ชาติพันธุ์ล้านนา - ไทหย่า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ไทหย่า

ชนเผ่า ไทหย่า หรือ ไตหย่า เดิม อาศัยอยู่ที่ “ เมืองหย่า ” ติดกับฝั่งแม่น้ำเต้า ทางด้านเหนือของเมืองซีเม่า เมืองทะลาง และใต้เมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบล้อมรอบไปด้วยไร่นาป่าไม้และทิวเขา อันเรียงรายสลับซับซ้อน

คำที่ออกเสียงว่า ไต หมาย ถึง “ ไท ” ซึ่งแปลว่าคนส่วนคำว่า “ หย่า ” หมายถึงชื่อเมืองที่ตั้งบ้านอยู่จะสันนิษฐานได้จากบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียง เช่น เมืองชาย เมืองลุง เมืองแวว, เมืองลา, เมืองจั้ง เมื่อข้า เมืองปอ เมื่อคะแนน ฯลฯ คนไทยที่อาศัยอยู่เมืองเหล่านี้ถูกเรียกว่าไตชาย ไตลุง ไตกา ไตจั้ง ใตปอ ไตคะแมน คำว่า “ ไทยหย่า ” จึงหมายความถึงคนที่อยู่ในเมืองหย่า

ชาวไทยหย่าตั้งบนเรือนอยู่รวมกันเป็น หมู่ ๆ ในอาณาเขตของจีน ไม่มีพื้นที่นาเป็นของตนเอง ต้องอาศัยรับจ้างทำนาหรือเช่านาจากพวกชาวจีนฮ่อ (ยูนนาน) มักถูกรบกวนจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเก็บภาษีอากรสูง เกณฑ์ผู้คนไปทำถนนหนทาง เอาไปเป็นคนใช้ ทหาร ฯลฯ เมื่อถูกรบกวนหนักเข้าชาวไทยหย่าบางเหล่าจึงอพยพลงมาใต้มาอาศัยอู่บริเวณ ใกล้เคียงเมืองเชียงรุ่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ดินว่างเปล่าอยู่บ้าง และได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ใน พ.ศ. 2490 พบว่ามีจำนวนชาวไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงรายมีประมาณ 1,000 คน

ก่อนที่ชาวไทยหย่าจะรู้ว่ามีประเทศไทย และคนไทยที่เป็นเชื้อสายเดียวกันอยู่ทางทิศใต้นั้น ได้มีหมอ วิลเลียม คลิฟตัน ดอด์ด อาจารย์บี...บี... อาจารย์คาแลนเดอร์ หมอสอนศาสนาลัทธิโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกันได้เดินทางผ่านประเทศไทยไปเผยแพร่ ศาสนาอยู่ในดินแดนเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอาจารย์บี. บี. ได้ใช้เวลาอยู่คลุกคลีกับชาวไทยหย่า ซึ่งมาเรียนหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนคริสเตียนวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ๒ คน ชื่อ นายหยีใหญ่กับนายหยีเล็ก ภายหลังเมื่ออาจารย์บี.บี. กลับอเมริกา เด็กไทหย่าทั้งสองได้เดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ประจวบกับมีเหตุการณ์ยุ่งยากเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของชาวจีนยูนนาน ก่อความเดือนร้อนให้แก่ชาวไทหย่า เถ้าแก่นาคากับนายสามเปา (บิดานายหยี) จึงชักชวนกันอพยพมาอยู่บ้านห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ราว ๒๐๐ หลังคาเรือน ต่อมาก็ได้อพยพเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ จนขยายหมู่บ้านออกเป็น ๒ หมู่บ้านคืออยู่ทางทิศตะวันตกเรียกบ้านน้ำบ่อขาวตีนดอยตุง ซึ่งอยู่ห่างจากถนน ๑ กิโลเมตร ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ นี้ ชาวไทยหย่ายังอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่นั้น

