วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  16  พฤษภาคม  2549 - เต้นโต – ฟ้อนกิงกะหร่า


เต้นโต – ฟ้อนกิงกะหร่า

ผู้เขียนได้เคยนำเสนอเรื่อง “ฟ้อนกิงกะหร่า” และ “เต้นโต” ในคอลัมน์นี้ ฉบับวันอังคารที่  ๒๘  มีนาคม  และอังคารที่  ๔  เมษายน ที่ผ่านมา โดยให้สาระสำคัญของความเป็นมาว่า ในสมัยพุทธกาลหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากการไปจำพรรษา เพื่อโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะเสด็จลงสู่โลกมนุษย์นั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญตักบาตรที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” และพร้อมนั้นบรรดาสัตว์ต่าง ๆ จากป่าหิมพานต์อันมี “กินนร” และ “กินนรี” รวมทั้ง “โต” ได้พากันไปเฝ้ารับเสด็จโดยแต่ละชนิดต่างแสดงความลิงโลดดีใจด้วยอาการต่าง ๆ จนมนุษย์จดจำมาเป็นการแสดง


เรื่องราวของความเป็นมาดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ยังมีข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ประเสริฐ ปวโร วัดหนองปลามัน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ปราชญ์ล้านนาที่ผู้เขียนให้ความเครารพอย่างสูง พระอาจารย์ได้รับคำบอกเล่าจาก พ่ออุ๊ยส่างโพ  นันติ บ้านป่าตุ้มดอน อำเภอ พร้าว ว่าการเต้นโตและฟ้อนกิงนะหร่า มีเรื่อเล่าดังนี้

ในอดีตกาล มี “ขุนหอฅำ” (เจ้าเมือง) องค์หนึ่งชอบทำบุญทอดกฐินเป็นประจำทุกปี ครั้งหนึ่งมีหญิงหม้ายคนหนึ่งเป็นคนเข็นใจ อยากร่วมทำบุญทอดกฐินเช่นกัน จึงนำทองคำขนาดบางเท่าปีกริ้นที่ตนอุตส่าห์รวบรวมเงิน ที่หาได้มาตลอดชีวิตซื้อไว้แล้วไปขอร่วมทำบุญกับขุนหอฅำ การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับขุนหอฅำเป็นอย่างยิ่ง เพราะขุนหอฅำรังเกียจคนยากจน หญิงหม้ายรู้สึกผิดหวังและน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาของตน ที่เกิดมาอาภัยจนไม่มีใครอยากร่วมทำบุญด้วย ความรู้สึกนี้ร้อนถึง “ขุนหอสิกจา”(พระอินทร์) และ “ขุนสาง” (พระพรหม) เมื่อทราบถึงเจตนาอันเป็นกุศลของนาง จึงจำแลงกายเป็นมนุษย์ลงมาบอกกับนางว่า หากมีความประสงค์จะทำบุญทอดกฐิน ก็ให้นำเอาผ้าโพกหัวที่นางใช้อยู่ทุกวันไปซักด้วยน้ำ  ๗  แม่ให้สะอาด แล้วนำไปถวายแก่สงฆ์ก็ได้ชื่อว่าเป็นการทอดกฐินเหมือนกัน หญิงหม้ายทราบเช่นนั้นก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงรีบทำตามที่พระอินทร์แปลงบอก ครั้งถึงวันทอดกฐินของนาง ขุนหอสิกจาและขุนสาง ก็ให้เหล่าเทวดาจำแลงกายเป็นมนุษย์ พร้อมกับนางกิ่งนะหร่า (กินนรา) ซึ่งเป็นลูกสาวแห่งท้าวอุดรกุรุทวีป มาร่วมเฉลิมฉลองการทำบุญทอดกฐินของนางอย่างคับคั่ง ฝ่ายขุนหอฅำเมื่อได้ทราบว่า หญิงหม้ายจะทอดกฐินแข่งกับตนเช่นนั้นก็ให้รู้สึกโกรธมาก จึงมีบัญชาให้วิมาระซึ่งเป็นลูกชายที่มีกำลังอันกล้าแข็งพร้อมด้วยสมัครพรรคพวกมากมาย มาคอยก่อกวนงานบุญของหญิงหม้าย

เมื่อพระอินทร์พระพรหมได้ทราบพฤติกรรมของเจ้าเมืองเช่นนั้น จึงได้เนรมิตสัตว์ประหลาดขึ้นตัวหนึ่งเรียกว่า โต หรือ ซิงห์ธอ ที่เรียกว่า “ผีลู” ในภาษาไทใหญ่ ให้มาคุ้มครองเหล่าทวยเทพ นางกิ่งนะหร่าและมวลมนุษย์ที่มาร่วมงานไม่ให้ถูกรบกวนจากพวกอันธพาล โต หรือ ซิงห์ธอนั้นประกอบไปด้วยสัตว์ต่าง ๆ ถึง  ๙  ชนิดในร่างเดียวกัน คือ มี ตัวล่ำสันเหมือนสิงห์โต มีหัวเหมือนกระต่าย มีตาเหมือนมังกร มีหูเหมือนวัว มีเขาเหมือนกวาง มีลำคอเรียวเล็กเหมือนคออูฐ มีหงอนบนหัวเหมือนหงอนไก่ มีหนวดเหมือนแพะ มีพละกำลัง และท่าทางเหยาะย่างเหมือนม้า ชาวไท ใหญ่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันมา ในคราวทอดกฐินมาจนถึงทุกวันนี้ แต่โตอาจจะผิดแผกจากเดิมไปบ้าง ทั้งนี้เพื่อต้องการความสวยงามก็อาจเป็นได้

ท่านผู้อ่าน อ่านมาถึงตรงนี้คงมีหลายคนร้อง “อ้อ” เพราะข้อสงสัยที่ว่า ทำไมโตถึงมีหัวเป็นกวาง ก็เพิ่งมากระจ่างคราวนี้ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ประเสริฐ  ปวโร และพ่ออุ้ยส่างโพ  นันติ ที่กรุณาเพิ่มเติมให้ข้อมูลเกิดความหลากหลาย และคลายข้อสงสัยในบางส่วนได้

   สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่