วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เรือนกาแล


เรือนกาแลนี้ ในยุคก่อนนิยมเรียกว่า เรือนเชียงแสน นับว่าเป็นเรือนทรงโบราณของล่านนา ซึ่งปัจจุบันถือว่า เข้าข่ายของอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เรือนกาแลเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว ส่วนใหญ่ปลูกคู่ชิดกันอย่างน้อย 2 หลัง หลังหนึ่งอาจมีขนาดเล็กกว่าเป็นลักษณะเรือนแฝดอย่างที่เรียกกันว่า เรือนสองหลังรวมพื้นที่ มีลักษณะเด่นชัด คือ มี กาแล (อ่าน “ ก๋าแล ” ) ซึ่งเป็นไม้แกะสลักยื่นเลยจากปั้นลมไปไขว้กันบนสันหลังคาด้านสกัดซึ่งเป็น ด้านหน้าของเรือนมีบริเวณเปิดโล่งเรียกว่า เติน (อ่าน “ เติ๋น ” ) ซึ่งใช้เป็นที่อเนกประสงค์ เช่น พักผ่อน รับแขก และใช้นอน ฯลฯ ส่วนที่ต่อจากเดิมเป็นชาน มีบันไดขึ้นเรือนทางด้านหน้า 1 แห่งหรืออาจมีเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่บริเวณหลังเรือน

รูปทรงเรือนกาแลเมื่อมองจากภายนอกมีลักษณะป้อมส่วนบนของเรือนผายออก หลังคาลาดชันคลุมต่ำและดูเตี้ยกว่าเรือนฝาปะกนของภาคกลาง ไม่มีหลังคากันสาด เรือนกาแลมีหน้าต่างน้อยมาก และเรือนกาแลขนาดเล็กบางหลังไม่มีหน้าต่างเลย นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือมี หัมยนต์ ซึ่งเป็นไม้แกะสลักติดด้านบนของประตูห้องนอน

เรือนกาแลมีลักษณะทั่วไปดังกล่าว แต่การปลูกวางเรือนและขนาดของเรือนมีความแตกต่างกันไปตามความประสงค์ของผู้ ปลูกสร้าง ทำให้สามารถแบ่งประเภทของเรือนกาแลได้ 3 แบบ คือ

  • เรือนกาแลขนาดเล็ก

เรือนกาแลขนาดเล็กประเภทนี้มีขนาดเล็ก โดยมีความยาวเพียง 3 ช่วงเสาเท่านั้น (ยาวสามห้อง) แต่ละช่วงเสามีความยาวน้อยกว่าเรือนกาแลแบบอื่นด้วย เช่นเดียวกับเรือนกาแลประเภทอื่น เรือนกาแลขนาดเล็กประกอบด้วยเรือนปลูกขนาดคู่กัน 2 หลัง เป็นเรือนนอนหลังหนึ่งและครัวไฟอีกหลังหนึ่งมี ชานฮ่อม ซึ่งลดระดับกว่าพื้นเรือนเล็กน้อยเชื่อมต่อระหว่างบริเวณหน้ากับหลังเรือน ด้วย ห้องนอนมีขนาดความยาวเท่ากับ 2 ช่วงเสา โดยมีฝากั้นแยกจากบริเวณหน้าเรือนทั้ง 2 หลัง ซึ่งเหลืออีก 1ห้อง รวมกับพะไล ใช้เป็น เติน พะไล คือเพิงโถงที่ต่อหย่อนจากเรือนไปอีก 1 ช่วงเสาหน้าต่อกับแนวจั่วโดยมีชายคาหน้าจั่วคลุมอยู่ด้านหน้าของเติน เป็นชานซึ่งลดระดับลงต่ำเล็กน้อย เรือนประเภทนี้บันไดขึ้นบริเวณด้านหน้าเรือนสู่ชานและอาจมีหลังคาคลุมบันได อีกด้วย

  • เรือนกาแลขนาดธรรมดา

เรือนกาแลในกลุ่มนี้ประกอบด้วยเรือน 2 หลัง ปลูกคู่ขนานกันโดยหลังเล็กกว่าใช้เป็นครัว ส่วนหลังใหญ่กว่าใช้เป็นเรือนนอนพักผ่อน รับแขก ด้านหน้าของเรือนทั้ง 2 หลัง เปิดโล่งติดต่อกันใช้เป็นเติน ซึ่งมีความกว้างเท่ากับ 2 ช่วงเสา หรือ 2 ห้อง โดยมีฝากั้นแยกจากเตินเป็นห้องนอนหลังหนึ่งและครัวอีกหลังหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ละหลังเชื่อมติดต่อกันทางด้านยาวด้วยชานฮ่อม ด้านหน้าต่อเติมลดระดับลงประมาณ 20 ซม. เป็นชานซึ่งเป็นระดับเดียวกับชานฮ่อมมีบันไดขึ้นเรือนสู่บริเวณชาน ส่วนใหญ่เป็นบันไดทอดตรงขึ้นหน้าชานแต่มีบางหลังทอดขึ้นทางด้านข้าง และบางหลังยังมีบันไดทอดขึ้นบริเวณหลังเรือนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทอดสู่ลานเล็กหลังเรือนเช่นกัน

การแยกเรือนหลังเล็กเป็นครัว แต่ใช้ส่วนที่เป็นเตินร่วมกันกับเรือนนอน ทำให้เพิ่มเนื้อที่เพื่อการอเนกประสงค์มากขึ้น

เรือนกาแลประเภทนี้มีขนาดใหญ่กว่าประเภทแรกและมีขนาดเท่า ๆ กับเรือนกาแลขนาดใหญ่ แต่มีจำนวนหลังน้อยกว่า

  • เรือนกาแลขนาดใหญ่

การวางแปลนของเรือนในกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกับเรือนทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวแล้ว โดยประกอบด้วยเรือน 2 หลัง ปลูกคู่ขนานกันแต่มีเรือนครัวหลังเล็กกว่าเพิ่มขึ้นอีกต่างหากเรือนประธาน แต่ละหลังมีขนาดความยาว 5 ห้องเช่นกัน โดยมีขนาดกว้างยาวของแต่ละหลังเท่ากันหรือหลังหนึ่งเล็กกว่าส่วนหน้าของ เรือนแต่ละหลังใช้เป็นเติน โดยมีฝากั้นแยกเตินอกจากห้องนอน เหมือนกับที่ได้กล่าวแล้วการแบ่งเตินและห้องนอนมี 2 แบบ คือ

  1. มีฝากั้นแยกห้องนอนและเตินออกจากกันแต่ละหลังทำให้ได้ห้องนอน 2 ห้อง มีชานฮ่อมเชื่อมแต่ละหลังทางด้านยาว
  2. ใช้ฝากั้นยาวแยกห้องนอนและเตินออกจากันโดยใช้ฝายาวตลอดติดต่อกันทั้ง 2 หลัง ทำให้ได้ห้องนอนใหญ่เพียงห้องเดียวไม่มีชานฮ่อม และไม่สามารถมีชานหลังเรือนได้การที่มีห้องนอนเชื่อมร่วมกัน 2 หลังนี้ ทำให้ได้ลักษณะที่เรียกว่า เรือนสองหลังร่วมพื้น ห้องนอนในประเภทนี้จะมีขนาดด้านสกัดยาวกว่าด้านยาวเช่นเดียวกัน เตินก็จะมีขนาดยาวโดยพื้นติดต่อกันในระดับเดียวกัน