การเดินทางไปเมืองพม่า ค่อนข้างลำบากในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐ มีถนนไปได้แค่เมืองพะยาก เขตรัฐฉานของพม่านอกนั้นต้องเดินทางด้วยเท้าหรือขี่ม้าไปถึงเมืองยอง ขึ้นภูเขาข้ามแม่น้ำลำธารและผ่านป่าใหญ่เป็นเวลา ๑๕ วัน จึงบรรลุถึงเมืองหย่า

เมืองเชียงรุ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เป็นที่อยู่ของคนไทยเผ่าหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า “ ลื้อเชียงรุ่ง – ลื้อเจียงฮุ่ง ” จากเชียงรุ้งเดินทางผ่านป่า ภูเขา และหมู่บ้านชาวไทยลื้อชาวเขา ชาวจีนฮ่อเรื่อยไปเป็นเวลา ๑๒ วัน จึงบรรลุถึงเมืองหย่า ระหว่างทางจะผ่านเมืองใหญ่ที่สำคัญ คือ เมืองสีเม้า (ซือเหมา) เมืองฟูเออ เมืองทะลาง (หรือม่วยเจียว) เมืองหยุ่ง อันเป็นแหล่งที่อยู่ของชาวจีนฮ่อ ส่วนชาวไทมักอยู่บริเวณรอบนอกเมืองใหญ่เหล่านั้น

เมืองหย่าตั้งอยู่ระหว่างภูเขาล้อมรอบ ตัวบ้านปลูกคล้ายโรงเตี๊ยมจีน ๒ ชั้น คือยกพื้นสูงประมาณ ๑ ศอก มีทางเดินตรงกลางกรุฝาด้วยอิฐหนา ๒ ชั้นอย่างโบสถ์ อิฐที่ใช้เป็นอิฐดินดิบ คือเป็นดินเหนียวปั้นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมโตผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำมาก่อซ้อน ๆ กันเป็นฝาบ้าน โดยใช้ดินเหนียวผสมกับทรายใช้แทนปูน หลังคาเทลาดลงมาอย่างแบบบ้านชาวจีนยูนนาน ยุ้งข้าวอยู่ใต้เรือน บริเวณใกล้เคียงมีคอกหมูและเล้าไก่ บางบ้านมีคอกม้า ซึ่งใช้เป็นพาหนะเดินทางไกล

ชาวไทยหย่าอยู่ภายใต้การปกครองของจีนฮ่อ มณฑลยูนนาน มีผู้ใหญ่บ้านเรียก “ สีจาง ” กำนันเรียก “ เปาตุง ” นายอำเภอเรียก “ แสนจาง ” ใช้อำนาจปกครองแบบป่าดั้งเดิม เช่น หากคนหมู่บ้านหนึ่งไปขโมยวัวจากหมู่บ้านหนึ่ง คนในหมู่บ้านที่ถูกขโมยจะยกพวกมาริบเอาวัวควายอีกหมู่บ้านหนึ่งจนหมด หากไม่ยอมก็จะต้องฆ่าฟันกัน การขโมยครั้งแรกไม่ทำร้าย นอกจากริบข้าวของวัวควาย ครั้งที่ ๒ จะฆ่าฟันตัดสินความกันเองก่อนไปแจ้งนายอำเภอหรือแสนจาง

