อุปกรณ์ฟาดข้าวหรือตีข้าว - การนวดหรือฟาดข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การนวดหรือฟาดข้าว - อุปกรณ์ฟาดข้าวหรือตีข้าว

ขั้นตอนต่อจากการตากข้าวหรือการกองข้าว คือการทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าว เรียกว่าการ “ย่ำข้าว” หรือ ”บุบข้าว” หรือ “ฟาดข้าว” หรือ “ตีข้าว”การทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวนี้ ในอดีตหลายคนจะทำในเวลากลางคืน (ถ้าเป็นคืนเดือนมืดจะใช้ตะเกียงจุดให้แสงสว่าง) เพราะในช่วงกลางวันไม่มีเวลาว่าง เนื่องจากต้องไปตอบแทนแรงงานผู้อื่นซึ่งมาช่วยงานในไร่นาของตน


ก่อนจะนวดหรือฟาดข้าว ชาวไร่ชาวนาก็จะไปขนข้าว (จากที่ตากแดดหรือเอาออกจากกองข้าว) มาวางที่ตาราง เรียกขั้นตอนนี้ว่า “ลอมข้าว” การลอมข้าวนี้บางคนจะเอาข้าวเฟ่ามาวางซ้อนกันเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมรอบ ตาราง โดยเว้นช่องว่างให้คนสามารถเข้า-ออกตารางได้



:: การลอมข้าวรอบตารางของชาวกะเหรี่ยง ::

ชาวไร่ชาวนามีวิธีการทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าวหลายวิธี แต่ละวิธีมีอุปกรณ์ให้เลือกใช้หลายชนิด ซึ่งแบ่งตามลักษณะของการใช้งานได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ อุปกรณ์การฟาดหรือตีข้าว และอุปกรณ์รองรับการฟาดหรือตีข้าว

อุปกรณ์ฟาดข้าวหรือตีข้าว
อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟาดข้าวหรือตีข้าว มีหลายชนิดและหลายแบบ ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของการใช้งานได้ 2 ลักษณะ คือ การใช้หนีบรัด และ การใช้ฟาดหรือตีข้าว การเลือกใช้ชนิดใดและแบบใด ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดหา และความถนัดของผู้ใช้

อุปกรณ์ในการหนีบรัด

นอกจากม้าวแล้ว (ดูอุปกรณ์ขนข้าวเฟ่าเพิ่มเติม) อุปกรณ์ที่ชาวไร่ชาวนาใช้ในการหนีบรัดข้าวเฟ่า ได้แก่ ไม้หนีบ ไม้แก๊ง

ไม้หนีบ
ไม้หนีบ (บางพื้นที่เรียกว่า “ไม้หีบ”) คือไม้ที่ใช้หนีบข้าวเฟ่า เพื่อความสะดวกในการฟาดข้าวเฟ่า ไม้หนีบทำจากไม้จริงหรือไม่ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว มีความยาวประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 ท่อน เจาะรูที่ปลายด้านหนึ่งของแต่ละท่อน แล้วใช้เชือก(บางคนใช้โซ่แทนเชือก) ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ร้อยกับไม้ทั้ง 2 ท่อน


:: ไม้่หนีบ ::



:: ไม้แก๊ง ::

ไม้แก๊ง

ชาวไทใหญ่บางพื้นที่ใช้ “ไม้แก๊ง” ช่วยในการหนีบรัดข้าวเฟ่า แล้วนำไปฟาดกับอุปกรณ์ที่ใช้รองรับ ไม้แก๊งมีทั้งที่ทำจากไม้จริงและไม้ไผ่ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ไม้แก๊งเป็นไม้ที่มีปลายด้านหนึ่งแหลม จากส่วนด้ามเข้ามาประมาณ 1 คืบ เซาะเป็นร่องเล็กน้อยเพื่อใช้เชือกที่มีความยาวประมาณ 1 เมตร ผูกไว้

อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟาด

การทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวอีกวิธีหนึ่ง ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งฟาดหรือตีที่ข้าวเฟ่า ซึ่งมีอุปกรณ์ในการฟาดหลายแบบ

ไม้เป๋หรือค้อนเปียหริอไม้กะแร๊ง

“ไม้เป๋” หรือ “ค้อนเปีย” หรือ “ไม้กะแร๊ง” เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ชาวลื้อ ชาวขมุ และชาวม้งบางพื้นที่ ใช้ในการฟาดข้าวเฟ่า มีลักษณะคล้ายกับไม้ที ส่วนด้ามทำจากไม้ไผ่ มีความยาวของด้ามประมาณ 1 เมตร ส่วนหัวของไม้เป๋ทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 คืบ เจาะรูตรงกลางเสียบเข้ากับด้ามที่ทำจากไม้ไผ่



:: ไม้เป๋หรือค้อนเปียหรือไม้กะแร๊ง ::