ถัดจากเติน ก็คือชาน ซึ่งลดระดับลงประมาณ 20 ซม. ลักษณะของเรือนประเภทนี้จะมีพื้นที่อเนกประสงค์คือเตินและชานกว้างมาก เหมาะกับการทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมตามประเพณี อันเป็นการแสดงถึงการปลูกสร้างเรือนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและฐานะของเจ้า ของเรือนเป็นอย่างดี

  • เรือนกาแลขนาดใหญ่ร่วมสมัย

เรือนกาแลประเภทขนาดใหญ่นั้นที่จริงคือกลุ่มเรือนที่มีจำนวนเรือนมากขึ้นรวมเป็น 4 หลัง โดยเพิ่มเรือนอีกจากเดิมที่มีเรือนกาแลปลูก 2 หลัง คู่ขนานกันอยู่แล้ว การมีจำนวนเรือนมากขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐฐานะของเจ้าของได้อย่างดี เรือนกาแลขนาดใหญ่ร่วมสมัยนั้นยังแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่ได้มีการปรับ ปรุงจากรูปแบบเดิมสู่ความทันสมัยในยุคนั้น ๆ มากขึ้น นับเป็นวิวัฒนาการไปตามกระแสความเจริญของต่างประเทศที่ได้แพร่มาสู่ล้านา ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างที่ทำให้การก่อสร้างสะดวกสบายขึ้น พบว่าเรือนร่วมสมัยมีการใช้บานแฟ้ม หน้าต่างติดด้วยบานพับ เป็นต้น เรือนกาแล ดังที่กล่าวนี้มีเรือนที่เพิ่มจากเรือนประธาน 2 หลัง ใช้เป็นเรือนครัว เป็นเรือนนอน หรือเป็นเตินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลังคาคลุมบันไดอีกด้วย โดยทำเป็นชายคายื่นมาคลุมหรือทำเป็นโครงหลังคา มีเสาแยกเอาต่างหากเหมือนเป็นเรือนหลังเล็กที่เปิดโล่ง เรือนที่ปลูกเพิ่มนั้นจะปลูกขวางกับเรือนประธาน การจัดแบ่งห้องของเรือนประเภทนี้มีรูปแบบแยบยลมากกว่าเรือนประเภทอื่น โดยอาจมีซอกมุมมากขึ้น และส่วนที่เป็นเตินมากขึ้น เหตุด้วยร่วมสมัยกับปัจจุบันมากขึ้น

แม้ว่าเรือนกาแลสามารถแยกได้ 4 ประเภท โดยคำนึงถึงขนาดการจัดวางเรือนและจำนวนเรือนที่ปลูกประกอบกันก็ตาม แต่ขนาดหรือสัดส่วนของเรือนกาแลแต่ละหลังนั้นอาจจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

•  เรือนที่มีขนาดความยาว 5 ช่วงเสา หรือมี 5 ห้อง ใช้เสาตามแนวยาวแนวละ 6 ต้น ส่วนด้านสกัดมีขนาด 2 ช่วงเสา

•  เรือนที่มีขนาดความยาว 3 ช่วงเสา หรือมี 3 ห้อง ใช้เสาตามแนวยาวแนวละ 4 ต้น ส่วนด้านสกัดมีขนาด 2 ช่วงเสาเช่นกัน

ระยะ ระหว่างช่วงเสาเป็นตัวกำหนดขนาดของเรือน เรือนกาแลทุกหลังจะมีระยะระหว่างช่วงเสาของด้านสกัดยาวมากว่าระยะระหว่าง ช่วงเสาตามแนวยาวเสมอแต่ไม่มากนัก พบว่าระยะระหว่างช่วงเสาของเรือนกาแลชนิด 3 ห้อง จะมีขนาดเล็กว่าระยะระหว่างช่วงเสาของเรือนกาแลชนิด 5 ห้อง ดังนั้นสัดส่วนของเรือนกาแลขนาด 3 ห้อง จึงเล็กกว่าของเรือนกาแลขนาด 5 ห้อง ระยะระหว่างช่วงเสาตามแนวสกัดของเรือนประธานหลังที่มีขนาดใหญ่กว่ามีขนาด ประมาณ 1.00-2.40 เมตร ส่วนระยะระหว่างเสาตามแนวยาวของเรือนประธานมีขนาดประมาณ 1.35-2.20 เมตร ส่วนเรือนรอง หรืเรือนครัวนั้นอาจทราบได้จากการวัดความยาวของขื่อได้เช่นกัน และนิยมเรียกความยาวของขื่อเป็นขนาดเรือนได้เช่นกัน เช่น เรือนขื่อขนาด 10 ศอก เมื่อรวมขนาดแต่ละห้องเข้าด้วยกัน จะได้สัดส่วนความกว้างและความยาวของเรือนได้ โดยประมาณแล้ว เรือนกาแลมีขนาดความกว้างหรือความยาวขื่อประมาณ 3.60-5.00 เมตร หรือ 7-10 ศอก ส่วนความยาวประมาณ 5.50-11.00 เมตร ซึ่งมีขนาดทั้งความกว้างและความยาวมากกว่าเรือนฝาปะกนของภาคกลาง

สัด ส่วนของเรือนอีกมิติหนึ่งนอกจากความกว้างและความยาวก็คือ ความสูงซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือความสูงของเดี่ยวล่าง คือระยะจากพื้นดินถึงหลังรอด (แวง) และเดี่ยวบน คือระยะจากหลังรอด ถึง ท้องขื่อ ความสูงของเดี่ยวล่างของเรือนกาแลเฉลี่ยได้ประมาณ 1.50 เมตร (1.40-1.96 เมตร) นับได้ว่าเตี้ยกว่าเรือนไทยเดิมภาคกลาง ส่วนเดี่ยวบนมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 2.80 เมตร (1.00-3.85 เมตร)

เนื่อง จากเรือนกาแลปลูกคู่ขนานกัน พบว่าระยะห่างระหว่างหลัง (จากฝาถึงฝา) มีระยะเฉลี่ย 2.80 เมตร (1.28-3.85 เมตร) โดยมีชายคาชิดกันเว้นช่องสำหรับใส่รางน้ำ (ฮางริน) ได้พอดี

เมื่อเทียบขนาดกับเรือนไทยเดิมภาคกลางแล้ว พบว่าเรือนกาแลมีขนาดใหญ่กว่าทั้งความกว้างและความยาว