ขนบธรรมเนียมการแต่งกาย
ของผู้หญิงชาวไทยหย่าต่างกันกับชาวไตลื้อ ชาวไตเชียงรุ่ง และชาวไทหย่าซึ่งอยู่ใต้ลงไป ชาวไทยหย่าสวมเสื้อดำ แขนยามแบบรูปกระบอก ๒ ชั้น ผ้าซิ่น ๒ ชั้น มีลูกไม้ลวดลายต่าง ๆ ติดตรงปลายผ้าข้างล่าง เสื้อในสีดำแลบออกมาให้เห็นเกือบทั้งตัว คอสูงชิดรอบคอ เสื้อสั้นเหนือเอว ผ่าอกข้างขวาระดับเดียวกันกับยอดนม ตรงริมชายเสื้อและตรงข้างหน้าอก ใช้ผ้าสีน้ำเงินแดงขาวเย็บติดสลับกัน บางคนปักเป็นลวดลายด้วยกระดุมเปลือกหอย ตัวเสื้อนี้สั้นครึ่งหน้าอกครึ่งหลัง ใต้ลงไปปล่อยให้มองเห็นเสื้อชั้นใน ผ่าข้างลงมาจากบ่าข้างริมคอทั้ง ๒ ข้าง ติดแถบผ้าสีต่าง ๆ ปักลวดลายงดงาม

ผ้าถุงหรือผ้าซิ่นผู้หญิงมี ๒ ชั้น ชั้นในใหญ่กว่า ใช้สีดำยาวหุ้มลงไปเกือบถึงข้อเท้า มีเชิงตอนปลายสลับสีและลายปักด้วยสีและจำพวกดิ้นไหม การนุ่งผ้าซิ่นนี้มีแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือทุกคนต้องหยักรั้งเอวซ้ายสูงข้าง หนึ่งต่ำข้างหนึ่งไม่เสมอกัน ผ้าซิ่นชั้นนอกสีดำตัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปักดอกลวดลายต่าง ๆ ตอนบน แต่ใช้ปิดเฉพาะข้างหน้า ส่วนที่ตะโพกหลังสั้นระดับหัวเข่าคล้ายเอี๊ยมหรือผ้ากันเปื้อน ผู้หญิงชาวไทหย่าโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำรอบศีรษะคล้ายหมวกขุนนางจีนฝ่ายบุ๋น สมัยโบราณ ผิดแต่ปลายชายผ้าลงมาปิดหูทั้ง ๒ ข้าง ที่หูใส่ต่างหูทำด้วยโลหะเงินเป็นวงกลมอันใหญ่ การโพกศีรษะนี้ผิดกับบรรดาคนไทเผ่าอื่น เช่น พวกไตลื้อ ไตหย่วน ไตมาง ซึ่งโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือผ้าสีชมพูรูปแบะบานใหญ่อย่างขนมโดนัท ทิ้งช่องว่างให้มวยผมโผล่ตรงกลาง แต่ชาวไทหย่าโพกศีรษะครอบผ้าคล้ายถุง

ธรรมเนียมการแต่งกายของชายชาวไทหย่ามี ส่วนคล้ายคลึงพวกไทใหญ่ (เงี้ยว) ไทลี้อ ไทเชียงรุ่งในแคว้นสิบสองพันนาและรัฐฉานทั่วไปผิดแต่ผู้ชายชอบไว้ผมสั้น ๑๕ วันตัดครั้งหนึ่ง สวมหมวกสานด้วยไม้ไผ่กว้างใหญ่อย่างหมวกฝาชีของชาวญวนแต่ไม่มียอดแหลมสูง เสื้อสีดำแบบกุยเฮงผ่ากลางตลอด มีขอบคอเสื้อสูง ๒ นิ้วยาวลงมาใต้เอว กางเกงขากว้างและหุ้มลงมาเกือบจดข้อเท้า เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกับชาวจีนฮ่อ วัฒนธรรมของจีนฮ่อจึงแทรกเข้าไปทำให้ชาวไทหย่ากลายเป็นคนครึ่งฮ่อครึ่งไท ทั้งมีหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันอบรมวัฒนธรรมแผนใหม่ทางด้านภาษา ขนบธรรมเนียม และทางศาสนา แต่ชาวไทหย่าหาได้ทอดทิ้งขนบธรรมเนียมเดิมไปทั้งหมดไม่

