เครื่องแต่งกายล้านนา - ผ้าขาว และผ้าอื่น ๆ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เครื่องแต่งกายล้านนา : ผ้าขาว และผ้าอื่น ๆ


ผู้บวชบางรายเมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว แต่ไม่อาจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทั้งหมดได้ มักลาสิกขาแล้ว บวชเป็นผ้าขาว คือเป็นชีปะขาว บางรายเป็นผู้ใหญ่แล้ว เกิดเบื่อในชีวิตฆราวาส จึงได้บวชเป็นผ้าขาว เมื่อบวชแล้วก็อาศยอยู่ในวัดและช่วยเหลือพระภิกษุในด้านต่างๆ เครื่องใช้ของผ้าขาวก็มีบาตร มีบริขารคล้ายกับพระสงฆ์ ทั้งนี้ถ้าเป็นชายจะเรียกพ่อผ้าขาว และหญิงเรียกเป็น แม่ผ้าขาว แต่ก็มักใช้คำผ้าขาว เพื่อเรียกนักพรตชายหญิงดังกล่าวโดยรวม

ผ้าขาวนั้น เมื่อประพฤติปฏิบัติชอบก็เป็นที่นับถือของชาวบ้านชาวเมือง การบวชเป็นผ้าขาวมีมาเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว มักจะปรากฏชื่อในศิลาจารึกในล้านนาเสมอ เช่นที่ปรากฏในศิลาจารึกที่จุลคีรี คือ ดอยน้อย อำเภอจอมทอง จังหวัด เชียงใหม่ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๗ ในจารึกอ้างว่าในสมัยพระนางจามเทวีได้มาสถาปนาพระธาตุที่นี้แล้ว ได้ให้ผ้าขาว ๔ คน เป็นผู้อุปัฏฐากดูแลพระธาตุ ประกอบด้วย ๑. ผ้าขาวเทือน ๒. ผ้าขาวคำ ๓. ผ้าขาวฟาน และ ๔. ผ้าขาวคมต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๗ พระ ญาเมกุ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่สั่งให้รวบรวมลูกหลานทีสืบเชื้อสายมาแต่ผ้าขาวทั้ง ๔ ให้อุปัฏฐากดูแลพระธาตุ

ในศิลาจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงผ้าขาวเป็นผู้นำในการสร้างวัด มาในสมัยหลังก็มีตัวอย่าง เช่นผ้าขาวปีและผ้าขาวดวงตา (อ่าน “ ดวงต๋า ” ) ซึงอยู่แถวอำเภอจอมทองเป็นทีเคารพนับถือของศรัทธาประชาชนทั่วไป รวมถึงพวกขาวเขาด้วย

ในกรณีแม่ผ้าขาวนั้น หญิงไม่สามารถที่จะบวชเป็นภิกษุณีได้เหมือนกับสมัยพระพุทธเจ้า ดังนั้นหญิงที่อยาก เรียนและประพฤติธรรม จึงโกนหัวนุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า บวชเป็นแม่ผ้าขาว คือบวชชีอยู่ในวัด เพื่อหวังความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ต่อมาภายหลังการบวชชีด้วยความประสงค์หลายอย่าง บางคนบวชเพื่อต้องการศึกษาเล่าเรียนธรรม เพื่อกายวาจาให้สงบ บางคนบวชเพื่อต้องการรับใช้พระสงฆ์ บางคนบวชเนื่องจากได้รับความกระทบกระเทือนในด้านจิตใจ เพราะเรื่องครอบครัว เพราะผิดหวังในความรักทีเรียกว่าอกหก จึงหลบเข้าบวชเพื่อพึ่งธรรมะให้ใจสงบก็มี (ดูเพิ่มที่ ผ้าขาวแก้ว และ อภิชัย,ครูบา (ขาวปี))

ผ้าขาวปูอาสนะ

โบราณ กาลนิยมนำผ้าขาวมาปูบนอาสน์สงฆ์ ให้พระสงฆ์นั่งในงานรัฐพิธีหรืองานพิธี ทั้งนี้ถือว่าพระสงฆ์เป็นบุคคลพิเศษคือทรงศีลควรแก่สักการะ ผ้าที่พระสงฆ์นั่งในลักษณะนี้ถือเป็นเครื่องสักการะด้วย

ผ้าค็อบ

ผ้า ค็อบ หมายถึงผ้าที่ซ้อนกันหลายชั้นใช้รองนั่ง และมีผ้าค็อบที่มีลักษณะเป็นเบาะ คือเย็บผ้าขนาดกว้างยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตรให้เป็นโครง แล้วยัดนุ่นทำเป็นลูกฟูกสูงประมาณ ๕ เซนติเมตร หรืออาจทำเป็นถุงผ้า เมื่อบรรจุนุ่นแล้วก็เกลี่ยนุ่นให้มีความหนาเสมอกัน จากนั้นจึงใช้ด้ายตรึงเป็นจุด๐และอาจมีผู้ทำโครงผ้าค็อบอย่างถุงผ้านั้นแล้ว เย็บเป็นจุดๆ เพื่อทำเป็นโครงไว้เสียก่อนแล้วจึงยัดนุ่นและเย็บปิดขอบให้เรียบร้อย ผ้าค็อบ นี้ใช้ทั้งในวัดและในบ้าน ซึ่งของใช้ในวัดก็ต้องเลือกสีให้ดูเหมาะสมกับพระสงฆ์ ส่วนที่ใช้ในบ้านนั้น มักจะเป็นสีดำหรือสีคราม ส่วนขอบมักจะเป็นผ้าสีแดง

ผ้าเครื่อง

หมาย ถึงผ้า “ ไตรจีวร ” คือประกอบด้วยสบง จีวร และสังฆาฏิ อันเป็นของใช้ของสงฆ์ และหากใช้ผ้าเครื่องนี้ในการทอดผ้าบังสุกุลแล้ว ก็มักเรียกว่า ผ้ามหาบังสุกุล

ผ้าเคียนหัว

หมายถึงผ้าที่ใช้พันรอบศีรษะ ซึ่งอาจเป็นผ้าต่องหรือ ผ้าขาวม้าก็ได้ (ดูเพิ่มที่ ผ้ากะลอม)

ผ้าจว้าย

ผ้าจว้าย คือผ้าที่ศรัทธาชาวบ้านที่สูงอายุมักใช้ห่มเฉวียงบ่าเมื่อไปทำบุญที่วัด โดยมากเป็นผ้าพื้นสีขาวาวประมาณ ๒ เมตร ในกรณีที่สุภาพสตรีซึ่งมีฐานะใช้ผ้าชนิดนี้ไปในงานทั่วไปแล้ว ก็มักจะใช้ผ้าสีอ่อนห่มเป็นสไบ โดยเฉพาะนิยมใช้ผ้าพื้นสีอ่อนเนื้อบางละเอียด อย่างผ้าฝ้ายหรือผ้าป่านมัสลินที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผ้าชนิดนี้ บางครั้งเรียกว่า ผ้าเบี่ยง ผ้าเบี่ยงบ้าย หรือ ผ้าสะหว้ายแล้ง

ผ้าจีวร

ผ้า จีวร นิยมเรียกกางบาลี อุตราสงฆ์ ใช้เป็นผ้าห่มคลุม บางแห่งนิยมเรียกว่า ผ้าลังกา (อ่าน “ ผ้าลังก๋า ” ) ทั้งนี้เนื่องมาจากพระภิกษุสงฆ์ขาล้านนา ได้แบบอย่างการทำผ้าจีวรมาจากภิกษุสงฆ์ชาวลังกา ผ้าจีวรเป็นการนำผ้ามาตัดเป็นท่อนๆ เรียกว่าเป็นขันธกะ คือเป็นส่วนๆ ตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระอานนท์ทำจีวรเป็นขันธ์ หรือเป็นตาอย่างที่เห็นผืนนาของชาวมคธซึ่งปรากฏในพระวินัย และผ้าชนิดนี้เคยพบใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เขียนเป็น ผ้าจีวร ก็มี

ผ้าเช็ด

ผ้าเช็ด เป็นผ้าขนาดเล็กที่ภรรยาทอให้สามี หรือสาวอาจทอให้ชายคนรักใช้เป็นผ้าพาดไหล่ ซึ่งผู้สูงอายุจะใช้ผ้าดังกล่าวพาดไหล่ไปวัด (ถ้าไม่มีผาทอพิเศษก็ใช้ผ้าขาวม้าแทนได้) หนุ่มจะใช้ผ้านี้พาดไหล่ไปเยือนสาวคนรัก

ลักษณะ ผ้าเช็ดเป็นผ้าขาวผืนสี่เหลี่ยม มีลายขิดตกแต่งที่ชิงผ้าทั้งสองข้าง ทิ้งช่วงพื้นสีขาวไว้ตรงส่วนกลาง มักใช้เป็นผ้าเช็ดหน้าและพับครึ่งตามยาวพาดบนไหล่ซ้าย

ในบาง แห่งพบว่า ผ้าเช็ด เป็นผ้าขาวที่มีลวดลายขิดสีดำแดงหรือดำสลับน้ำตาล มีลวดลายรูปต่างๆ เช่น ช้าง ม้า คน และเรือ เป็นต้น ลวดลายตกแต่งตรงเชิงสองข้างนี้จะมีอยู่ ๕ - ๖ แถว ทิ้งช่วงกลางซึ่งทอด้วยเทคนิคยกดอก และพบว่าผ้านี้ใช้ในพิธีแต่งงานและใช้ปิดหน้าศพด้วย

ผ้าเช็ดน้อย

เป็น ผ้าตกแต่งครัวทาน (เครื่องปัจจัยไทยทาน) แบบไทลื้อ แบบที่ทำเพื่อถวายพระจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวผืนขนาดเล็กกว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร โดยทั่วไป มีลายขิดขนาดเล็กเป็นริ้ว ตรงชายผ้าทั้งสองข้างบางครั้งก็เป็นผ้าที่ทอด้วยวิธีการขิดละจก รวมกันอยู่ด้านชายผ้าสองข้าง ใช้เป็นผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าซับเหงื่อ

ผ้าดำ

ผ้าดำ เป็นคำเรียกผ้าที่ย้อมด้วยสีดำหรอสีน้ำตาลเข้มเป็นผ้าเนื้อหยาบ ที่มักใช้สวมใส่ในการไปทำงานหนักอย่างทำนาทำไร่หรืองานใช้แรงงานต่างๆ

ผ้าต่อง

หมาย ถึงผ้าขาวม้าที่สามารถใช้เป็นผานุ่งอย่างลำลองอยู่กับบ้าน และใช้ในการต่างๆ ได้หลายรูปแบบ ผู้ชายทุกช่วงอายุใช้ผ้าชนิดนี้ได้ เคยมีคำพูดของหนุ่มที่ไปเยือนสาวคนรักว่า

“ พี่เมารักน้องผ้าต่องพอหาย เปนดีเสียดายผ้าลายตาโก้ง ” คือบอกว่าเขาหลงรักผู้หญิงคนนั้นจนลืมไปว่าทิ้งผ้าขาวม้าไว้ที่ไหน ผ้าขาวม้านั้นเป็นลายตาโถงเสียด้วย