ข. ส่วนประกอบและโครงสร้าง

เรือน กาแลมีส่วนประกอบโครงสร้างที่สำคัญเหมือนกันหมดโดยใช้ไม้สักเสียส่วนใหญ่ ยกเว้นเสาใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดงหรือไม้เต็งมากกว่า ส่วนที่เป็นโครงสร้างคือ เสา แวง ตง ขื่อ แป จันทัน อกไก่ สำหรับพื้น ฝา จั่ว และหลังคา เปรียบเสมือนส่วนประกบที่มาหุ้มโครงสร้างประกอบกันเข้าทั้ง 2 ส่วนกลายเป็นเรือน มีรายละเอียดดังนี้

1) เสา เสาเรือนคือไม้กลมหรือแปดเหลี่ยม มีขนาดหน้ากว้างประมาณ 24-30 ซม. ส่วนโคนฝังลงดินส่วนพ้นดินเกือบประมาณกึ่งกลาง ๆ เจาะรูไว้ใส่แวง ส่วนปลายบนควั่นให้เล็กลงเพื่อสวมขื่อและแปหัวเสา เรียกส่วนนี้ว่า เดี่ยว หรือหัวเทียน ซึ่งเป็นแท่งกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. และยาวประมาณ 10-15 ซม. เรือนกาแลขนาดเล็กแต่ละหลังใช้เสายาว 4 คู่ ส่วนเรือนกาแลขนาดธรรมดาและขนาดใหญ่จะใช้เสายาว 6 คู่ เสาถือได้ว่าเป็นโครงสร้างสำคัญโดยที่ส่วนโคนฝังดิน ส่วนกลางรับแวง ตง และพื้น ส่วนปลายรับโครงหลังคา เสาจึงเป็นตัวเชื่อมส่วนประกอบอื่น ๆ ให้มั่นคง เสาเรือนกาแลนั้นไม่ซ้อม (แต่ง) ให้ปลายเรียวเล็กลงเช่นเรือนฝาปะกนทรงภาคกลางนอกจากนี้ยังมีเสาชนิดต่าง ๆ อีก คือ

เสาป็อก หรือ เสาตอม่อ เนื่องจากช่วงระหว่างเสาทรงเรือนกาแลด้านสกัดมีความยาวมากพอควร จึงจำเป็นต้องมีเสาสั้นมารับน้ำหนักตรงกึ่งกลางแวงอีกต้นหนึ่ง เรียกเสาตอม่อ เสาตอม่อนั้นโคนฝังลงดินเช่นกัน ส่วนปลายบนบากมาตรงกลางเพื่อรับแวง ฉะนั้นเสาตอม่อจึงมีความยาวไม่สูงเกินพื้นเรือน

เสาดั้ง คือ เสาที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลางด้านสกัดทรงเรือนมีหน้าที่รับขื่อที่จุดกึ่งกลาง และยาวเลยขึ้นไป รับอกไก่ที่สันหลังคา ปลายของเสาดั้งจึงอยู่สูงกว่าเสาอื่น เรือนกาแลส่วนใหญ่มีเสาดั้ง 3 ต้น คือ อยู่กึ่งกลางด้านสกัด หัวและท้ายเรือนแห่งละต้น และอยู่กึ่งกลางด้านสกัดหรือฝาและจั่วกรุกั้นห้องนอนอีก 1 ต้น เสาดั้งทรงเรือนกาแลมีลักษณะ 3 รูปแบบ คือ

ก. เป็นเสายาวปลายล่างฝังลงดินเหมือนเสาอื่น แต่จะผ่าส่วนปลายทั้ง 2 ข้างให้แบนและเรียวเล็กลงเพื่อสอดผ่านขื่อได้ และวางรับขื่อด้วย ปลายสุดเสียบอกไก่เพื่อรับอกไก่

ข. มีรูปแบบคล้าย ก. แต่ตัวเสายาวเพียงแค่รับขื่อโดยมีใบดั้งเสียบจากปลายบนของเสาโดยยึดสลักไว้ และสอดผ่านขื่อไปรับอกไก่เช่นกัน

ค. เป็นเสาที่ตั้งบนตอม่อ ส่วนใหญ่เป็นเสาสี่เหลี่ยมปลายบนบากเพื่อสอดผ่านขื่อและแต่งให้เรียวเล็กลง ไปรับอกไก่ ส่วนปลายล่างนั้นตั้งบนตอม่อโดยการบากไม้ 3 วิธี คือ

1. บากครึ่งหนึ่งเพื่อประกบกับแวงยึดติดด้วยสลัก

2. บากเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อสอดเข้ารูยึดติดกับไม้แป้นท่อง

3. บาก แต่อมยึดตงแทนที่จะยึดกับแวง

เสาม้าต่างไหม เสาป็อก หรือเสาตุ๊กตา คือเสาซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่า ๆ กับเสาเรือนต้นอื่นหรือเล็กกว่าและสั้นกว่า ปลายล่างบากคาบตั้งบนขื่อกว้าน (ขื่อดัด) ปลายบนควั่นหัวเทียนเพื่อสอดรับขื่อ เสาม้าต่างไหม และขื่อคัดจะเป็นตัวรับโครงเครื่องบนบริเวณนี้ โดยไม่ต้องมีเสาช่วงล่างทำให้พื้นบริเวณนี้โล่ง

•  แวง (รอด) คือไม้เหลี่ยมแบนมีขนาดประมาณ 5* 15 ซม. มีหน้าที่รับตงซึ่งรับพื้นเรือนอีกชั้นหนึ่งแวงของเรือนกาแลมี 3 ชนิด

ก. แวงที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิดที่สอดผ่านรูเสาด้านสกัดจึงมีความยาวเท่า ๆ กับช่วงระหว่างเสาด้านสกัดโดยโผล่ปลายเลยเสาออกไปเล็กน้อย ที่กึ่งกลางของแวงจะมีเสาตอม่อรับอยู่

ข. แวงคีบ เป็น คานไม้ที่คาบประกบเสาด้านนอกโดยการบากเสาอมไว้เล็กน้อย ถ้าใช้คีบ 2 ตัวประกบ 2 ด้านของเสาเรียกว่าแวงคีบคู่ ถ้าใช้ตัวเดียวเรียกแวงคีบเดี่ยว

ค. หลาบแวง มีลักษณะทั่วไปเหมือนแวงในข้อ ก. แต่สอดผ่านรูที่เสาไว้ตามแนวยาวของเรือน มีหน้าที่รับแวงคีบอีกวิธีหนึ่ง

3) ตง (อ่าน ต๋ง)
ตงเป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาดเล็กกว่าแวงมีขนาดประมาณ 3.5*7.5 ซม. ใช้วางพาดยึดติดบนแวงตามแนวความยาวของเรือน ซึ่งเป็นการวางตามแนวตั้งฉากกับแวง และมีความยาวเท่ากับความยาวของเรือนตงเป็นไม้ยาวไม่มีการต่อ ตงของเรือนกาแลนั้นเรียกได้ว่าวางถี่เพราะมีระยะระหว่างตัวไม้ตงแต่ละตัว ประมาณ 20 ซม. ทำให้ใช้ไม้ตงมาก ตัวเรือนกาแลส่วนใหญ่วางตงราบบนความกว้างของตงมิใช่วางบนความหนา การวางเช่นนี้เรียกว่า ปู๋หล่ายเปิ้บ ส่วนการวางบนความหนาเรียกว่า ปู๋สะแคง เป็นการวางซึ่งปัจจุบันหรือเรือนประเภทอื่น ๆ นิยมใช้กัน

