นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ดนตรีการล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความนาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2547 - ดนตรีการล้านนา

กล่าวถึงดนตรีการของล้านนา หากจะกล่าวถึงการดำรงคงอยู่ คงต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่างน้อยสองประการ ได้แก่แรงสนับสนุนส่งเสริมและความนิยม ซึ่งแรงสนับสนุนส่งเสริมที่ปรากฏชัดได้แก่ การจัดสอนฟ้อนรำและดนตรีในวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะแรกอาจสอนเฉพาะแบบราชสำนัก ต่อมา มีการส่งเสริมการฟ้อนรำและดนตรีพื้นบ้านเข้าไปด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 11 ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 กับพระเทวี แม่เจ้าเทพไกรสร ประสูติเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น ได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในฉลองเบื้องพระยุคลบาท ในระหว่างปีพุทธศักราช 2429 ถึง 2457  ท่านได้เสด็จกลับมา ประทับที่เชียงใหม่ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2476ระยะเวลาที่พระราชชายาฯ ทรงประทับที่เชียงใหม่ ทรงมีพระกรณียกิจนานัปการ ที่สำคัญเกี่ยวกับดนตรีและการแสดง ท่านทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาดนตรีไทยภาคกลาง มโหรี ปี่พาทย์ เป็นต้น ทางด้านการละคร ทรงฝึกซ้อมให้คณะละครรำของเจ้าอินทวโรรสสุริ-ยวงษ์ โดยดัดแปลงให้เข้ากับทางล้านนา เช่น ละครรำเรื่องพระลอตามไก่ พระลอตอนเสี่ยงน้ำ พระลอตอนเข้าสวน ละครร้องเรื่องน้อย  ไชยา และละครเรื่องสาวเครือฟ้า เป็นต้น ส่วนการฟ้อนแบบพื้นบ้าน ทรงจัดระเบียบการฟ้อนเล็บ ฝึกซ้อมการฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนเมง (ฟ้อนผีมด) ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนดาบ ฟ้อนซอสมโภชช้างเผือก  นอกจากนี้ ยังฝึกซ้อมการรำให้พระญาติและผู้สนใจ มีระบำงู รำโคมและจีนรำพัด เป็นอาทิ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ในสมัยพระราชชายาฯ

ช่างฟ้อนในวังพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ฟ้อนรับครัวทาน ในงาน ฉลองพระธาตุและพระวิหารดอยสุเทพ                สำหรับการดนตรี ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่าทรงส่งเสริมเครื่องดนตรีล้านนาชนิดใด แต่พออนุมานหรือคาดเดาจากร่องรอยการแสดงที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เช่น ละครร้องเรื่องน้อยไชยา

น่าจะใช้สะล้อและซึงเป็นหลัก การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน น่าจะใช้วงกลองตึ่งนง ส่วนฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา  ฟ้อนดาบ น่าจะเป็นวงปี่พาทย์ (วงเต่งถิ้ง) เป็นต้น

ช่างฟ้อนในวังพระราชชายาฯ และคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐในงานฉลองวิหารวัดสวนดอกหลังปัจจุบัน(2516) ส่วนความนิยมนั้น การแสดงหลายอย่างที่เคยปรากฏ ได้เสื่อมความนิยมไป บางอย่างพอมีให้พบเห็น อย่างเช่นก่อนหน้านั้นประมาณ พ.ศ. 2510 ยังมีการแสดงหนังตะลุงตามงานวัด โดยมีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมล้านนา เช่น เรื่องที่เป็นนิยายธรรมชาดก มีการพากย์เป็นภาษาล้านนานอกจากนี้ ยังมีการเล่นลิเกในงานปอยหลวง แต่เริ่มหายไปบ้าง ในขณะที่การดีดซึง สีสะล้อ เป่าแน และเป่าปี่ ยังมีความนิยมกันอยู่ แม้บางอย่างอาจเปลี่ยนบทบาทไป เช่น วงปี่พาทย์ หรือ วง “พาทย์ค้อง” (อ่าน “ป้าด-ก๊อง”) แต่เดิมนิยมเล่นเป็นมหรสพ ปัจจุบันเล่นเฉพาะงานศพ และประกอบในพิธีกรรมการฟ้อนผี



หากกล่าวโดยสรุป
คือ ดนตรีการล้านนามีมานานตามหลักฐานที่ปรากฏจากอดีตถึงปัจจุบัน   ซึ่งบางประเภทอาจไม่มีใครเคยคิดว่าเป็นสิ่งที่อยู่กับล้านนามาก่อน เช่น จะเข้ แตรสังข์  และแคน  ฯลฯ เครื่องดนตรีเหล่านี้แพร่กระจายในแถบล้านนาและไทยมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม  ดนตรีการมีความนิยมและเสื่อมถอยเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญ คือ การศึกษาให้รู้ซึ้งถึงที่มาและ พัฒนาการตลอดถึงความเคลื่อนไหวในแต่ละยุค จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาดุริยศาสตร์อย่างมหาศาล

สนั่น  ธรรมธิ

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบจากหนังสืองานอนุสรณ์ถวายแด่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในรัชกาลที่ 5   ธันวาคม 2516)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2547/12/28/