วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  28  มีนาคม  2549 - ฟ้อนกิงกะหร่า

 

 

ฟ้อนกิงกะหร่า

    ฟ้อนกิงกะหร่า เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ คำว่า “กิงกะหร่า” เป็นคำ ๆ เดียวกับคำว่า กินนร หมายถึง อมนุษย์ในนิยายซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า ๑๒๘ ว่ามี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็จะใส่ปีกใส่หางบินไป การฟ้อนกิงกะหร่าเป็นการเลียนแบบอมนุษย์ชนิดนี้ สำหรับความเป็นมานั้นมีเรื่องเล่าว่า

    ในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการไปจำพรรษา เพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตร ที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” พร้อมนั้นบรรดาสัตว์ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์อันมีกินนรและ กินนรีเป็น ต้น พากันมาฟ้อนรำแสดงความยินดีในการเสด็จกลับมาของพระพุทธองค์ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ และเฉพาะชาวไทใหญ่นิยมแต่งกายเป็นกินนรและกินนรี แล้วร่ายรำเลียนแบบอากัปกิริยาของอมนุษย์ประเภทนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อการแสดงชนิดนี้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จึงนิยมแสดงในโอกาสอื่นนอกเหนือจากแสดงในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนสำคัญของการแสดง มีทั้งอุปกรณ์ ท่ารำ และดนตรีประกอบ มีรายละเอียดดังที่จะกล่าวถึงต่อไป อุปกรณ์สำคัญในการฟ้อนชนิดนี้ คือ ตัวกินนร



    (กิงกะหร่า) ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ตัวนก”
ซึ่งมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือ ปีก หาง และลำตัว เฉพาะปีกและหางทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย แต่ละส่วนจะทำเป็นโครงก่อนแล้วผ้าแพรสีต่าง ๆ ติดหุ้มโครงและใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายตกแต่งให้สวยงาม จากนั้นนำมาประกอบกันโดยใช้ยางรัด เชือกหรือหวายรัดให้แน่น พร้อมทำเชือกโยงบังคับปีกและหางสำหรับดึงให้สามารถกระพือปีก และแผ่หางได้เหมือนนก ส่วนลำตัวผู้ฟ้อนจะใส่เสื้อผ้าสีเดียวกับปีกและหาง (อุปกรณ์การฟ้อนนี้ พบว่าบางแห่งมีเฉพาะหางเท่านั้น) นอกเหนือจากนี้ ส่วนของศีรษะอาจมีการโพกผ้าหรือสวมหมวกยอดแหลมหรือสวมหน้ากาก ซึ่งแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่น

    ส่วนท่ารำ จะเป็นท่าที่เลียนแบบอากัปกิริยาของนกเช่น ขยับปีก ขยับหาง บิน กระโดดโลดเต้นไปมาตามจังหวะของกลอง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในการกำหนดท่าการฟ้อนกิงกะหร่า บางครั้งจะแสดงคู่ชายหญิงโดยสมมุติเป็นตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นตัวเมีย จึงมีชื่อเรียกตามที่เห็นอีกชื่อคือ

    “ฟ้อนนางนก” หรือ “ก้านางนก” (ก้า=ฟ้อน)

    สำหรับดนตรีที่ใช้ประกอบ จะนิยมวงกลองก้นยาว (ปูเจ่) ตีประกอบจังหวะและใช้ท่วงทำนองหน้ากลองเป็นสิ่งกำหนดท่ารำด้วย
    อนึ่ง มีการฟ้อนอีกอย่างที่มีลักษณะคล้ายกันเรียกว่า “กำเบ้อฅง” คำว่า “กำเบ้อ” หมายถึง ผีเสื้อ ฅง คือชื่อแม่น้ำสาละวิน การฟ้อนชนิดนี้ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยเสื้อลายดอก มีสีสันแพรวพราว ศีรษะเกล้ามวยประดับด้วยดอกไม้ มีปีกที่บุด้วยผ้าลายดอกสวยงาม เวลาแสดงมีการหุบปีกกางปีกตามลีลา เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ นอกจากจะใช้วงกลองก้นยาวแล้ว ยังพบว่ามีการใช้วงกลองมองเชิงประกอบการฟ้อนด้วย


    สนั่น   ธรรมธิ
    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่