ผ้าต้อย

ผ้า ต้อยเป็นผ้านุ่งสำหรับชาน เป็นผ้าสี่เหลี่ยมเป็นผ้าฝ้ายสีพื้นหรือมีลายดำสลับขาวที่เรียกว่า ผ้าตาโก้ง ผ้าต้อย มีสองขนาดคือขนาดสั้นละขนาดยาว ผ้าต้อยขนาดสั้นนิยมนุ่งแบบ

เตล็ด ม่าม หรือเค้นม่าม (อ่าน “ เก๊นม้า ” ) คือม้วนชายผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาให้รัดกุมแบบเดียวกับนุ่งถกเขมร ซึ่งหากต้องการความกระฉับกระเฉงรัดกุมในการทำงานก็อาจนุ่งให้กระชับมากยิ่ง ขึ้นจนมองเห็นสะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งยังมีโอกาสเปิดเผยให้เห็นหมึกที่ท่อนขาอีกด้วย

ผ้าต้อยขนาดยาวนั้น ยาวประมาณ ๓.๕ เมตร ใช้นุ่งแบบโจงกระเบน คือม้วนชายผ้านุ่งแล้วดึงไปแหน็บไว้ข้างหลังอย่างหลวมๆ มิได้ทำให้รัดกุมแบบคุ้มม่าม

ผ้าทวบ

ผ้าทวบ หมายถึงผ้าห่ม ทำด้วยผ้าหน้ากว้าง ๑๕ - ๒๕ นิ้ว ขนาดยาวสองผืนพับครึ่งเย็บหัวและท้ายต่อกัน กะให้พอดีกับความยาวของร่างกายองผู้ใช้แล้วเพลาะกัน ทำให้ผ้านั้นมีความหนา ๒ ชั้น ผ้าดังกล่าวอาจเป็นผ้าตาโก้ง คือเป็นลายตาหมากรุกสีแดง ดำ และขาว หรือเป็นผ้าลายแซงคือผ้าพื้นสีขาว และมีด้ายสีแดงช่วงละประมาณครึ่งเซนติเมตร สลับเป็นช่วงๆ ผ้าทวบแบบผ้าลายแซงนี้มักใช้ห่มในฤดูกาลต่างๆ หากรู้สึกเย็นจะใช้ผ้าทวบซ้อนกันหลายชั้น หรือเปลี่ยนไปใช้ผ้านวม (นิยมออกเสียงเป็น “ ผ้าลวม ” ) แทนผ้าทวบ นอกจากเป็นผ้าลายแซงดังกล่าว แล้วอาจเป็นผ้าลายดีคือผ้าที่ทอให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเป็นระยะๆ และผ้าทวบลายดีดังกล่าว มักทอด้วยผ้าตุ่นหรือผ้าข่อน ที่มีสีน้ำตาลอ่อนตัดด้วยสีครามเป็นตาขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ

สำหรับผ้าทวบตาแสงหรือผ้าทวบตาโก้งคือผ้าห่มชนิดตาโถง เป็นผ้าฝ้ายทอดอกโดยใช้ตะกอ ๓ - ๕ ตะกอ สีที่นิยมคือสีดำ แดง ขาว ซึ่งสลับสีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนทำเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมบ้าง เป็นสีดำสลับขาว หรือแดงสลับขาวหรือขาวทั้งผืนมีริ้วสีดำเฉพาะเส้นยืนตรงริมผ้า ๒ ข้าง ผ้าที่ทออย่างผ้าทวบนี้ หากมีขนาด ๑๒๐ x ๒๐๐ เซนติเมตร แล้วจะใช้ผ้าคลุมกันหนาว ที่เรียกกันว่า ผ้าทุ้ม(อ่านว่า “ ผ้าตุ้ม ”)

ผ้าทันใจ (อ่าน “ ผ้าตันใจ๋ ” )

ผ้า ตันใจ หมายถึงผ้าจุลกฐิน หรือผ้าที่จะต้องปั่นด้าย กรอด้าย ตัดเย็บ และย้อมให้เสร็จภายในวันเดียว ต้องใช้คนจำนวนนับร้อยคนแยกทำงานในส่วนต่างๆอย่างรีบเร่งเพื่อให้ทันกาล ในสมัยก่อนผู้ที่จะถวายผ้าจุลกฐินได้ ต้องมีกำลังความคิด กำลังทรัพย์และกำลังบริวารมาก จึงจะได้

ผ้าทันใจของล้านนาเริ่มต้นในเวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา ด้วยการนิมนต์พระอุปคุตเถรซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายในงามขึ้นจากน้ำ ไปประจำที่หอพระอุปคุตที่มักทำเป็นศาลชั่วคราวทางด้านขวาของวิหาร (ดูเพิ่มที่ อุปคุต ,พระ )จากนั้นจึงมีวิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ (อ่าน “ ขึ้นต๊าวตังสี่ ” ) หรือบูชาท้าวจตุโลกบาลให้ช่วยรับรู้แลดูกิจกรรม ตกกลางคืนจะมีการเจริญพระพุทธมนต์สมโภชและมีมหรสพเพื่อความครึกครื้นของงาน ฝ่ายผู้ที่เตรียมผ้าจุลกฐินก็จะเตรียมสถานที่ ตั้งอีดฝ้ายหรือที่หีบฝ้าย ตั้งเผี่ยนหรือเครื่องปั่นด้ายตั้งกี่ ที่เย็บที่ย้อม พร้อมทั้งจัดทำราชวัติฉัตรธงไว้ให้พร้อมเสร็จ ถึงเวลาจวนเที่ยงคืนก็ร่วมกันสมาทานเบญจศีล พอถึงเวลาเลยเที่ยงคืนแล้ว สาวพรหมจารีที่รับสมมติเป็นเทพธิดาดอกฝ้ายก็จะเริ่มเก็บปุยฝ้าย จากนั้นก็จะเริ่มการปั่นด้าย กรอด้าย ว้นด้าย สืบฝ้ายและทอผ้า แล้วเย็บและย้อมตามลำดับ ด้วยความรีบเร่งและโกลาหล เพื่อให้เสร็จเป็นผ้าไตรในองค์กฐินและถวายทานได้ทันกาล

ฝ่าย ชายก็จะจัดแจงเตรียมเครื่องไทยทานต่าง ๆ เช่น ต้นหมาก ต้นผึ้ง หมากสุ่ม หมากเบ็ง สานตะกร้าบรรจุเครื่องไทยทาน ผู้หญิงจะช่วยตัดช่อหรือธงสามเหลี่ยม ทำสวยหรือกรวยดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ ผ้าทันใจหรือผ้าจุลกฐินนี้ มักให้เสร็จก่อนเวลา 18.00 นาฬิกา จากนั้นจะมีการตั้งขบวนการแห่องค์กฐินด้วยขบวนฆ้องกลอง ช่างฟ้อน ฯลฯ เพื่อเป็นการประกาศอนุโมทนาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย จากนั้นจึงจะได้ถวายผ้าทันใจแก่พระสงฆ์เพื่อที่ท่านจะได้กรานกฐินและอื่น ๆ ต่อไป

ผ้าทุ้ม (อ่านว่า “ ผ้าตุ๊ม ” )

ผ้า ทุ้ม หมายถึงผ้าที่ใช้คลุมไหล่ของชาวบ้าน ทำด้วยผ้าหนาประมาณ ๑๕-๒๕ นิ้ว ยาวประมาณ ๒ เมตร อย่างเดียวกับผ้าทวบ เพียงแต่เป็นผ้าชั้นเดียว ตรงส่วนชายอาจมีการทอหรือตกแต่งลวดลายประดับ ชาวบ้านจะใช้ผ้าทุ้มนี้ ห่มคลุมไหล่ในหน้าหนาว ในสระยะหลังชาวบ้านนิยมใช้ผ้าขนหนูแบบผ้าเช็ดตัวแทนแบบโบราณ โดยกล่าวว่าผ้าทุ้มแบบใหม่นี้ให้ความอบอุ่นได้มากกว่า

ส่วน ผ้าทุ้มพระเจ้าก็คือพระอังสาของพระพุทธรูปตามความเชื่อของชาวบ้านว่าพระพุทธ รูปจะมีความรู้สึกหนาวในฤดูหนาว เนื่องจากทางล้านนามีอากาศหนาวเย็น ประชาชนจึงนิยมนำผ้าเหลือง ซึ่งอาจจะทำจากผ้าธรรมดาหรือผ้าแพรยาวและกว้างตามขนาดของพระพุทธรูปมาห่ม คลุมไว้ ถือกันว่าผู้ได้ทานผ้าทุ้มพระเจ้าหรือถวายผ้าคลุมนี้ จะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่

ผ้าแท่นสงฆ์

เป็น ผ้าผืนยาวที่ปูลาดบนแท่นสำหรับให้พระสงฆ์นั่ง ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นผ้าสีขาวหรือเหลือง (ซึ่งปัจจุบันอาจปูด้วยพรมก็ได้) มีขนาดความกว้างประมาณ ๑.๐๐ -๑.๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๔-๕ เมตร โดยทั่วไปวิหารของวัดจะทำแท่นสงฆ์ทางด้านขวามือของพระประธานใกล้ผนังวิหาร และมักเป็นแท่นปูที่ถาวร

ผ้านวม

ผ้า นวม เป็นเครื่องห่มที่ได้จากการเพลาะปุยฝ้ายให้เป็นผืนเพื่อใช้เป็นผ้าห่มในยุค ก่อนที่จะมีผ้าห่มจากโรงงานใช้อย่างแพร่หลาย ดังพบว่าในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๑๕ เป็นแหล่งมีชื่อเพระมีสินค้าประเภทเสื้อผ้ามาขาย และผู้ขายมักจะเป็นนางงามซึ่งจะเห็นได้จากที่มีสายสะพาย หรือมงกุฎนางงามวางไว้ในตู้โชว์ของร้านสินค้าอย่างหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อมากของ “ ป่าซาง ” ก็คือผ้านวม

วิธี ทำผ้านวมนั้นเริ่มด้วยการกำหนดขนาดเสียก่อนว่าจะทำผ้านวมมีน้ำหนักเท่าใด ซึ่งโดยปกติแล้ผ้านวมมักจะใช้ฝ้ายหนัก ๒ กิโลกรัม ใช้ด้ายที่กรอเป็นไจแล้วประมาณ ๕ ไจ และใช้อุปกรณ์แบบพื้นบ้านในการช่วยงานอีกไม่มากนัก

การ ทำผ้านวมเริ่มต้นโดยการตากฝ้ายให้ได้แดดเต็มที่เสียก่อนประมาณครึ่งวันแล้ว นำไปเกลี่ยในแบบที่ทำด้วยไม้ไผ่ยาวสองวาสองอันวางด้านข้าง และวางไม้ไผ่ขนาดหนึ่งวาไว้ด้านหัวท้าย เกลี่ยฝ้ายอย่างหยาบ ๆ แล้วใช้กงยิงฝ้าย ( อ่านว่า “ ก๋งญิงฝ้าย ” ) ดีดฝ้ายให้ขึ้นปุยฟู และใช้ไม้เรียวเกลี่ยฝ้ายให้มีความหนาบางเท่ากันไปจนเต็มบริเวณที่ต้องการ จากนั้นจึงใช้ไม้ไผ่กลิ้งทับปุยฝ้ายให้ราบเพื่อจะผ่านด้าย

