วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  20  ธันวาคม  2548 - ฟ้อนสาวไหม (1)

    ฟ้อนสาวไหม (1)

    ฟ้อน 
คือ การร่ายรำ, สาวไหม หมายถึง การดึงเส้นด้ายออกเป็นเส้น เพื่อนำไปทอเป็นเครื่องนุ่งห่มต่อไป คำว่า “ไหม” ในภาษาล้านนาหมายถึง เส้นด้าย เรียกด้ายสำหรับผูกข้อมือว่า “ด้ายไหมมือ” เรียกด้ายสำหรับเย็บผ้าว่า “ไหมหยิบผ้า” เรียกวัวที่มีสีขาวขุ่น คล้ายสีของด้ายดิบว่า “งัวไหม” กิจกรรมในวิถีชีวิตของชาวล้านนาส่วนใหญ่ผูกพันกับด้ายที่มาจากฝ้าย เพราะทำไร่ฝ้ายซึ่งเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ มิได้มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเหมือนภาคอื่น ดังนั้น คำว่า สาวไหม จึงมิได้หมายถึง การสาวหรือดึง เส้นไหมที่เป็นเส้นใยของตัวไหมแต่ประการใด ฟ้อนสาวไหม เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการ ทางรูปแบบมาจากการเลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ผู้ฟ้อนที่เห็นส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาว ลีลาในการฟ้อนดูอ่อนช้อยและงดงามยิ่ง และลีลาอันน่าดูชมนี้เองเป็นผลมา จากมายาวิวัฒน์แห่ศิลปะการต่อสู้ของชายชาตรีในล้านนาประเทศตั้งแต่อดีต

        

    ในบรรดาผู้ที่ฟ้อนเจิงเป็นทั้งหลาย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักคำว่า “สาวไหม” ช่างฟ้อนเจิงหรือที่เรียกว่า “สล่าเจิง” ทราบกันดีว่า “สาวไหม” เป็นลายเจิง (ท่ารำ) ที่งดงาม มีความเข้มแข็ง และอ่อนช้อยสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยลีลาการหลอกล่อ รับและรุกอย่างเฉียบพลัน เมื่อศัตรูชะล่าใจ ปัจจุบันการฟ้อนสาวไหมที่เป็นลายเจิง ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยฟ้อนตอนสมัยหนุ่ม ๆ และมีการถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นใหม่บ้าง ในรูปแบบของ “ฟ้อนเจิง” เรียกว่า “เจิงสาวไหม” ส่วนฟ้อนสาวไหมที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นฉบับมาจากนางบัวเรียว  รัตนมณีกรณ์ ช่างฟ้อนของวัดศรีทรายมูล ตำบลเวียง  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย ฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียวได้รับการปรับปรุง ดัดแปลงท่ารำจากเจิงสาวไหมที่บิดาคือ นายกุย สุภาวสิทธิ์ ถ่ายทอดให้จนพัฒนามาเป็นฟ้อนสาวไหมแบบฉบับของนาฏศิลป์ไทยปัจจุบัน ฉะนั้นเราจึงสามารถแบ่งการฟ้อนสาวไหมออกเป็น  2  ประเภท  คือ
    1.  ฟ้อนสาวไหมแบบเก่าที่มีลีลาการต่อสู้ คือ เจิงสาวไหม
    2.  ฟ้อนสาวไหมแบบนาฏศิลป์ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีลีลาอ่อนช้อย นิ่มนวล

    การฟ้อนสาวไหมแบบเก่ามีมาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏว่ามีเมื่อสมัยใด แต่คนที่ฟ้อนได้ยังมีชีวิตอยู่หลายคน เช่น
    -  นายคำ   พรหมวงค์ 61  หมู่  7  ตำบลสันผีเสื้อ  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่
    -  นายกัญไชย   กรมธนา 72  หมู่  1  ตำบลนาปัง  อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน
    - นายใจ๋    ต่อคำน้อย 125  หมู่  4  ตำบลน้ำแพร่  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่

    ดนตรีที่ใช้ประกอบปัจจุบันฟ้อนได้ กับดนตรีพื้นเมืองหลายชนิด เช่น วงสะล้อ – ซึง เต่งถิ้ง อุเจ่ มองเซิง สิ้งหม้อง เพลงประกอบเฉพาะวงสะล้อ – ซึงและเต่งถิ้ง เป็นเพลงบรรเลงพื้นเมือง เช่น ปราสาทไหว ฤาษีหลงถ้ำ แหย่ง  แต่ในสมัยโบราณจากการสัมภาษณ์ผู้เคยเห็น พบว่าใช้เครื่องดนตรีอยู่สองประเภทคือ

    วงเต่งถิ้ง และวงตึ่งนง วงเต่งถิ้งนั้นใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนสาวไหมโดยทั่วไป เพลงที่ใช้ก็เพลงพื้นเมือง เช่น ปราสาทไหว  ฤาษีหลงถ้ำ แหย่ง ที่แน่นอนเพลงที่ใช้บรรเลงเป็นหลักจริง ๆ คือ “เพลงสาวไหม” และวงตึ่งนงที่ใช้แนบรรเลงก็ใช้เพลงสาวไหมนี้เช่นกัน

    การฟ้อนสาวไหมแบบนาฏศิลป์ ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เป็นการฟ้อนที่ได้รับการปรับปรุง และดัดแปลงจากเจิงสาวไหมของนายกุย  สุภาวสิทธิ์ และต่อไปนี้ จะกล่าวถึงความเป็นมาพอสังเขป เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเชิงนัยประวัติต่อไป ซึ่งจะได้ทยอยลงในคอลัมน์นี้เป็นตอน ๆ หากท่านผู้อ่านสนใจโปรดติดตามอย่างต่อเนื่อง ทุกวันอังคาร
   
สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่