ชาวไทหย่าเป็นคนไท ไม่ใช่ชาวจีนฮ่อ สังเกตได้จากรูปร่างลักษณะท่าทางตลอดจนอุปนิสัยจิตใจและภาษาคล้ายกับคนไทใน ภาคเหนือ ไทเขิน ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเชียงรุ่ง ในเขตรัฐฉานของพม่าและตอนใต้มณฑล ยูนนานของจีน มีใบหน้ารูปไข่ ผิวค่อนข้างขาว เพราะอยู่ในโซนปานกลาง รูปร่างลักษณะได้ขนาดเดียวกัน หางคิ้วไม่ยกขึ้นอย่างชาวจีน ความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมและภาษาผิดกับชาวจีนฮ่อหลายอย่าง ภาษาบางคำตรงกับภาษาไทยที่ใช้กันในภาคกลางของประเทศไทย เช่น คำว่า มา ดี ฟัน ฟาง ขา มือ หู ตา ที่แปร่งไปบ้าง เช่น คำว่า เสื้อเป็นเซ้อ หัวเป็นโห อยู่ดีหรือไม่อยู่ดี เป็นอู้ดีบ่อู้ดี มีบางคำที่ปนกับคำจีน เช่น คำว่า “ อู๋หลาย ” หรือมีหลายนั้น คำว่า “ อู๋ ” ในภาษาจีนแปลว่า “ มี ” ส่วนคำว่า “ หลาย ” เป็นคำไทย บางคำคล้ายภาษาไทใหญ่ที่ใช้กัน เช่น คำว่า “ ไป" ” ขาวไทหย่าว่า “ ก๋า ” ชาวไทใหญ่ว่า “ กว่า ” ไปเที่ยวว่า “ ก๋าห่อน ” กล้วยว่าเกี้ยว อ้อยว่าแอ้ว ฟันไม้ว่ากีดไม้ แต่ก็มีบางคำไม่ทราบว่ามาจากชาติไหน เช่น คำว่ากางเกงเป็นเดี๋ยว มากี่คนเป็นมาจิก้อ ฯลฯ ชาวไทหย่าเหล่านี้ฟังภาษาไทยกลาง (กรุงเทพฯ) ออก เครื่องดนตรีมีแคน ปี่แน กับซึง ชอบร้องเพลง

สำหรับชื่อและนามสกุลของชาวไทหย่ามักปน กันระหว่างภาษาจีนภาษาไทย คือ ชื่อบางคำเป็นไทยนามสกุลเป็นจีน เช่น นายแก้ว เลาหยี่ นายสาม เลาลี นายหล้า เลามา ฯลฯ และคำว่า “ เลา ” นี้ใช้เรียกชื่อนามสกุลของชาวจีนฮ่อในมณฑลยูนนานทั่วไป เช่น เลามายี่ซาง ฯลฯ ภาษาที่ไทหย่าใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับชาวเขาชาวจีนฮ่อคือ ภาษาก๊กกื้อหรือภาษาจีนฮ่อ