การ ผ่านด้ายนั้น จะนำด้ายที่กรอแล้วสอดเข้ากับไม้ไผ่ที่ผ่าด้านหัว และเจาะรูข้างไว้แล้วจึงส่งไม้ โดยคนที่ ๑ ถือไม้และดึงปลายด้ายไว้ คนที่ ๒ จับด้ายตรงปลาย แล้วคนที่ ๑ จะดึงไม้ขึ้นก็เป็นอันว่าได้ด้าย ๒รอบ ทำเหมือนครั้งแรกจะได้ด้าย ๒ รอบ แล้ววางลงในแนวทแยงของผ้านวมทั้ง ๒ ด้านเสียก่อน เริ่มผ่านในแนวขวางใหม่ โดยใช้ด้ายด้านรอบเดียว (เท่ากับสองเส้น) แล้วตัดวางลงบนผืนผ้านวม ให้ระยะห่างประมาณหนึ่งนิ้วครึ่งหรือสองนิ้ว ทำไปจนหมดพื้นที่ผ้านวมแล้วใช้ไม้ไผ่รีดโดยการกลิ้งจากริมด้านหนึ่ง ไปอีกด้านหนึ่งตามแนวยาวของด้าย เริ่มผ่านในแนวขวางใหม่โดยทำเหมือน กับทำในแนวยาวแล้วใช้ไม้ไผ่รีดกลิ้งไปจนหมดพื้นที่ผ้านวม แล้วผ่านด้ายในแนวทแยงให้มีระยะทางให้มีระยะห่างน้อยกว่า ๒ ครั้งก่อน คือประมาณครึ่งนิ้วไปจนหมดพื้นที่ผ้านวม ใช้ไม้กลิ้งรีดไปจนหมด เริ่มผ่านทแยงใหม่อีกด้านที่เหลือทำเหมือนครั้งก่อน แล้วรีดโดยกลิ้งไม้ไผ่กลับมาผ่านในแนวยาว ไปจนหมดพื้นที่ผ้านวมใช้ไม้กลิ้งรีดให้เรียบ เป็นอันว่าหมดการผ่านด้าย ถ้าผ่านมากจะทำให้เส้นด้ายหุ้มเอาฝ้ายไว้แน่นและมีความคงทนในการใช้ จากนั้นจึงทำให้เรียบโดยใช้เตารีดไม้ เริ่มด้วยการจับที่มือจับข้างบนแล้วรีดตามเส้นด้ายดึงมาเฉย ๆ ก่อน ยังไม่ต้องออกแรงกด ทำหลาย ๆ รอบจนผ้านวมเริ่มเรียบจึงจะเริ่มออกแรงกดและหมุนไปเรื่อย ๆ ทำให้พื้นที่ทีละน้อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนหมดพื้นที่ผ้านวมแล้วกลับด้าน

การ กลับด้านนั้น ให้พับริมทั้ง ๔ ด้านเข้าไปข้างในด้านที่ยังไม่ได้ผ่านด้ายประมาณด้านละ ๓ นิ้ว เอาฝ้ายที่เหลือใส่เพิ่มเข้าไปด้านบนด้านที่ยังเหลือไม่ได้ผ่านด้าย แล้วใช้ไม่เรียวเกลี่ยให้มีควาหนาเท่า ๆกัน แล้วใช้ไม้ไผ่กลิ้งจากริมใดริมหนึ่งไปอีกริมหนึ่ง แล้วเริ่มผ่านด้ายเหมือนกับด้านแรก ทุกครั้งที่ผ่านด้ายจนหมดพื้นที่ต้องเอาไม้กลิ้งผ่านทุกครั้ง เพื่อให้เรียบเมื่อผ่านด้วยจนครบทุกด้านแล้ว เอาเตารีดซึ่งทำด้วยไม้รีดทับเหมือนกับรีดด้านแรก คือเริ่มจากดึงตามแนวเส้นด้ายเบา ๆ จนกดลงหนักพร้อมกับหมุนมือกลับมา ก็เป็นอันว่าเสร็จในการทำผ้านวมผืนนี้พร้อมที่จะนำไปใช้หรือจำหน่ายได้ ทั้งนี้ถ้าจะให้ผ้านวมคงทนทนมากขึ้นก็ให้ใช้ผ้าขาวบาง ๆ อย่างผ้ามุ้งทำเป็นปลอกก่อนที่จะหุ้มผ้าหนาหรือหุ้มสำลีเพื่อความสวยงาม

ผ้านั่ง

ผ้า นั่ง คือ ผ้าอาสนะที่ปูให้พระสงฆ์นั่งเฉพาะรูปเดียว โดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายฟูกขนาดเล็ก มีขนาดความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ เซนติเมตร เย็บปลอกด้วยผ้าสีเข้ม เช่น ดำ แดง ส่วนด้านขอบจะเย็บด้วยผ้าต่างสี ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว และจะยัดด้วยฟางหรือยอดข้าวกล้าที่ตัดมาผึ่งแดดให้แห้ง ผ้านั่งนี้ปกติมักจะปูวางอยู่บนพื้นแท่นสงฆ์ และมีหมอนอิงวางไว้ข้างบนด้วย

ผ้าสีทนะ

ผ้า นิสีทนะ ชาวบ้านล้านนาเรียกว่า ผ้านิสีท หรือผ้า สีกสีท ตามสำเนียงของท้องถิ่นซึ่งหมายถึงผ้าปูสำหรับพระสงฆ์นั่งสำหรับอุบาสก อุบาสิกาใช้ ขณะบำเพ็ญอุโบสถศีล ผ้านสีทนะนิยมทำจากผ้าขาว ผ้าเหลือง หรือผ้าลาย นำมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๓๐ นิ้ว เย็บแถบริมทั้งสี่ด้านใช้สำหรับรองนั่ง บางท้องถิ่นเย็บเป็นฟูกยัดด้วยนุ่นเป็นพู ๆ ชาวบ้านเรียกว่า ผ้าค็อบ (อ่านว่า “ ผ้าก๊อบ ” ) หรืออาสนะ

ผ้าบังสุกุล (อ่าน “ ผ้าปั๋งสุกุ๋ล ” )

ผ้า บังสุกุล ตรงกับผ้าบังสุกุลของไทยกลาง ตามศัพท์แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าคลุกฝุ่น เพราะตามประวัติดั้งเดิมสมัยพระพุทธเจ้านั้น พระภิกษุสงฆ์จะพากันออกแสวงหาผ้านุ่งห่มตามป่าช้า ซึ่งชาวบ้านที่ได้นำศพไปเผาหรือฝังมักจะเลิกผ้าออกไว้ข้องนอกแล้วพาดไว้ใกล้ ๆ เชิงตะกอนหรือตามกิ่งไม้บางกรณีติดอยู่กับศพเลยทีเดียว เมื่อพระสงฆ์ไปพบเข้าถือว่าข้าวของเหล่านี้นับเป็นสาธารณะ ไม่มีเจ้าของแล้วจึงเข้าไปดูเห็นผ้าที่ตนต้องการแล้วก็ดึงออกจากศพ เมื่อเห็นลักษณะต่าง ๆ เป็นอศุภะก็เปล่งอุทานออกมาว่า

อนิจจา วต สงขารา สังขารไม่เที่ยงหนอ

อุปททวยธมมิโน เกิดขึ้นและเสื่อไป

อุปชชิตวา นิรุณนติ เกิดขึ้นมาแล้วก้ดับไป

เตสํ วูปสโม สุโข ถ้าใครเข้าไปสู่การดับสังขารเสียได้ จะเป็นความสุข

จาก ผ้าบังสุกุลที่มาจากคติเดิมดังกล่าว จึงได้มาเป็นผ้าที่เจ้าภาพในงานศพจัดไปทอดไว้ในการทำพิธีศพเพื่อพระสงฆ์จะ ได้พิจารณาชักเอาผ้าเหล้านั้นไปใช้ ถือว่ามีอานิสงส์ไปถึงผู้วายชนม์ โดยจัดผ้าที่พระสงฆ์ใช้อย่างจีวรไปวางบนโลงศพหรือเมรุ จากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์ไปพิจารณาชักผ้าบังสุกกุลนั้น ในยุคหลังเจ้าภาพนิยมจัดผ้าบังสุกุลหลายชุดและเลิกเชิญแขกผู้มีเกียรติไปทอด ผ้าบังสุกุล ซึ่งบางครั้งพบว่ามีการเชิญแขกผู้มีเกียรติหลายท่านหลายชุด ซึ่งก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์ครบตามจำนวนผ้าบังสุกุลนั้น

ต่อมา ได้เกิดธรรมเนียมจัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล คือผ้าบังสุกุลใหญ่ ทั้งนี้เพราะเจ้าภาพงานศพมีกำลังทรัพย์พอเพียงที่จะหาผ้าบังสุกุลครบชุด ไตรจีวรได้ ซึ่งทางล้านนาเรียกว่าผ้าเครื่อง ซึ่งอาจจะเป็นธรรมเนียมแต่โบราณมา พระศพของกษัตริย์หรือพระราชวงศ์จะมีการนิมนต์พระสงฆ์เข้าพิจารณาผ้ามหา บังสุกุล โดยเตรียมผ้าเครื่องหรือผ้าไตรถวายเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเพราะมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองย่อมมีพระราชทรัพย์มาก สามารถจะหาผ้าเครื่องได้ง่ายกว่าชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป มหาบังสุกุลจึงเกิดในราชสำนัก ผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุลเป็นเจ้าเมืองพระมหากษัตริย์ตลอดถึงพระราชวงศ์เพราะพระ สงฆ์ พิจารณาผ้ามหาบังสุกุลก็เป็นพระสงฆ์ ที่ได้รับสมณะศักดิ์จากพระเจ้าแผ่นดิน ในราวพุทธสักราช ๒๕๐๐ การทอดผ้ามหาบังสุกุลได้แพร่หลายจากราชสำนักสู่ประชาชนด้วย ทั้งนี้เพราะประชาชนสามารถจัดหาผ้าเครื่องได้ง่าย ในการทอดผ้ามหาบังสุกุลนั้น เจ้าภาพจะจัดการทอดผ้าบังสุกุลเสียก่อน โดยเลือกเชิญแขกผู้มีเกียรติเข้าวางผ้าบังสุกุลซึ่งอาจมีหลายท่านหลายกลุ่ม ก็ได้ เมื่อเสร็จการทอดผ้าบังสุกุลแล้วมักจะเว้นระยะเวลาสักครู่หนึ่ง แล้วจึงเชิญผู้ที่ถือว่ามีเกียรติสูงสุดที่นั้นเป็นผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุล เป็นท่านสุดท้าย พระภิกษุที่เข้าพิจารณาบังสุกุลก็จะเป็นพระอาวุโสที่สุด หรือทรงสมณะศักดิ์สูงสุดเป็นผู้พิจารณารูปสุดท้าย และในขณะที่พระภิกษุดังกล่าวเดินไปทำพิธีนั้น เจ้าภาพจะจัดให้มีผู้สัปทนให้เป็นการพิเศษ

ผ้าป่า

หมาย ถึงผ้าพร้อมเครื่องไทยทานต่าง ๆ ที่ควรแก่การใช้ของพระสงฆ์ ที่นำไปวางทอดไว้เสมือนว่าเป็นผ้าทิ้งอยู่ในป่าเพื่อที่พระจะได้ชักผ้านั้น เป็นทำนองว่าชักเอาผ้าบังสุกุล(ผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่ถูกทิ้งไปแล้ว)

