับไพร่พลเท่านั้นที่ได้รับมอบ หมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองร่วม กับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน

การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน

ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๗ ก่อนการรื้อฟื้นเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็น นโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม นอกจากนี้กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไป ในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ ครั้งหนึ่งแล้ว ยังสูญเสียไปกับความไม่สงบและสงครามหลายครั้ง เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่างๆ นอกจากนี้เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่าย กับทั้งยังเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยกันทำศึกสงคราม มาเป็นเวลานานและเป็นการขยายตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันการขัดแย้งในการขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหมู่พี่น้องตระกูลเจ้าเจ็ดตนในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้นเมื่อเดือน ๗ (ราวเดือนเมษายน) ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฟั่นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญ มา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่ง ในเมืองลำพูน

เจ้าเมืองยอง บุตรภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง และพระสงฆ์ระดับสูง ได้ตั้งเข้าอยู่บริเวณเวียงยอง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลอื่นๆ ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งในพื้นที่ต่างๆ ของลำพูน

การที่ชาวยองเข้ามาตั้ง ถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกกลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนได้ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและ ญาติพี่น้องมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่นๆ ที่อพยพมาในคราวเดียวกัน

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ ได้จัดทำสำมะโนประชากรในเมืองลำพูนเป็นครั้งแรก ในสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๙ พบว่ามีประชากรทั้งหมด ๑๙๙,๙๓๔ คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นที่อยู่ใกล้ เคียง ซึ่งสอดคล้องกับที่ร้อยโท ดับเบิ้ลยู ซี แมคเคลาด์ (W.C McCloed) ข้าราชการชาวอังกฤษ ได้รายงานไว้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๘๙
คนยอง หรือ ชาวยอง จึงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน ประชากรมากกว่าร้อยละ ๘๙ สืบเชื้อสายมากจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ในแถบหัวเมืองทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหภาพพม่าและสิบสองพันนาของจีน องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่นๆ ในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของคนยองในเมืองลำพูน จึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วนน้อยในสังคม (Minority Group) ดังเช่น กลุ่มชาวเขิน ลื้อ ลวะ กะเหรี่ยง ยางแดง ไทใหญ่ หรือ เงี้ยว จีน หรือ ฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้คนยองในเมืองลำพูน จึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

สรุปเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกี่ยวกับเมืองยอง

•  กลุ่มชาวลวะหรือทมิฬ ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณหนองน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองยอง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

•  ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เจ้าสุนันทะ บุตรชายเจ้าเมืองเชียงรุ่ง พาบริวารมาตั้งถิ่นฐานและอยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองคือชาวลวะหรือทมิฬ ต่อมาได้มีอำนาจปกครองเมืองยอง

•  พุทธศาสนาจากเมืองเชียงรุ่งได้เผยแผ่เข้ามาถึงเมืองยอง สมัยพระยาสุรังควุฒิ เจ้าเมืองลำดับที่ ๘ (พ.ศ.๑๙๔๕-๑๙๘๔) มีการนำเอาพระธาตุมาบรรจุและสร้างพระธาตุบนเนินเขาด้านทิศใต้บนฝั่งแม่น้ำ ยอง เรียก “ พระธาตุจอมยอง ” และมีการปลูกต้นโพธิ์หรือไม้สรีด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเพื่อเป็นสรี เมือง ปัจจุบันเรียก “ ไม้สรคำ ”

•  พระญาติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตำนานเมืองยองระบุเป็นพระเจ้าอโศกธัมมิกราช ปกครองเมืองยองเป็นลำดับที่ ๙ อยู่ในช่วงสั้นๆ พระพุทธศาสนาได้รับการทะนุบำรุง บ้านเมืองสงบปราศจากศึกสงคราม

•  ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘ เมืองยองส่งบรรณาการให้ทั้งเชียงใหม่และเชียงรุ่ง

•  พ.ศ.๒๐๕๐-๒๑๐๐ เมืองยองไปขึ้นกับพม่า

•  พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองขึ้นกับเมืองเชียงแขง ภายใต้การดูแลของเชียงรุ่ง

•  หลังปี พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองกลับไปขึ้นกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง และได้รับมอบหมายให้ดูแลหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบน เจ้าเมืองยองหลายคนพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าแต่ไม่สำเร็จ

•  พ.ศ.๒๓๔๘ สมัยเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองลำดับที่ ๓๓ เชียงใหม่ได้ส่งกองทัพมากวาดต้อนผู้คนนับได้ ๑๙,๙๙๙ คน จากเมืองยองลงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน

•  พ.ศ.๒๓๕๖ พระเจ้ากาวิละได้พาเจ้าสุริยวงศาเจ้าเมืองลำดับที่ ๓๔ และไพร่พลที่เหลืออยู่ลงมาที่เชียงใหม่ ลำพูน

•  พ.ศ.๒๔๘๔ ทหารจีนกองพล ๙๓ กรมที่ ๒๗๔ จากสิบสองพันนา ยกเข้าตั้งที่เมืองยอง ผู้คนแตกตื่นหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก

•  ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๘๘ กองทัพไทยได้ยกเข้าไปตั้งที่เมืองยองแทนทหารจีนกองพล ๙๓ จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ถอยกลับลงมา

•  สมัยเจ้าหม่อมหงส์คำ เจ้าเมืองลำดับสุดท้ายถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง ให้เมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุงจนถึงปัจจุบัน
เมืองยองใน ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๑) ประกอบด้วยหมู่บ้านประมาณ ๗๙ หมู่บ้าน มีประชากรราว ๑๑,๙๙๙-๑๓,๙๙๙ คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองต่างๆ ในสิบสองพันนาปะปนกับชาวดอย เช่น แอ่น ว้า อีก้อ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่