ตัวหนังสือที่ใช้ในหน่วยราชการของยูนนาน ใช้ตัวหนังสือจีน ซึ่งชาวไทหย่าบางคนได้ไปร่ำเรียนมาจากเมืองซีเหมา เมืองคุนมิน ฯลฯ รัฐบาลจีนไม่ได้ให้การศึกษาทั่วถึง ชาวไทหย่าต้องขวนขวายหาเรียนกันเอาเอง ตามลำพัง ภาษาฮ่อนั้นอาศัยการรับจ้างเป็นลูกจ้างชาวจีนฮ่อทำการติดต่อค้าขายกันเสมอ จึงมีความรู้ในภาษาจีนฮ่อบ้างเป็นบางคน
ขาวไทหย่า เป็นคนขยันในการทำมาหากิน มีการทำสวน ทำนา ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างการทำสวน มีพืชล้มลุกและพืชยืนต้น เช่น ถั่ว งา พริก หอม ผักกาด ยาสูบ ฝ้าย กก ส้มเกลี้ยง มันฮ่อ ฯลฯ การทำนาทำกันปีละ ๒ ครั้งต่อปี ที่นาส่วนมากเป็นของคหบดีผู้มั่งคั่งชาวยูนนาน หรือไม่ก็เป็นของเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองชาวจีนยูนนาน ชาวไทหย่ามีที่นาเป็นของตนเองน้อยราย ผู้ชายมีงานทำงาน ทำสวน ทำบ้านเรือน ส่วนผู้หญิงทำงานหลายอย่าง นอกจากช่วยผู้ชายทำนา ทำสวน แล้วยังต้องทอผ้า ปั่นฝ้าย ทอเสื่อกก ทำอาหารและหาอาหารให้สัตว์เลี้ยง ครึ่งคืนจะลุกขึ้นตำข้าว ส่วนการเลี้ยงวัวและม้านั้นเป็นหน้าที่ของเด็กเลี้ยง บางทีใช้ม้าและวัวไถนาไถดินทำสวนบริเวณเมืองหย่ามีนกมาก ชาวไทหย่าจึงมักใส่ตังจับนกเสมอ

การปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นหน้าที่เจ้าบ้านต้องหาไม้ดินและอิฐไว้ให้พร้อมที่ลานดิน เวลาจะปลูกสร้างบ้านวันใดก็เตรียมฆ่าหมู ไก่ สุนัข รอไว้ก่อน ๑ วัน และไปบอกทุก ๆ บ้านว่ารุ่งขึ้นตนจะปลูกบ้าน ขอให้ชาวบ้านทุกคนไปช่วยแรงงานพอวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชายไปช่วยงานทั้งหมด ผู้หญิงเข้าครัวทำอาหาร ผู้ชายช่วยกันก่ออิฐมุงหลังคาบ้าน เมื่อเวลาหยุดพักนำสุราอาหารมาเลี้ยงกัน บ้านบางหลังเสร็จภายในวันเดียว บ้านหลังใหญ่ต้องใช้เวลาร่วม ๓ วัน การเรียกชาวบ้านมาช่วยปลูกบ้านนี้ ไม่ต้องให้ค่าจ้างรางวัล เพียงแต่ทำอาหารเลี้ยงเท่านั้น

ชาวไทหย่าเป็นผู้มีนิสัย ซื่อสัตย์ สุภาพอ่อนโยน เคร่งขรึม โอบอ้อมอารีต่อเพื่อนบ้าน และรู้จักการต้อนรับแขก รู้จักการให้อภัยแก่กัน ไม่โหดร้ายทารุณหรือผูกพยาบาท ไม่เกกมะเหรกเสเพล รักธรรมชาติความสงบ มีความเป็นกันเอง ไม่มีการลักขโมย ชอบการรื่นเริงด้วยดนตรีและร้องเพลงเชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่ มีวัฒนธรรมทางจิตใจสูงกว่าบรรดาชาวไทเผ่าอื่น ๆ มีคติประจำใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ จงเอาชนะบุคคลอื่นด้วยความดีของตนเอง และอดทนต่อความทุกข์ยาก ไม่ทำร้ายตอบแทนเพื่อนมนุษย์ ทั้งทางการกระทำและทางจิตใจ ถึงจะถูกทำร้ายก่อนก็ไม่ตอบแทน เพราะนิสัยอันนี้ จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนฮ่อเจ้าของประเทศรบกวนเบียดเบียนกดขี่อยู่เนืองนิตย์ โดยอาศัยอำนาจตำแหน่งหน้าที่ซึ่งรัฐบาลจีนแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ปกครองนั้น เก็บภาษีอากรเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชาตามอำเภอใจ มีการเก็บภาษีเป็นเงินเป็นข้าวเปลือก หมู ไก่ ฯลฯ บางทีเกณฑ์เอาไปหาบหามข้าวของสินค้าทำถนนหนทางเป็นทหาร คนใช้ ฯลฯ