ผ้าปิง (อ่าน “ ผ้าปิ๋ง ” )

ผ้า ปิงคือจับปิ้งทำด้วยผ้า ใช้คาดเอวเพื่อปกปิดเฉพาะอวัยวะเพศหญิงในวัยทารก ผ้าปิงทำด้วยผ้าเย็บทบกันประมาณ ๓ ชั้น แล้วตัดเป็นสามเหลี่ยมยาวรี กว้าง ๓ x ๔ นิ้ว แล้วต่อเข้ากับสาย ใช้คาดรอบเอวของเด็กที่มีอายุ ๑-๒ ปี ซึ่งยังไม่นิยมสวมใส่เสื้อผ้า (เด็กใส่เสื้อผ้าเมื่อมีอายุ ๔-๕ ปีขึ้นไป ผ้าปิงนี้จะช่วยกันภาพที่ไม่น่าดูของเด็กมากกว่าประโยชน์อย่างอื่น) พบว่ามีเด็กเพศชายใช้ผ้าปิงอยู่บ้างแต่ไม่แพร่หลายเท่าเด็กหญิง (ดูเพิ่มที่หิง)

ผ้าปึง (อ่าน “ ผ้าปึ๋ง ” )

ผ้าปึง คือเบาะที่เย็บเป็นถุงขนาดกว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ส่วนยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ภายในบรรจุนุ่นไว้อย่างหลวม ๆใช้เป็นที่นอนของทารก

ผ้าพระบต

พระบต พบว่าเขียนเป็น พระบด พระบต พระบทหรือพระบถ เป็นคำมาจากภาษาเขมร ว่า “ พระบด ” (อ่านแบบเขมรว่า “ เพรียห์บ็อต ) หมายถึงแผ่นผ้าที่วาดพระพุทธรูปใช้แทนพระพุทธรูปเมื่อมีพิธีกรรมนอกสถานที่ หรือผู้เดินทางนิยมใช้แขวนตามป่าที่ตนพักแรมอยู่ นอกจากนั้น ยังใช้แขวนประดับที่ฝาผนังของวัด แล้วบ้างก็นำไปประดิษฐานไว้ในที่บูชาด้วย

ผ้าพาด ( อ่าน “ ผ้าป้าด ” )

ผ้าพาด หมายถึง ผ้าตามลักษณะการใช้งานคือใช้พาดบนบ่าซ้าย ถ้าเป็นผ้าที่พาดบนอังสาของพระภิกษุแล้ว อาจเรียกด้วยศัพท์ภาษาบาลีว่า ผ้าสังฆาฎิ

ปกติ แล้ว ผ้าพาดเป็นผ้าที่สัปปุรุษใช้พาดบ่าเพื่อไปวัดลักษณะเป็นผ้าหนากว้างประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๑ เมตร อาจเป็นผ้าพื้นสีขาวหรือสีอื่น ซึ่งมักทอหรือขิดหรือจกเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่เห็นสวยงาม ผ้าดังกล่าวนี้อาจเรียกว่า ผ้าเช็ด ( อ่า “ ผ้าเจ๊ด ” ) ได้ด้วย (ดูเพิ่มที่ผ้าเช็ด)

ผ้าพิดาน หรือผ้าเพดาน

ผ้าพิดาน คือผ้าที่ประชาชนนำมาเย็บเป็นผืนสี่เหลี่ยมหากผ้าขาวจะใช้วิธีปักหรือเขียน ภาพเป็นรูปดาวล้อมเดือนหรือสิบสองราศี ขนาดของผ้านิยมทำให้สัดส่วนกับสถานที่ เช่น บนเพดานพระวิหารหรืออุโบสถขนาดใหญ่ ผ้าเพดานต้องมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนกัน ถ้าเป็นวิหาร โบสถ์ กุฏิขนาดเล็กก็ย่อส่วนลงมา ผ้าพิดานนี้ใช้กั้นบนพระเศียรของพระพุทธรูปเป็นเพดานกั้นฝุ่น หรือหยากเยื่อมิให้ตกต้องพระพุทธรูป บางครั้งทำด้วยผ้าสีสันต่าง ๆ โดยมากเป็นลายดอกไม้ ไม่นิยมรูปคนชายหญิง เพราะถือว่าเป็นการไม่สมควร ผ้าเพดานนี้คนนิยมทำถวายด้วยความเชื่อว่าบุญกุศลจะปกศีรษะให้หายความทุกข์ ร้อน มีความร่มเย็นอยู่ด้วยความจำเริญและสุขสบาย หากเรียกแบบชาวบ้านแล้ว มักเรียกว่า ผ้ามุงบน

ผ้า พิดานอีกอย่างหนึ่งคือผ้าจีวรที่ขึงไว้เหนือบริเวณที่เผาศพพระภิกษุ ซึ่งจะคู่กับผ้าจีวรอีผืนหนึ่งที่ปูไว้ใต้ผิวดินบริเวณที่เผาศพพระ โดยกล่าวว่าไฟจากการเผาศพเพราะนั้นจะร้อนแรงขึ้นไปถึงพรหมโลกและลงไปถึงนาค พิภพ หากมีผ้าจีวรคู้ผ้าพิดานแล้ว ก็จะช่วยกำบังความร้อนดังกล่าวไว้ได้

ผ้ามัดก่าน

ผ้า มัดก่าน คือผ้าที่ทอจากด้ายซึ่งมัดเป็นเปลาะ ๆ แล้วย้อมเพื่อสร้างลวดลายก่อนการทอ เวลาย้อมนั้น ส่วนที่มัดไว้จะไม่ติดสี จึงก่อให้เกิดลวดลาย ถ้าต้องการหลายสีก็ต้องมัดละย้อมทับหลายครั้งจนกว่าครบสีที่ต้องการ ถ้าเป็นมัดก่านที่สลับเส้นยืน ก็จะกำหนดความยาวของผ้าบนหลักหมี่ด้วยเส้นด้าย ถ้าเป็นมัดก่านด้ายเส้นพุ่งก็จะกำหนดความยาวผ้าบนหลักหมี่ด้ายพุ่ง และการมัดก่านบนด้ายเส้นพุ่งนี้สามารถทำซ้ำกันไปมาหลายครั้งได้ ทำให้สามรถทอผ้าได้โดยไม่จำกัดความยาว

ผ้ามักอก

ผ้ามัดอก คือผ้าที่พระภิกษุใช้มัดรวบผ้าสังฆาฎิไว้ในระดับอก เรียกผ้าชนิดนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ผ้ากัมมพล (ดูที่ผ้ากัมพล)

ผ้าม้า

ผ้าม้า เป็นผ้าสตรีในสมัยก่อนใช้แทนผ้าอนามัยเมื่อมีประจำเดือน

ผ้ามุงบน

ผ้ามุงบน เป็นผ้าขึงอยู่เหนือศีรษะพระประธานในวิหารมีลักษณะ เป็นผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างประมาณ ๑.๓๐-๒.๐๐ เมตร และริมทั้งสี่ด้านจะมีระบายผ้าห้อยลงมา สำหรับผ้าที่ใช้มุงบนนี้มีทั้งผ้าสีและผ้าลาย ทั้งนี้บางแห่งอาจใช้ร่มหรือฉัตรแทนผ้ามุงบนก็ได้ และผ้ามุงบนนี้อาจเรียกว่าผ้าพิดานก็ได้

ผ้ามุงสังฆะ

ผ้ามุงสังฆะ เป็นผ้าที่ขึงอยู่เหนือแท่นสงฆ์ สูงจากพื้นขึ้นไปประมาณ ๒ เมตร มีลักษณะคล้ายกับผ้าเพดาน แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว และมีขนาดความกว้างยาวเท่ากับขนาดของแท่นสงฆ์ที่อยู่ด้านล่าง ผ้ามุงสังฆะนี้จะมีทั้งที่ทำด้วยผ้าสีพื้นและผ้าที่มีลวดลาย มักจะมีการตกแต่งประดับรอบ ๆ ชายผ้าที่ห้อยลงมา ด้วยตาข่าย หรือพู่ห้อยอย่างสวยงาม

ผ้ามูลจนะ

ผ้ามูลจนะนี้ ชาวไทลื้อเรียกว่า ผ้าจีวร มีลักษณะเป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ส่วนบนของผ้าจะขึงติดกับแท่งไม้เล็ก ๆ รูปตัวที บางครั้งจะขึงผ้าบนโครงไม้รูปสามเหลี่ยมซึ่งตรงกลางจะมีแท่งไม้พาดยึดยาวติด ลงมา ประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร เป็นด้ามใช้ถือขณะทำพิธี

ผ้า มูลจนะนี้จะมีทั้งสีล้วน และสีลาย บางครั้งทำด้วยผ้าทอด้วยเทคนิคและจกลวดลาย หรือเป็นผ้าเส้นใยสังเคราะห์จากโรงงาน และมักจะมีการประดับตกแต่งบนผืนผ้าด้านหน้าอย่างสวยงามด้วยแถบผ้าริบบิ้นจีน ลูกปัด เลื่อม หรือกระดาษสีตัดเป็นรูปต่าง ๆ แล้วเย็บติดบนผ้า ส่วนขอบรอบ ๆ ก็จะตกแต่งด้วยอุบะ ตาข่าย หรือพู่ห้อยหลากสีสวยงาม

เมื่อ ไปในวิหารของวัดไทลื้อส่วนใหญ่ จะพบผ้ามูลจนะตั้งเสียบอยู่บนฐานเบื้องล่างหน้าพระประธาน ผ้านี้จะใช้ทำพิธีเมื่อฆราวาสไปทำบุญที่วัดในช่วงเข้าพรรษา เมื่อทำบุญเสร็จแล้วกรวดน้ำ ก็ถือว่าผ้ามูลจนะเบา ๆ ส่วนมืออีกข้างก็จะกรวดน้ำไปพร้อม ๆกัน

ผ้าแม้ม

ผ้าแม้ม คือผ้าที่เพลาะขึ้นให้หนา โดยมากพระภิกษุมักใช้ผ้าแม้มนี้เป็นที่รองนั่งเฉพาะตน

ผ้าแม่แจ่ม

ผ้าแม่แจ่ม เป็นชื่อนิยมใช้เรียกชื่อผ้าที่ทอที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่โบราณเรียกชื่อเมืองซึ่งเป็นที่มาของอำเภอนี้ว่าเมืองแจม (อ่าน “ เมืองแจ๋ม ” ) อำเภอแม่แจ่มเป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่ง ซึ่งยังคงรักษาสภาพธรรมชาติ ความเชื่อ ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวล้านนาในแบบอดีตกาลไว้ได้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การแต่งกาย บ้านเรือนที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และศิลปะหัตกรรม อันได้แก่ ผ้าทอ ซึ่งเป็นงานที่ถือว่ายังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยก่อนเด็กหญิงทุกคนจะได้รับการฝึกหัดให้รู้จักการทอผ้าและการเย็บปักถัก ร้อย ส่วนเด็กผู้ชายจะอยู่วัดเพื่อบวชเรียน การสั่งสอนเด็กหญิงส่วนใหญ่จะกระทำโดยคนเฒ่า คนแก่ พ่อแม่เป็นผู้ให้การสนับสนุน การทอผ้าพื้นเมืองของแม่แจ่มเป็นมรดกทางภูมิปัญญาแขนงหนึ่ง ที่มีการสั่งสอนสืบทอดต่อกันอย่างไม่ขาดสายถึงปัจจุบัน

