วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  27  ธันวาคม  2548 - ฟ้อนสาวไหม (2)

 

ฟ้อนสาวไหม (2)

จากการศึกษาถึงความเป็นมาของฟ้อนสาวไหม ที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนได้เคยกล่าว ข้างต้นบ้างแล้วว่าเป็นฟ้อนที่ได้รับการปรับปรุง และดัดแปลงจากเจิงสาวไหมของ นายกุย  สุภาวสิทธิ์ และเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเชิงนัยประวัติ จะนำเอาเรื่องราวจากการศึกษามาเสนอพอสังเขป ดังนี้

   

เมื่อประมาณ  80  ปีที่ผ่านมา ศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า “เจิง”  แบบล้านนาไม่วาจะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าหรือมีอาวุธเช่น ดาบ ไม้ค้อน (พลอง) ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ชายชาตรียังคงเสาะแสวงหาครูอาจารย์ที่มีฝีมือดี เพื่อรับการถ่ายทอดไว้เป็นวิชาติดตัว ที่หมู่บ้านร้องวัวแดง ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีชายฉกรรจ์ผู้หนึ่งมีฝีมือในเชิงต่อสู้เป็นที่เลื่องลือ ชายผู้นั้นคือ นายปวน  คำมาแดง หลังจากลาสิกขาจากการบวชเป็นสามเณรแล้ว ด้วยความสนใจจึงได้ตระเวณศึกษาวิชาการต่อสู้ จากครูอาจารย์หลายสำนัก ทั้งที่เป็นศิลปะลายเมือง (ล้านนา) ลายแข่ (จีน) ลายห้อ (จีนฮ่อ) ลายเงี้ยว (ไทยใหญ่) และลายยางแดง (กะเหรี่ยง)  จนเชี่ยวชาญหาตัวจับได้ยาก จนได้รับฉายาว่า “ปวนเจิง”

อาชีพหลักของนายปวน คือทำนา ฐานะค่อนข้างจะยากจน หลังจากฤดูทำนา ได้ออกหารายได้พิเศษ ออกไปสอนลายเจิง ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยมีเพียง “ผ้าป๊กกับจ้อง” (ผ้าห่อเสื้อผ้าและร่ม) และดาบคู่มือ 1 เล่มติดตัวไป ถึงหมู่บ้านไหนก็สอบถามดูความประสงค์ว่าจะมีคนเรียนมากพอหรือไม่ ถ้ามีจำนวนพอสอนได้ ก็ตั้งสำนักชั่วคราวสอน โดยส่วนใหญ่จะใช้สถานที่สงัด เช่น วัด ป่าช้า สำหรับค่าสอนจะคิดเป็นเงินตามที่ตกลงกันว่าจะเรียนมากหรือน้อย หากใครไม่มีเงินก็ขอเป็นข้าวสาร ข้าวสารที่ได้ก็นำไปขายเป็นเงินอีกทีหนึ่ง เงินค่าสอนที่สะสมตามจุดสอนต่าง ๆ ได้นำไปซื้อวัวกลับบ้าน การออกตระเวณสอนบางครั้งใช้ระยะเวลาเป็นแรมเดือน กลับบ้านครั้งหนึ่งก็ได้วัวกลับไปด้วยครั้งละ  2 - 3  ตัว

อาณาเขตที่เดินทางไปสอน ขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ จำนวนศิษย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทุกคนเรียกด้วยความเคารพยกย่องว่า “พ่อครูปวน” เมื่อชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ก็เลิกอาชีพทำนา และยึดอาชีพเป็นพ่อครูสอนเจิงอย่างเดียว หมู่บ้านแม่คือ ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่พ่อครูปวน ได้มีโอกาสไปสอนศิษย์ ที่หมู่บ้านนี้มีผู้สมัครเป็นศิษย์ประมาณ 10  คน  และหนึ่งในจำนวนนั้นมีนายกุย  สุภาวสิทธิ์ ด้วย หลังจากได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงฟ้อนเชิงสาวไหมด้วย นายกุยก็อพยพไปอยู่บ้านศรีทรายมูล  จังหวัดเชียงราย และได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจอีกเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องเป็น “พ่อครูกุย” ในเวลาต่อมา

ถึงตอนนี้ขอวกกลับไปที่บ้านแม่คืออีกครั้ง หลังจากที่พ่อครูปวนได้ถ่ายทอดแก่ศิษย์รุ่นแรกที่นั่นแล้ว ต่อมามีคนขอร้องให้ไปสอนอีก

ซึ่งพ่อครูก็มิได้ขัดข้องพ่อครูปวนขณะนั้นอายุ  80  ปี ผู้ได้รับการถ่ายทอดมีประมาณ  7  คน  และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ นายคำสุข ช่างสาร (หล้า)   ผู้เขียนในฐานะเป็นศิษย์จึงขอใช้คำว่า “พ่อครู” นำหน้าชื่อด้วยความเคารพ บทสรุปตอนนี้คือ ทั้งพ่อครูกุย  สุภาวสิทธิ์ และพ่อครูคำสุข  ช่างสาร ต่างก็เป็นศิษย์ของพ่อครูปวน  คำมาแดง  โดยพ่อครูกุย เป็น “ศิษย์ผู้พี่”  พ่อครูคำสุข เป็น “ศิษย์ผู้น้อง” สำหรับหลักฐานที่สนับสนุนบทสรุปนี้ ได้แก่

1. คำเรียกคูร
2. ขุมเชิง  (ผังการเดินเท้า)
3. แม่ลาย  (ท่ารำ)  โดยเฉพาะแม่ลายฟ้อนเจิงสาวไหม

หลักฐานดังกล่าวมีรายละเอียดมากไม่สามารถนำเสนอให้หมดได้ในคราวเดียวจึงขอให้ติดตามในวันอังคารต่อไป

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่