เมื่อสมัย ๕๐ ปีก่อน (นับจาก พ.ศ. ๒๔๙๓) ชาวไทหย่านับถือศาสนาผี ถือว่าบรรดาสรรสิ่งทั้งปวงล้วนแต่มีเทพารักษ์หรือผีปีศาจคอยดูแลรักษา ต้นไม้ใหญ่เป็นที่ประทับของดวงวิญญาณผีปีศาจที่มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้ เจ็บป่วยล้มตายได้ นอกจากมีผีป่า ผีไม้ ผีไร่ ผีนา ผีปืนแล้วในเมืองและบริเวณหมู่บ้านก็ยังทำศาลไว้ให้เป็นที่ประทับของผีบ้าน ผีเมือง ผู้ใดเจ็บป่วยจะเนื่องมาจากโรคชนิดใดก็ตาม มักเข้าใจว่าเป็นเพราะผู้เจ็บป่วยนั้นไปล่วงเกินต่อผีบ้านเมืองทำให้โกรธ เคืองบันดาลให้เป็นไปต่าง ๆ ต้องฆ่าไก่ ฆ่าหมู ทำพิธีสังเวยเซ่นผีสะเดาะเคราะห์เรียกขวัญ ผูกเส้นด้ายที่ข้อมือนอกจากนี้ยังใช้รากไม้สมุนไพรมาต้มหรือฝนดื่มรับประทาน แก้โรค ครั้นต่อมาได้มีหมอสอนคริสต์ศาสนาลัทธิโปรเตสแตนต์นำยารักษาโรคไปแจกจ่ายและ รักษาพยาบาลรักษาตามแผนปัจจุบันสอนให้เรียนรู้หนังสือล้านนาและหนังสือไทย พร้อมกันนั้นก็ได้สอนบทเพลงต่าง ๆ หมอสอนศาสนาได้สอนลัทธิโปรเตสแตนต์แจกเสื้อผ้า หยูกยา อุปการะคนยากจนจึงเป็นที่รักใคร่ของชาวไทหย่าทั่วไป เนื่องจากหมอสอนศาสนาชาวอเมริกาแผ่เมตตาด้วยจิตวิทยาอันสูงนี้เอง จึงได้โน้มน้าวใจชาวไทหย่าให้เลิกการนับถือศาสนาผี หันมานับถือศาสนาคริสต์โปรเตสแตนต์แทน ชาวไทหย่านับถือหมอสอนศาสนาชาวอเมริกาและเชื่อว่าบรรดาผู้สอนศาสนาเป็นตัว แทนของพระผู้เป็นเจ้า เขาจะสอนให้พวกเด็ก ๆ ร้องเพลงรำพันถึงคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้า สอนให้เรียนหนังสือล้านนา รู้จักขนบธรรมเนียมชาวอเมริกัน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดแห่งเคหสถานและเครื่องแต่งกาย

ชาวไทหย่ารับประทานอาหารคล้ายชาวจีนคือใช้ตะเกียบ มีโต๊ะตั่งรอบสี่ด้าน หากที่อยู่ในไทยบางบ้านเปลี่ยนใช้อย่างชาวเหนือหรือชาวล้านนา การกินอยู่อย่างง่าย ๆ สวมเครื่องแต่กายที่ประดิษฐ์งดงามเวลามีงานประจำปีและงานพิธีต่าง ๆ ชาวไทหย่าชอบรับประทานเนื้อสุนัข บางวันไปเที่ยวขอซื้อสุนัขตามหมู่บ้านชาวไทลื้อหรือจีนฮ่อ มีจารีตประเพณีคล้ายคลึงชาวไทหลายเผ่าในอินโดจีนและในรัฐฉานของพม่าหรือยู นนานของจีนคือไม่หวงบุตรสาว ให้สิทธิเสรีในการเลือกคู่ครอง การเลือกชายผู้เป็นคู่ครองร่วมทุกข์ร่วมสุขในชีวิต การมีเรือนเลือกจากบุคคลที่ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน เมื่อรักใคร่เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ทางฝ่ายชายจะจัดญาติผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ของหมั้นหญิงสาวด้วยแหวนทองคำเรียก อาจารย์ประจำหมู่บ้านมาไต่ถาม หาฤกษ์งามยามดีนัดวันแต่งงาน