แม้ว่าการทอผ้าพื้นเมืองเพื่อใช้ภายในครอบครัวจะลดน้อยลงในบางพื้นที่ แต่หากมองโดยภาพรวมของอำเภอแม่แจ่มแล้วผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไปส่วนใหญ่สามารถทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า สะลี (ที่นอน) หมอน ผ้าหลบ(ผ้าปูที่นอน) ผ้าทวบ (อ่าน “ ผ้าต้วบ" ” ) คือผ้าห่มทั้งหมดคือผลผลิตที่สตรีชาวแม่แจ่มทำขึ้นกันเอง มากกว่าการไปซื้อจากภายนอก

ผ้าทอ พื้นเมืองของแม่แจ่มมีอยู่มากมายหลายประเภทนับตั้งแต่พื้นธรรมดาที่ใช้ตัด เสื้อ ผ้าซิ่นตีนจก หน้าหมอน ผ้าเช็ด (อ่าน “ ผ้าเจ้ด ” ) ใช้เป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูกราบหรือผ้าห่อข้าวตอกดอกไม้ ผ้าพาด (สำหรับผู้ชายพาดบ่าไปวัด) สะลี (ที่นอน) หมอน ผ้าทวบ (ผ้าห่ม) ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) ซึ่งล้วนแต่เป็นงานฝีมือที่มีความยากง่ายแตกต่างกันออกไปตามแต่ระดับฝีมือ ของผู้ทอ

ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

ผลงาน ผ้าทอที่นับเป็นงานที่ทอยากที่สุดของแม่แจ่ม คือ สิ้นตีนจก ซึ่งนิยมเรียกเป็นภาษาไทยกลางว่า “ ซิ่นตีนจก ” เทคนิคการจกให้เกิดเป็นลวดลายบนผืนผ้า กระทำโดยใช้ขนเม่นหรือไม้สอดนับด้ายเส้นยืน แล้วใช้ด้ายเส้นพุ่งพิเศษจกหรือล้วงสอดสลับด้ายสีต่าง ๆ ลงไป ทำให้เกิดเป็นลวดลายคล้ายการปักลงบนผืนผ้า เทคนิคการจกของแม่แจ่มเป็นการจกทางด้านหลังของลาย โดยคว่ำลายด้านหน้าลงกับกี่ทอผ้า ผู้ทอสามารถผูกเงื่อนฝ้ายตรงด้านหลังของลายได้สะดวกและแน่นหนากว่า ทำให้ผลงานมีความประณีตขึ้น ซิ่นตีนจกนี้สตรีชาวแม่แจ่มนิยมยุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ในเทศกาลงานบุญหรืองานพอยหลวง (อ่าน “ ปอยหลวง ” ) คืองานฉลองสมโภชศาสนสถานสาธารณประโยชน์

ซิ่น ตีนจกที่ทอกันขึ้นในแต่ละท้องถิ่น จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในแง่ลวดลาย สีสันและความงดงาม ซิ่นตีนจกจากอำเภอแม่แจ่มก็เช่นกัน มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น ๆ รวมทั้งยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของสตรีแม่แจ่มตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาตาย ด้วย สตรีแม่แจ่มทุกคนจะต้องมีซิ่นตีนจกอย่างน้อยคนละ ๑ ผืน (ถ้าใครมีฐานะดี ก็อาจจะมีมากถึง ๒๐ ผืน ) เพื่อใช้นุ่งไปทำบุญและไปในงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนซิ่นที่ใช้นุ่งใส่ในชีวิตประจำวันจะใช้ซิ่นตีนดำหรือแดงแทน เนื่องจากขั้นตอนในการทอซิ่นตีนจกแต่ละผืนนั้น ต้องใช้ความเพียรพยายามและใช้ระยะเวลาทำที่ยาวนาน ผู้เป็นของจึงทะนุถนอมเอาใจใส่ในการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อจะได้แบ่งให้ลูกหลานเอาไว้ใช้ต่อไป รวมทั้งจะนำไปถวายเป็นทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อตนเองได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าบุญกุศลเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ตายได้มีซิ่นตีนจกใส่ในโลก หนึ่งด้วย ความผูกพันของสตรีแม่แจ่มกับงานศิลปหัตถกรรมชิ้นนี้ นอกจากนี้สตรีแม่แจ่มสูงอายุส่วนใหญ่มักจะนิยมนุ่งซิ่นตีนจก กลับด้านให้ลวดลายด้านหน้าจกไว้ข้าในและส่วนด้านหลังตีนจกเอาไว้ข้างนอก ทั้งนี้เพื่อเป็นการักษาลวดลายผ้าตีนจกไว้ไม่ให้เก่าหรือสีซีดลงเกินไป ซึ่งการนุ่งซิ่นตีนจกกลับด้านนี้ยังคงความงดงามและแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง

ส่วน ประกอบของซิ่นจกแม่แจ่ม แยกออกเป็นส่วน ๆ สำคัญ ได้ ๓ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหัวซิ่นหรือส่วนเอว ส่วนที่เป็นตัวซิ่น และส่วนที่เป็นตีนจกหรือตีนซิ่น เมื่อนำทั้ง ๓ ส่วนนี้มาเย็บต่อกัน ก็จะกลายเป็นซิ่นตีนจก ๑ ผืน ทั้งนี้เนื่องจากสตรีแม่แจ่มยังนิยมทอผ้าแบบโบราณอยู่ โดยใช้กี่และฟืมทอผ้าที่มีขนาดความกว้างเท่ากับส่วนที่เป็นตัวซิ่น คือกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการต่อส่วนหัวซิ่น และตีนวิ่นเพื่อให้ซิ่นมีความกว้างมากขึ้นพอเหมาะแก่การนุ่งกรอมเท้า สำหรับส่วนประกอบทั้ง ๓ ส่วนนั้น พออธิบายถึงความแตกต่างได้ดังนี้

•  ส่วนหัวสิ้น คือ ส่วนบนสุดของซิ่นมีความกว้างประมาณ ๑ คืบ ในส่วนนี้แยกเป็นส่วยย่อยได้อีก ๒ ส่วน คือ ส่วนบนสุดและส่วนล่าง ส่วนบนสุดนี้นิยมใช้ฝ้ายปั่นมือสีขาวทอ ซึ่งมีความนุ่มนวลและแน่นไม่หลุดง่ายเวลานุ่งสำหรับส่วนล่างจะเป็นแถบเล็กสี แดง หรือดำกว้างประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร นิยมย้อมสีด้วยเปลือกไม้นมงัว สมอหรือมะเกลือ ซึ่งเปลือกไม้เหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดกลิ่นและรักษาผิวหนังที่อ่อน บางบริเวณเอวได้

•  ส่วนตัวสิ้น คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่างหัวซิ่นกับตัวซิ่น มีความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายสีหลายแบ สามารถแบ้งออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้

๒.๑ สิ้นหอมอ้วน ซิ่นชนิดนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายชื่อ เช่น สิ้น

หอมอ้วน หรือสิ้นหมูอ้วน คำว่า หอมอ้วนหมายถึงแน่นหนามั่นคง (เช่นสุภาษิตที่ว่า “ ใกล้กันล้ำ มันช่างหอมเหย เมินเมินเชย มันช่างหอมอ้วน ” ซึ่งแปลว่า หากใกล้ชิดกันมาก อาจทำให้ความรักกันนั้นคลายแต่หากพบกันนาน ๆ ครั้งจะทำให้ความรักยั่งยืน) ถือเป็นซิ่นพื้นเมืองที่มีลักษณะเฉพาะของแม่แจ่ม นิยมใช้ต่อกับตีนจกลายเชียงแสนหงส์คำ ซึ่งสีของตัวซิ่นและตีนซิ่นจะสอดรับกันอย่างกลมกลืนสวยงาม เทคนิคการทอซิ่นหอมอ้วนจะทอด้วยฝ้ายปั่นมือย้อมด้วยสีน้ำเงินดำต้นหอม มีเส้นยืนและเส้นพุ่งสลับกันระหว่างฝ้ายเส้นหนากับเส้นบาง เพื่อให้เกิดเป็นตารางสี่เหลี่ยมหมากรุกขนาดเล็กนูนขึ้นมาในช่วงที่ฝ้ายเส้น หนาทับกัน อาจเป็นเหตุนั้นจึงเรียกว่า สิ้นหอมอ้วน

๒.๒ สิ้นตา (อ่าน “ สิ้นต๋า ” ) ซิ่นชนิดนี้อาจเรียกว่า สิ้นตาม ( อ่าน “ สิ้นต๋าม ” ) ก็ได้ เป็นซิ่นที่มีลายขวางลำตัวเป็นสีต่าง ๆ ลักษณะเด่นของซิ่นชนิดนี้ก็คือ ลายขวาง ถ้าเป็นลายธรรมดาไม่มีลวดลายอะไร มีสีเหลือง ก็เรียกว่าสิ้นตาเหลือง สีขาว ก็เรียกว่า สิ้นตาขาว มีสีแดงก็เรียกว่าสิ้นตาแดงมุด แต่ถ้าลายขวางมีการใช้เทคนิคการปั่นไค (อ่าน “ ไก ” ) เข้าประกอบในตัวซิ่นหรือลายขวางด้วย โดยในการนำฝ้าย ๒ สี มาปั่นเป็นเส้นเดียวกันก่อนนำไปทอทำให้มีสีเหลื่อมสลับกัน ชาวแม่แจ่มเรียกซิ่นลักษณะนี้ว่า สิ้นแอ้ม ในสมัยก่อนการทอซิ่นเหล่านี้จะย้อมฝ้ายด้วยสีเปลือกไม้หรือธรรมชาติ เช่น สิ้นตาเหลืองจะใช้ขมิ้นหรือผลมะดะ สิ้นแ ดงตามุด จะใช้รากต้นสะลักหรือยอป่า เป็นต้น

๓. ตีนสิ้น คือ ส่วนที่อยู่ล่างสุดของซิ่น ตีนซิ่นแม่แจ่มมีอยู่ ๒๑ แบบ คือแบบที่มีลวดลายเรียกว่าตีนจก และที่ไม่มีลวดลายแต่จะย้อมด้วยสีเปลือกไม้ เช่นสีแดง สีดำเรียกว่าตีนแดง ตีนดำ สะหรับตีนจกแม่แจ่มนั้นจะมีองค์ประกอบซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ ดคม ขัน ห้องนก และสะเพา (อ่าน “ สะเปา ” )

๓.๑ โคม (อ่าน “ โกม ” ) คือส่วนประกอบหลักของตีนจกแม่แจ่ม การเรียกชื่อของลายตีนจกในแต่ละผืนนั้นส่วนใหญ่จะพิจารณาจากโคมเป็นส่วน สำคัญ ตัวโคมในตีนจกจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน วางอยู่ในตำแหน่งแถวกลางของตีนซิ่นเรียงเป็นแถว การจะดูความละเอียดประณีตและสวยงามของตีนจกจะสังเกตได้จากลักษณะของโคม กล่าวคือ หากโคมที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนมีขนาดเล็กและยอดแหลมมากเท่าใด ก็แสดงถึงการทอและจกที่แน่นละเอียดประณีตเท่านั้น (รวมถึงอายุการใช้งานด้วย บางผืนอาจเก็บไว้ได้นานถึง ๑๐๐ ปี) ทั้งนี้เป็นผลมาจากเทคนิคและความตั้งใจในการจก การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะฟืมที่ใช้ทอจะต้องมีซี่หรือฟันหวีที่เล็กและบาง

