เรือนพญาปงลังกา - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนพญาปงลังกา


เรือนไม้โบราณหลังหนึ่งในกำแพงเมืองเชียงใหม่ อายุ 108 ปี ตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 652 ออกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ให้ไว้แก่นางน้อย ผู้เป็นบุตรสาวของ พญาปงลังก๋า และนางคำมูลย่าของข้าพเจ้า ชื่อ นางคำใส คือ บุตรคนหนึ่งของนางน้อย เป็นหม่อน หรือทวดของข้าพเจ้า และจากเอกสาร แบบสำรวจราษฎร ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ลงวันที่ 14 กันยายน 2483 ปรากฏข้อมูลว่าย่าของข้าพเจ้าเกิดเมื่อ พ.ศ. 2436 ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เรือนไม้หลังนี้ สร้างเมื่อย่าอายุได้ 3 ขวบ คือราว พ.ศ. 2439 ซึ่งตรงกับอายุเมืองเชียงใหม่ ครบ 600 ปี ปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) “เรือนพญาป๋งลังก๋า” จึงมีอายุ 108 ปี

  

ข้าพเจ้าและน้อง ๆ รวม 5 คน มีความรัก และผูกพันกับเรือนหลังนี้มากที่สุด เพราะนอกจากพวกเราจะเกิดในเรือนหลังนี้แล้ว พวกเรายังเติบโต อยู่อาศัยในเรือนไม้หลังนี้ พร้อมกับพ่อและแม่ และญาติที่มีศักดิ์เป็นน้าอีกหลายคน จนกระทั่งพวกเรามีครอบครัว ย้ายออกไปทีละคน จนเหลือน้องสาวคนกลาง คือ พูนสวัสดิ์ อยู่อาศัยกับครอบครัว และเมื่อลูก ๆ ของพูนสวัสดิ์ ประสงค์จะรื้อถอนเรือนไม้หลังนี้ เพื่อก่อสร้างอาคารที่อยู่ใหม่ พูนสวัสดิ์ ได้มาปรึกษาข้าพเจ้าว่า มีผู้มาติดต่อขอซื้อเรือนไม้หลังนี้ ในราคา 300,000 บาท แต่ผู้ซื้อประสงค์จะนำไม้ไปทำประโยชน์อย่างอื่น มิได้คงไว้เป็นเรือนโบราณทั้งหลังต่อไป จึงไม่อยากขาย แต่ก็มีความจำเป็นที่จะใช้เงินส่วนนี้ มาสมทบค่าก่อสร้างบ้านหลังใหม่ ข้าพเจ้าจึงแจ้งไปว่า จะจ่ายเงินช่วยการก่อสร้างบ้านหลังใหม่ให้ ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ผู้มาขอซื้อและจะต้องอนุรักษ์ “เรือนพญาปงลังก๋า” ไว้ให้มีอายุยาวนานที่สุด อย่างน้อยชั่วอายุของพวกเราพี่น้อง 5 คน ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 5

      

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ (ฉบับที่ 69 ประจำวันที่ 24 ก.พ. – 2 มี.ค. 2546) ทราบว่าสำนักส่งเสริมศิลปวัมนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อนุรักษ์เรือนโบราณและมีกลุ่มเรือนโบราณอยู่หลายหลัง เป็นศูนย์รวมประวัติความเป็นมา และศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัยของคนล้านนาในอดีต

    เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 ข้าพเจ้าจึงไปที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เพื่อพบกับ รศ. พงศ์เดช ไชยคุตร ผู้อำนวยการสำนักฯ และได้รับทราบถึงการอนุรักษ์เรือนโบราณ ให้เป็นแหล่งศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าจึงแจ้งความประสงค์มอบเรือนพญาปงลังก๋า ให้สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อได้ไปชมกลุ่มเรือนโบราณที่อนุรักษ์ไว้ โดยอาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว รองผู้อำนวยการของสำนักฯ แนะนำเยี่ยมชมแล้ว ก็คิดว่าเป็นการดีที่สุดที่ได้มอบเรือนดังกล่าวให้รวมกับ กลุ่มเรือนโบราณที่มีผู้มอบไว้ก่อนหน้านี้แล้วหลายหลัง นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานของทางสำนักฯ ที่เป็นอาคารแบบฝรั่งอายุกว่า 80 ปี และคงสภาพดีมาก นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก สะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรือง ในเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้คนในอดีตของเมืองเชียงใหม่

    เมี่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ประธานมูลนิธิ จุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ได้มอบเงินจำนวน 200,000 บาท ให้กับ ผศ. ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย และปลูกสร้าง “เรือนพญาปงลังก๋า” ให้อยู่ในบริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปร่วมพิธีมอบเงินครั้งนี้ด้วย จึงขอถือโอกาสนี้ ขอบพระคุณ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และมูลนิธิจุมภฏ –พันธุ์ทิพย์ ที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนไทยโบราณล้านนา จึงกรุณามอบเงินจำนวนดังกล่าว นับเป็นพระคุณอันใหญ่หลวงแก่ข้าพเจ้า และพี่น้องทุกคน และทราบว่า มูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ได้ให้ความช่วยเหลือลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว

    วันที่ 26 – 31 ธันวาคม 2546 สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินการรื้อถอนเรือนพญาปงลังก๋า ขนย้าย ไปปลูกสร้างในบริเวณของสำนักฯ ได้ปลูกสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ภายใต้การดูแลของคุณเศรษฐศิลป์ อินถาบุตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ ของสำนักฯ ในการรื้อถอน ปลูกสร้าง ได้ทำพิธีตามแบบล้านนาเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งได้ศึกษาประวัติความเป็นมา และภูมิสถาปัตย์ของการก่อสร้างเรือนหลังนี้ เช่น การประกอบไม้โครงสร้างเรือนหลังนี้ในแบบโบราณ การพบผ้ายันต์ที่หัวเสาบ้านที่ทำไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อครั้งปลูกสร้างบ้านหลังนี้ในอดีต ตลอดจนพยายามศึกษาค้นคว้า จากเอกสารตำราต่าง ๆ ทั้งได้ไปพบผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเรือนหลังนี้ให้มากที่สุด จึงขอขอบคุณมา ณโอกาสนี้

ข้าพเจ้าและน้องทุกคนได้มอบ “เรือนพญาปงลังก๋า” ให้กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้ว่าจะมีความอาลัยด้วยความผูกพัน แต่ด้วยเห็นว่า จะเป็นสมบัติของเมืองเชียงใหม่ ที่จะเป็นแหล่งศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรมด้านที่อยู่อาศัยในโบราณกาล อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและบ้านเมืองสืบไป

  บทความโดย จรัส วณีสอน

                            สาแหรกตระกูล

พญาปงลังก๋า + นางคำมูล ............................................................................................ เก๊า
นางน้อย (ถึงแก่กรรม 2482) + นายถา (เป็นหม่อน หรือ ทวด ของคุณจรัส) ................................     ลูก
นางคำใส (2436 - 2513) + นายอินต๊ะ (เป็นย่าของคุณจรัส เล่าว่าสร้างบ้านหลังนี้เมื่อย่าอายุได้ 3 ขวบ).. หลาน
นายบุญรัตน์ (2457 - 2533) + นางศรีนวล วณีสอน (เป็นพ่อและแม่ของคุณจรัส).....................         เหลน   

* นายจรัส วณีสอน ...............................................................   โหลน
* นางพัฒนา จิตรกุล ...............................................................    "
* นางพูนสวัสดิ์ ทองประดี .........................................................    "
* นางยุคนธ์ วณีสอน ...............................................................    "
* นางสายสมร อุทยาวลี ............................................................    "    

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-