วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  11  เมษายน  2549 - ฟ้อนเงี้ยว


    ฟ้อนเงี้ยว

    เป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยพระราชดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยทรงมอบหมายให้ครูหลง  บุญชูหลง  ร่วมกับครูฟ้อนในคุ้มคิดท่ารำ โดยมีครูรอด  อักษรทับ เป็นผู้คิดคำร้องเข้ากับทำนองซอเงี้ยว ท่ารำของฟ้อนเงี้ยวส่วนหนึ่งเป็นการฟ้อนที่เข้ากับบทร้อง หรือคำร้องที่เรียกว่า “รำตีบท” ซึ่งเพลงร้องตอนแรกเริ่ม จะทอดเสียงยาวว่า

            “เขี้ยวลายสารโถ่ (ถั่ว) ต้มเน้อ
            พี่บ่หย่อน  เมียงนาง  น้องโลม
            ยาลำต้มโตยสู  พี่เมา  แหล่”

            จากนั้นจะเป็นคำร้อง ทำนองซอเงี้ยวว่า

            “อะโหลโลโล  ไปเมืองโก  โตยพี่เงี้ยว
            หนทางคดเลี้ยว  ข้าน้อง  จะเหลียวถาม
            หนทางเส้นนี้  เปนถนน  ก็เมืองพาน
            เฮยพ่อเฮย  ผ้าสีปูเลย  พาดเกิ่งตุ๊มเกิ่ง

            เสเลเมา  บ่าเดี่ยว  เปิ๊กเซิก็
            ข้ามน้ำเลิก็  ก็บ่ได้ขอด  สายถง
            หนามเก๊ดเก๊า  มาจ่องมาขน  ก็แมวโพง
            ต๋าวันลง  เจ้นจะแผว  ต๋าฝั่ง
            เสเลเมา  บ่าเดี่ยว  ป๊อกซ็อก
            เหล้นพ้ายป๊อก ก็เส(เสีย)  ตึงลูกตึงหลาน
            เหล้นไปแถมหน้อย ก็เส(เสีย) ตึงปิ่นตึงลาน
            เนาะพี่เนาะ  จะขี่เฮือเหาะ ขึ้นบนอากาศ

            อะโหลโลโล  ส้มบ่าโอ จิน้ำพริก
            เหน็บดอกปิ๊กซิก   มาแป๋งตาเหลือก  ตาแล
            ไปทางปู๊น  เป๋นประตู  ก็ท่าแพ
            งานนักแก  อะโหลโลโล  แม่ฮ้างแม่หม้าย”

 

    นอกจากการรำตีบท  ยังมีการรำเข้ากับจังหวะ และระหว่างที่ดนตรีบรรเลง มีการแปรรูปขบวนด้วยลีลาที่สนุกสนาน

    สำหรับดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมีทั้งวงกลองเต่งถิ้งหรือใช้วงปี่พาทย์ และอาจใช้กลองมองเซิงประกอบจังหวะด้วยเพื่อนความสนุกสนาน

    ส่วนการแต่งกายมีทั้งแต่งกายแบบไทใหญ่ และแต่งกายแบบพม่า การแต่งการแบบไทใหญ่จะนุ่งกางเกงเป้ากว้าง ขายาวครึ่งแข้งสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอกสีน้ำเงิน มีผ้าโพกศีรษะ และมีเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ข้อเท้า และการแต่งกายแบบพม่า นิยมนุ่งโสร่งตาหมากรุกแบบลอยชาย หรือโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนกระบอกหรืออาจเป็นเสื้อปัด มีผ้าโพกศีรษะและเครื่องประดับตามความเหมาะสม

    กระบวนการฟ้อนเงี้ยวแบบราชสำนักเชียงใหม่ ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ส่วนที่เป็นการแสดงจากกรมศิลปกร เป็นฟ้อนที่ได้รับการปรับปรุงโดยคุณครูลมุล  ยมะคุปต์ ซึ่งใช้เป็นหลักสูตรอบรมครู  พ.ม. มานาม ซึ่งมีเนื้อเพิ่มเติมว่า

            “ขออวยชัย  พุทธิไกร  ช่วยค้ำ
            ทรงคุณเลิศล้ำ  ไปทุกทั่ว  ตัวตน
            จงได้รับ  สรรพมิ่งมงคล
            นาท่านนา   ขอเทวา  ช่วยรักษาเถอะ
            ขอหื้ออยู่  สุขา  ด้วยธรรมานุภาพเจ้า
            เทพดาช่วยเรา  หื้อเป็นมิ่งมงคล
            สังฆานุภาพเจ้า  ช่วยแนะนำตน

            สรรพมิ่งทั่วไปเนอ  มงคล

            เทพดาทุกแห่งหน  ขอบันดาลช่วยค้ำจิ่ม
            มงแซะ  มงแซะ  แซะมง  ตะลุ่มตุ่มมง”

    การฟ้อนเงี้ยวเป็นการฟ้อนที่มุ่งเน้นความสนุกสนานและที่สำคัญ คือมีเนื้อร้องที่น่าสนใจด้านภาษา ซึ่งจะมีการศึกษาในเชิงที่มา และความหมายกันต่อไป
    
สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(เรียบเรียงข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม  ๙  หน้า  ๔๘๓๒ - ๔๘๓๓
ผนวกกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์แม่ครูเฉลิมศรี  พรหมสุวรรณ)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่