สำหรับ ลวดลายในโคม จะมีองค์ประกอบของลายแตกต่างกันออกไป เช่น ในตีนจกบางผืนจะประกอบด้วยตัวหงส์อยู่ตรงกลาง ส่วนยอดเป็นตัวนก เช่น หงส์ดำ หงส์ปล่อย หงส์สิ้ว (เขียว) หงส์เหลือง หงส์สาม หงส์ปี้ เป็นต้น บางผืนจะใช้เรียกชื่อตีนจกประกอบด้วยชื่อเมือง ได้แก่ ลายเชียงแสน ลายละคร (ลำปาง) เป็นต้น ถัดจากนี้จะเป็นแถวที่จกลวดลายขนาดเล็กล้อมรอบรอบโคมอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ตีนจกมีความละเอียดประณีตและงดงามมากขึ้น

๓.๒ ขัน เป็นลายประกอบในตีนจก เป็นรูปสามเหลี่ยมที่อยู่ระหว่างโคม ๒ โคม ลวดลายที่นิยมใช้จกในขัน ได้แก่ เชียงแสน ละคร หรือ ลายขันสามเอว ขนาดลวดลายขันจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของโคม หากโคมสีขนาดใหญ่ เช่น เชียงแสนหลวง ละครหลวง ลวดลายที่ขันใหญ่ตามไปด้วย ทำให้สามารถเพิ่มรายละเอียดในขันได้มากขึ้น เช่น การใส่รูปนกที่ยอดของขันทั้งด้านล่างและบน เป็นต้น

๓.๓ ห้องนก นับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของตีนจกแม่แจ่ม ส่วนที่เรียกว่า ห้องนก นี้จะเป็นลายที่อยู่ส่วนบนและล่างของโคมกับขันเรียงแถวต่อกัน ตัวนกที่อยู่ในห้องนกนี้จะจกโดยใช้สีสลับกัน และมีน้ำต้น หรือสะเพาน้ำต้น (คนเทน้ำ) สลับกับขอไล่ แต่งเติมในช่องว่างระหว่างตัวนกเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในลวดลายหรือในห้อง นก

ใน ซิ่นบางผืนอาจไม่มีส่วนประกอบส่วนของห้องนก แต่จะใส่สายกูดพ่อเรือนแทน ซึ่งเป็นลายจกที่นำมาจากลายหน้าหมอนใส่แทนที่ของห้องนกทั้งแถวบนและแถวล่าง

๓.๔ สะเพาหรือหางสะเพา เป็นลายส่วนล่างของตีนซิ่นที่ต่อจากห้องนก นิยมจกโดยใช้สีดำสลับกับสีขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีซิ่นตีนจกแม่แจ่มบางผืนที่มีการจก หางสะเพาเป็นสีดำทั้งหมดซึ่งสตรีแม่แจ่มไม่นิยมใช้นุ่ง มักจะเก็บรักษาไว้หรือทอขึ้นมาในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เช่นใช้ทำบุญถวายไปให้แก่ย่า หรือยายที่เสียชีวิตไปแล้ว

ตีนจก แม่แจ่มนอกจากมีส่วนประกอบสำคัญ ๔ ส่วนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีส่วนพิเศษที่ปรากฏบนตีนจกบางผืนคือ ขอไล่ หรือ กูดขอไล่ ซึ่งเป็นแถวบนสุดของตีนซิ่น และมักจกด้วยฝ้าย ๒ สี สลับกันเรียงเป็นแถว นิยมใช้ประกอบลายเชียงแสนน้อย ละครน้อย และขันสามเอว ทำให้ลวดลายตีนจกมีขนาดใหญ่ขึ้น คือมีลายประกอบแถวบนสุดเพิ่มอีก ๑ สุด

ลวดลายสำคัญของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

เนื่องจากแม่แจ่มเคยเป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางการค้าชายระหว่างอาณาจักรล้านนากับ หัวเมืองมอญทางใต้มาแต่โบราณ การรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากที่อื่น ๆ จึงมีปรากฏให้เห็นไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในลวดลายตีนจก ลวดลายที่รับมาจากเมืองละครหรือลำปาง จะเรียกกันว่าลายละคอน ส่วนลายที่รับมาจากเมืองเชียงแสน ก็เรียกว่า ลายเชียงแสน

ความงดงามของตีนจกแม่แจ่ม นอกจากจะดูความละเอียดของเส้นฝ้ายที่ทอ ความแน่นของเนื้อผ้าในโคมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแล้ว การให้สี การวางสัดส่วนของลวดลายกับขนาดของผ้าให้พอเหมาะก็มีความสำคัญไม่น้อย เช่นกัน ช่างทอตีนจกที่มีฝีมือจะไม่นิยมให้ช่องว่างเกิดขึ้นในลวดลายของตีนจก กล่าวคือ มีการเพิ่มลายจกลงในส่วนประกอบของลายให้เต็ม ทั้งในโคม ขัน และห้องนก ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็น “ ลูกเล่น ” หรือศิลปะที่ช่างผู้ทอสามารถสร้างลวดลายตีนจกให้มีลายต่างกันออกไปได้นับ ร้อย ๆ ลายโดนไม่ซ้ำแบบกัน จากลายหลักเพียงไม่กี่ลาย โดยการนำลายย่อย ต่าง ๆมาใช้ มาจัดที่ลงให้เหมาะสมใหม่ ตามความคิดความสามารถของช่างทอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บางครั้งซิ่นตีนจกผืนหนึ่งอาจเรียกที่ต่าง ๆ กันออกไปตามจุดเด่นซิ่นผืนนั้น เช่น ลายหงส์ปี้ หงส์สิ้ว หงส์ปล่อย หงส์ดำ หงส์สาม หรือลายนกนอน เป็นต้น ถ้าเราให้จุดเด่นอยู่ที่ตัวโคมเราก็จะเรียกชื่อลายตามตัวโคม ได้แก่ โคมเชียงแสน โคมละคร โคมหัวหนอน โคมรูปนก เป็นต้น ถ้าเราให้จุดเด่นอยู่ที่ขันก็จะเรียกชื่อลายตามเทคนิคการจกขัน เช่นขันสามเอว หรือ ขันแอวอู เป็นต้น สำหรับการเรียกชื่อซิ่นตีนจกของแม่แจ่มให้ถูกต้องนั้น ควรจะเรียกจากลวดลายที่ปรากฏจากตัวโคม ในตัวโคม และขัน เช่น ในลายเชียงแสน หงส์ปล่อย ขันละคอน เป็นต้น

ลักษณะ ของตีนจกโบราณของแม่แจ่ม ยังมีอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีองค์ประกอบแตกต่างกันไปจากทีกล่าวมาข้างต้น คือเป็นตีนจกที่มีการเอาลวดลายบางลายมาจกเรียงกันเป็นแถวติดต่อกันหลายชั้น จนเกิดลายจกแบบหนึ่งที่ไม่มีโคม ขันหรือห้องนก เป็นส่วนประกอบ จะมีก็แต่หางสะเพา ลวดลายที่เห็นได้ในตีนจกประเภทนี้ ได้แก่ ลายนาคคุม ลายนกคุม ลายนกนอนคุม และลายละครคุม (อ่าน “ กุม ” )

ผ้าซิ่นลวะและผ้าซิ่นกะเหรี่ยง

เนื่องจากในเขตอำเภอแม่แจ่มมีการับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวเผ่าลวะกะเหรี่ยง

ด้วยดังนั้นเราจึงพบว่าผ้าซิ่นที่ชาวไทยวนในอำเภอแม่แจ่มนุ่งในชีวิตประจำวันนอก จากต่อตีนดำ หรือต่อตีนแดงแล้ว ก็ยังมีกานุ่งซิ่นลวะ และสิ้นยาง (กะเหรี่ยง) อีกด้วย

ลักษณะ ของซิ่นลวะและวิ่นกะเหรี่ยง เป็นซิ่นที่พัฒนามาจากการทอผ้าของชาวเผ่าลวะ และกะเหรี่ยงที่ใช้กี่เอว ( backstrap loom ) มาเป็นกี่ที่มีสาสี่เสาแทน แต่ยังคงเทคนิคการทอลวดลายมัดหมี่บนเส้นยืน ซึ่งในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ คาดฝ้าย ” ลวดลายที่คาดเป็นลายแบบของชนเผ่าลวะ โดยชาวแม่แจ่มจะนำฝ้ายไปจ้างชาวลวะให้มัดลวดลาย แล้วนำมาย้อมทอเอง สีที่ย้อมวิ่นลวะคือสีดำ ส่วนซิ่นยางจะเป็นสีแดง โดยเฉพาะซิ่นลวะนั้นเป็นที่นิยมนุ่งกันมากในชีวิตประจำวันจนเป็นเอกลัษณ์ของ สตรีแม่แจ่มอย่างหนึ่ง ลวดลายมัดหรือคาดฝ้ายของลวะมีชื่อต่าง ๆ เช่น คาดตงเปย คาดข้อ คาดมีดซุย เป็นต้น เนื่องจากซิ่นที่ทอด้วยฟืมหน้าแคบ คือกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จึงต้องใช้ ๒ ผืนเย็บต่อกันเวลานุ่ง รอยต่อจะอยู่ตรงกลางตัวซิ่น ลวดลายจะเป็นลายขวางลำตัว

ลวดลายจกบนผ้าที่ใช้ในครัวเรือนชนิดอื่น ๆ

•  ลวดลายจกหน้าหมอน หมอนหนุนนอนเป็นหมอนสี่เหลี่ยมเรียก หมอนหก มีผ้าลายจกเย็บตกแต่งหน้าหมอนทั้ง ๒ ด้าน ลวดลายคล้ายลายตีนจก แต่การจัดองค์ประกอบต่างกัน เช่น ลายดอกจันทน์ นกนอน กูดขาว กูดพ่อเรือนเมา กูดตาแสง กูดสามเสา กูดกบ กูดผักแว่น เป็นต้น

•  ลวดลายจกหน้าผ้าหลบ ผ้าพาดบ่า และผ้าเช็ด ผ้าหลบ คือผ้าปูที่นอนบนสะลี (ฟูก) มีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร มีลายตรงเชิงด้านเดียว ส่วนผ้าพาดและผ้าเช็ดมีลวดลายจกตรงส่วนเชิงทั้ง ๒ ด้าน ลวดลายจกส่วนใหญ่จะเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า ไก่ นอกจากนี้ก็มีลายปราสาท ขันดอก คน เป็นต้น โดยมีลายเขี้ยวหมา หรือลายงูเทียวทาง (อ่าน “ งูเตว/เตียวตาง ” ) งูเลื้อยตามทางเป็นแถวเล็ก ๆ ประกอบ ๒ข้าง

•  ลวดลายจกบนทุง ชาวแม่แจ่มจะนิยมทำทุงหรือธงแบบธงตะขาบถวายวัดเป็นพุทธบูชาเช่นเดียวกับชาว ไทยภาคเหนือทั่วไป รูปแบบของทุงในแม่แจ่มจะเป็นแบบ ทุงใย คือใช้ฝ้ายผูกมัดด้วยเส้นยืน

