วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  14  กุมภาพันธ์  2549 - ฟ้อนเมืองกลายลาย (1)

    


ฟ้อนเมืองกลายลาย (1)

    ฟ้อนเมืองกลายลาย ถ้าออกเสียงแบบล้านนาจะอ่านว่า “ฟ้อนเมืองก๋ายลาย” ชื่อขอการฟ้อนนี้แยกได้เป็นสองคำ คือคำว่า ฟ้อนเมือง กับคำว่า กลายลาย“ฟ้อนเมือง” หมายถึงฟ้อนของคนเมือง (ไทยวน) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีต้นตอมาจากฟ้อนเจิง ส่วน “กลายลาย” หมายถึงการถูกปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น ซึ่งกลายในที่นี้เป็นการกลาย “ลาย” ที่หมายถึงลีลาท่าฟ้อน เรื่องนี้มีที่มาซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์คุณแม่ชื่น  กาวิละ อยู่บ้านเลขที่  113  บ้านแสนตอง หมู่  10  ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2531  ท่าเล่าให้ฟังว่าญาติอาวุโสของท่านคือแม่หม่อนดี (หม่อน =  ทวด) ได้สืบทอดการฟ้อนชนิดนี้จากคุณตาอีกทีหนึ่ง

    สมัยแม่หม่อนดียังเด็ก คุณตาของหม่อนดีท่านเป็นครูฟ้อนเจิง ปรารถนาจะถ่ายทอดวิชาฟ้อนเจิงให้บุตรหลานที่เป็นผู้ชาย แต่ท่านไม่มีบุตรหลานที่เป็นผู้ชายมีแต่เด็กหญิงทั้งนั้น แต่ด้วยความตั้งใจ ท่านได้พยายามสอนการฟ้อนแก่เด็กหญิงเหล่านั้น โดยเลือกสอนในท่าที่ค่อนข้างอ่อนช้อย เช่น บิดบัวบาน เสือลากหาง สาวไหม เป็นต้น ค่ำคืนใดเดือนหงายส่องฟ้า คุณตาจะเรียกไปสอนเสมอ ซึ่งแม่หม่อนดีก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย เมื่อฟ้อนเป็นแล้วก็ให้จับคู่ตั้งขบวนเป็นแถวเหมือนฟ้อนเมือง (ฟ้อนเล็บ) โดยทั่วไป จึงเรียกว่าฟ้อนเมือง แต่ด้วยลีลาที่มาจาก ฟ้อนเจิง ที่กลายจากท่าของผู้ชายมาเป็นลีลาของหญิงสาว จึงเรียกว่า ฟ้อนเมืองกลายลาย หมายถึงการฟ้อนเมืองที่กลายพันธุ์ประมาณนั้น

    หลังจากที่ฝึกหัดฟ้อนจนชำนาญแล้ว ได้ติดตามคณะศรัทธาวัดไปแสดงในงานบุญต่าง ๆ โดยเฉพาะงานฉลองถาวรวัตถุที่เรียกว่า “ปอยหลวง” การฟ้อนแต่ละครั้ง ได้รับความชื่นชมจากผู้ที่ได้พบเห็นเป็นประจำ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีคณะหรือบุคคลใดสนใจจะสืบทอด ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่ละวัดนิยมฟ้อนเมืองเป็นส่วนใหญ่ การฟ้อนนี้จึงมีอยู่ใน
    ละแวกเดียวคือบ้านแสนตอง และบ้านเหล่า  กระนั้นก็ตาม การถ่ายโอนลีลาท่าฟ้อนชนิดนี้ ก็ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาจากแม่หม่อนดี ซึ่งรุ่นแรก ๆ ที่จำได้คือแม่อุ้ยยอด  เวชสุคำ และรุ่นต่อมาได้แก่


    1.  แม่ต๋า  ปัญญารัตน์
    2.  แม่เตรียมตา  วงศ์วาน
    3.  แม่ประมวล  เรือนคำ (แม่งา)
    4.  แม่อร  เรือนคำ
    5.  แม่ชื่น  กาวิละ

   

    เมื่อปีพ.ศ. 2529  ผู้เขียนและคณะจากชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโอกาสไปสอนศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน แก่โรงเรียนชุมชนแม่สาบ  อำเภอสะเมิง ระยะนั้นเป็นช่วงที่ผู้เขียนสนใจเรื่องความเป็นมาของฟ้อนสาวไหมพอดี ดังนั้นเมื่อผู้เขียนไปในท้องถิ่นใดก็ตามจะต้องถามหาฟ้อนสาวไหมเสมอ ครั้งหนึ่งผู้เขียนและเพื่อนสนิทคือคุณสุชาติ  กันชัย ได้รับคำแนะนำจากผู้เฒ่าท่านหนึ่งชื่อ “พ่อหนานมา”  ว่ามีคนฟ้อนสาวไหมได้ และอยู่ที่บ้านแสนตอง ผู้เขียนและเพื่อนจึงได้ไปสืบดู ก็ได้พบกับแม่ชื่น  กาวิละ เป็นคนแรก แม่ชื่นได้กรุณาฟ้อนให้ดู พร้อมอธิบายว่า ฟ้อนชนิดนี้เรียก “ฟ้อนเมืองกลายลาย” แต่มีท่าสาวไหมรวมอยู่ด้วยทำให้คนเรียกชื่อตามที่เห็นว่าฟ้อนสาวไหม จากนั้นแม่ชื่นก็เล่ารายละเอียดให้ฟังอีกมากมาย เสียดายที่พื้นที่กระดาษหมด อดใจรอตอนต่อไปครับ

     
    สนั่น   ธรรมธิ
    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    (ภาพประกอบโดยเนติ   พิเคราะห์ และเสาวณีย์   คำวงค์)


     ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่