วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  4  เมษายน  2549 - เต้นโต

    เต้นโต

    เต้นโต  เป็นการแสดงของชาวไทใหญ่ ลักษณะการแสดง คือ ผู้แสดงสวมหุ่นรูปสัตว์แล้วเต้นหรือย่างย้ายตามจังหวะกลอง พร้อมทำอาการเลียนแบบสัตว์นั้น คล้ายการเชิดสิงโต

สำหรับความเป็นมา มีเรื่องเล่าเหมือนการฟ้อนกิงกะหร่า คือ ในสมัยพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา และทรงจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธองค์เสด็จลงสู่โลกมนุษย์ในวันเทโวโรหนะ ครั้งนั้นบรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่าหิมพานต์ได้พากันไปเฝ้ารับเสด็จ และแต่ละตัวต่างก็แสดงความลิงโลดดีใจ ในการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าด้วยอาการต่างๆ เมื่อมนุษย์ไปเห็นเข้าก็จดจำมาจำลองเป็นการแสดง มีการฟ้อนกิงกะหร่าและเต้นโต เป็นต้น

  •     ลักษณะของโต

รูปร่างของโต เป็นสัตว์สี่เท้า บางตัวมีขนยาวปุกปุย บางตัวไม่มีขน ส่วนหัวบางแห่งมีลักษณะคล้ายเลียงผา บางตัวมีหัวคล้ายมังกร เฉพาะที่ปากมีการออกแบบให้ขยับและคาบสิ่งของได้

 

  •     การแสดงของโต

การเต้นโตจะใช้ผู้แสดงสองคน โดยคนทั้งสองจะเอาลำตัวเข้าไปอยู่ในหุ่นโต ส่วนขาสมมุติเป็นขาหน้าคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นขาหลัง เวลาแสดงมีการเชิดเหมือนสิงโตจีน ซึ่งการแสดงทั้งสองคนต้องซักซ้อมนัดหมายกันเป็นอย่างดี ว่าจะใช้การเคลื่อนไหวจากท่าไหนไปสู่ท่าไหนจึงจะสมจริง เป็นที่ประทับใจของผู้ชม อนึ่ง การเต้นโตบางแห่งจะมีผู้แสดงอีกคนหนึ่งสวมหน้ากากออกมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งการแสดงออกจะคล้ายแป๊ะยิ้มที่พบในขบวนเชิดสิงโต ผู้แสดงดังกล่าวเรียกว่า “ผีลู” นอกจากนี้สิ่งที่ผู้แสดงเต้นโตมักแสดงความสามารถเสมอ นั่นคือการคาบธนบัตร หากผู้ชมประทับใจก็จะนำธนบัตรไปวางให้โตคาบ ซึ่งรายได้ส่วนนี้ถือเป็นการสนับสนุนให้ผู้แสดงเกิดกำลังใจ ในอันที่จะสืบสานศิลปะการแสดงชนิดนี้ต่อไป

 

  •     ดนตรีประกอบ

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเต้นโต คือวงกลองก้นยาว (กลองปูเจ่) หรือบางท้องที่อาจใช้วงกลองมองเซิง ตามแต่ความต้องการของเจ้าภาพหรือผู้แสดงเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วที่พบเห็นโดยทั่วไปจะใช้วงกลองก้นยาว ทั้งนี้อาจะเป็นด้วยสาเหตุ  ๒  ประการ คือ
    ๑.จังหวะกลอง ก้นยาวมีจังหวะในการตีเร็วเร้าใจ เหมาะสำหรับการเต้น และแสดงกิริยาตลกคะนองได้ดี แต่กลองมองเซิงมีจังหวะช้า ทำให้การแสดงดูอืดอาดน่าเบื่อ
    ๒.การเคลื่อนย้ายเครื่องดนตรี วงกลองก้นยาวใช้ฆ้องและฉาบขนาดเล็กกว่า เวลาเข้าขบวนแห่ก็สะดวกเพราะมีน้ำหนักเบา แต่วงกลองมองเซิงใช้ฆ้องใบใหญ่จนถึงเล็กสุดประมาณ  ๕ - ๙ ใบ ซึ่งยากแก่การขนย้าย ฆ้องบางใบถึงขั้นหามเพราะน้ำหนักมาก และยิ่งสมัยปัจจุบันมีการพัฒนาการตีโดยทำเป็นฆ้องราว กล่าวคือทำราวขึ้นโดยมีที่แขวนลูกฆ้องตามจำนวนที่ต้องการ แล้วติดไม้สำหรับตีให้ตรงกับตำแหน่งที่แขวนไว้ โดยใช้ไม้บังคับเพียงอันเดียว มีบานพับยกขึ้นยกลงได้ ใช้ตีแทนคน ซึ่งประหยัดคนตีไปอีกมาก เพราะจะเหลือคนตีเพียง  ๒  คน คือคนหามด้านหน้า  ๑  คน คนหามด้านหลังอีก  ๑  คน และคนหามด้านหลังจะเป็นคนตีไปด้วย

ปัจจุบันการเต้นโตมักแสดงคู่กับการฟ้อนกิงกะหร่า จนมีคนพูดติดปากว่า “ฟ้อนนกเต้นโต” ตัวของโตมีทั้งที่ออกแบบให้มีขนและไม่มีขน ดนตรีที่ใช้ประกอบนิยมใช้วงกลองก้นยาว (กลองปูเจ่) ส่วนโอกาสที่แสดงจะพบเห็นโดยทั่วไปในงานที่จัดหามาแสดง

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ เนติ  พิเคราะห์ และเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่