•  ลับกับการสอดไม้ไผ่ และสลับกับการทอเป็นผืนผ้ามีลายจกเป็นช่วง ๆไป ลวดลายจะคล้ายกับลายผ้าเช็ด สำหรับตุงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของแม่แจ่มคือทุงตัวเพิ่ง (อ่าน “ ตุงตั๋วเปิ้ง ” ) คือลายรูปสัตว์ประจำปีเกิดเป็นลายจกรูป ๑๒ นักษัตร

การย้อมสีธรรมชาติ

ชาวแม่แจ่มมีความรู้ในเรื่องการย้อมสีธรรมชาติมาแต่อดีตสีที่นิยมใช้ได้แก่

สีดำ น้ำเงิน จากห้อม คราม มะเกลือ บะแหน (สมอพิเภก )

สีน้ำตาล จากบ่านะ (สมอ) บ่านมงัว บ่าตืน (กระท้อน ) ไม้ดู่ (ประดู่)ดินแดง

สีแดง จากครั่ง สะลัก (ยอป่า) บ่ากาย (คำแสด)

สีชมพู จากแก่นฝาง เปลือก งิ้ว (นุ่น)

สีเขียว จากมะริดไม้ (เพกา) ใบมะแปบ ใบสับปะรด

สีเหลือง จากขมิ้น ปูเลย (ไพล) มะดะ เป็นต้น

นอก จากนี้ ชาวบ้านยังมีเทคนิคการทำให้สีติดแน่น โดยการใช้เทคนิคและสารบางอย่างช่วย เช่น การนำไปหมักในโคลน การใช้น้ำด่าง (น้ำขี้เถ้าจากไม้บางชนิด) เป็นต้น

ในปัจจุบันนี้ การทอผ้าในเขตอำเภอ แม่แจ่มได้รับการส่งเสริมทั้งโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้า แหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงคือที่ตำบลช่างเคิ่งโดยเฉพาะที่บ้านท้องฝาย ผ้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายมีทั้งการอนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิม และการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสม กับการใช้สอยในสังคมปัจจุบัน เช่น ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติสำหรับตัดเสื้อผ้าสมัยใหม่ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้ารองจาน เป็นต้น

ผ้าเมืองลอง

ในส่วนของจังหวัดแพร่ก็ได้มีชื่อเสียงในการทอผ้าที่งดงาม โดยเฉพาะเชิงชายของผ้าซิ่นที่เรียกกันว่า ตีนจก ดังจะเห็นได้ว่าที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นศูนย์สำคัญในด้านนี้ ดังที่มีการเรียกผ้าซิ่นที่ทอจากอำเภอลองว่า สิ้นลอง

การทอ ผ้าตีนจกของอำเภอลองในอดีตเป็นการทอด้วยกี่ หรือหูกแบบทอผ้าปกติและทำลวดลายบนผืนผ้าโดยการใช้ขนเม่น หรือไม้ไผ่ปลายแหลมจกหรอล้วงด้ายยืนจากด้านหลังของผ้า แต่วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีทีต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญและความอดทนของช่างทอผ้าจึงจะได้ผ้าที่สวยงาม ในระยะหลังช่างทอผ้าขาวอำเภอลองได้จัดทำเขาฟืมหรือตะกอพิเศษ เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการเก็บลายของผ้าตีนจกตามต้องการได้ง่าย โดยฟืมแต่ละเครือจะมีการกำหนดลวดลายสำเร็จไว้แล้ว การทอก็จะใช้วิธีการยกเขาหรือตะกอตามที่กำหนดก็จะได้ลวดลายตามต้องการ ทั้งนี้อาจมีการจกด้วยขนเม่นหรือไม้แหลมเพียงบางส่วนเท่านั้น

ลวดลายบนผ้าตีนจกเมืองลอง

จากการสังเกตพบว่าลวดลายบนผ้าตีนจกของเมืองลองนี้มีลักษณะเฉพาะ ที่งามเด่นต่างจากผ้าแจ่ม คือลวดลายดังนี้

•  ลายใบผักแว่น •  ลายนกกินน้ำร่วมต้น •  ลายขอไล่ •  ลายขอดาว •  ลายงวงน้ำครุ •  ลายจันแปดกลีบ •  ลายสะเพา (สำเภา) ลอยน้ำ

•  ลายบ่าขะหนัด (สับปะรด) •  ลายสะเพานก ( สำเภากับนก) •  ลายขากำพุ้ง(อ่าน “ ก๋ำปุ๊ง ” ) คือลายขาแมงมุม

•  ลายโก้งเก้งซ้อนนก หรือ ลายแมงบ้งเลน (บุ้งตัวลาย) •  ลายงูห้อยช้าว •  ลายดอกต่อม •  ลายต่อมเครือ •  ลายมุกเมืองลอง

•  ลายขามดแดง •  ลายกาบหมาก •  ลายขอผักกูด •  ลายโคม •  ลายช่อน้อยทุงชัย •  ลายพุ่มดอก •  ลายหงส์

ผ้ารองเหื่อ

ผ้าสำหรับซับเหงื่อของพระภิกษุสงฆ์นี้ ปัจจุบันเรียกกันว่า ผ้าอังสะ หรืออังสา ชาวล้านนาเรียกว่า ผ้ารองเหื่อ บางแห่งเรียก สไบ สมัยโบราณอาจจะไม่จำเป็น ประกอบกับผ้าหายาก จึงไม่ต้องมีผ้ารองเหงื่อ ต่อมาจึงทำขึ้นใช้ทั่วไป ผ้านี้เป็นผ้าหน้ากว้างประมาณ ๒๐ - ๔๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร พับครึ่งให้ชายด้านหน้าสั้นกว่าด้านหลังประมาณ ๑๐ เซนติเมตร แล้วจึงเย็บประมาณตรงที่เอว ให้ติดกันยาวลงไปด้านล่างเกือบจะถึงชายผ้าด้านหน้า ให้เหลือเป็นชายที่ไม่เย็บประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำไปย้อมด้วยสีแก่นขนุน หรือหัวขมิ้นตามความต้องการ

ผ้า รองเหงื่อนี้ใช้เมื่อจะห่มจีวร โดยเฉพาะหน้าร้อนซึ่งมีเหงื่ออกมาก ทำให้จีวรเปื้อนได้ง่ายและต้องซักบ่อยครั้งในสมัยก่อน การซักที่ทำด้วยผ้าทอลำบากพอสมควร มีน้ำหนักมากและอมน้ำด้วย แต่ถ้าใช้ผ้ารองเหงื่อที่ซับเหงื่อ ไว้ด้านในไม่ให้ซึมหรือซึมน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องซักจีวรบ่อยๆ ทั้งนี้ผ้ารองเหงื่อยังซักง่ายกว่าเพราะมีขนาดเล็ก และเวลาที่ทำงานอยู่ในวัด พระภิกษุสงฆ์สามารถใส่เฉพาะผ้ารองเหงื่อโดยไม่ต้องห่มจีวร แต่ไม่ถึงกับเปลือยท่อนบนเพราะมีผ้ารองเหงื่อ ของล้านนา เวลาที่ใส่คล้ายกับการพาดสไบของผู้หญิง จึงมีคนเรียกว่า ผ้าสไบ อีกชื่อหนึ่งด้วย

ผ้ารำ

ผ้ารำ หมายถึงผ้าที่เป็นพับหรือเป็นม้วนที่ยังมิได้ตัดเย็บผ้านี้ มักปรากฏในการทำพิธีต่างๆ โดยเฉพาะในขันครู หรือพานเครื่องคำนับครูของอาจารย์ผู้ประกอบพิธี อย่างกำหนดว่าจะต้องมี ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ คือให้จัดหาผ้าพื้นสีขาว และสีแดงอย่างละพับเป็นเครื่องบูชาครู ซึ่งคำว่ารำ นี้ บางท่านว่า ยาวเท่ากับ ๑ วา และบางท่านว่ายาวเท่ากับ ๔ วา แต่ในขันครูแล้วมักปรากฏว่าผ้าดังกล่าวเป็นพับเล็กๆ ขนาดคืบ เพื่อให้พอเป็นพิธีเท่านั้น โดยผลประโยชน์ที่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะได้มักไม่อยู่ที่เครื่องบูชาครู แต่จะได้จากเงินที่จัดให้เป็นค่าสมนาคุณให้เหมาะสม กับยุคสมัยทั้งผู้ให้และผู้รับ

ผ้าแร

ผ้าแร ตรงกับผ้าไหมซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียด และมีความลื่นที่ทอจากใยของตัวไหม ถือว่าเป็นผ้าที่มีค่าและมีความงามเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยก่อนมักไม่ค่อยพบว่ามีการนำผ้าชนิดนี้ไปเป็นเครื่องนุ่งห่มโดยแพร่ หลาย เพียงพบบางครั้ง เช่น พระธาตุช่อแฮ หมายถึงพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ทำด้วยผ้าแพรเป็นพุทธบูชา

จากชาดกเรื่องอุทธราเต่าน้อยอองคำ หรือปลาบู่ทอง ฉบับล้านนานั้นกล่าวว่าการที่นางอุทธราหรอนางเอื้อยถูกจับไปต้มในหม้อน้ำ ร้อนนั้น เป็นเพราะในอดีตชาตินางเคยนำเอาไข่หลอกคือรังไหมมาต้มเพื่อสาวเอาเส้นไหมไป ทอเป็นผ้า โดยเหตุนี้ การที่ไม่มีผู้ใช้ผ้าแรอย่างแพร่หลายนั้น นอกเหนือจากที่ว่าผ้าดังกล่าวราคาแพงแล้ว การที่ทอผ้าดังกล่าวได้แต่ละผืนก็ต้องทำบาปทำลายชีวิตของดักแด้ไหมเป็นจำนวน มาก

พบว่า การที่มีผ้าแรหรือผ้าไหมที่เชียงใหม่ในสมัยก่อนนั้น อาจมาจากการเลี้ยงไหมของชาวไทลื้อหรือลาวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และอาจมีชาวไทยวนไม่มากนักที่ทำผ้าไหม สำหรับผ้าไหมที่ทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทองนั้น อาจจะทอที่เมืองน่านและเชียงตุง และเป็นสินค้านำเข้าสู่เชียงใหม่อีกทีหนึ่ง

ผ้าล้อหัวช้าง

ผ้า ล้อหัวช้าง ผ้าแบบนี้ซึ่งพบที่อำเภอน้ำปาด และอำเภอฟากท่าจังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดประมาณ ๕๐ ? ๑๕๐ เซนติเมตร ใช้ผ้าสีแดงขลิบโดยรอบ ใช้เทคนิคการทอผ้าทั้งยกดอก ขิดและจก สลับสีสดใส

ผ้าลายน้ำไหล

ผ้า ลายน้ำไหล เป็นผ้าซิ่นพื้นบ้านในแถบเมืองน่านเชียงรายและพรเยา โดยเฉพาะในถิ่นของชาวไทลื้อ เป็นผ้ายกที่มีลวดลายคล้ายสายน้ำไหล ลักษณะการทอจะคั่นเป็นริ้วๆด้วยด้ายเงินหรือด้ายทองตามแบบที่ชาวไทลื้อนิยม แต่ลายน้ำไหลจะคั่นด้วยลายมุก การทออาจจะทอทั้งผืนหรือ เฉพาะเชิงของผ้าซิ่นก็มี ผ้าลายน้ำไหลนี้ ในยุคหลังนิยมทอด้วยผ้าใยสังเคราะห์บางส่วน

