เครื่องมือของใช้ล้านนา - ไม้นวดข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ไม้นวดข้าว

ไม้นวดข้าว บางทีเรียกว่า ไม้ตีข้าว หรือไม้ทุบข้าวก็มี ไม้นวดข้าวเป็นเครื่องมือของชาวนาที่ใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเพื่อทุบหรือตีรวง ข้าวที่มัดอยู่ในฟ่อนให้เมล็ดข้าวกระเด็นออกมาจากรวง โดยจะทุบฟ่อนข้าวในส่วนที่เป็นรวงเมล็ดข้าวเปลือกกับท่อนไม้กลม ๆ ที่ใช้เป็นที่รองรับ บางแห่งอาจจะใช้ครกกลิ้งให้อยู่ในแนวนอน การใช้ไม้นวดข้าวนี้จะทุบในลานข้าว ในเสื่อ หรือในผืนผ้าใบที่ปูพื้นกว้าง ๆ

ไม้นวดข้าวมักทำจากไม้ไผ่ที่มีเนื้อแน่น ไม้แก่จัด ข้อสั้น ลำต้นเล็ก ขนาดมือกำได้รอบ บางทีอาจใช้ไม้จริง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ชิงชัง และไม้สัก เป็นต้น การเตรียมไม้นวดข้าวจะตัดไม้มา ๒ ท่อน ความยาวประมาณ ๕๐ เซนตอเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๓ เซนติเมตร เหลาไม้ให้เรียบ หากเป็นไม้จริงต้องใช้กบไสแล้วใช้บุ้งถูให้เรียบ เจาะรูที่ปลายไม้ทั้ง ๒ ท่อน ห่างจากปลายไม้ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใช้เชือกหนังเรียกว่า หนังหัวเกรียน หรือใช้เชือกยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือประมาณเส้นรอบวงของฟ่อนข้าว หากฟ่อนข้าวในท้องถิ่นนั้นฟ่อนเล็ก ๆ ก็ขมวดเชือกให้สั้นขึ้น ถ้าฟ่อนข้าวโตก็คลายเชือกให้ยาวตามความต้องการ ร้อยรูไม้ที่เจาะทั้ง ๒ ท่อนขมวดปมที่ส่วนปลายเชือก

วิธีใช้
ชาวนาจะจับไม้นวดข้าวทั้งสอง ใช้เชือกคล้องกับฟ่อน คะเน็ดข้าว หรือตรงส่วนที่ใช้ตอกรัดฟ่อนข้าว แล้วไขว้ไม้นวดข้าวในลักษณะที่ขัดกัน เพื่อรัดฟ่อนข้าวให้แน่น ยกฟ่อนข้าวขึ้นและฟาดกับท่อนไม้ที่วางไว้ เมล็ดข้าวเปลือกจะร่วงจากรวง

ผู้ให้ข้อมูล

๑ . ช่วง คงกรุด , นาย อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๕๗ ต . บ้านคลอง อ . เมือง จ . พิษณุโลก

๒ . นุกูล หมวดแก่น , นาย อายุ ๗๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๒๘ หมู่ ๓ ต . ล้านคลอง อ . เมือง ๗ จ . พิษณุโลก

๓ . ปัน จันตาวงศ์ , นาย อายุ ๖๙ ปี บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่๒ ต . กลางดง อ . ทุ่งเสลี่ยม จ . สุโขทัย

๔ . สอน ทองคำ , นาย อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๕๐๗ หมู่ ๑ ต . หล่มเก่า อ . หล่มเก่า จ . เพชรบูรณ์

๕ . หวาน ธรรมคุณ , นาย อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๔๗ / ๒ ต . แม่ปะ อ . แม่สอด จ . ตาก