4) พื้นเรือน ไม้พื้นเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 2*7.5-20 ซม. และไม่นิยมใช้ไม้หน้ากว้าง เรือนไทยเดิมรุนเก่าของภาคกลางใช้ไม้หน้ากว้างกว่า เนื่องจากตงวางตามแนวยาวของเรือน พื้นเรือนจึงปูตามแนวขวาง นอกจากไม้จิงแล้ว เรือนกาแลยังใช้ไม้ไผ่ (ฟาก) ปูเป็นพื้นก็มี

5) ไม้แป้นทอง (อ่าน แป้นต้อง) เป็นไม้แบนขนาดกว้าง ๆ เท่า ๆ ไม้พื้นแต่หนากว่า โดยปูวางไปตามความยาวของห้องนอน เป็นเสมือนอาณาเขตที่แบ่งห้องนอนเป็นสองส่วน คือซีกตะวันออกใช้เป็นที่นอน และซีกตะวันตกใช้เป็นที่วางของหรือใช้อย่างอื่น ตามโครงสร้างแล้ว ไม้แป้นท่องที่วางอยู่บนหัวเสาตอม่อนั้น คือมิได้วางบนตง โดยวางบนแวงเลยโดยผิวหน้าเรียบเสมอเท่าพื้นเรือน แป้นท่องจึงเป็นไม้ที่หนา คือหนาเท่ากับความหนาของตงรวมกับความหนาของพื้นเรือนตรงบริเวณที่ปักเสาดั้ง มีการเจาะรูที่แป้นทองเป็นรูสี่เหลี่ยมขนาดพอประมาณ เพื่อรับปลายของเสาดั้งที่บากให้เข้ากันได้พอดี จึงมีประโยชน์ใช้ยึดเสาดั้งด้วย นอกจากนี้การก้าวเดินเหยียบบนไม้แป้นท่องจะไม่มีเสียงหรือสะเทือนพื้นเรือน เพราะเป็นไม้แยกขนาดจากพื้นเรือน เมื่อตื่นนอนตอนเช้าหรือตอนกลางคืน การก้าวเดินบนไม้แป้นท่องจึงไม่เป็นการรบกวนผู้อื่นที่ยังนอนอยู่ ไม้แป้นท่องยังแบ่งพื้นเรือนเป็น 2 ฟาก ทำให้ไม่ต้องใช้ไม้พื้นที่มีความยาวมาก เรือนกาแลบางหลังพบมีไม้แป้นท่องที่บริเวณเตินด้วย

ไม้แป้นท่อง เป็นส่วนประกอบที่มีเฉพาะเรือนกาแลเท่านั้น บริเวณด้านหนึ่งของไม้แป้นท่องจะเจาะเป็นช่อง เรียก ช่องแมวลอด

6) ขื่อ ขื่อคือไม้เหลี่ยมแบน นิยมใช้ไม้สักมีขนาดประมาณ 7.5*15-10*20 ซม. มีความยาวด้านในตามขนาดความกว้างของเรือน ส่วนความกว้างนั้นเกือบเท่าหรือเท่าความกว้างของเสาขื่อวางบนเสาโดยสวมเข้า กับหัวเทียนของปลายเสา มีการเจาะรูที่ขื่อให้สวมเข้ากับหัวเทียนได้พอดี ด้านบนส่วนปลายของขื่อมีการบากเพื่อไว้รับแปพ่างอีกด้วย ขื่อนั้นวางทอดตามแนวขวางของเรือนเทินบนหัวเสาเป็นคู่ ๆ กันไป

7) ขื่อกว้าน (ขื่อ คัด) ขื่อกว้านเป็นโครงสร้างของเครื่องบนที่เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อที่จะ ลดเสายาวกลางห้องลงได้ต้นหนึ่ง นับเป็นโครงสร้างที่ใช้ได้ประโยชน์เหมาะสมพบได้ในเรือนไทยเดิมทั้งของภาค กลางและภาคเหนือ ขื่อกว้านเป็นขื่อที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างปกติโดยทอดพาดระหว่างเสา 2 เสา ทำให้ลดการใช้เสาจากพื้นเรือนถึงขื่อที่อยู่ระหว่างเสา 2 ต้นนี้ลงได้ 1 ต้น และใช้เสาไม้ต่างไหม ซึ่งตั้งควบบนขื่อคัดเพื่อไปรับโครงสร้างหลังคาตามปกติคือไปรับขื่อและแป พ่างหรือรับเฉพาะแปพ่างแล้วแต่กรณี นั่นคือถ้าใช้ขื่อกว้านทางด้านสกัดเสาม้าต่างไหมซึ่งตั้งบนขื่อกว้านก็จะไป รับขื่อถ้าใช้ขื่อกว้านทางด้านยาว เสาม้าต่างไหมก็จะไปรับทั้งขื่อและแปพ่าง เมื่อใช้ขื่อกว้านและเสาม้าต่างไหมแล้วจะทำให้ลดเสาจากพื้นเรือนถึงเครื่อง บนได้ 1 ต้น ทำให้พื้นเรือนบริเวณนั้นดูกว้างขึ้นเพราะไม่มีเสามาขวาง

8) แปพ่าง แปหลวง แปพู้ หรือ แปหัวเสา แปพ่าง หรือที่ภาคกลางเรียกว่าแปหัวเสาเพราะทอดวางบนหัวเสาตลอดแนวยาวของเรือน แปพ่างใช้ไม้เหลี่ยมแบนหนามีขนาดเท่า ๆ ขื่อ แต่บางหลังใช้ไม้ขนาดหนากว่า และใช้ไม้สักเป็นส่วนใหญ่ แปพ่างวางตามแนวยาวของเรือนโดยวางทับบนขื่อส่วนที่ซ้อนกัน จะบากเพื่อให้อมเข้ากับขื่อได้พอดี และขณะเดียวกันจะมีรูตรงกลาง เพื่อให้หัวเทียนของเสาลอดผ่าน จึงต้องเจาะรูที่แปพ่างและบากเป็นระยะ ๆ ตรงตำแหน่งของเสา โครงสร้างเช่นนี้ทำให้มีการยึดเกาะเกี่ยวกันได้อย่างดี เป็นการยึดหัวเสาระหว่างห้องและรับน้ำหนักจากหลังคา และยังช่วยเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนตามแนวยาวของเรือนอีกด้วย แปหัวเสาใช้ไม้ยาวตลอดความยาวของเรือนจึงเป็นตัวไม้ที่ยาวที่สุดชิ้นหนึ่ง เช่นเดียวกับตงและอกไก่

9) ดั้ง ดั้งแขวน ใบดั้งดั้ง คือไม้เหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 5*20 ซม. ปลายสอดยึดเข้าเดือยติดกับกลางขื่อส่วนปลายบนบากแต่งให้เข้ารูปพร้อมกับมี เดือยเพื่อเสียบเข้ากับอกไก่สำหรับยึดและรับน้ำหนักจากอกไก่ ดั้งแขวนหรือใบดั้งนี้ต่างจากเสาดั้ง กล่าวคือปลายล่างจะสิ้นสุดเพียงขื่อ โดยไม่มีเสาดั้งเข้ามารับน้ำหนักถ่ายลงสู่พื้นดิน