ก๋าลีหรือกาละบัดหรือค้อนงอ
“ก๋าลี” หรือ “กาละบัด” หรือ “ค้อนงอ” เป็นเครื่องมือฟาดข้าวของชาวลัวะและชาวขมุ ในบางพื้นที่ ก๋าลีทำจากไม้ไผ่ส่วนลำต้นถึงราก ที่มีลักษณะโค้งงอ ส่วนด้ามยาวประมาณ 1 เมตร การเลือกไม้ไผ่มาทำก๋าลีจะต้องเลือกไม้ไผ่ที่แก่จัด ไม่มีรอยแตก เอามาตากให้แห้งก่อนการนำไปใช้งานเพื่อความทนทาน



:: ก๋าลีหรือกาละบัดหรือค้อนงอ ::


:: ก๋าลีอีกแบบหนึ่ง ::

อุปกรณ์รองรับการฟาดหรือตีข้าว
นอกจากอุปกรณ์ในการนวดข้าวหรือฟาดข้าวแล้ว ชาวไร่ชาวนายังมีอุปกรณ์รองรับการนวดหรือฟาดหรือตีข้าวหลายชนิด เช่น เสื่อ ครุ และ แคร่ เป็นต้น

เสื่อ
เสื่อหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สาดกะลา” หรือ “กะลา” หรือ “สาดสาน” เป็นเสื่อที่ทำจากไม้ไผ่ที่นำมาจักสาน การสานนิยมทำ 2 แบบ คือการสานแบบหักมุมทำเป็นคอก สำหรับใส่ล้อหรือเกวียนเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวหล่นออกไป (ดูการขนข้าวเปลือกโดยใช้เกวียนเพิ่มเติม) และการสานเป็นผืนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก
ในอดีตชาวไร่ชาวนาจะนำสาดกะลามาใช้ในกิจกรรมต่างๆ (ปัจจุบันนิยมนำผ้าเต๊นท์มาใช้งานแทนสาดกะลามากขึ้น เนื่องจากผ้าเต๊นท์มีน้ำหนักเบาสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปใช้งานในบริเวณ ต่างๆ) เช่น การตากผลผลิต การใช้ปพื้นรองรับการนวดหรือฟาดข้าว การใช้ปูพื้นหรือบังด้านข้างเสวียนหรือยุ้งข้าว ฯลฯ


:: สาดกะลาม้วนเก็บไว้หลังจากใช้งานแล้ว ::

ครุ
“ครุ” (อ่านออกเสียงว่า “คุ”) มีหลายขนาด ขนาดใหญ่มีส่วนปากกว้างประมาณ 2.5-3 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร



:: ครุมีหลายขนาด :: (เอื้อเฟื้อภาพโดยคุณศรีเลา เกษพรหม)


ในการสานครุจะนำส่วนผิวของไม้ไผ่ (นิยมใช้ “ไม้ไผ่ซางเย็น”) มาจักเป็นตอกกว้างประมาณ 1 นิ้ว นำมาสานลายสอง เมื่อสานได้ขนาดพอสมควร นำไปวางบนหลุมวงกลม แล้วขึ้นไปเหยียบเพื่อให้บริเวณศูนย์กลางนูนขึ้นมา เรียกว่า “ทำหมก” (ส่วนที่โค้งนูนขึ้นมา เรียกว่า “หมง”) หลังจากนั้นใช้คนอย่างน้อย 4 คนช่วยกันสานต่อขึ้นมาเป็นวงกลม โดยในขณะที่สานยังคงวางส่วนก้นครุอยู่ในหลุม



:: หลุมที่ใช้ในการสานครุ ::    



:: หมง ::


หลังจากใช้งานเสร็จแล้ว การเก็บครุจะวางหรือแขวนครุให้ปากครุคว่ำลง เพื่อรักษารูปทรงของครุ



:: เก็บครุโดยแขวนไว้ ::

แคร่
“แคร่” (อ่านออกเสียงว่า “แค่”) หรือบางพื้นที่เรียกว่า “แคะ” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับการฟาดข้าวประเภทหนึ่ง แคร่มีหลายลักษณะ เช่น แคร่วางทางนอน แคร่วางทางตั้ง และแคร่ลูกระนาด

แคร่วางทางนอน
แคร่วางทางนอน ทำจากไม้จริงเป็นไม้แผ่นเดียว มีหลายขนาด โดยทั่วไปยาวประมาณ 1-3 เมตร กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร การใช้แคร่จะวางไม้ทางนอนให้เอียงประมาณ 45 องศา ด้านหลังใช้ไม้ค้ำไว้


:: แคร่วางทางนอน :: (ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน)

