วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  30  พฤษภาคม  2549 -  จาก “ติ่ง” ถึง “ซึง” (๒)

 

จาก “ติ่ง” ถึง “ซึง” (๒)

ชาวไทในเต๋อหงและเมืองแอมนิยมใช้ “ตัวลัว” หรือ “ติงตัวลัว” ลักษณะคล้ายติงสีของไทลื้อ แต่มีวิธีเล่นสองแบบ แบบหนึ่งเหมือนติงสี อีกแบบหนึ่งสีเหมือนซอจีน คือเอาสายคันชักเข้าไปอยู่ระหว่างสายติงสองเส้น นิยมใช้บรรเลงประกอบการร้อง “ซอ” และการแสดง “อู้กัน” (ทองแถม นาถจำนอง, “มองพัฒนาการของเครื่องดนตรีในอุษาคเนย์” ใน ดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ ๒๓ หน้า ๙๓, ๑๐๓)

บุญยงค์  เกศเทศ ได้เสนอเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของชนเผ่าไทคำตี่ที่เรียก “ติ่ง” ว่า “ติงโตรวจ” มีลักษณะเป็นเครื่องสายมี  ๒  สาย พิจารณาแล้วมีลักษณะคล้ายพิณทางอีสานหรือซอทางภาคเหนือ ทั้งน้ำเสียและจังหวะในการดีดสี (บุญยงค์  เกศเทศ, “สังคมและวัฒนธรรมของชนเผ่าไทดำตี่” ในเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “คนไทยนอกประเทศ: พรมแดนความรู้” หน้า ๒๕)

เครื่องดนตรีของเวียดนามประเภทเครื่องดีดชนิดหนึ่งคือ “ติ่งเต่า” (Tinh tau) ดร.เยน ทองไล ว่า “มี ๓ ชนิด คือขนาดเล็กระดับเสียงสูง ขนาดกลางซึ่งแพร่หลายมาก และขนาดใหญ่เสียงทุ้มต่ำ ติ่งเต่า (Tinh tau) ไม่มีหย่องตายตัว ทำจากผลน้ำเต้าผ่าครึ่ง โดยปกติจะมี  ๒  สาย แต่บางครั้งอาจมี  ๓  สาย ซึ่งทำจากเส้นไหม สายทั้ง ๒ นี้เทียบตรงกับ  ๔  และ  ๕” (ดร.เยน  ทองไล ดนตรีไทยเวียดนาม (บทคัดย่อ) ใน ดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่  ๒๓  หน้า ๘๗ -  ๘๘)

คุณอิสรา  ญาณตาล
(นักศึกษาภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทลื้อ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เคยได้ยินชาวไทลื้อ เล่านิทานและในนิทานนั้นมีคำพูดว่า “ดีดติง สีปี๋” อยู่ด้วย นอกจากนี้ คุณอิสรายังกรุณานำวรรณกรรมภาษาไทลื้อประเภทนิยายมาให้อ่าน เรื่องแรกของวรรณกรรมฉบับนี้คือเรื่อง “เสงติ่งแน็นอยู่วอยๆ” (เสียงติ่งดังอยู่วอยๆ) ภาพประกอบของเรื่องนี้เป็นภาพชายหนุ่มยืนสีติงให้หญิงสาวฟัง

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๓ 
คุณยูซี  บาบา (นักศึกษาชาวญี่ปุ่น ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ผู้กำลังศึกษาการขับลื้อของชาวไทลื้อที่สิบสองพันนา ได้กรุณาให้ยืมเทปคาสเซท ซึ่งมีเสียงชาวไทลื้อที่สิบสองพันนาสีติ่งประกอบการขับร้องภาษาไทลื้อ มาอัดต่อและเก็บไว้ และนอกจากนี้ยังนำภาพหญิงมีอายุชาวไทลื้อสิบสองพันนามาให้ดูอีก ในภาพนั้น หญิงมีอายุกำลังนั่งยอง ๆ สีติ่ง ติ่งดังกล่าวดูลักษณะเหมือนสะล้อของล้านนาทุกประการ

    เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๓  เช่นกัน ผู้เขียนได้สนทนากับนายแก้ว  อายุ  ๒๕  ปี ซึ่งอพยพมาจากบ้านเชียงบาน เขตสิบสองพันนา ประเทศจีน มาอาศัยอยู่เขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นายแก้วบอกว่าติ่งมี  ๒  อย่าง ติ่งที่บรรเลงโดยการดีดเรียก “ติ่งดีด” (ออกเสียง เต่ง – เดด) มีลักษณะคล้ายซึง และติ่งที่บรรเลงโดยการสีเรียก “ติ่งลาก” (ออกเสียง เต่งลาก) มีลักษณะคล้ายสะล้อ

ชาวไทยภูเขาบางเผ่ามีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดที่มีชื่อเรียกคล้ายติ่ง เครื่องดีดของมูเซอเรียกว่า “ตึงทิ” ของอาข่าเรียกว่า “ดึม” และของปะหล่องเรียกว่า “ดิ่ง”

