เรือนพญาวงศ์ - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนพญาวงศ์


แสงแดดอ่อนยามเช้า ที่ลอดผ่านร่องไม้กระดาน ตรงชานเรือน กระทบลงบนพื้นดินเบื้องล่าง ปรากฏเป็นเส้นสายที่ทำให้แปลกตาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ท่ามกลางไออากาศอันสดชื่น เมื่อมองขึ้นไปบนเรือนหลังใหญ่นั้น ดูเย็นสบาย และเป็นมิตรกับผู้มาเยือนยิ่งนัก จนอดไม่ได้ที่จะต้องแวะเดินขึ้นบันไดหน้าบ้านเพื่อเข้าไปเยี่ยมเยียนและ ทักทายผู้เป็นเจ้าของเรือน

     

เรือนกาแลหลังนี้ เป็นเรือนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อนำมาเทียบกับเรือนโบราณหลังอื่นๆที่เราได้เคยพบเห็นมา ตรงชานบ้านที่กว้างขวางจนสะดุดตา ด้านหน้าเรือนที่ใช้สำหรับเป็นพื้นที่สารพัดประโยชน์ สามารถรองรับผู้คนในงานกิจกรรมต่างๆได้อย่างมากมาย ความกว้างของชานบ้านมีขนาดเท่ากับความกว้างของตัวเรือน คือประมาณ 10 เมตร และมีความยาวไปจรดส่วนที่เรียกว่า เติ๋น ประมาณ 5 เมตร

         

หากมองจากทางด้านหน้าเรือน ก็อาจจะพอเดาได้ว่า เจ้าของบ้านผู้สร้างเรือนหลังนี้ น่าจะมีนิสัยเปิดเผย เป็นกันเองกับทุกผู้คน เล่ากันว่า ที่เจ้าของบ้านสร้างให้เรือนหลังนี้มีพื้นที่มาก ก็เป็นเพราะต้องการใช้ให้เป็นที่ประชุมหรือทำงานกัน ระหว่างพ่อหลวงคือพญาวงศ์ และลูกบ้านทั้งหลายนั่นเอง

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ "พญาวงศ์" ผู้เป็นเจ้าของเรือนนี้ เป็นนายแคว่นหรือกำนัน อยู่ที่บ้านสบทา แขวงปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เรือนไม้สักขนาดใหญ่ที่มีเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดีแทบไม่ปรากฏรอยตะปู เป็นเรือนที่ปลูกสร้างโดย ลูกเขยของพญาวงศ์ ชื่อว่า พญาอุด ซึ่งท่านเป็นนายแคว่นบ้านริมปิง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2440

   

เมื่อพญาวงศ์ได้เสียชีวิตลง ลูกหลานก็ไม่มีผู้ใดอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้อีก ต่อมาพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตตสนโต) เจ้าอาวาสพระพุทธบาทตากผ้า เจ้าคณะ อำเภอป่าซาง ได้ไปพบเรือนหลังนี้ จึงถามซื้อและได้รื้อมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ด้วย หลังจากนั้นนายแฮรี่ วอง ชาวสิงคโปร์ ได้ซื้อไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิ ดร.วินิจ-คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้มอบเรือนหลังนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกตั้งอยู่ในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน

เมื่อเราได้ขึ้นไปบนชานหน้าบ้านแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เรือนหลังนี้มีห้องแยกกันอยู่สองหลังและมีทางเดินตรงกลางเรียกกันว่า "ชานฮ่อม" ไปจนสุดถึงหลังบ้าน ห้องทั้งสองหลังนี้จะเป็นห้องนอนของสมาชิกในบ้าน และจะมี เติ๋น (คือส่วนยกพื้นจากชานบ้าน) อยู่ก่อนทางเข้าประตูห้อง เติ๋นบนเรือนพญาวงศ์นี้ค่อนข้างสูง แต่ก็ทำให้ผู้ที่นั่งสามารถวางเท้าลงมาได้อย่างสะดวก

ส่วนเติ๋นนี้ใช้เป็นที่สารพัดประโยชน์สำหรับคนในเรือน ตั้งแต่การนั่งรับประทานอาหาร นั่งพูดคุยต้อนรับแขก เป็นที่นอนของแขก และรวมไปถึงเป็นที่ทำงานต่างๆด้วย