พอจนวันทำพิธีแต่งงาน ทั้งสองฝ่ายจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบโดยจ่ายที่ใส่ข้าว ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สานกลม ๆ อย่างกระป๋องเนยขนาดใหญ่ปิดเปิดได้เรียกว่า “ แอ๊บเข้า ” ในนั้นมีข้าวเหนียวกับไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง แจกไปทุกหลังคาเรือนพร้อมกับนัดแนะวันแต่งงานให้ชาวบ้านทราบ

วันแต่งงานทางบ้านเจ้า บ่าวฆ่าหมูตัวใหญ่ที่สุด ๑ ตัว ผู้หญิงชาวบ้านพากันไปช่วยทำอาหาร เตรียมเลี้ยงแขก สถานที่จัดงานนั้นใช้บ้านเจ้าบ่าว โดยแห่นำเอาเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวก่อนถึงพิธีเล็กน้อย เจ้าสาววันนี้แต่งกายด้วยชุดที่สวยงาม ใช้ผ้าบาง ๆ คลุมศีรษะ ถือช่อดอกไม้ ฝ่ายเจ้าบ่าวแต่งกายสะอาดสะอ้าน ชาวบ้านนำแห่ไปยังโบสถ์ ทำพิธีแต่งงานแบบคริสเตียนโดยมีอาจารย์เป็นผู้กล่าวคำอวยพร และไต่ถามย้ำความสมัครใจที่จะร่วมเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันตลอดไป ชาวบ้านกางคัมภีร์ออกร้องเพลงอวยพรแก่คู่บ่าวสาวพอเสร็จพิธีก็แห่กันมากิน เลี้ยงสุราอาหารที่บ้านเจ้าสาว คู่บ่าวสาวไปคุกเข่ากล่าวคำขอบคุณแก่บรรดาผู้มีอาวุโสและญาติพี่น้องซึ่งไป ร่วมงาน ทุกคนร้องเพลงอวยพร

ชายหญิงชาวไทหย่ามักไม่ ค่อยหย่าร้างกัน นาน ๆ จึงจะมีสักคู่หนึ่ง ถ้าหญิงที่ถูกสามีเลิกร้างไปแล้วนั้นมีชายอื่นไปชอบพอรักใคร่ หญิงพอใจด้วยก็มีสิทธิ์ที่จะแต่งงานใหม่ได้ แต่ชายผู้เป็นคู่ครองคนใหม่ ต้องมอบเงินค่าไถ่จากสามีคนเดิมมากกว่าค่าใช้จ่ายในการแต่งงานครั้งแรก จะเอาไปเป็นภรรยาโดยไม่เสียเงินเลยไม่ได้ เพราะหญิงตามจารีตประเพณีของเขาเมื่อแต่งงานแล้ว แม้เลิกร้านกันไปก็ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีคนเดิมอยู่ เมื่อชายใดต้องการต้องเสียเงินเป็นค่าไถ่ตัว

เวลาหญิงอยู่ไฟภายหลังคลอดบุตร ชาวบ้านทุกบ้านต่างเปลี่ยนเวรกันนำเอาข้าวสุกกับไก่ต้ม ๑ ตัว นำไปให้หญิงนั้นจนครบเวลาอยู่ไฟ

