ความเชื่อ พิธีกรรม - การเตรียมเก็บเกี่ยวข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/11/2008
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การเตรียมเก็บเกี่ยว - ความเชื่อ พิธีกรรม (ศรีเลา เกษพรหม ผู้เขียน)

:: ตาแหลว ::

 

  • ปักตาแหลวไว้ 4 มุมของที่นา

เมื่อข้าวเริ่มแก่ พ่อนา(เจ้าของนา)จะสานตาแหลว 3 ตา ผูกติดกับหลักไม้ปักไว้ 4 ุมของที่นา เพื่อป้องกันสัตว์และสิ่งร้ายต่างๆ ไม่ให้มารบกวนข้าว พร้อมกับกล่าวคำโวหารว่า … “สัตว์เสด็จไปในอากาศ สัตว์อย่าล่าเหนือดิน อย่าหื้อสูมาใกล้ สัตว์ร้องไห้หนีไป โอมเห เห สวาหะ โอมอ้ายสามตาจุ่งหื้อมึงมาอยู่รักษานา และรักษาไร่กู มีสัตว์สองตา หื้อมึงไล่ไปไกลตกดง หื้อขับไปส่งเสียขุนห้วย โอมอะเลโอมเล สัตว์ทั้งฝูงหื้อหนีไป โอมปุอุเขตตัง อะนุตตะรัง ฮ่าเพี้ยงหัวแดง แมงบ้งหัวสั่น หื้อหนีไปดอย”

  • ค้างข้าวแรก

ในช่วงที่ข้าวกำลังสุก เจ้าของนาต้องคอยระวังรักษาบริเวณที่ใช้สำหรับทำพิธีแรกนาให้สะอาด เพราะเชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเสื้อนา พระโพสพ และเทวดาอารักษ์ ที่คอยดูแลรักษาข้าว การแสดงความไม่เคารพ เช่น ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ในบริเวณนั้น เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะโกรธ และจะบันดาลให้ผลผลิตในเรือกสวนไร่นาเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าเรื่องนี้สำคัญมากจึงมีข้อกฎหมายกำหนดว่า “ผู้ใดขี้เยี่ยวใส่นาข้าวแรก แดนแต่กาละ(ปลูก) ไปถึงข้าวดีเกี่ยวนั้น หื้อมันหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ หื้อเจ้านาบูชาเสื้อ(นา)เสียเทอะ” โดยให้บุคคลนั้นนำสิ่งของที่กำหนดไว้ในกฏหมายไปขอขมาเจ้าของนา เจ้าของไร่ เจ้าของสวนที่เสียหาย เพื่อนำไปสังเวยขอขมาเทวดาที่บริเวณค้างข้าวแรก

 

  • ค้างข้าวแรก

ในช่วงที่ข้าวกำลังสุก เจ้าของนาต้องคอยระวังรักษาบริเวณที่ใช้สำหรับทำพิธีแรกนาให้สะอาด เพราะเชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเสื้อนา พระโพสพ และเทวดาอารักษ์ ที่คอยดูแลรักษาข้าว การแสดงความไม่เคารพ เช่น ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ในบริเวณนั้น เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะโกรธ และจะบันดาลให้ผลผลิตในเรือกสวนไร่นาเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าเรื่องนี้สำคัญมากจึงมีข้อกฎหมายกำหนดว่า “ผู้ใดขี้เยี่ยวใส่นาข้าวแรก แดนแต่กาละ(ปลูก) ไปถึงข้าวดีเกี่ยวนั้น หื้อมันหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ หื้อเจ้านาบูชาเสื้อ(นา)เสียเทอะ” โดยให้บุคคลนั้นนำสิ่งของที่กำหนดไว้ในกฏหมายไปขอขมาเจ้าของนา เจ้าของไร่ เจ้าของสวนที่เสียหาย เพื่อนำไปสังเวยขอขมาเทวดาที่บริเวณค้างข้าวแรก