ในวรรณกรรมของชาวไทเขินเรื่อง “กาลาซาเครือดอก”
ได้พรรณนาความงดงามของหอคำ(ปราสาท) ของพระเจ้าพรหมทัต ในบทพรรณาได้กล่าวถึงความไพเราะของกระดิ่งที่เรียงรายห้อยตามชายคาว่า “เสียงนั้นไปผับจอด เสียงระออดระออ เสียงวอวอม่วนเพราะปานติ่งธร้อพระยาอินทร์ เหมือนเสียงพิณพรหมต่อย” (ต่อย=บรรเลง) อีกตอนหนึ่งคือ ตอนที่พระสังกัสสนคร สั่งให้จัดงาน “ป๋างซอย” (งานฉลอง) เพื่อล่อให้เจ้าพระยากาลาซามาชมงาน (งานนี้ผู้ประพันธ์ว่า “ปอยนางแก้วหาผัว”) และในงานนี้มีการประโคมดนตรีคือ “ค้องกลองตีแกมปี่ ปัณเฑาะว์มี่

มอนันเสียงอวนพันม่วน เพราะ ต่อยติ่งธร้อ เป็นระบำม่วนป้อย” (ดร.อนาโตล  โรเจอร์ แปลติเยร์, กาลาซาเครือดอก ผูกที่  ๑  หน้า  ๓๗  และผูกที่  ๑๕  หน้า  ๓๔๓)

อย่างไรก็ตาม เรามาดูเฉพาะของล้านนากันบ้าง เอกสารของล้านนาโบราณกล่าวถึงติ่งเหมือนกัน ในวรรณกรรมโบราณของล้านนาที่จารึกในใบลานก็มีปรากฏมากมาย ดังจะยกตัวอย่างประกอบต่อไปนี้

    วรรณกรรมเรื่อง “พระยาค้างคาก” ตอนหนึ่งหลังจากพระยาแถนฟังโอวาทของพระยาค้างคากแล้วได้สั่งให้เสนาอามาตย์บรรเลงดนตรี “เขา ก็ดีดสีตีเป่า ขับฟ้อน ตีดุริยนนตรี ฆ้อง กลอง พาทย์ พิณ ปีห้อ แตรเหิน ปัณเฑาะว์ หอยสังข์ ดีดติ่ง จักเข้ และสีธะล้อ ขับยิ้งซอโคลงอุสสา นันทั่วห้องเมืองแถนที่นั้นหั้นแล”

    วรรณกรรมเรื่อง “มหาชาติกัณฑ์มหาราช”  ฉบับหิ่งแก้วมโนวอน ตอนพระยาสญชัยสั่งให้เสนาเตรียมขบวนไปรับพระเวสสันดรที่เขาวงกต ในคำสั่งตอนหนึ่งว่า “ฝูง ช่างดีดติ่งปิงจักเข้และดีดเพียะสีทร้อยจุ่งหื้อเขาดีดเขาสี” ตอนเดียวกันนี้ ฉบับพู่ชมดวงว่า “ถัดนั้นเล่าคนฝูงช่างเป่าหอยสังข์ดีดติ่งจังเข้าและเป่าวุน ปัณเฑาะว์ สีธะร้อ เพียะ พาทย์ฆ้องก็หื้อตีไป” และฉบับไฝ่แจ้เรียวแดงว่า “คนทังหลายฝูงช่างตีกลองน้อยและกลองหลวง เป่าหอยสังข์หลายสิ่ง ดีดติ่งจักเข้และพิณเจ็ดสาย ท่านทังหลายจุ่งตีจุ่งเป่า มีนับเล่าสงวนใจ”

   ตัวอย่างวรรณกรรมที่ยกมานี้ชี้ให้เห็นว่า “ติ่ง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด แต่ยังมีวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เครื่องสีด้วย วรรณกรรมดังกล่าวพบที่วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้แก่ชาดกเรื่อง “โปราพระยาบ่าว” ผูกที่  ๗  ตอนที่พระเอกคือ “เจ้าโปรา” ได้เสวยเมืองและมีมหรสพสมโภช “…การะสับมีเสียงยาย หอยสังข์เขาเป่า สีติ่งเล่าเป็นคำ ฆ้องกลองจำเป็นหมู่… ปางเมืองเจ้าโปราได้ปราบ เสวยราชย์เมืองขวาง”

จากข้อมูลที่นำเสนอมาโดยลำดับตั้งแต่ต้นแสดงให้เห็นว่า “ติ่ง” เป็นเครื่องดนตรีไทยล้านนาประเภทเครื่องสาย ซึ่งสามารถบรรเลงได้โดยวิธีดีดหรือสีให้เกิดเสียง และติ่งก็เคยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในล้านนามาก่อน จนเสื่อมความนิยมไป คงเหลือไว้แต่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด “ซึง” คู่กับเครื่องสีคือ “สะล้อ” ในปัจจุบัน

    สนั่น  ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย เนติ  พิเคราะห์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่