แคร่วางทางตั้ง
แคร่วางทางตั้ง ทำด้วยท่อนไม้จริงนำมาเซาะเป็นร่อง ลักษณะโค้งเหมือนกาบกล้วย กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เมตร หนาประมาณ 2 – 3 นิ้ว การใช้แคร่จะวางทางตั้ง มีรูเสียบค้ำให้เอียงหงาย ทำมุมประมาณ 60 องศา

:: แคร่ไม้จริงวางทางตั้ง ::

แคร่ลูกระนาด
แคร่ลูกระนาด ทำจากท่อนไม้หลายๆ ท่อนนำมายึดกับคานไม้ วัสดุที่ใช้ทำแคร่ลูกระนาดมีทั้งไม้จริงและไม้ไผ่ ซึ่งมีหลายแบบ

แบบที่ 1 ทำจากไม้จริง ยาวประมาณ 1.5 เมตร กว้างประมาณ 1 ศอก โดยนำไม้จริงหลายๆ ท่อนตอกตะปูติดกับโครงไม้ที่ทำเป็นสามเหลี่ยมมุมฉาก ระยะห่างของไม้แต่ละท่อนประมาณ 10 เซนติเมตร แคร่นี้สามารถเคลื่อนย้ายไปตามบริเวณต่างๆ ได้


:: แคร่ลูกระนาดแบบที่ 1 ::


แบบที่ 2 แคร่ลูกระนาดที่มีลักษณะคล้ายโต๊ะ แคร่นี้ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร โดยจะตัดไม้ไผ่ยาวเท่าๆ กันประมาณ 7-8 ลำ เจาะส่วนหัว-ปลายเป็นช่อง (บางคนเจาะเฉพาะส่วนหัว ปลายอีกด้านหนึ่งไม่เจาะแต่จะผ่าครึ่งแล้วทุบพอแตก เพื่อใช้มัดติดกับคานไม้) แล้วใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็กกว่าสอดเข้าไปในช่องที่เจาะไว้แต่ละลำ ให้แต่ละลำห่างกันประมาณ 15 เซนติเมตร แล้ววางบนเสาไม้ไผ่สูงประมาณเอวคน เสาไม้ไผ่นี้บางคนจะใช้วิธีฝังเสาในดินทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่บางคนจะไม่ฝังเสาในดิน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายแคร่ได้

:: แคร่ลูกระนาดแบบที่ 2 ::


แบบที่ 3 ชาวกะเหรี่ยงในบางพื้นที่ใช้แคร่ลูกระนาดไม้ไผ่อีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “โท” โททำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ไม้ไผ่ลำที่ใช้เป็นแกนมีความยาวประมาณ 5 เมตร เจาะรูที่หัวและท้าย นำไปเสียบบนหลักที่ฝังดินสูงประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วตัดไม้ไผ่มา 2-4 ท่อน แต่ละท่อนยาวประมาณ 1 เมตร ส่วนหัวและท้ายเจาะรู เพื่อใช้ไม้เสียบติดกับด้านข้างของไม้ที่ใช้เป็นแกนข้างละ 1-2 ท่อน


:: “โท” ของชาวกะเหรี่ยง ::

แบบที่ 4
เป็นแคร่ที่มีเสา (ไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้) ฝังดินเพียง 2 เสา ห่างกันประมาณ 80-100 เซนติเมตร เสาสูงจากพื้นประมาณ 70-80 เซนติเมตร ส่วนบนของเสามีคานยึด แล้วนำกระดานไม้จริงมาวางพาดเฉียงประมาณ 45-60 องศา การวางกระดานแต่ละแผ่นจะวางให้ห่างกันเล็กน้อย ปลายด้านบนของไม้กระดานจะยึดติดกับคาน


:: แคร่ลูกระนาดแบบที่ 4 ::
(ภาพจากหนังสือการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน)


แบบที่ 5 มักพบตามหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ทำจากไม้จริงหรือท่อนไม้ ประกอบด้วยฐานและไม้ยึดฐาน ตัวฐานทำด้วยไม้จริงกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-60 เซนติเมตร ส่วนปลายของฐานด้านบนเจาะรูเพื่อเสียบเสาทั้งสองด้าน ส่วนปลายเสานำไม้มาเสียบไว้
แคร่นวดแบบนี้มักจะประกอบด้วยฐานที่มีตั้งแต่ 2 ฐานขึ้นไป นำมาวางเรียงหันข้างเข้าหากันและปรับระยะถี่ห่างตามต้องการ แคร่แบบนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้


:: แคร่ลูกระนาดแบบที่ 5 ::
(ภาพจากหนังสือการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน)

เอกสารอ้างอิง
จันทบูรณ์ สุทธิ ,การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน เชียงใหม่ : หจก.นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์, 2539

ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น และ นิรันดร์ ยงไสว ,เทคนิควิทยาพื้นบ้านล้านนา. ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง,2541.

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545
มณี พยอมยงค์ ,วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด,2529.


ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/~postharvest/

และ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า