วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

วี

วี หรือ กาวี
เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวนา สำหรับใช้พัดโบก เพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกลีบไม่มีเมล็ด น้ำหนักเบา ซึ่งเรียกว่า ขี้ลีบ รวมทั้ง เศษผง เศษฟางต่าง ๆ ให้แยกออกจากเมล็ดข้าวเปลือกที่ดี โดยใช้แรงคนพัดโบกขณะสาดข้าวหรือซัดข้าวขึ้นไปในอากาศก่อนที่จะมิการใช้วี ชาวนาใช้ใบตาลตกแต่งก้านใบให้เรียบร้อยเพื่อใช้เป็นพัดโบก ต่อมาใช้กระด้ง สำหรับฝัดข้าวมาพัดกันหลาย ๆ คนเพื่อให้เกิดแรงลม วีมีรูปร่างคล้ายพัด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีขอบคล้ายกระด้ง

วิธีการสานวี จะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่โดยเริ่มจากตรงกลางขยายออกไปรอบนอก จนมีขนาดตามต้องการ ส่วนใหญ่นิยมสานใบวีเป็นรูปวงรีและวงกลม ลายสานมักเป็นลายขัดทึบ ริมขอบวีจะเก็บริม โดยทำขอบไม้ไผ่ ใช้เส้นหวายถักขอบยัดให้แน่น ตรงกลางวีมีไม้ไผ่ขวาง วางทาบในบริเวณเส้นผ่าศูนย์ของวี วางทาบทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านหน้า และด้านหลัง ใช้เส้นหวายร้อยมัดทั้ง ๒ ด้าน ให้ยึดติดกัน ทำให้วีมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ใช้ลำไม้ไผ่ขนาดมือกำรอบทำเป็นด้าม โดยการวางทาบจากของสุดของวี จนเลยสุดของล่างออกมาอีกประมาณ ๕๐ เซาติเมตร ซึ่งทำเป็นด้ามจับวีด้วยใช้เส้นหวายร้อยถักยึดลำไม้ไผ่ที่เป็นด้ามนั้น

วิธีใช้เมื่อชาวนานวดข้าวเสร็จแล้ว เมล็ดข้าวเปลือกจะร่วงจากข้าวกองอยู่ที่ลาน ใช้ไม้คันสงฟางออกให้หมดแล้วใช้ไม้กะโห้หรือสัดทาชักลากเมล็ดข้าวเปลือกให้ มากองรวมกัน ใช้พลั่วตักเมล็ดข้าวเปลือก สาดขึ้นไปในอากาศ ชาวนาที่ยืนรายรอบถือวีอยู่นั้นจะโบกวีไปมาทำให้เกิดลม เรียกว่า การรำวี เมล็ดข้าวเปลือก หรือเศษผงเศษฟางต่าง ๆ จะลอยไปตามลมแรงลมเมล็ดข้าวที่ดีจะมีน้ำหนักจะร่วมตกลงมากองที่ลาน

การสาดข้าวหรือซัดข้าว ชาวนาจะเลือกในระยะเวลาลมพัด โดยฟังสัญญาณเสียงจากกังหันลม เพราะหากใช้แรงลมพัดตามธรรมชาติ ทำให้ไม่เหนื่อยต่อการใช้แรงพัดโบกวี

ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องวีแบบใบพัดหมุน โดยใช้แรงคนหรือเครื่องจักรหมุนแทน ฉะนั้นการใช้วีพัดโบกด้วยแรงคนแบบดั้งเดิมไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว