วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดนตรีล้านนา : เพียะ (อ่าน “ เปี๊ยะ ”)

เพียะ เป็นเครื่องดีดจำพวกพิณ จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของล้านนาและปรากฎการกล่าวถึงใน กาพย์ห่อโคลงของพระศรีมโหสถในสมัยอยุธยาด้วย มีลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าของภาคอีสาน มีผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีสันนิษฐานว่า อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพิณสายเดี่ยวของอินเดียเพียะ มีกะโหลกซึ่งทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ทำด้วยกะลามะพร้าว ผ่าซีกด้านข้างเจาะรูหนึ่งรู คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๗๐ - ๙๐ เซนติเมตร ปลายยอดเป็นรูปโลหะหล่อ ด้านโคนคันทวนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ . ๐ – ๑ . ๕ เซนติเมตร ปลายยอดเป๋นรูปโลหะหล่อ ด้านโคนคันทวนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ - ๓ เซนติเมตร มีลูกบิดเสียบอยู่ มีสายไหมหรือเส้นลวดจำนวน ๒ - ๗ สายขึงพาดระหว่างลูกบิดกับหัวเพียะ ขนาดของสายจะเท่ากันทุกสาย ใช้หวายรัดสายเพียะ ขนาดของสายเท่ากันทุกสาย ใช้หวายรัดสายเพียะแนบติดกับด้ามเสียก่อนแล้วสอดปลายลอดรูกะโหลกไปผูกกันไว้ ขัดด้วยแท่งไม้เล็ก ๆ ระหว่างด้ามกับกะโหลกมีท่อนไม้เล็ก ๆ ยาวประมาณ ๔ - ๕ เซนติเมตรคั่นอยู่อันหนึ่งเพื่อแยกด้ามกับกะโหลกให้ห่างกันพอที่จะสอดนิ้ว มือเข้าไปจับประคองเพียะในขณะบรรเลง

ผู้บรรเลงมักจะถอดเสื้อ และอยู่ในลักษณะท่านั่งหันกะโหลกเพียะครอบตรงผิวกลางหน้าอก โดยให้คันเพียะทำมุมกับลำตัวประมาณ ๔๕ องศา ใช้มือซ้ายช้อนรับคันเพียะไว้ในอุ้งมือ ใช้เล็บของนิ้วก้อยดีด มือขวาจะต้องรองรับคันเพียะไว้ด้วยท่อนแขน ใช้เล็บนิ้วก้อย เล็บนิ้วกลางและเล็บนิ้วนางดีด ให้เกิดเสียงขัดเสียงสอดแทรก ซึ่งการดีดให้เกิดเสียงจะต้องดีดด้วยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า “ พาน ” “ ป็อก ” และ “ จก ” ส่วนการเลื่อนมือย้ายตำแหน่งให้ได้เสียง ตามต้องการเช่นนี้มีศัพท์เฉพาะว่า “ การไหล ” ในขณะเดียวกันก็ใช้ส้นมือ ( ส่วนปลายสุดของฝ่ามือ ) ข้างขวา ไข ( ขยับ ) ไปมาหรือขยับขึ้นลง เพื่อให้เกิดเสียงและลมที่อัดแน่นอยู่ระหว่างทรวงอกกับกะโหลกเพียะระบายออก มา เสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นเสียงที่กังวานแผ่วเบา อันเป็นเสียงแบบ Over tones หรือ Harmonic ( เสียงคู่แปด ) ซึ่งเป็นเสียงที่ตรงตามความตั้งใจยาก เสียงนี้จะมีความไพเราะมากเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับ ความชำนาญของผู้บรรเลง เสียงเพียะที่ดีเสมือน เดงพลันเมา ( อ่าน ” เดงปันเมา ”) คือกระดิ่งที่เร่งให้หลงใหลหมายถึงเสียงของเพียะไพเราะจับใจยิ่งนัก

การเล่นเพียะเท่าที่พบส่วนมากเป็นการเล่นเดี๋ยวไม่ค่อยเล่นประสมวง และไม่นิยมมีการขับร้องประกอบ เนื่องจากเสียงของเพียะไม่ค่อยดังนัก อาจมีการ ช้อยโคลง ( อ่าน “ จ๊อยกะโลง ”) ประกอบคือขับโคลงเป็นทำนองเสนาะ ส่วนเพลงที่เล่นนั้นสามารถเล่นได้ทุกเพลงเท่าที่เครื่องดนตรีอื่น ๆ ในระดับของชาวบ้านจะเล่นได้ เช่น เพลง จก ไหล ปุ๋มเป้ง เก้าปุ๋มป่ง ปราสาทไหว ปราสาทกุด เงี้ยว พม่า อื่อ ฯลฯ