วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  13  สิงหาคม  2548 - ปี่ชุม (1)

ปี่ชุม (1)


ปี่ชุม  (อ่าน - ปี่จุม)  เป็น ดนตรีของล้านนา ซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน เหตุที่เรียกว่า ปี่ชุม เพราะใช้บรรเลงเป็นชุมหรือชุด คือ ประกอบไปด้วยปี่ตั้งแต่ 3 เลาขึ้นไป ใช้เป่าประกอบกับการขับซอ คือการขับเพลงปฏิพากษ์แบบล้านนา ปี่ชุมแบ่งตามขนาดมี  4  ชนิด ได้แก่

1.ปี่แม่ หรือ ปี่ เค้า (อ่าน – ปี่เก๊า) เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในชุดเดียวกัน ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร มีเสียงทุ้มต่ำ เมื่อประสมวง เสียงจะยืนพื้น ทำหน้าที่ประสานเสียงมิให้เสียงของวงแหลมเกินไป

2.ปี่กลาง  เป็นปี่ที่มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีระดับเสียงกลาง

3.ปี่ก้อย  มีขนาดเล็กลดหลั่นรองลงมาจากปี่แม่และปี่กลาง ปี่ก้อยมีเสียงพอดี ไม่ทุ้มเกินไป  และไม่แหลมเกินไป ทุกเลาด้วยต้องฟังปี่ก้อย เพราะเสียงปี่ก้อยเป็นปี่หลัก  แม้แต่ช่างซอ หรือนักขับเพลงปฏิพากษ์ก็ยึดเอาเสียงปี่ก้อยเป็นหลัก  เพราะจะมีการห่ม (ขย่ม) เสียงให้จังหวะอย่างแม่นยำ ผู้เป่าปี่ก้อยจะต้องเก่งพอสมควร ในการขึ้นหรือการลงทุกเพลงนั้น     ปี่ก้อยจะเป็นผู้นำทั้งสิ้น

4.ปี่เล็ก จัดได้ว่าเป็นปี่ขนาดเล็กที่สุดหรือในชุดนั้น มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปี่ตัด  เพราะมีเสียงเล็กแหลม สามารถตัดเสียงปี่เลาอื่นได้ไพเราะมาก การเป่าปี่เล็กนั้น ต้องเป่าให้มีเม็ดหรือลูกเล่นให้มากๆ เพื่อทำเสียงสอดแทรกปี่เลาอื่นตลอดเวลา

การประสมวงของปี่ชุมมี 3 ลักษณะ คือ ปี่ชุมสาม ปี่ชุมสี่  ปี่ชุมห้า  ซึ่งปัจจุบันนิยมเล่นปี่จุมสาม และมีซึงกลาง (อ่าน - ซึงก๋าง) คือซึงขนาดกลางเข้ามาเล่นประกอบ ทั้งนี้เพราะซึงกลางมีเสียงทุ้มกังวาน และคุมจังหวะได้ดี ทำให้วงปี่ชุมมีความไพเราะมากขึ้น

การทำปี่

ปี่ทุกขนาดในชุมหรือชุดหนึ่งๆ นิยมทำจากไม้ไผ่รวกแดง ซึ่งมาจากลำเดียวกัน หากมีความจำเป็นจะใช้ต่างลำ ต้องมีขนาดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยเฉพาะความกว้างของรูปี่ที่ภาษาล้านนาเรียกว่า “ฮูลัง” ต้องได้ขนาดลดหลั่นกับปี่ขนาดอื่นในชุดเดียวกัน ท่อนโคนของไม้รวกนั้นจะแต่งให้เป็นปี่ขนาดใหญ่ที่สุดของชุม คือ ปี่แม่ และตัดแต่งให้เป็นปี่ขนาดไล่กันไปตามลำดับ จนถึงเลาที่ใช้ลำไม้ส่วนปลายเล็กที่สุดในชุดคือปี่เล็ก ทะลวงข้อของไม้รวกแต่ละท่อนออกให้เหลือข้อสุดท้ายเพื่อเป็นหัวของปี่ จากนั้นจึงทำแท (อ่าน- แต) หรือลิ้นของปี่ โดยวัดจากหัวปี่ลงมาให้ได้ระยะหนึ่งหัวแม่มือ แล้วเหลาหรือปาดด้านข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเจาะให้ทะลุ แล้วสอดลิ้นปี่ที่ทำด้วยโลหะผสมหรือทองเหลือง ซึ่งทำเป็นลิ้นภายในที่ติดกับลำของปี่ไว้ที่แทของปี่ หลังจากนั้นจึงเจาะรูจำนวน  7  รู เพื่อใช้นิ้วปิดและเปิดให้เกิดเสียงต่างๆ ตามต้องการ

