นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - เครื่องดนตรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา  วันอังคารที่  4  มกราคม  2548 - เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีของล้านนาประกอบด้วยเครื่องที่บรรเลงด้วยการดีด  สี  ตี  และเป่า  เครื่องดีด ได้แก่ ซึงและเพียะ (อ่าน-เปี๊ยะ) เครื่องสี ได้แก่ สะล้อ เครื่องตี ได้แก่ กลองประเภทต่างๆ รวมทั้งเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ เช่น ฉาบ ฉิ่ง และค้อง เป็นต้น ส่วนเครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ปี่ชุม (อ่าน-ปี่จุม)  และแน เป็นต้น เครื่องดนตรีดังกล่าว บางอย่างคงไม่ต้องกล่าวถึงรายละเอียดเช่น ฉาบ ฉิ่ง แต่บางอย่างมีรายละเอียดที่น่าศึกษา ดังจะได้นำเสนอ ต่อไปนี้           ซึง  เป็น เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนาที่มีลักษณะเรียบง่าย ชาวบ้านสามารถทำเล่นเองได้และในปัจจุบันก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่มีจำหน่าย อย่างแพร่หลายอีกด้วย ซึงมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับ พิณ หรือ ซึง ของภาคอีสาน ในบางท้องที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า พิณ (อ่าน “ปิน”) แต่ในวรรณกรรมบางเรื่องและโครงนิราศหริภุญชัยเรียก “ติ่ง”            รูปลักษณะของซึงนั้น หากเปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีของชาติอื่นๆ ก็จะพบว่าคล้ายกับกระจับปี่ของจีน หรือคล้ายกับกีตาร์ หรือแมนโดลินอันเป็นเครื่องดนตรีสากลด้วย ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้

  1. โรงเสียง (อ่าน “โฮงเสียง”) คือ ต้นกำเนิดเสียงซึ่งมีลักษณะเป็นไม้กลวงข้างใน นิยมใช้ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้สักทั้งท่อนทำ  เพราะอาจขูดเนื้อไม้ทำเป็นกล่องเสียงได้ง่าย โดยคว้านข้างในให้กลวงเป็นรูปวงรี เหลือขอบโดยรอบกับพื้นกล่องเสียงซึ่ง ไม่หนามากนัก ความหนาของกล่องเสียงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่จะใช้ทำ  และขนาดของซึงที่ต้องการ เท่าที่พบโดยทั่วไปหนาประมาณ 2 - 3 นิ้ว
  2. ตาดซึง คือ แผ่นไม้บางปิดหน้าโรงเสียง เจาะรูกว้างพอประมาณบริเวณใกล้ศูนย์กลางค่อนไปทางคอเล็กน้อย เพื่อเป็นทางออกของเสียง 
  3. ฅอซึง มี ลักษณะเป็นคันยาวยื่นต่อจากตัวกล่องเสียง อาจเป็นไม้ท่อนเดียวกันกับที่ใช้ทำกล่องเสียง หรือทำแยกส่วนเป็นคนละชิ้นก็ได้ ถ้าไม่ได้ใช้ชิ้นเดียวกันกับที่ทำตัวกล่องเสียงแล้ว ส่วนนี้ จะนิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ทนทานและเสียงที่ดังออกมาไพเราะ
  4. ลูกซึง เป็นแท่งไม้เล็ก ๆ ติดเป็นระยะ ๆ ภาคกลางเรียน “นม” ภาษาสากลเรียก Bar ลูกซึงนี้เป็นตำแหน่งสำหรับกดบังคับเสียงตามบันไดทางเสียง ติดเป็นระยะเรียงตามความยาวของคอซึง จนใกล้ถึงตัวกล่องเสียง จำนวนลูกซึ่งไม่แน่นอน แต่มาตรฐานทั่วไปนิยม ติด 9 อัน โดยจัดเว้นระยะตามบันไดเสียงที่ได้
  5. สายซึง เป็นเส้นทองเหลือง ซึ่งแต่เดิมนั้น นิยมใช้สายห้ามล้อจักรยานมาทำ ปัจจุบันอาจพบว่ามีการนำสายกีตาร์มาใช้แทน ซึงมี 4 สาย แยกกันเป็น 2 คู่ (เวลาดีดจะดีดทีละคู่) ขึงจาก ค๊อบ (อ่าน “ก๊อบ”) รองสายโดยขึงผ่านกลางกล่องเสียงไปยังลูกบิด การดีดมักใช้เขาสัตว์หรือพลาสติกทำเป็นชิ้นบาง  และขนาดไม่ใหญ่นักสำหรับดีดสายซึง โดยดีดตรงบริเวณที่สายขึงอยู่ใกล้กับรูที่เจาะไว้ มืออีกข้างหนึ่งจับคอซึงและใช้นิ้วกดสายลงให้แนบกับลูกซึง เพื่อให้เกิดเสียงตามที่ต้องการ
  6. ค็อบซึง (อ่าน “ก๊อบซึง”) คือ หย่องที่เป็นไม้หมอนซึ่งเป็นไม้ท่อนเล็ก อยู่ระหว่างช่องระบายเสียงกับส่วนที่อยู่เกือบล่างสุดของขอบตัวกล่องเสียง
  7. หลักซึง คือ ลูกบิดสำหรับตั้งหรือบังคับสายซึงให้ตึงหรือหย่อน เพื่อใให้ได้เสียงตามต้องการ  
  8. หัวซึง  คือ ส่วนปลายสุดของซึง

ประเภทของซึง โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ แบ่งตามขนาดและแบ่งตามการตั้งเสียง           

1.  แบ่งตามขนาด นิยมแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ

* ซึงใหญ่ ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 12 นิ้ว หนาประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 18 นิ้ว
* ซึงกลาง ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 10 นิ้ว หนาประมาณ 2.5 นิ้ว ยาวประมาณ 15 นิ้ว
* ซึงเล็ก ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 8 นิ้ว หนาประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 12 นิ้ว
* ซึงตัด ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ 6 นิ้ว หนาประมาณ 1.5 นิ้ว ยาประมาณ 10 นิ้ว

2.  แบ่งตามการตั้งเสียง แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

* ซึงลูกสาม ตั้งเสียง โด - ซอล โดยตั้งสายทุ้มเป็นเสียงโด ตั้งสายเอกเป็นเสียง  ซอล ซึงลูกสามมักจะเป็นซึงใหญ่และซึงเล็ก


* ซึงลูกสี่ ตั้งเสียง ซอล - โด โดยตั้งสายทุ้มเป็นเสียง ซอล ตั้งสายเอกเป็นเสียงโด ซึงลูกสี่มักจะเป็นซึงกลาง และซึงตัด ซึ่งมีขนาดเล็กสุด

เรื่องของซึงยังมีรายละเอียดที่จะต้องกล่าวถึงอีก อังคารหน้าจะได้นำเสนอกันต่อไป

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(ภาพลายเส้นโดย ไกรวุฒิ  วังชัย)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/01/04/