นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ขลุ่ย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  15  กุมภาพันธ์  2548 - ขลุ่ย


  


ขลุ่ย
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง ที่ชาวล้านนานิยมนำมาบรรเลงร่วมกับซึงและสะล้อ ได้แก่ “ขลุ่ย” และขลุ่ยที่ว่านิยมใช้ขลุ่ยขนาดเล็กพอ ๆ กับขลุ่ยหลิบหรือเล็กกว่านั้นส่วนประกอบของขลุ่ย            

1.  แกนหรือดากขลุ่ย คือท่อนไม้จริงขนาดพอเหมาะกับรูขลุ่ย มีรอยปาดให้เกิดช่องลมผ่าน
2.  ปากนกแก้ว คือรอยเจาะตรงบริเวณที่จะให้เกิดเสียง
3.  รูนับ คือรูปิดเปิดนิ้วเพื่อบังคับเสียงสูงต่ำตามบันไดเสียงการทำขลุ่ย  

    ขลุ่ย โดย ทั่วไปมักทำจากไม้ไผ่ที่มีเนื้อบางเช่น ไม้ไผ่เรี้ย (ไม้เฮี้ย) ไม้ข้าวหลาม (บางท้องถิ่นเรียก “ไม้ป้าง” หรือ “ไม้ไผ่เผียว” ไม้รวก เป็นต้น ไม้ไผ่ดังกล่าวมีคุณสมบัติต่างกัน กล่าวคือ ถ้าขลุ่ยทำจากไม้ไผ่เรี้ยหรือไม้ข้าวหลามเสียงขลุ่ยจะนุ่มนวล ไพเราะ แต่ถ้าทำด้วยไม้รวกเสียงขลุ่ยจะดังกังวานก้องไปไกล และนอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ไม้จริงประเภทไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้มะขามมาทำขลุ่ย โดยกรึงให้กลมแล้วเจาะรูทะลุเหมือนปล้องไม้ไผ่ เสียงขลุ่ยที่ทำจากไม้จริงเป็นเสียงที่ไพเราะและดังกังวานไปไกลอีกด้วยสูตร การทำขลุ่ย
       

อันดับแรกให้วัด “โล่ง” ได้แก่ความกว้างของรูไม้ โดยถือเอาความกว้างนี้เป็นระยะ “1 โล่ง”



วัดจากปากกระบอกไปหาจุดปากนกแก้ว  2  โล่ง  วัดจากปากนกแก้วไปหารูนับ (รูแรก)  7  โล่ง



วัดจากตำแหน่งรูนับรูแรกไปหารูสุดท้าย  7  โล่ง



แบ่งระยะตำแหน่งของรูนับเป็น  7  รู  โดยกำหนดระยะห่าง  1  โล่ง

เหลือส่วนปลายของขลุ่ย โดยวัดรูนับ (รูสุดท้าย) ไป  21/2  โล่ง หรือมากกว่านั้นตามความเหมาะสม สูตรการทำขลุ่ยที่นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงตัวอย่างจากประสบการณ์ ซึ่งอาจเหมือนหรือไม่เหมือนกับสูตรของท่านอื่น จึงยังถึงเป็นข้อยุติอย่างเป็นทางการไม่ได้

สนั่น  ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(สัมภาษณ์ บุญศรี  รัตนัง ศิลปินพื้นบ้านล้านนา, ภาพประกอบโดย จรัสพันธ์ ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/02/15/