10) ตั่งโย คือ จันทัน ตั่งโยเป็นโครงสร้างของโครงหลังคาโดยใช้ไม้ 2 ชิ้น ขนาดประมาณ 5*20 ซม. ประกอบกับเป็นด้านข้างรูปสามเหลี่ยมของโครงหลังคา ปลายบนประกอบเข้ายึดติดกับดั้ง ส่วนปลายล่างวางตั้งบนขื่ออาจบากเป็นเดือยเพื่อสอดเข้ารูที่เจาะไว้ที่ขื่อ ทั้งนี้เพื่อถ่ายน้ำหนักจากหลังคาลงสู่ขื่อเช่นเดียวกับจั่ว ตั่งโยจึงเป็นโครงสร้างแทนจั่ว และใช้เฉพาะห้องที่ไม่มีจั่ว

11) แปจอง เป็นเครื่องไม้โครงหลังคาที่ตั้งอยู่ยอดสุดบริเวณสันหลังคา แปจองใช้ไม้สักแต่งให้มีรูปร่างสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาด 10*12 ซม. ยาวตลอดความยาวของเรือนแลยื่นหัวพื้นแนวจั่วอีกข้างละประมาณ 60-70 ซม. ตามโครงสร้างแล้วแปจองตั้งอยู่บนปลายดั้งและยอดจั่ว โดยมีการบากไม้เสียบเข้ารูของแปจอง นอกจากนี้ด้านข้างตลอดแนวยาวของแปจองยังเป็นที่ยึดของปลายบนของกลอนอีกด้วย

12) คาบ เป็นไม้เหลี่ยมขนาด 4*7.5-5*10 ซม. พาดตามแนวยาวของเรือนบนสันจั่วและจันทัน โดยการบากที่จันทันและจั่วให้อมคาบไว้ให้พอดี ยาวตลอดความยาวของหลังคาและยื่นหัวท้ายจากแนวจั่วเช่นเดียวกับแปจองหลังคา แต่ละด้านจะใช้คาบ 3 ตัว วางจัดระยะให้พอดีกัน
13) กลอน กลอน เป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาด 1.5*7.5 วางพาดตังฉากกับคานตามความลาดชันทรงหลังคา โดยปลายยึดติดกับอกไก่ ปลายล่างทอดสู่แนวชายคา ซึ่งจะมีแป้นน้ำย้อยหรือไม้เชิงชายตีติดอยู่

14) ก้านฝ้า (ไม้ ระแนง) เป็นไม้เหลี่ยมแบนหรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า มีขนาด 1.5*2.5-2.5*2.5 ซม. วางยึดติดกับกลอนตามความยาวของหลังคา เพื่อเป็นที่เกาะของดินขอ (กระเบื้องมุงหลังคา) เรือนบางหลังใช้ไม้ไผ่หรือไม้หมากทำเป็นก้านฝ้าก็มี

15) แป้นน้ำย้อย แป้นตีนชาย เป็น ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 2.5*10-15 ซม. ยึดติดกับปลายล่างของกลอน โดยมีปลายเต้าขื่อยื่นจากเสามารับน้ำหนักด้วยแป้นน้ำย้อยของเรือนกาแลจะไม่ มีการแกะสลักหรือฉลุลวดลายเช่นเรือนรุ่นหลัง และเรือนกาแลมิได้มีแป้นน้ำย้อยทุกหลัง

16) แปลอย เป็นไม้เหลี่ยมขนาด 4*7.5-5*10 ซม. นับเป็นแปตัวล่างสุดจึงอยู่ใกล้ชายคา โดยห่างจากปลายกลอนหรือแป้นน้ำย้อยประมาณ 20-30 ซม. แปลอยเป็นไม้ที่มีความยาวตลอดความยาวทรงหลังคา มีลักษณะลอยตัวซ้อนรับกลอนแต่บางแห่งมียาง (เต้า) ซึ่งเป็นไม้เหลี่ยมยื่นจากเสามารับน้ำหนักอีกต่อหนึ่ง แปลอยเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างที่มีในเรือนกาแลทุกหลัง โดยทำหน้าที่คล้ายไม้เชิงกลอนของเรือนไทยเดิมภาคกลาง

17) ปั้นลม
เป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 3.5*15-20 ซม. วางพาดบนแปพ่างและทอดไปบนคาน (แปหัวเสา) และเลยไปบรรจบกันที่สันหลังคาเหนืออกไก่ โดยบากเข้าไม้ประกบกันและปล่อยให้มีปลายเลยขึ้นไปอีกประมาณ 70-100 ซม. ส่วนที่ยื่นเลยไปนี้ส่วนใหญ่มีการแกะสลักลวดลายให้งดงามเรียกว่า กาแล เรือนกาแลหลายหลังปั้นลมยาวเพียงแค่สันหลังคาโดยมากเข้าประกบกันไม่ยาวเป็น กาแล ทั้งนี้เนื่องมาจากเมื่อซ่อมแซมปั้นลมที่มีกาแลผุกร่อนแล้วมิได้ทำกาแลขึ้น ใหม่

18) แหนบ (จั่ว) คือแผงไม้รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ประกอบด้วยไม้เป็นกรอบรอบและกรุด้วยแผ่นที่บางกว่าโดยใช้ไม้สัก แผงจั่วจะถูกแบ่งเป็นช่องต่างๆ กรุจากไม้แผ่นจากด้านใน หรือกรุด้วยการเข้าไม้แบบลูกฝัก นอกจากนี้กรอบอาจมีการประดับด้วยไม้คิ้ว (ไม้ขนาดเล็กแต่งเป็นร่องโค้งนูนหรือเว้าลดหลั่นกัน) แหนบมีหน้าที่ปิดส่วนของหลังคาด้านสกัดกั้นลมฝนและบังแดด แหนบมีความกว้างที่ฐานเท่ากับความยาวของขื่อ ส่วนความสูงนั้นมีสัดส่วนเทียบกับฐานแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยความสูงของจั่ว : ความยาวฐานจั่วเท่ากับ1 : 1.85 เมื่อเทียบกับเรือนฝาปะกนมีอัตราความสูงจั่ว : ความยาวของฐานจั่วเท่ากับ 1 : 1.25 ความสูงของจั่วนั้น เท่ากับความยาวของใบดั้ง ความสูงของจั่วเป็นตัวกำหนดรูปทรงของหลังคาด้วย เนื่องจากถ้าจั่วสูงมาก ความลาดชันของหลังคาก็จะมีมาก เนื่องจากเรือนกาแลจั่วเตี้ยจึงทำให้หลังคาคู้ป้าน นอกจากนี้หลังคาเรือนกาแลมีชายคาต่ำคลุมตัวเรือนโดยไม่มีหลังกันสาด เช่น เรือนฝาปะกน อีกประการหนึ่งหลังคาเรือนฝาปะกนอ่อนช้อยมิได้เทลาดตรงอย่างเรือนกาแล และปั้นลมของเรือนฝาปะกนยังมียอดแหลมส่วน ปลายล่างโค้งเว้าขึ้นตามลักษณะที่เรียกว่า เหงา จึงทำให้รูปทรงเรือนฝาปะกนดูโปร่งกว่า

