วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2548 - ฟ้อนเจิง

 

 

ฟ้อนเจิง

ฟ้อนเจิง เป็นการร่ายรำตามกระบวนท่าตามแบบแผน ที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ของชาย ซึ่งท่ารำนั้นมีทั้งท่าหลักและท่าที่ผู้รำแต่ละคน จะใช้ความสามารถเฉพาะตัว พลิกแพลงให้ดูสวยงาม

ในระยะแรก ฟ้อนเจิง หมายรวมเอาทั้งการฟ้อนประกอบอาวุธและไม่มีอาวุธ โดยเรียกลักษณะการฟ้อนตามนั้นคือ

ใช้ไม้ฅ้อน หรือไม้พลองประกอบการรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงไม้ฅ้อน
ใช้หอกประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงหอก
ใช้ดาบประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้องเจิงดาบ
ใช้ลา คือดาบวงพระจันทร์ประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงลา ร่ายรำด้วยมือเปล่า เรียกว่า ฟ้อนเจิงมือ

ต่อมา คำว่าเจิง ในการฟ้อนประกอบอาวุธต่าง ๆ ได้กร่อนหายไป และเรียกการฟ้อนเจิงประกอบอาวุธต่าง ๆ ตามชื่อของอาวุธนั้น ๆ เช่น ฟ้อนไม้ฅ้อน ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนลา และเรียกการร่ายรำในลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่านี้ว่า ฟ้อนเจิง

การฟ้อนเจิงประกอบอาวุธบางประเภทนั้น ในระยะหลังไม่ค่อยได้รับความนิยม เช่น ฟ้อนเจิงไม้ฅ้อน และฟ้อนเจิงหอก แต่อาจพบอยู่บ้างในการพิธีฟ้อนผี ส่วนการฟ้อนเจิงลานั้นไม่ปรากฏว่ามีการฟ้อนให้เห็น ส่วนการฟ้อนเจิงดาบนั้นได้รับความนิยมมาก ทั้งในการแสดงประกอบการตีกลองอย่างในขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด และเป็นที่นิยมมากในการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมบนเวที สำหรับการฟ้อนเจิงมือ หรือฟ้อนเจิงนั้น จะมีลูกเล่นได้มากกว่าการฟ้อนประกอบอาวุธ เพราะคล่องตัวมากกว่าที่จะต้องแสดงการรำอาวุธควบคู่กับการฟ้อน

การฟ้อนเจิงนี้ มักดำเนินร่วมกับตบบ่าผาบ หรือตบขนาบ คือการตบไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้เกิดเสียงดัง การฟ้อนเจิงหรือฟ้อนรำแสดงลีลาประกอบการตบไปตามร่างกายดังกล่าว มักเรียกรวมกันว่า ตบบ่าผาบฟ้อนเจิง และมักเป็นการเริ่มต้นก่อนที่จะมีการฟ้อนอาวุธ หรือกิจกรรมอื่นที่คล้ายคลึงกัน

การเรียนฟ้อนเจิงนั้น ผู้เรียนต้องหามื้อจั๋นวันดี เป็นวันอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันหรือ การจัดเครื่องคารวะ คือกรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา  ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด ครูบางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัว ครูเจิงคือผู้สอนฟ้อนเจิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วเชือดคอไก่ และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็คือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน และหากเรียนจนสำเร็จแล้ว ครูเจิง อนุญาตให้นำวิชาไปใช้ได้เรียกว่าปลดขันตั้ง โดยทำพิธียกขันตั้งคือพานเครื่องสักการะจากหิ้งผีครู แจกธูปเทียนดอกไม้จากในพานให้แก่ศิษย์  เป็นเสร็จพิธี


    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

 ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่