วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ชนัก
 


ชนัก เป็นเครื่องแทงจระเข้ ทำด้วยเหล็กปลายแหลมเป็นรูปลูกศร มีด้ามเป็นไม้ไผ่ยาวใช้เชือกมัด เวลาพุ่งไปถูกจะปล่อยเชือกผ่อนไปเรื่อย ๆ จนจระเข้ดิ้นหมดแรงจึงดึงเข้ามาใกล้ฝั่งแล้วแทงให้ตาย

สมัยก่อนบึงบอระเพ็ดในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้จำนวนมาก เวลาน้ำเหนือไหลบ่าท่วมท้นฝั่งจระเข้จะหนีออกจากบึงว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมา ทางต้นน้ำลำธาร มีนิทานพื้นบ้านเกิดขึ้นคือ ไกรทองชาละวัน ผู้สูงอายุเล่าว่าจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นมาจากลำน้ำน่านมาอาศัยอยู่ในคลองคเชนท์ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร กินคนสัญจรไปมาทางเรืออยู่เสมอ ในที่สุดก็มีหมอจระเข้อาสามาปราบและแทงด้วยหอกไม้ จระเข้ตัวใหญ่ตาย เรื่องดังกล่าวจึงผูกเป็นเรื่องราวเล่าสืบทอดกันมา จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกเรื่องไกรทองขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านแถบอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ยังเล่าเรื่องคลองหนึ่ง ในสมัยก่อนมีจระเข้ว่ายน้ำไปอาศัยอยู่ในบึงกะโล่มากมาย ชาวบ้านจะไปทำไร่ทำนาต้องขี่ควายข้ามคลอง มักจะถูกจระเข้กินบ่อย ๆ จระเข้ที่อาศัยอยู่ในคลองว่ายมาจากลำแม่น้ำระหว่างอยู่ในน้ำ จระเข้ได้กลิ่นจะไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย เวลาพายเรือหาปลา หรือข้ามฟากแม่น้ำจระเข้ก็มักหมุนเรือทำให้เรือล่ม แล้วกัดกินคน

เมื่อจระเข้มีจำนวนมากจึงเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง รวมทั้งผู้คนด้วย การฆ่าจระเข้จะช่วยลดภัยจากการสัญจรทางน้ำและยังได้ประโยชน์จากตัวจระเข้ คือหนังนำไปทำเครื่องใช้มีราคาแพงมาก การฆ่าจระเข้ที่อยู่บนบกจะใช้ไม้ทุบหรือใช้คันหลาวเสี้ยมปลายแหลมคมแทง ต่อมาพัฒนาเป็นหอกไม้มีเงี่ยงเหมือนลูกศรแทง หากจระเข้อยู่ในวังน้ำวนไหลเชี่ยวอยู่ใกล้ ๆ ตลิ่ง ชาวบ้านจะต้มฟัก คั่วทราย คั่วกรวดให้ร้อนจัด โยนใส่ปากจระเข้ จะทำให้จระเข้ตายหรือหนีออกจากบริเวณนั้น

ชนัก เป็นอาวุธอย่างหนึ่งใช้แทงจระเข้โดยเฉพาะ พัฒนามาจากการทำหอกไม้เป็นเงี่ยงเป็นหอกเหล็ก ใช้เหล็กขนาด ๔ หุน เผาไฟตีปลายแบบทำเป็นลูกศรแหลมคม ตัวชนักหรือหอกเหล็กยาวประมาณครึ่งเมตรครึ่งเมตร ส่วนโคนเหล็กทำรอยคอดไว้มัดเชือกพวนเส้นยาว ๆ สวมโคนเหล็กกับไม้เนื้อแข็ง หรือลำไม้ไผ่ซึ่งเจาะรูไว้ ทำเป็นด้ามยาวประมาณ ๓ เมตร การล่าจระเข้ต้องใช้เรือลำใหญ่เป็นพาหนะ ใช้คนพายหัวพายท้ายคนแทงอยู่ตรงกลาง เมื่อเห็นจระเข้จะต้องพายคู่ขนานกันไปจะแทงได้สะดวก หากจระเข้หนุนเรือก็แทงได้ง่ายขึ้น มักใช้ชนักแทงที่ปาก ลำตัว ด้ามชนักจะหลุดออก ผ่อนเชือกพวนมัดกับเหล็กไปเรื่อย ๆ คนพายจะรีบพายเรือเข้าหาฝั่ง มิเช่นนั้นจระเข้อาจหนุนเรือคว่ำ ดึงจระเข้ขึ้นฝั่งได้แล้วฤทธิ์เดชอันตรายจะน้อยกว่าอยู่ในน้ำมาก

ชนักแทงจระเข้หาดูได้ยาก เพราะจระเข้ตามแม่น้ำลำคลองและบึงไม้มีแล้ว นอกจากอาศัยตามแหล่งสงวนสัตว์น้ำเท่านั้น การใช้ชนักจึงหมดสิ้นไป

ผู้ให้ข้อมูล

๑ . กุล แก้วสีเขียว , นาย อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๑ / ๘ ต . โป่งแดง อ . เมือง จ . ตาก

๒ . ตั้น หมีคง , นาย อายุ ๖๔ ปี บ้านเลขที่ ๑๘๒ หมู่ ๓ ต . บ้านหนองกะท้าว อ . นครไทย จ . พิษณุโลก

๓ . ถนอม อินทร์ทรัพย์ , นาย อายุ ๖๗ ปี บ้านเลขที่ ๑๓ หมู่ ๖ ต . พรานกระต่าย อ . พรานกระต่าย จ . กำแพงเพชร

๔ . ยง บุญเกิด , นาย อายุ ๘๒ ปี บ้านเลขที่ ๕๒ หมู่ ๘ ต . บ้านตาก อ . บ้านตาก จ . ตาก

๕ . หวาย เจริญวงศ์ , นาย อายุ ๖๙ ปี บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ ๗ ต . น้ำหมัน อ . ท่าปลา จ . อุตรดิตถ์