กล่าวอีกนัยหนึ่งฐานของจั่วเรือนกาแลมีความยาวเกือบ 2 เท่าของความสูง (1 : 1.85) ปรากฏว่าเรือนไทยในล้านนารุ่นหลังถัดมาจะใช้เกณฑ์ว่าฐานจั่วยาวเป็น 2 เท่าของความสูง ดังที่สล่ามีคำกล่าวถึงสัดส่วนจั่วว่า ดั้งเกิ่งขื่อ

โครงสร้างจั่วของเรือนกาแลประกอบด้วยกรอบรอบนอกเป็นไม้เหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 5*10-12.5 ซม. และใช้ไม้ขนาดเดียวกันหรือหนาน้อยกว่าแบ่งจั่วเป็นช่อง ๆ ส่วนกลางเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนรอบนอกเป็นสามเหลี่ยมไปตามแนวด้านข้างของจั่วการแบ่งช่องนั้นใช้ไม้แบ่ง ตามแนวนอน 3-4 ระดับ ส่วนตามแนวตั้งนั้นแบ่งเป็นแนวตรงกันหรือเยื้องสลับกันได้ โดยแบ่งช่วงล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยม 2, 3, 4 หรือ 6 ช่อง นอกจากนี้จั่วของเรือนกาแลอาจใช้ไม้ตีซ้อนกันเป็นเกล็ดมิได้มีการแบ่งช่อง หรือมีการแบ่งช่องอย่างอิสระ การแบ่งช่องจั่วของเรือนกาแลนั้นเมื่อเทียบกับเรือนฝาปะกนพบว่าทรงเรือนฝา ปะกนมีรูปแบบที่แน่นอนกว่า

19) ขัวอย้าน (ไม้ แล่นตีนดั้ง) เป็นไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 4*7.5 ซม. หรือใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ วางคู่ขนานยึดประกบด้านข้างของดั้งประมาณระดับกึ่งกลางของดั้งขัวอย้านมี ความยาวจากจั่วหน้าเรือนถึงจั่วหลังเรือนโดยจั่วกรุกั้นห้อง เนื่องจากลักษณะการแบ่งส่วนการใช้สอยของเรือนกาแลที่แบ่งส่วนหน้าเรือนด้าน สกัดเป็นเติน โดยมีฝากั้นแยกส่วนนี้ออกจากห้องนอนซึ่งอยู่ด้านหลัง ในช่องหลังคาจึงจำเป็นต้องมีการกั้นแบ่งเช่นกัน โดยใช้จั่วกรุกั้นห้องเป็นตัวแบ่ง ภาษาไทยกลางจึงเรียกว่าจั่วกรุกั้นห้อง จั่วกรุมีโครงสร้างเหมือนและมีขนาดเท่าจั่วหน้าและจั่วหลังเรือน แต่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือการทำช่องให้อากาศถ่ายเทได้โดยการไม่ใส่ลูกกรุทุกช่อง แต่เว้นช่องไว้ใส่ไม้กลึงซึ่งเรียกว่าลูกแก้วเป็นระยะหรือใส่ไม้ลูกกรงสี่ เหลี่ยมก็มี ที่ใช้ไม้แกะสลักลวดลายสวยงามใส่เป็นแผงแทนลูกกรงหรือลูกแก้วก็มีแต่พบน้อย การเจาะช่องลมนี้มีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับช่องที่ 2 และที่ 3 นับจากฐานจั่วขึ้นมา สำหรับช่องลมระดับช่องที่ 3 จะมีไม้ขัวอย้านลอดผ่าน เรือนไทยเดิมภาคกลางมีจั่วกรุกั้นห้องเพื่อแยกห้องนอนออกจากส่วนรับแขก เหมือนกัน แต่ไม่นิยมเจาะช่องลมส่วนจั่วที่มีช่องลมของเรือนไทยเดิมภาคกลางนิยมใช้ สำหรับเรือนครัว เรียกว่า จั่วพระอาทิตย์ เหตุด้วยมีช่องลมเป็นแฉก กระจายจากศูนย์กลางเหมือนรัศมีพระอาทิตย์ จั่วพระอาทิตย์ เป็นจั่วหน้าและหลังเรือนครัว นอกจากนี้ยังมี ขัวอย้อน ลอดผ่านจั่วกรุกั้นห้องตรงที่มีช่องลมอยู่ มีประโยชน์คือช่วยยึดดั้งให้มั่นคงส่งผลให้โครงหลังคามั่นคง และสะดวกในการที่จะไต่ปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา เช่น เปลี่ยน แซมดินขอ ขัวอย้อนแปล ว่าสะพานไม้ป้องกันไม่ให้ตก ส่วนใหญ่ขัวอย้อนจะใช้ไม้ไผ่สองลำ ถักรัดด้วยหวายให้ยึดติดกับดั้ง

20) ยาง หรือ เต้า คือไม้เหลี่ยมแบนขนาดประมาณ 5*10 ซม. ยาวประมาณ 70 ซม. ลอดผ่านรูใกล้ปลายเสายื่นพ้นเสาออกไปประมาณ 50-70 ซม. เพื่อรับส่วนล่างของโครงหลังคา คือ แปลอย ซึ่งเป็นไม้เหลี่ยมยาวตลอดความยาวของหลังคา และซ้อนรับกลอนอยู่

21) ยางค้ำ คือ ค้ำยัน หรือทวย ยางค้ำคือไม้เหลี่ยมแบนขนาด 5* 10-15 ซม. ยาวประมาณ 70-100 ซม. ยึดติดระหว่างส่วนปลาย ๆ เต้ากับส่วนบนของเสาโดยการเซาะร่องเข้าเดือย ทำหน้าที่รับถ่ายน้ำหนักจากเต้าซึ่งรับน้ำหนักส่วนชายหลังคาลงสู่เสา ยางค้ำของเรือนกาแลหลายแห่งแกะสลักลวดลายสวยงาม บางแห่งเป็นไม้เหลี่ยมตรง บางแห่งแต่งให้โค้งงอน เรือนกาแลมียางค้ำ เฉพาะด้านข้างและหลังเรือน ไม่นิยมมีที่หน้าเรือน

22) ไม้จักเข้ คือ ไม้เหลี่ยมที่มีขนาดเท่า ๆ กับคาบ (แป)คือประมาณ 4*7.5-5*10 ซม. เป็นไม้ที่ยึดติดกับปลายเสาและยื่นทแยงออกมาเพื่อไปรับส่วนล่างของโครง หลังคาที่ตรงมุมบรรจบกันของชายคาด้านยาวและด้านสกัด ไม้ตะเข้จึงอยู่แนวเดียวกับสันชายคาที่มาบรรจบกัน ไม้ตะเข้ทำหน้าที่เหมือนคาบ แต่มีตำแหน่งอยู่ตรงมุมบรรจบของชายคานั่นเอง