งานพิธีต่าง ๆ ของชาวไทหย่ามีงานปีใหม่ งานแต่งงานและงานตามพิธีศาสนาใหม่ของเขา งานปีใหม่ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ หรือเดือน ๘ ของจีนยูนนาน ชาวไทหย่าเรียกงานนี้ว่า “ ป่าเย ” มีการฆ่าหมู ไก่ ตำข้าวเหนียว ทำขนมปังข้าวเหนียวคลุกเมล็ดงา ร่วมกันร้องเพลงแจกของขวัญและเลี้ยงอาหารกัน หนุ่มสาวและคนเฒ่าแก่พากันแต่งตัวอย่างสวยงามตามจารีตประเพณี คือผู้หญิงโพกศีรษะสวมเสื้อผ้านุ่ง ๒ ชั้น ประดับด้วยผ้าลายดอกไม้และกระดุมเปลือกหอย ใส่ต่างหู กำไลมือ พากันไปเที่ยวตามหมู่บ้านญาติพี่น้อง ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อกราบไหว้อวยพรซึ่งกันและกัน
เมื่อมีผู้สิ้นชีวิตลง เจ้าของบ้านแจ้งให้อาจารย์ศาสนาประจำหมู่บ้านทราบ อาจารย์จะกำหนดวันนำเอาศพไป ถ้าผู้ตายเป็นคนยากจนก็เอาศพไปป่าช้าเร็ววัน ถ้ามีฐานะดีญาติพี่น้องต่างอยู่ห่างไกล มีความรักอาลัยมากก็นำศพเก็บไว้นานวันบางทีตั้งเดือนสองเดือน โดยเอาผ้าคลุมไว้ก่อนแล้วจึงนำบรรจุโลงภายหลัง โลงทำด้วยไม้ขุดเป็นรูปหลังเต่ามีฝาปิดทาด้วยชาด ซึ่งมีคนทำโลงขายภายในหมู่บ้าน พอมีคนตายลงเจ้าบ้านจะออกไปนอกชานเรือนยิงปืนขึ้นท้องฟ้า ๖ นัด ถ้าเป็นหญิงยิง ๗ นัด เพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ ทั้งเป็นการแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่ามีคนตายขึ้นภายในหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียเวลาวิ่งไปบอกข่าวขอร้องให้ชาวบ้านมาช่วย ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะกระวีกระวาดไปช่วยงานศพเอง การยิงปืนนี้ ชาวไตชายซึ่งตั้งหมู่บ้านอยู่เมืองซายยิงปืนเพียงนัดเดียว ถ้าบิดามารดาถึงแก่ความตายทั้งเป็นผู้มีฐานะดี บรรดาบุตรธิดาทุกคนจะหาซื้อวัวมาฆ่าเลี้ยงชาวบ้านที่มาร่วมงานคนละ ๑ ตัว คือถ้ามีบุตร ๑๐ คน ก็ฆ่าวัว ๑๐ ตัว ถ้าบุตรอยู่ห่างหมู่บ้านบิดาตาย ก็เอาวัวฆ่าแบ่งให้เรือนศพครึ่งหนึ่ง นำกลับหมู่บ้านครึ่งหนึ่ง พวกที่เป่าปี่เป่าแตรจะได้รับแจกเนื้อสันทั้งหมด บุตรหลานญาติพี่น้องและผู้มีส่วนเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด ต่างไปนั่งร้องไห้รำพันคุณงานความดีของผู้ตายต่อหน้าศพ เวลานำศพเคลื่อนจากบ้าน มีการยิงปืนเป่าปี่ตีฆ้องแห่กันไปยังป่าช้า ขนบธรรมเนียมของไตเมืองซายก็คล้ายชาวไตเมืองหย่า ทั้งสองเมืองนี้ตั้งอยู่ห่างกันชั่วระยะเดินทางด้วยเท่า ๑ วัน แต่เมืองซานอยู่เหนือเมืองหย่าขึ้นไป