วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  21  กุมภาพันธ์  2549 - ฟ้อนเมืองกลายลาย (๒)

 


    ฟ้อนเมืองกลายลาย (๒)

    จากการให้สัมภาษณ์แม่ชื่อ กาวิละ กท่านเล่าให้ฟังว่า ในสมัยแม่หม่อนดี การฟ้อนเมืองกลายลายเป็นที่นิยมกันพอสมควร และมีกิตติศัพท์เลื่องลือไปถึงในเมืองเชียงใหม่ด้วย ในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๗  เสด็จเลียบมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แม่หม่อนดีและคณะยังมีโอกาสได้ไปฟ้อนถวายรับเสด็จด้วย

    ท่าฟ้อนการฟ้อนชนิดนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้กำหนดท่า หรือลีลาฟ้อนว่าต้องเหมือนกัน หรือเรียงลำดับก่อนหลังทุกท่า ผู้ฟ้อนแต่ละคนฟ้อนท่าไหนก่อนก็ได้ แต่ถึงท่าที่จะต้อง “แลกลาย” คือแลกลีลาซึ่งกันและกันจะต้องในท่าเดียวกัน แต่กระนั้นเพื่อให้เป็นระเบียบสวยงาม ภายหลังจึงมีการจัดกระบวนเป็นแถว และฟ้อนในท่าเดียวกัน ท่าฟ้อนต่าง ๆ มีดังนี้

 

๑.   ไหว้                               
๒.   บิดบัวบาน
๓.   เสือลากหาง                     
๔.   ลากลง
๕.   แทงบ่วง                          
๖.   กาตากปีก
๗.  ใต้ศอก                            
๘.   เท้าแอว (อ่าน – เต๊าแอว)
๙.   ยกเข่า                            
๑๐.  ยกแอว
๑๑. เต็กลาย  (แลกลาย)          
๑๒.  เล่นศอก
๑๓.  เต็กลายลุกยืน                  
๑๔.  บัวบานกว้าง

เมื่อชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการถ่ายทอดจากแม่ครูไปแล้ว ได้มีการสอบถามเพิ่มเติมจากนาฎกรท้องถิ่นในแถบนั้น จึงได้ท่าฟ้อนมาเสริมอีก ซึ่งท่าฟ้อนบางท่าไม่มีชื่อ จึงมีการให้ชื่อตามลักษณะการฟ้อน โดยให้ชื่อที่ใกล้เคียงกับของเดิม และเพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจและการฝึกซ้อม ชมรมฯ ได้เรียงลำดับไว้ดังนี้
๑.   ไหว้                              
๒.   บิดบัวบาน
๓.   เสือลากหาง                   
๔.   แทงบ่วง
๕.  กาตากปีก                       
๖.   ใต้ศอก
๗.  ไล่ศอก                          
๘.   จีบข้างเอวหมุน
๙.   บัวบานคว่ำหงาย              
๑๐.  ยกเอวสูง
๑๑.  แลกลาย                        
๑๒.  ใต้ศอก (นั่ง – ยืน)
๑๓.  แลกลาย                        
๑๔.  ยกเอวต่ำ
๑๕. บัวบานคว่ำหงาย              
๑๖.  ม้วนไหม (เข่า)
๑๗. ใต้ศอกลงนั่ง                  
๑๘.  ตวัดเกล้า
๑๙.  ใต้ศอกลุก                      
๒๐.  ไหว้

    การแต่งกาย การฟ้อนในสมัยโบราณไม่ปรากฏรูปแบบที่แน่นอน คงแต่งกายตามปกติสำหรับหญิงสาวที่ไปงานบุญ ต่อมามีการแต่งการให้เหมือนกัน โดยเกล้าผมมวยทัดดอกไม้ สวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าซิ่นตามแบบล้านนา และระยะหลังนี้มีการแต่งกายแบบไทลื้อ เพราะคิดว่าชุมชนบ้านแสนตอง ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทลื้อ ควรแต่งกายแบบไทลื้อตามเชื้อสาย แต่อย่างไรเสียก็พบว่า ผู้ฟ้อนหลายคนในปัจจุบัน แต่งกายแปลกแยกแตกต่างกันไปไม่มีแบบแผนที่แน่นอน

    ดนตรีประกอบการฟ้อน เนื่อง จากฟ้อนเมืองกลายลายเป็นการฟ้อน ในขบวนแห่งานบุญ ซึ่งมักมีวงกลองประเภทต่าง ๆ เช่น วงกลองตึ่งนง กลองมองเซิง กลองสิ้งหม้อง เป็นต้น การฟ้อนชนิดนี้สามารถฟ้อนเข้ากับวงกลองทุกชนิดที่กล่าวมา แต่ที่นิยมกันมากและเห็นว่าเหมาะสมที่สุดคือวงกลองมองเซิง ซึ่งปัจจุบันก็ใช้กลองมองเซิงประกอบการฟ้อนอยู่
    การฟ้อนเมืองกลายลาย เป็นฟ้อนที่มีการปรับเปลี่ยนน้อยที่สุด จึงยังคงรักษาอัตตลักษณ์เชิงนาฎศิลป์ไว้อย่างงดงาม ตามบุคลิกลักษณะของชาวล้านนาโดยแท้

    สนั่น ธรรมธิ
    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    (ภาพประกอบโดย เนติ   พิเคราะห์ และพิชัย  แสงบุญ)


     ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่