เรือนลุงคิว - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนลุงคิว


เป็นอาคารรูปทรงแบบโคโลเนียล (Colonial) หรือทรงอาณานิคม เดิมเคยเป็นบ้านของ นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวริเปอล์(Arther Lionel Queripel) สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2465 มีหม่องตันเป็นสถาปนิก และผู้รับเหมาก่อสร้างในปี พ.ศ. 2506 บ้านหลังนี้ถูกเวนคืนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ทำการของสถาบันวิจัยสังคม และเมื่อสถาบันวิจัยสังคมย้ายไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ อาคารหลังนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นที่ทำการ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา

เกี่ยวกับนายเคอริเปอล์ หรือบ้างเรียกคิวริเปอล์ หรือนายคิวเจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้ เป็นชาวอังกฤษมีภรรยาคนไทยชื่อ นางดอกจันทร์ เป็นชาวลำปาง เชื้อสายไทใหญ่ นายคิวริเปอล์เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นพนักงานของบริษัททำไม้ บอมเบย์ เบอร์ม่า จำกัด พ.ศ.2443-2457 ทำงานที่เชียงใหม่และแพร่ บางครั้งก็เข้าไปทำงานในประเทศพม่า พ.ศ. 2453-2462 ทำงานที่กรุงเทพฯ ในฐานะผู้จัดการของบริษัทดังกล่าว

นายคิวริเปอล์ถึงแก่กรรม ที่โรงพยาบาลจุฬา กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2489 (ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอังกฤษได้ปลดอาวุธที่สวนลุมพินี และโรงพยาบาลจฬาเป็นที่พักรักษาตัวของทหารอังกฤษ)

นายคิวริเปอล์ผู้นี้สามารถพูดภาษาคำเมืองได้คล่อง เป็นคนรักศิลปะและกีฬาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาโปโล ส่วนด้านศิลปะนั้นนายคิวริเปอล์เป็นผู้ที่ชอบการแกะสลัก และทอผ้ามาก เป็นฝรั่งคนแรกที่ว่าจ้างให้ช่างพื้นบ้านแกะสลักรูปช้างประดับภายในบ้าน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นายคิวริเปอล์ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น กีรติปาล โดยขอนามสกุลจาก พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพยอาภา

บริเวณที่ตั้งบ้านของนายคิวริเปอล์นี้ แต่เดิมเรียกกันว่า "หลิ่งห้า" บริเวณบ้านมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ล้อมด้วยรั้วลวดหนาม และปลูกไม้ไผ่รอบบ้าน มีสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น วัว ควาย แพะ และมีการปลูกไม้ดอกไม้ผลนานาชนิด โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ นายคิวริเปอล์ คือคนแรกที่นำมาปลูกในเมืองไทย ผลไม้จากสวนของนายคิวริเปอล์ได้ส่งไปถวาย รัชกาลที่ 7 และมอบให้ หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม เป็นประจำทุกปี ส่วนสวนดอกไม้นั้นสวยงามเป็นที่ร่ำลือ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเชียงใหม่ พระองค์ทรงเสด็จมาชมสวนภายในบริเวณบ้านของนายคิวริเปอล์แห่งนี้ด้วย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้มายึดตึกแห่งนี้เป็นที่ทำการ และได้ฝังระเบิดไว้รอบๆ บ้าน เมื่อสงครามสงบ ทางราชการจึงได้กู้ระเบิดออก จากนั้นหลวงปู่แหวนสุจิณโณ และพระธุดงค์ได้เข้ามาปักกลดอยู่ หลังจากนั้นลูกๆ ของนายคิวริเปอล์จึงเข้ามาซ่อมแซม และเข้ามาอาศัย จนกระทั่งมีการเวนคืนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุมัติเป็นที่ทำการสถาบันวิจัยสังคม และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-