เติ๋น ทางด้านขวามือนั้นจะเปิดโล่ง แต่เติ๋นทางซ้ายมือมีฝาไม้ปิดไว้ตรงด้านในส่วนที่ติดกับชานฮ่อม ฝาไม้ที่ปิดไว้นี้ เรียกกันว่า "ฝาลับนาง" เป็นส่วนของฝาที่ยื่นเลยฝากั้นห้องนอนออกไป กล่าวกันว่า ใช้เป็นที่กำบังของหญิงสาวหรือเจ้าของเรือนที่จะแอบมองหนุ่มผู้มาเยือนบนเติ๋นในประเพณีแอ่วสาวยามค่ำคืนในอดีต

ถัดจากเติ๋น จะเป็นห้องนอน ซึ่งเรือนพญาวงศ์จะมีห้องนอนอยู่สองหลัง ห้องนอนด้านขวามีขนาดใหญ่กว่าด้านซ้าย และมีหิ้งไม้อยู่หลังห้องยื่นออกไปนอกบ้าน หิ้งนี้น่าจะเป็นหิ้งพระ เนื่องจากหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษมักไม่ทำยื่นออกไปนอกบ้านเช่นนี้ และห้องด้านนี้ยังมีประตูทะลุออกไปยังบริเวณชานฮ่อมได้อีกด้วย

เรือนพญาวงศ์คงเป็นเรือนที่มีผู้อยู่อาศัยมาก จึงมีเรือนนอนอยู่ถึงสองหลัง ทั้งนี้ในเรือน กาแลล้านนาทั่วไป คนในครอบครัวมักจะนอนรวมกันในห้องเดียวกัน ส่วนอีกห้องหนึ่งนั้นมักจะเป็นห้องครัว ซึ่งในเรือนพญาวงศ์นี้สร้างห้องครัวขึ้นมาเพิ่มเติม ตรงด้านหลังเรือนถัดจากเรือนนอนด้านซ้ายไป มีความกว้างประมาณ 3 เมตรและยาวราว 2 เมตร ใช้ฝาไม้ไผ่บุโดยรอบ เรียกกันว่า ฝาไม้บั่ว อันมีประโยชน์คือทำให้อากาศถ่ายเทตอนประกอบอาหาร

นอกจากนี้ทางด้านข้างของเรือนพญาวงศ์ ยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นของคู่กันมากับเรือนด้วย นั่นคือ หลองข้าว (ยุ้งข้าว) หลองข้าวนี้ตั้งอยู่บนเสาไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3 เมตร ไม่มีบันไดขึ้น ใช้เสาไม้ถึง 14 ต้น มีความกว้างราว 1.5 เมตร และยาวเกือบ 10 เมตร ส่วนบนของฝาโดยรอบ ทำเป็นซี่ไม้นำมาไขว้ต่อกันอย่างงดงาม เป็นการนำศิลปะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี

    หลองข้าว ถือเป็นหน้าตาของเจ้าของบ้านอีกประการหนึ่ง กล่าวกันว่า หลองข้าวบ้านใครมีขนาดใหญ่ แสดงว่าเจ้าของบ้านมีฐานะที่มั่นคง เช่นเดียวกับคติการพิจารณาความขยันของคนในบ้าน จากจำนวนของไม้หลัว (คือไม้ผ่าเป็นซีกใช้ทำฟืน) หากมีเป็นจำนวนมากวางเรียงไว้เต็มใต้ถุนบ้าน ก็แสดงว่า เจ้าของบ้านเป็นคนขยันน่ายกย่อง

หลองข้าวนี้ถูกนำมาปลูกสร้างไว้ข้างเรือนพญาวงศ์ บริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยได้รับการสนับสนุนการซ่อมแซมและต่อเติมให้สมบูรณ์ จากคุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ และ บุตรธิดา ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการศึกษาเรือนโบราณล้านนา

ในความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าขานว่า สมัยที่เรือนนี้สร้างขึ้นใหม่ ๆ มักมีผู้คนไปมาหาสู่กันมากมาย จวบจนปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านร้อนหนาวมานานเต็มที แต่เรือนพญาวงศ์และหลองข้าววิชัย เลาหวัฒน์ ก็ยังคงสง่างามเคียงคู่กันอยู่ ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังคงมนต์ขลัง แห่งความเป็นเรือนล้านนา ที่รอให้ผู้มาเยี่ยมชม อยู่ไม่เสื่อมคลาย ในบางโอกาส เราก็ได้ใช้บริเวณเรือนโบราณเหล่านี้ ในการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดมา

บทความโดย วีรยุทธ นาคเจริญ

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/oldhome/prayawong/


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-