การเกี่ยวข้าว - อุปกรณ์ในการเกี่ยวข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/11/2008
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การเกี่ยวข้าว - อุปกรณ์ในการเกี่ยวข้าว

  


โดยทั่วไปชาวไร่ชาวนาในล้านนาส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือช่วยในการเกี่ยวข้าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ เคียว และ แกระ

  • เคียว

เคียวเป็นเครื่องมือที่ใช้เกี่ยวข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้เกี่ยวข้าวทั้งข้าวที่ปลูกในนาและข้าวไร่ที่ปลูกบนภูเขา
ในอดีตชาวไร่ชาวนาแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะทำเคียวขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นเคียวที่มีขนาดเล็กกว่าเคียวเกี่ยวข้าวในภาคกลาง

เคียว 1 เล่ม ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นด้ามถือและส่วนที่เป็นคมเคียว ส่วนที่เป็นด้ามถือมีทั้งที่ทำด้วยไม้จริงและไม้ไผ่ อาจมีการแกะสลักด้ามเคียวเพื่อความสวยงาม ส่วนที่เป็นคมเคียวมี 2 แบบ คือแบบคมเรียบเหมือนมีดและแบบคมฟันเลื่อย เคียวที่มีคมเคียวแบบคมฟันเลื่อยและมีความโค้งของตัวคมเคียวน้อย เรียกว่า “เคียวหางไก่หรือเคียวลา” ส่วนเคียวที่มีคมเคียวแบบคมเรียบเหมือนมีด และมีความโค้งของตัวคมเคียวคล้ายครึ่งวงกลม เรียกว่า “เคียวว๊อง”


:: เคียวหางไก่ ::

:: เคียวว๊อง ::


   

::เคียวของชาวกะเหรี่ยง ::     

 



:: เคียวของชาวกะเหรี่ยงอีกแบบหนึ่ง ::

:: เคียวของชาวขมุ ::

:: เคียวของชาวลัวะ ::

:: เคียวของชาวลัวะอีกแบบหนึ่ง ::

:: เคียวของชาวม้ง ::


:: เคียวของชาวไทใหญ่ ::

:: เคียวจีนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ::

ปัจจุบันชาวไร่ชาวนาในหลายพื้นที่นิยมใช้เคียวจีนเกี่ยวข้าว เคียวจีนนี้หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

  • แกระ

นอกจากเคียวแล้วชาวเมี่ยนและชาวม้งในบางพื้นที่ ยังมีเครื่องมือเกี่ยวข้าวอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายแกระเกี่ยวข้าวของชาวนาในภาคใต้ ชาวม้งบางพื้นที่เรียกแกระว่า “หวู” หรือ “วู” หวูมักใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวไร่สายพันธุ์ที่มีลำต้นค่อนข้างเหนียว ประกอบกับข้าวไร่มักขึ้นปะปนกับหญ้าและต้นไม้อื่น การใช้หวูเกี่ยวข้าวจะทำได้สะดวกกว่าใช้เคียว เพราะสามารถเลือกเกี่ยวเฉพาะต้นหรือเฉพาะรวงข้าวได้ หวูมี 2 แบบ คือ แบบมีด้ามจับและแบบไม่มีด้ามจับ

แบบมีด้ามจับ
ตัวหวูทำด้วยแผ่นไม้จริงหรือทำด้วยเขาสัตว์ หรือเหล็กแผ่นไม่หนานัก (ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้พลาสติกแทน) ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว สูงประมาณ 7-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ส่วนที่เป็นมุมด้านล่างของตัวหวูจะมีลักษณะเป็นมุมแหลม ตรงกลางทำเป็นร่องยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตรเพื่อเสียบใบมีด ซึ่งใบมีดนี้สามารถถอดเก็บหรือเปลี่ยนใหม่ได้ ด้านบนของหวูยึดติดกับกิ่งไม้ไผ่ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นด้ามจับ ปลายด้ามจับด้านหนึ่งมีลักษณะเรียวแหลม


   

:: หวูแบบมีด้ามจับ ::


:: แกระแบบไม่มีด้ามจับ ::

(ภาพจากหนังสือการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน)

แบบไม่มีด้ามจับ           
ตัวหวูทำด้วยไม้จริงถากเป็นแผ่นบางๆ รูปครึ่งวงกลมหรือเกือบครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนกว้างจะทำมุมแหลม สอบเข้าด้านใน ตรงกลางจะทำร่องยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตรเพื่อใส่ใบมีด ส่วนที่เป็นไม้ตรงกลางจะเจาะรูประมาณ 2-3 รู ใช้เชือกร้อย เมื่อใช้งานจะสอดนิ้วมือเข้าไปในเชือก ซึ่งทำให้ถือหวูได้กระชับมือและใช้ได้สะดวก

เอกสารอ้างอิง
จันทบูรณ์ สุทธิ   ,การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน เชียงใหม่ : หจก. นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์. 2539

ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น และ นิรันดร์ ยงไสว ,เทคนิควิทยาพื้นบ้านล้านนา. ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง. 2541

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  254


ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/~postharvest/

และ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า