วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  3  มกราคม  2549 - ฟ้อนสาวไหม (3)

    ฟ้อนสาวไหม (3)

บทสรุปความเป็นมาของฟ้อนสาวไหมได้กล่าวไว้เมื่ออังคารที่แล้วว่า พ่อครูกุย  สุภาวสิทธิ์  และพ่อครูคำสุข  ช่างสาร เป็นศิษย์ของพ่อครูปวน  คำมาแดง โดยพ่อครูกุยเป็น “ศิษย์ผู้พี่”  พ่อครูคำสุข เป็น “ศิษย์ผู้น้อง” หลักฐานที่สนับสนุนสรุปนี้ คือ

       1. คำเรียกครู
2. ขุมเจิง (ผังการเดินเท้า)
3. แม่ลาย (ท่ารำ) โดยเฉพาะแม่ลายฟ้อนเจิงสาวไหม

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะหลักฐานดังกล่าวมีความสัมพันธ์กัน ด้านความเหมือนและคล้ายคลึง

    คำเรียกครู

คำเรียกครูหรือบทเรียกครูเมื่อตรวจสอบจาก
1.  เอกสารประเภทพับสาเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนาของนายปุก  สุรวงศ์ (เสียชีวิต) ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของพ่อครูปวน
2.  เอกสารบันทึกของนางบัวเรียว  รัตนมณีภรณ์
3.  ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน หลังได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพ่อครูคำสุข
เมื่อเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าค่อนข้างจะตรงกันในที่นี้จะขอนำเอาตัวอย่างบางส่วนมาแสดงประกอบดังนี้

    คำเรียกครูต้นฉบับพับสา

คำเรียกครูนี้ปรากฏในเอกสารโบราณประเภทพับสา เดิมเป็นของนายปุก  สุรวงศ์  เมื่อนายปุกเสียชีวิต บุตรชายคือ นายคำคง  สุรวงศ์ เก็บรักษาไว้ ต่อมาผู้เขียนได้ฝากตัวเป็นศิษย์นายคำคง  จึงได้รับการถ่ายทอดและขอนุญาตถ่ายเอกสารจากต้นฉบับไว้จากตัวอย่างปริวรรต เป็นอักษรไทยภาคกลางว่า “โอมพระกุมภ์ พระกัณฑ์ พระจิตพระจอด พระนารอทหื้อแก่กู พระพิสนู (พิษณุ) หื้อแก่กู มากินเหล้าแพ่งหนา มากินสุราแพ่งหน้อย ทังพ่อหมอหลวง มาปลงไว้หื้อแก่กู โอมทรงทรงกูเฮย โอมสามสิบพ่อหมอกูเป็นเคล้า เก้าสิบพ่อหมอเถ้าก็มาเป็นครูกู มีทังเชิงชายลายฅ้อนแลหอกดาบ หน้าไม้ปราบปืนไฟ ครูกูหื้อแก่กู โอมทรงทรงหื้อแก่กูไว”

    คำเรียกครูจากเอกสารบันทึกของนางบัวเรียว

คำเรียกครูนี้ เดิมปรากฏในเอกสารประเภทพับสาของพ่อครูกุย  เมื่อพ่อครูกุยเสียชีวิต น้องชายคือ นายใหม่  สุภาวสิทธิ์  เก็บรักษาไว้ ต่อมานางบัวเรียวได้ขอร้องให้นายใหม่อ่านให้ฟัง แล้วบันทึกเป็นอักษรไทยภาคกลาง ส่วนต้นฉบับเดิมได้สูญหายไปหลังจากที่นายใหม่เสียชีวิต

    คำเรียกครูของพ่อครูคำสุข

คำเรียกครูของผู้เขียน ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อครูคำสุข เหมือนกันกับฉบับของนายปุกทุกประการ เพียงแต่เพิ่มบทสุดท้าย ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับของนางบัวเรียว ซึ่งสามารถปริวรรตเป็นภาษาไทยกลางคือ

" หมอเฮย หมอเฮย ลงแท้ลงท่า ลงมาสอนตูข้า ค่าปั่นมนสนฅ้อน คูพ่าคูล่า ทังเหนอโห เส็งโขโมลั่น เพิงพ่อโมอ่อนย่อง หมอหลงหงฮ่าง หมู่แสนทางปิ้นอย่า พระเพ็งกำผา เมิงมัง เหกอังอ้อ ฟั่งฮ้างวังต่อได้ทังเพ็ง เพิงในเจ ๆ ช้อย เมนางไฮ่ว่า เข่วเอาไม้ปวยชว่า ปวยฅิงฅบพ่ายว่าย แท้เฮาเฮยหมอเฮย"

กล่าวมาถึงเฉพาะคำเรียกครูที่เป็นหลักฐานเบื้องต้น เนื้อที่สำหรับเขียนก็หมดลง คงต้องต่อกันในวันอังคารหน้าแล้วครับ

    สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่