23) กลอนก้อย คือ ไม้เหลี่ยมขนาดเท่า ๆ กับคาน ยื่นจากปลายเสาด้านสกัด ยึดติดกับเสาโดยการทำเป็นเดือยเสียบเข้าในรูที่เจาะไว้ที่เสา และมียางค้ำยันจากจุดประมาณกลาง ๆ กลอนก้อยเฉียงลงไปยึดกับเสาเพื่อรับน้ำหนักอีกด้วย กลอนก้อยทำหน้าที่รับโครงหลังคาที่เรียกว่าปีกนก (ไขราปีกนก) ฐานของปีกนกนี้แยกไม่เชื่อมติดกับกันสาด (ไขรากันสาด) ซึ่งวิ่งตามแนวยาว

24) ต่วน คือ ชั้นสำหรับเก็บของที่ทำติดกับโครงสร้างทรงเรือนทำด้วยซี่ไม้ไผ่หรือไม้จิง ขนาด 0.5-2.00*2-3 ซม. วางหรือขัดกันเป็นตะแกรง ให้มีช่องห่างกันพอประมาณจนเป็นแผง มีความยาวเท่า ๆ กับช่วงเสาที่จะวางต่วน ส่วนความกว้างเล็กกว่าความยาวพอประมาณ ต่วนติดตั้งอยู่ระดับขื่อและแปหัวเสา และมักทำไว้บริเวณระดับเพดานของเตินด้านใน

25) หลังคา เป็น ส่วนประกอบที่สำคัญที่มาหุ้มโครงสร้างของเรือน โดยคลุมส่วนบนทำหน้าที่กันลมฝนและแดด หลังคาของเรือนกาแลเป็นทรงจั่ว สันหลังคาและความลาดเอียงเป็นแนวตรง ไม่อ่อนโค้งเหมือนเรือนฝาปะกน หลังคาเรือนกาแลไม่มีหลังคากันสาดเสริมล่างต่อหลังคาอีกชั้นหนึ่ง หลังคาจึงทำคลุมต่ำลงมามากกว่า ทั้งหมดนี้จึงให้ลักษณะทรงหลังคาครอบคลุมต่ำและชิดตัวเรือน อย่างไรก็ตามชายคาก็ยังสูงกว่าชานประมาณ 1.75 ซม. สูงพอที่จะเดินลอดใด้อย่างสบาย

บริเวณส่วนล่างของแหนบจะมีแผงหลังคาเล็ก ๆ มีความยาวเท่าความยาวของฐานแหนบ เป็นส่วนปิดบังลมแดดและฝนให้ส่วนบนของฝาด้านสกัด ส่วนนี้เรียกตามภาษาภาคกลางว่าไขราปีกนก อนึ่ง ส่วนของหลังคาที่ยื่นเลยแหนบออกมาเรียกไขราหน้าจั่ว และส่วนล่างของหลังคาที่ระดับแปหัวเสามาคลุมตัวเรือนเรียกไขรากันสาด การเชื่อมต่อของไขราปีกนกและไขรากันสาดของเรือนกาแลมี 3 ลักษณะ คือ

•  ไขราปีกนกแยกเป็นอิสระ ไม่ต่อชนกับไขรากันสาด โดยใช้โครงสร้างที่เรียกว่ากลอนก้อย และยางดังกล่าวแล้วมารับน้ำหนัก

•  ไขราปีกนกและไขรากันสาดมีชายคาในระดับเดียวกันและเชื่อมต่อกัน

•  ส่วนชายคาของไขราปีกนกยื่นยาวมาคลุมตัวเรือนด้านสกัดมาก ทำให้ส่วนของไขรากันสาดต้องยื่นยาวออกมาด้วย

ลักษณะเช่นนี้หากเป็นเรือนแฝดก็จะยาวติดต่อกันทั้ง 2 หลังเป็นแนวเดียวกันดูสวยงาม โครงสร้างของหลังคาแบบที่ 2 และ 3 นี้ใช้ไม้จักไขรับน้ำหนักบริเวณลอยเชื่อมต่อของไขราปีกนกและไขรากันสาด

26) เครื่องมุงหลังคา
ใช้กระเบื้องดินเผาซึ่งเรียกตามภาษาเหนือว่า ดินขอ ด้วยเป็นดินเผาและมีขอเกี่ยวไว้เกี่ยวกับไม้ก้านฝ้า ดินขอของเรือนในภาคเหนือมีขนาดบางกว่ากระเบื้องดินเผาของเรือนไทยเดิมภาค กลางมาก โดยมีขนาดประมาณ 10*20 ซม. และหนาประมาณ 0.5 ซม. ส่วนใหญ่ดินขอมีปลายตัดตรง ส่วนน้อยทำปลายมนเล็กน้อย แต่ชนิดปลายแหลมแบบกระเบื้องทรงภาคกลางนั้นไม่พบเลย เนื่องจากดินขอมีขนาดเดียว ไม่ทำเป็น 2 ขนาด คือเป็นตัวผู้ตัวเมียเหมือนกระเบื้องมุงเรือนไทยเดิมภาคกลาง การมุงดินขอจึงมุงทับซ้อนสลับแนวกัน เป็นการมุง 2 ชั้น ถึงแม้ดินขอจะบาง แต่เมื่อมุงซ้อนกัน 2 ชั้น ก็ทนทานดีพอสมควร

เครื่องมุงหลังคาอื่น ๆ เช่น หญ้าคา แฝก ใบตองทึง (ใบพลวง) หรือแป้นเกล็ด (แผ่นไม้ใช้แทนกระเบื้อง) นั้นใช้กับเรือนลักษณะอื่น ๆ ทั้งนี้แป้นเกล็ดอาจเป็นที่นิยมใช้ในสมัยก่อนก็เป็นได้

27) ฝา เป็น ส่วนประกอบที่สำคัญของเรือน เป็นส่วนที่มาหุ้มปิดโครงสร้างเช่นเดียวกับพื้นและหลังคา ฝาของเรือนกาแลมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือฝาจะทำแผงยาวตลอดความยาวหรือความกว้างของทรงเรือน ไม่ทำเป็นห้องคือยาวเฉพาะช่วงเสาเช่นเรือนฝาปะกน ฉะนั้นไม้กรอบของฝาตามแนวยาวจึงใช้ไม้ยาวเท่าความยาวของฝาไม่มีการต่อ ฝาด้านยาวจึงยาวเท่าความยาวของเรือนประมาณ 5.5-12.5 เมตร แล้วแต่ขนาดทรงเรือน ฝาด้านยาวจึงยาวเท่ากับตง การติดตั้งฝานั้นทำโดยการวางฝาหุ้มรอบเสาทรงด้านนอก ฝาด้านยาวจึงวางบนหัวแวงที่ยื่นเลยเสาออก ฝาด้านสกัดด้านหน้า วางบนพื้นเรือนหุ้มเสา ส่วนฝาด้านสกัดหลังเรือนใหญ้ยึดติดหุ้มตงโดยมีการบากไม้กรอบล่างของฝาให้ ประกอบเข้าได้สนิทกับหัวตง

