วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดนตรีล้านนา : กลอง


  

 

กลอง ( อ่าน ” ก๋อง ”) เป็นเครื่องตีให้จังหวะที่มีหลายชนิด หลายขนาด ในท้องถิ่นภาคเหนือ มีทั้งประเภทขึ้นหนังหน้าเดียวและประเภทขึ้นหนังสองหน้า ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ประเภทขึ้นหนังหน้าเดียว ได้แก่

๑ . กลองหลวง หรือ กลองห้ามมาร รูป ลักษณะเป็นกลองยาวคอดกลางปลายบานเป็นลำโพงยาวประมาณ ๓ . ๐ – ๓ . ๕ เมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๐ - ๘๐ เซนติเมตร ต้องวางบนล้อเกวียน ใช้คนลากหลายคน เวลาตีต้องขึ้นคร่อมตีหรืออยู่ด้านหน้ากลอง โดยใช้มือขวาตีโดยมีผ้าพันมือทำเป็นรูปกรวยแหลมให้ผ้าพันมือกระทบหน้ากลอง ใช้ตีเป็นสัญญาณวันพระ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำในล้านนามีประเพณีการแข่งขันตีกลองหลวง ซึ่งนิยมกันมากในช่วง พ . ศ . ๒๕๒๐ เป็นต้นมา

๒ . กลองแอว หรือ กลองตึ่งนง คำ ว่า “ แอว ” แปลว่า สะเอว เรียกตามลักษณะกลองที่มีเอวคอดกลาง ส่วนคำว่า “ ตึ่งนง ” เรียกตามลักษณะเลียนเสียงตีกลองและฆ้อง กลองแอวมีรูปทรงแบบเดียวกับกลองหลวงแต่มีขนาดเล็กกว่า คือ ยาวประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ใช้หามหรือใช้ตั้งกับที่ตี ใช้ตีประสมวงกลองแอว และมีประเพณีการแข่งขันการตีกลองแอวเดี่ยว ๆ ด้วย

๓ . กลองปูเจ่
เป็นกลองก้นยาวแบบของชาวไทใหญ่มีขนาดเล็กกว่ากลองแอว ยาวประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๖ เซนติเมตร ใช้สะพายตีและเล่นประสมวงกลองปูเจ่

๔ . กลองสิ้นหม้อง เป็นกลองก้นยาวขึ้นหนังหน้าเดียวแบบของภาคกลาง รูปร่างคล้ายกลองปูเจ่ และหน้ากลองมีขนาดเท่า ๆ กัน แต่รูปทรงสั้นกว่า คือยาวประมาณ ๘๐ - ๙๐ เซนติเมตร คนตีกลอง สามารถใช้สะพายบ่าได้ ใช้แขวนแห่ต่าง ๆ



ประเภทขึ้นหนังสองหน้า ได้แก่

๑ . กลองปูชา ( อ่าน ” ก๋องปู๋า ”) คือกลองบูชา เดิมเรียกว่ากลองนันทเภรี เป็นกลองขึ้นสองหน้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่กับที่ แต่ใช้ตีหน้าเดียว มีหน้ากว้างประมาณ ๓๐ นิ้วขึ้นไป ปกติจะตั้งไว้ที่ศาลาไว้กลองหรือตั้งไว้ภายในวัดประกอบด้วยกลองขนาดใหญ่ ๑ ใบ ซึ่งมีขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ความยาวของตัวกลองประมาณ ๑ . ๕ เมตร และกลองขนาดเล็ก เรียกว่า “ กลองแสะ ” หรือ “ ลูกตุบ ” อีก ๒ - ๓ ใบ ซึ่งมีขนาดลดหลั่นกัน กลองปูชาใช้ตีเป็นพุทธบูชาในโอกาส เกี่ยวกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น วันขึ้นหรือแรม ๗ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ ระหว่างเข้าพรรษา เป็นต้น บางแห่งใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเวลาด้วย เวลาตีกลองปูชา จะใช้ผู้ตี ๒ คน คนหนึ่งใช้ไม้ค้อนตี ๒ มือ ตีทั้งกลองใหญ่และกลองเล็ก เป็นทำนองต่าง ๆ อีกคนหนึ่งใช้ไม้แสะ ( ไม้ไผ่ผ่าซีกจักปลาย ) ตีขัดจังหวะกลองยืนทำนองไปตลอด นอกจากนี้หากเป็นการตีประกวดกัน ก็ยังมีคนตีฆ้อง โหม่ง และฉาบ ประกอบด้วย

๒ . กลองสะบัดชัย เป็น กลองที่ดัดแปลงจากกลองปูชา ( บูชา ) ที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อใช้หามนำหน้าขบวนแห่ได้ ใช้ตีเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานมงคลต่าง ๆ ( ยกเว้นงานอวมงคล ) โดยเฉพาะนำขบวนครัวทาน กลองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ด้านข้างหนาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และมีกลองเล็กที่ใช้ตีประกอบอีก ๓ ใบ เรียกว่า “ ลูกตุบ ” โดยผู้ทีตีจะเป็นคนเดียวกันกับที่ตีกลองสะบัดชัย ต่อมา ครูคำ กาไวย์ แห่งโรงเรียนนาฎศิลป์เชียงใหม่ได้นำเอา กลองรุกรัง คือกลองอย่าง กลองสะบัดชัยแทนกลองสะบัดชัยแบบดั้งเดิม

๓ . กลองมองเซิง
รูปลักษณะคล้ายกลองปูชา แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดหน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๕ - ๖๐ เซนติเมตร ด้านข้างยาวประมาณ ๗๕ - ๙๐ เซนติเมตร สามารถใช้สะพายตีได้ กติจะใช้ตีประกอบวงมองเซิงซึ่งเป็นดนตรีแบบของไทใหญ่ มีฆ้องชุดซึ่งมีขนาดและเสียงไล่ระดับกันมีสว่า ( ฉาบ ) ตีประกอบ

๔ . กลองตะหลดปด เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็กมักนิยมแขวนติดกับกลองหลวง หรือกลองแอวใช้ตีตัดจังหวะร่วมกับการประสมวงแอวหรือวงตึ่งนง เล่นประกอบการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเมือง ขนาดหน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร ตัวกลองยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
๕ . กลองเต่งถิ้ง หรือ กลองโป่งป้ง เป็น กลองขึ้นหนังสองหน้า มีขาตั้ง ใช้ตีทั้งสองหน้าลักษณะเดียวกับตะโพนไทยและตะโพนมอญ ใช้เล่นประสมวง “ เต่งถิ้ง ” หรือวง “ พาทย์ ” ( วงปี่พาทย์ ) และวงสะล้อ – ซึง ( ดูเรื่องการประสมวงต่อไป ) กลองชนิดนี้มีหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ - ๔๐ เซนติเมตร ถ้าเป็นขนาดเล็กบางทีก็เรียกว่า “ กลองโป่งป้ง ” หรือ “ กลองตัด ”