การทำปี่แต่ละชุมหรือชุดต้องวัดเอาขนาดของปี่ก้อยเป็นหลัก การกำหนดขนาดมีสูตรตายตัวเรียกว่า “มอกกระด้าง”

การทำปี่ก้อย

ปี่เลาแรกในชุดที่จะต้องทำ คือ ปี่ก้อย ขั้นแรกจะต้องหาไม้ไผ่ขนาดพอดีที่จะทำปี่ วัดความกว้างของรูไม้ว่ากว้างขนาดไหนก็สามารถจะเหลาส่วนที่เป็นแทได้ โดยมีสูตรดังนี้
    1.  สองโล่ง  ได้จากการวัดความกว้างของรูไม้ 1 ส่วน  เป็นหนึ่งโล่ง  เพิ่มอีก 1 ส่วน เป็นสองโล่ง  เอาระยะที่วัดได้  เป็นความยาวของแท  เพื่อใส่ลิ้นที่ทำด้วยโลหะ  ปี่ที่ใช้สูตรสองโล่งจะมีเสียงเครือไพเราะ และเหมาะสำหรับเสียงของช่างซอบางคนเท่านั้น
    2.  โล่งเกิ่ง  ได้จากการวัดความกว้างของรูไม้ 1 ส่วน  เป็นหนึ่งโล่ง  เพิ่มอีก 1/2 ส่วน เป็น โล่งเกิ่ง  เอาระยะที่วัดได้ไปเป็นความยาวของแท  ปี่ที่ใช้สูตรโล่งเกิ่งจะเป็นปี่ที่มีเสียงสากล เข้าได้กับเสียงของช่างซอทั่วไป

เมื่อทำแทได้แล้ว ก็จะเริ่มเจาะรูบังคับเสียงของปี่ การเจาะรูมี “มอก” หรือ สูตร เช่นกัน การวัดก็ใช้นิ้วหัวแม่มือวัดตั้งแต่ส่วนที่เป็นแทไปถึงรูแรก การวัดด้วยนิ้วหัวแม่มือจะนับเป็น แม่ ซึ่งมี 3  แม่ด้วยกัน คือ

        2.1 หกแม่  วัดจากแทไปรูแรกของปี่  6  ช่วงของนิ้วหัวแม่มือแนวขวาง
2.2 ห้าแม่  วัดจากแทไปรูแรกของปี่  5  ช่วงของนิ้วหัวแม่มือแนวขวาง
2.3 สี่แม่  วัดจากแทไปรูแรกของปี่  4  ช่วงของนิ้วหัวแม่มือแนวขวาง

ทั้งนี้ปี่ห้าแม่ จะเป็นเสียงสากลคือไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไป  ปี่หกแม่จะมีขนาดใหญ่และให้เสียงต่ำ ปี่สี่แม่สำหรับไม้ขนาดเล็กมีเสียงสูง  เมื่อเจาะรูบังคับเสียงรูแรก แล้วจะเจาะรูต่อไปโดยกะระยะห่างตามที่ผู้ทำจะเห็นสมควร รูจะห่างออกไปตามลำดับจนครบ  หลังจากนั้นก็จะวัดจากรูสุดท้ายไปยังด้านปลายของปี่อีกเจ็ดนิ้วหัวแม่มือแนว ขวาง  และมักเผื่ออีกสักเล็กน้อย  จากนั้นช่างทำปี่ก็จะแต่งรู โดยค่อยๆ ไล่เสียงตั้งแต่รูแรกลงไป โดยใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะเพื่อให้รูเกลี้ยงไม่มีขุย ไล่เสียงตามลำดับลงไปจากเสียงสูงไปต่ำ

การทำปี่ยังมีรายละเอียดที่จะต้องกล่าวถึงอีก โดยเฉพาะการปรับเสียงให้ไพเราะ ไม่ผิดเพี้ยนรวมทั้งการเจาะรูปี่ขนาดต่าง ๆ ที่จะต้องอาศัยปี่ก้อยเป็นหลัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถติดตามได้ในวันอังคารต่อไป

 สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพลายเส้นโดย เนติ  พิเคราะห์ ภาพประกอบโดย จรัสพันธ์  ตันตระกูล)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/09/13/