ผ้าสบง

ผ้าสบง ได้แก่ ผานุ่งของพระภิกษุ ทำได้โดยนำผ้าขาวมาตัดยาวประมาณหนึ่งเมตรครึ่งหรอสองเมตร กว้างหนึ่งเมตร เย็บหัวท้ายทำแถบกว้างประมาณหนึ่งนิ้วครึ่ง เย็บโดยรอบทั้งสี่ด้านใช้เป็นผ้านุ่งของพระภิกษุสามเณร

ผ้าสังฆาฏิ

ในประเทศอินเดียฝ่ายเหนือ ในฤดูหนาวหิมะตก อากาศหนาวมากๆ พระภิกษุสงฆ์ในถิ่นนั้นอยู่ด้วยความลำบาก เวลาออกนอกสถานที่ หรือเดินทางไปที่ต่างๆ พระมหากัสสปะเถระ เห็นความจำเป็นที่ภิกษุต้องมีผ้าห่มกันหนาวเพิ่มขึ้น จึงขอพระบรมพุทธานุญาตทำจีวรหรืออุตราสงค์เพิ่มขึ้น อีกผืนหนึ่งมีขนาดเท่ากับจีวร ผ้าอุตราสงฆ์หรือผ้าห่มคลุมห่มซ้อนในฤดูหนาวเรียกว่าสังฆาฏิ ในเมืองไทย พระสงฆ์มอญและพระธรรมยุติกนิกายนิยมห่มผ้าสังฆาฏิซ้อนเข้าไปเวลาเดินทาง หรือเข้าไปในหมู่บ้านสำหรับพระสงฆ์ไทยเดิม หรือมหานิกายนั้นไม่นิยมซ้อนเพราะอากาศร้อน จึงพับให้เป็นระเบียบและพาดบ่าด้านซ้าย เรียกว่า สังฆาฏิ ดังที่เห็นกันทั่วไป

สาเหตุ ที่ต้องนำผ้าจีวร สบง สังฆาฏิ ทั้งสามผืนนี้ไปในทุกสถานทีนั้น เนื่องจากปรากฏในพระวินัยหมวดอดิเรกวรรคปาจิตตียกัณฑ์ว่าภิกษุใดอยู่ปราศจาก ไตรจีวรคืนหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ผ้าสิ้น

คือซิ่นหรือผ้านุ่งของสตรี มีหลายชนิด (ดูเพิ่มที่ สิ้น)

ผ้าสี่แจ่ง

โดยรูปศัพท์แล้ว ผ้าสี่แจ่ง หมายถึงผ้าที่มีสี่มุมซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นผ้าที่มีมาในยุคหลัง คือเมื่อได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตกแล้ว คือตรงกับ “ ผ้าเช็ดหน้า ” ในยุคปัจจุบัน ในสมัยก่อนใช้ผ้าเช็ด (อ่าน “ ผ้าเจ๊ด ” ) เพื่อใช้ซับเหงื่อไคลและใช้ผ้าต่องคือผ้าขาวม้าเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ซึ่งก็หมายรวมว่าเป็นผ้าที่ใช้เช็ดหนาและซับเหงื่อไคลได้ด้วย

ผ้าหม้าน (อ่าน “ ผ้าม่าน ” )

มัก หมายถึงผ้าที่ใช้ประดับเป็นฉากประกอบด้านข้าง หรือด้านหลังของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เป็นผ้าที่แบ่งเป็นสองส่วนบังหน้าพระพุทธรูป แล้วรวบชายของผ้าทั้งสองชิ้นนั้นไปผูกรวบไว้กับเสาหรือกรอบซึ่งอยู่ด้านข้าง เพื่อเผยให้เห็นพระพุทธรูป เป็นต้น ในกรณีผ้าที่ปิดไว้เป็นฉากด้านหลังของพระพุทธรูปเป็นต้นนั้น มักเรียกว่า ผ้ากั้ง มากกว่า

ผ้าหย็อก ( อ่าน “ ผ้าหญ็อก ” )

ผ้าหย็อก ตรงกับผ้าขี้ริ้ว คือผ้าเก่าที่มักมีรอยขาดหรือเปื่อย ซึ่งหมดสภาพที่จะใช้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าใช้งานตามสภาพเดิมได้ ผ้าหย็อกนี้จะใช้เช็ดถูทำความสะอาดทั่วไป เป็นต้น

ผ้าหลบ

ผ้าหลบ คือผ้าที่ใช้ปูด้านบนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งโดยมากมักหมายถึงผ้าปูที่นอน ซึ่งผ้าหลบของเผ่าไทยวน มักทำด้วยผ้าพื้นสีขาวทอขัดสานธรรมดาหน้ากว้าง ๔๐ - ๖๐ เซนติเมตร สองผืนมาเพลาะต่อกันเป็นผืนเดียว เพื่อให้กว้างพอที่จะปูบนฟูกได้พอดี และต่อมาอาจเป็นผ้าหน้ากว้างผืนเดียวมีสีออกไปทางสีแดงและมีลวดลายแบบตาหมาก รุก

ผ้าหลบของชาวไทลื้อและไทยวนในบางท้องที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่การทอลายขิด ซึ่งไทลื้อเรียกว่า ลายมุก ลวดลายขิดบนผ้าเกิดจากเส้นพุ่ง ซึ่งนิยมใช้เส้นด้ายสีแดงสลับสีดำครามบางผืนอาจทอลายขิดจนเกือบเต็มผืนผ้า

โครงสร้างของผ้าหลบแบบไทลื้อส่วนใหญ่คือ ตรงชายผ้าจะรวบเส้นด้ายถักเป็นตาข่าย ถัดจากส่วนนี้ ขึ้นไปจะเป็นส่วนช่วงผ้าพื้นขาวเรียกว่า ป้าน ถัดจากป้านนี้จะเป็นลายขิดเรียกว่า สายย้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นลายเส้นตรงเป็นแถวละม้ายกับผ้าซิ่นตีนจก ถัดจากลายสายย้อยก็จะเป็นลายขิดต่างๆ เป็นแถวๆ สลับช่วงสีพื้นเล็กๆ ไปเรื่อยๆ มีทั้ง ลายขิดพื้นฐานผสานลายพื้นฐานจนเป็นลายขนาดใหญ่ สำหรับลายพื้นฐานที่พบเสมอคือ ลายขอเล็ก ลายขอใหญ่ และลายขอกระแจ (อ่าน “ ขอขะแจ" ” )ลายกาบและ ลายหน่วย เป็นต้น

ผ้าห่อกัมพีร์ หรือ ผ้าห่อธัมม์ คือผ้าห่อคัมภีร์ใบลานจะเป็นผ้าทอ หรือจัดหาขึ้นเป็นอย่างพิเศษ เพื่อรักษาธัมม์หรือคัมภีร์ให้คงทน มีสองแบบ คือ

•  ผ้าที่ทอด้วยเส้นฝ้ายหรือไหมล้วนๆ ซึ่งแบบธรรมดาก็เป็นผ้าพื้นสีขาว ผ้าไหมอาจทอด้วยเทคนิคธรรมดา มีขนาดประมาณ ๕๐ ? ๗๕ เซนติเมตร และมีการขลิบริมผ้าโดยรอบด้วยผ้าสี เช่น สีดำ สีแดง เป็นต้น ผ้าห่อธัมม์แบบนี้อาจทำด้วยผ้าใช้จากโรงงานหรือจากจีวรเก่าก็ได้

•  แบบที่มีดอกไม้ไผ่สอดสลับ จะใช้เส้นฝ้ายหลากสีทอด้วยเทคนิคธรรมดาและทอด้วยวิธีขิดเป็นลวดลายพื้นฐาน รูปต่างๆ สลับกับดอกไม้ไผ่ที่สอดคั่นเป็นระยะโดยตลอด หรือทอด้วยวิธีเกาะโดยสลับสีเส้นด้ายกับไม้ไผ่สอดคล้องคั่นจนเป็นผืนผ้ามี ลวดลายเรขาคณิต มีขนาด ๓๐ ? ๕๕ เซนติเมตร

ผ้าห่อกัมพีร์ มักจะมีเส้นเชือกสำหรับมัดห่อคัมภีร์ร้อยติดอยู่ด้วย บางทีผู้ถวายผ้าห่อคัมภีร์จะเขียนข้อความบอกชื่อผู้ถวายติดไว้ส่วนปลายผ้า ด้านในด้วยก็มี

ผ้าแหล็บ

ผ้าแหล็บ คือผ้าที่เพลาะให้หนามีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร ใช้สำหรับปูรองนอนระหว่างการเดินทาง หรือพระสงฆ์ และผู้เฒ่าผู้แก่ปูนอนที่วัด ลักษณะผ้าแหล็บ เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีขาวทอด้วยลายขิดจนเต็มผืนเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีดำแดงหรือเป็นสีดำ แล้วจกด้วยไหสีเหลืองตรงใจกลางของรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดแคบกว่า ผ้าหลบครึ่งหนึ่ง คือกว้างประมาณ ๔๐ - ๖๐ เซนติเมตร คือเป็นผ้าทอจากฟืมเดียว ไม่ต่อกลางแบบผ้าหลบ มักมีผ้าสีแดงขลิบโดยรอบ บางครั้งอาจมีผ้าสีดำเย็บซ้อนอยู่ด้านหลังอีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ หากจะทำให้ง่ายเข้า บางคนอาจใช้ผ้าซ้อนกันหลายผืนแล้วเย็บตรึงเป็นจุดๆ ให้มีลักษณะเป็นตากว้างประมาณ ๑ นิ้ว หรืออาจใช้ฝ้ายยวงคือปุยฝ้าย หรือฟองงิ้วคอปุยนุ่นปูตาดให้เป็นแผ่นบนผืนผ้าแล้วใช้ผ้าขนาดเท่ากันอีกผืน หนึ่งมาปูทับ จากนั้นจึงเย็บตรึงเป็นจุดๆ ด้วยวิธีเดียวกันก็ได้ ผ้าแหล็บนี้ อาจเรียกเป็นผ้าเติ้ม หรือผ้านอนก็ได้ถ้าทำเป็นขนาดเล็กสำหรับนั่งก็เรียกว่า ผ้านั่ง

ผ้าไหมเชียงใหม่

การทอผ้าไหมไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเริ่มมาแต่สมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นมานานและวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยมา ชาติจีนเป็นชาติแรกที่รู้จัดเลี้ยงไหม และนำมาทอเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มต่างๆ เมื่ออิทธิพลของชาติจีนแผ่ขยายไปสู่ส่วนใดของโลก ก็นำเอาความรู้และเทคนิคถ่ายทอดไปสู่ดินแดนแถบนั้นด้วย สันนิษฐานว่าการทอผ้าไหมในประเทศไทยได้อิทธิพลมาจากจีนซึ่งประกอบด้วยความ รู้ในการเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมต่อมาก็วิวัฒนาการสร้างงานที่ มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองขึ้นจนมีลักษณะเป็นของไทย โดยเฉพาะ