วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  18  เมษายน  2549 - ระบำซอ

ระบำซอ

ระบำซอ เป็นการแสดงประเภทฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อใช้แสดงในงานรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีงานสมโภชช้างเผือกในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ โดยเฉพาะ ระบำซอเดิมมีชื่อว่า “ฟ้อนมูเซอ” สำหรับท่าฟ้อน ส่วนหนึ่งทำท่าตีบทจากคำร้องที่แต่งเป็นบทจ๊อยและบทขับซอสรรเสริญพระบารมีที่ว่า

จ๊อยเชียงแสน

สรวมชีพ             ข้าบาทไธ้
ขออภิวาทไหว้      กราบทูลศรีดิลกรัฐนฤบดี
แทบฝ่าธุลี           ละอองบาทเจ้า
พระเดชพระคุณ    พระปกเกศเกล้า
ไพร่ฟ้าอยู่ชุ่ม       เย็นเนอ

ซอยิ้น

สาน้อมเกล้า…
ข้าพระพุทธเจ้า  กราบทูลฉลอง
บทรัตน์  พระยุคลทอง
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
บรมนาถ  พระปกเกศเกล้า
ทังพระแม่เจ้า  บรมราชินี
ทรงบุญฤทธิ์  พระบารมี
เปนที่ยินดี  ทุกคนน้อยใหญ่
จังหวัดเชียงใหม่  ไพร่ฟ้าข้าเจ้า
ทังหนุ่มทังเถ้า  ทั่วทิศทังผอง
ได้พิงเพิ่งพะ  พระร่มโพธิ์ทอง
เปนฉัตรเรืองรอง  ปกบังกั้งเกศ
พอรู้ข่าวสาร เสด็จประเวศน์
อินทร์ทิพย์เทพก็โมทนา
หื้อสายเมฆะ ฟ้าฝนธารา
ไหลหลั่งลงมาทั่วพื้นแผ่นหล้า
ธัญญาหาร  พฤกษะข้าวกล้า
ของปลูกลูกไม้ก็บริบูรณ์
เพราะเพื่อเจ้าฟ้ามหาตระกูล
ท่านทรงบุญคุณมีเปนอเนก
อารักษ์เชนเมืองอันเรืองฤทธิ์เดช
ทังเทเวศน์เจ้าก็แส้งแปลงปัน
หื้อกุญชเรศร์เศวตรเรืองพรรณ
เกิดมาเตื่อมทันสมพารพระบาท
พระปรมินทร์ประชาธิปกโลกนาถ
ปิยมหาราช หน่อพุทธางกูร
คันบ่ไช่เชื้อเจ้าตนทรงบุญ
ฉัททันต์ตระกูลไปห่อนมาเกิด
วันนี้หนาเปนวันล้ำเลิศ
เปนวันประเสริฐฤกษ์งามยามดี
จิ่งทำมังคละเบิกบายรวายศรี
ตามปาเวณีสมโภชน์ช้างแก้ว
ศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ผ่อนแผ้ว
เชิญขวัญช้างแก้วจงรีบจรดล
จุ่งมาเปนช้างที่นั่งมงคล
โดยพระจอมพลเจ้าตนเลิศหล้า
จ่งสุขสำราญแต่นี้ไปหน้า
หื้อเจ้าอยู่ม่วนกินดี
เปนพาหนะคู่พระบารมี
เฉลิมพระเกียรตินฤบดีตลอดกุ้มเถ้า

จ๊อยเชียงแสน (กลาย)

ยอประหนมบังคมก่ายเกล้า เท่านี้ขอกราบทูลองค์
ข้อหื้อทรงเดชฤทธิ์ทั่วท้าวแสนโขง
ภายหน้าทรงคระนิงใดอย่าได้คลาไคลเนิ่นช้า
หื้อจอมนรินทร์ปิ่นฟ้าอยู่เสวยราชย์ยืนต่อ

ท่ารำหรือกระบวนการฟ้อน แต่เดิมมาใช้ผู้หญิงฟ้อนทั้งหมด โดยแต่งกายเป็นหญิงชาวกะเหรี่ยงที่มีสามีแล้ว สีเสื้อกับผ้าถุงต่างกัน มีเครื่องประดับตามควรและหลังจากลบท่าฟ้อนตามคำร้อง จะแปรรูปขบวนเป็นการฟ้อนเข้ารูปเป็น “ป้อม” เหมือนการรำโคม บางทีก็ทำเป็นรูป “มังกร” มีช่างฟ้อน รำ “ล่อแก้ว” อยู่ด้านหน้า  ๑  คน และการฟ้อนต้องใช้ผู้แสดงไม่น้อยกว่า  ๙  คน จึงจะสามารถสร้างรูปหรือเข้ารูปได้

สำหรับดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจะใช้วงปี่พาทย์ผสมพิเศษ ซึ่งอาจมีกลองเต่งถิ้งหรือกลองมองเซิงร่วมด้วย ปัจจุบันการฟ้อน “ระบำซอ” ยังมีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะตามร้านอาหารที่มีลักษณะการจัดบรรยากาศแบบล้านนา แต่มีการตัดทอนกระบวนการฟ้อนให้สั้นลง

สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(เรียบเรียงจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์อาจารย์ธีรยุทธ  ยวงศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่