  • การแฮกนาก่อนเกี่ยว

การแฮกนาก่อนเกี่ยวข้าว เป็นการทำพิธีก่อนที่จะทำการเกี่ยวจริง เมื่อชาวนาลดน้ำในนาแห้งแล้ว จะหาฤกษ์หาวันที่ดี โดยจะใช้กระทงบรรจุอาหารคาวหวาน หมาก เมี่ยง บุหรี่ พลู กล้วย อ้อย จำนวน 5 กระทง กรวยดอกไม้บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ธูปเทียน แล้วนำไปวางบนแท่นบูชาที่จัดเตรียมไว้บริเวณที่เคยทำเป็นค้างข้าวแรก เสร็จแล้วนำไปเซ่นสรวงแม่ธรณีเจ้าที่และแม่โพสพ เพื่อเป็นการบอกกล่าวขออนุญาตเกี่ยวข้าว จากนั้นเจ้าของนาก็ทำพิธีเกี่ยวข้าวเอาฤกษ์ 9 กอ นำไปวางบนแท่นที่เตรียมไว้ เป็นการบูชาแม่โพสพ หลังจากนั้น 2-3 วันเจ้าของนาและคนอื่นช่วยกันเกี่ยวข้าวที่เหลือทั้งหมด
อย่างไรก็ตามชาวนาบางคนจะไม่ทำพิธีแฮกก่อนเกี่ยว เนื่องจากถือว่าได้ทำพิธีแฮกก่อนปลูกแล้ว

:: ข้าวเริ่มสุก ::

:: ข้าวต่าว ::

  • การเตรียมเก็บเกี่ยวข้าว

ในช่วงที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว คือประมาณปลายเดือนตุลาคมไปจนกระทั่งเดือนธันวาคม ข้าวที่ปลูกไว้จะเริ่มสุกพอที่ชาวไร่ชาวนาจะเก็บเกี่ยวได้ โดยเมล็ดข้าวจะเต่ง รวงข้าวจะโน้มตัวลง สีของเมล็ดข้าวจะเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลืองหรือสีขาวหรือสีแดง ตามชนิดของพันธุ์ข้าวที่ปลูก ใบข้าวจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และชาวไร่ชาวนาก็จะเตรียมเก็บเกี่ยวข้าว

:: ข้าวสุกเต็มท้องนา ::
    

  • การลดน้ำ

เมื่อเห็นว่าข้าวสุกเต็มทุ่งนาพอที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยทั่วไปในนาที่มีน้ำขังอยู่ชาวนาจะปล่อยน้ำออกจากนาจนหมด การลดน้ำนี้ทำเพื่อเร่งให้เมล็ดข้าวสุกเร็วขึ้น และเพื่อให้พื้นนาแห้งสะดวกในการเก็บเกี่ยว ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นข้าวล้มเมื่อข้าวสุกเต็มที่ และยังทำให้ตากข้าวในนาได้ดี ไม่ต้องกังวลว่าข้าวที่ตากไว้จะเปียกน้ำ
 

  • การหนะข้าว

ระยะที่ข้าวสุกจะเป็นช่วงเวลาปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในช่วงเวลานั้นมักจะมีลมแรงพัดซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวล้มปนเปกัน (เรียกว่า “ข้าวต่าว”) ยากในการเกี่ยว หรือเมื่อข้าวแก่รวงข้าวจะย้อยลงทำให้เกี่ยวยาก
เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวต่าวหรือง่ายในการเกี่ยวเมื่อเห็นว่าข้าวแก่จัดชาวนาบางคนจึงทำให้ต้นข้าวเอนไปทางเดียวกัน
เรียกว่า “หนะข้าว” การ “หนะข้าว” ในสมัยโบราณจะใช้ไม้ไผ่ 1 ลำ ยาวประมาณ 2 เมตรเศษ (ปัจจุบันบางคนใช้เชือกฟางแทนไม้ไผ่) แล้วให้คนถือปลายไม้ไผ่ข้างละคน เอาไม้ไผ่นั้นพาดไปที่ต้นข้าวในนา และก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กันทั้งสองคน ต้นข้าวก็จะเอนลงไปทางเดียวกัน

:: การนั่งเกี่ยวข้าวต่าว ::

:: การยืนเกี่ยวข้าวต่าว ::

เอกสารอ้างอิง
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545.


อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า