เรือนกาแลแต่ละหลังมีฝาล้อมรอบ 4 ด้าน คือ

•  ฝาด้านหน้าซึ่งกั้นระหว่างเตินกับห้องนอน

•  ฝาด้านหลังปิดด้านสกัดหลังเรือน

•  ฝาตามแนวยาวด้านนอกยาวตลอดความยาวของเรือน

•  ฝาตามแนวยาวด้านในมีความยาวเฉพาะกั้นเพียงห้องนอน

ส่วนที่เป็นเตินเปิดโล่งไม่มีฝา ฝาแต่ละแผงจะมีความสูงเท่ากับความสูงจากพื้นเรือนถึงขื่อ ฝาแต่ละด้านเมื่อประกอบเข้ากับตัวเรือนแล้วจะมาบรรจบกันที่มุม การเข้ามุมฝาเรือนกาแลมีลักษณะเฉพาะคือ ฝาด้านยาวจะหุ้มเลยฝาด้านสกัดหน้าเรือนไปอีก 2 ช่วงเสา โดยมิต้องมีการยึดติดกัน แต่ด้านหลังเรือนไม้กรอบล่างของฝาด้านสกัดจะมีส่วนยื่นเลยออกไปและบากเป็น เดือยสี่เหลี่ยม เพื่อสอดเข้ารูที่บากไว้ที่ไม้กรอบล่างของฝาด้านยาวเพื่อยึดให้ติดกัน โดยมีสลักสอดผ่านรูที่เจาะไว้กับเดือยอีกทีหนึ่งทำให้ยึดติดกันมั่นคง บางแห่งใช้ตะปูสอดยึดแทนไม้สลัก แต่บางแห่งก็ไม่มีสลักยึดเดือย เพียงแต่มีสลักของฝาด้านสกัดสอดเข้ารูฝาด้านยาวเฉย ๆ การปลูกสร้างเรือนโดยมีฝาประกอบกันเช่นนี้ต่างจากเรือนไทยฝาปะกนของภาคกลาง ซึ่งฝาด้านสกัดจะหุ้มฝาด้านยาวจึงเรียกว่าด้านสกัดว่าฝาอุดหน้ากลองหรือฝา หุ้มกลอง ที่เป็นดังนี้เพราะทางภาคกลางมีความเชื่อว่าถ้าฝาด้านยาวหุ้มฝาด้านสกัดจะ เป็นลักษณะเหมือนโลงผี ไม่เป็นมงคล แต่เรือนกาแลมีลักษณะตรงกันข้ามคือด้านยาวหุ้มฝาด้านสกัด จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าชาวล้านนาไม่มีคติความเชื่อถือเรื่องการประกอบฝาดัง กล่าวเหมือนภาคกลาง วัสดุที่ใช้ทำฝาทรงเรือนกาแลมี 2 ชนิด คือใช้ไม้จิง และใช้ไม้ไผ่

1. ฝาไม้แป้น (ฝาไม้จิง) เป็นฝาที่ใช้ไม้สักประกอบกันเป็นแผง มีขนาดเท่ากับส่วนที่จะใช้ ตามลักษณะโครงสร้างแบ่งฝาชนิดนี้ได้ 3 ชนิด คือ

ฝาตาผ้า หรือ ฝาจีบ คำว่าฝาตาผ้านั้นคงหมายถึงฝาที่มีการใช้ไม้ตีแบ่งเป็นช่องเหมือนตารางของผ้า ฝาชนิดนี้ประกอบด้วยไม้ซึ่งเรียกลูกตั้งลูกนอน อันเป็นไม้กรอบตามแนวตั้งหรือแนวนอน และไม้ลูกฝัก คือไม้ที่บรรจุภายในกรอบฝาชนินี้มีลักษณะเหมือนฝาลูกฝักของเรือนฝาปะกน แต่ใช้ไม้ขนาดใหญ่และหนามากกว่า ไม้ลูกตั้งลูกนอนใช้ไม้ขนาดประมาณ 6*10 ซม. แบ่งฝาตามแนวตั้งและแนวนอนเป็นช่วง ๆ ช่วงบนสุดและล่างสุดมีลักษณะค่อนข้างสี่เหลี่ยมด้านเท่ามากกว่า คล้ายลูกฟักคอสอง (ลูกฟักบนสุด) และลูกฟักตีนช้าง (ลูกฟักล่างสุด ) ของเรือนฝาปะกน สำหรับส่วนกลางลูกฝักจะมีขนาดยาวคล้ายฝาสายบัวของเรือนฝาปะกนลูกตั้งลูกนอน หรือกรอบนั้นทำคิ้วรอบดูสวยงาม ฝาลักษณะนี้ทำยากกว่าแบบอื่น แต่ประณีตและงาม คงจะทำสำหรับเรือนผู้มีฐานะหรือเจ้านายมากกว่าอื่น

ฝาตั้ง และ ฝาแป้นหลั่งชนิดต่าง ๆ เป็นฝาที่ใช้ในเรือนกาแลส่วนใหญ่โดยมีโครงสร้างประกอบด้วยไม้กรอบล้อมรอบ ทั้ง 4 ด้าน และไม้กรอบนี้มีการเซาะร่อง เพื่อให้ไม้แผ่นที่มีหน้ากว้างประมาณ 30-40 ซม. (ลูกกรุ) แต่บางประมาณ 2 ซม. กรุโดยติดตั้งตามแนวตั้งภายในกรอบโดยปลายบนและล่างของลูกกรุเสียบเข้าที่ ร่องไม้กรอบ เนื่องจากลูกกรุเรียงต่อกันตามแนวตั้ง ทำให้อาจมีร่องเล็ก ๆ ตรงรอยต่อตามแนวตั้งบ้าง จึงมีไม้แบนขนาดเล็กประมาณหน้ากว้าง 4-5 ซม. (ไม้คิ้ว) ตีปิดรอยต่อทางด้านนอกเป็นแนวยาวตามแนวตั้ง ส่วนด้านในของฝามิได้มีไม้ตีปิดตามแนวแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการใช้ไม้คิ้วตีปิดทางด้านนอก เพื่อให้เกิดการแบ่งเป็นช่องลักษณะต่าง ๆ เพื่อความสวยงามด้วยมีเรือนกาแล บางหลังที่ทำฝาแป้นหลั่งแต่ไม่มีไม้คิ้วตีปิดบริเวณร่องรอยต่อดังกล่าวแล้ว ข้างต้น เพียงแต่มีการเข้าไม้สนิทและอาจมีไม้คิ้วตีแบ่งช่องตามแนวขวางและแนวนอนให้ เป็นช่องใหญ่ ๆ

ฝาตั้งอีกชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างต่างจากที่กล่าว คือมีไม้ลูกติดตั้งไว้ทุกแนวที่อยู่ระหว่างรอยต่อของลูกกรุ โดยการเซาะร่องที่ด้านข้างของลูกตั้งไว้ให้ลูกรุสดเข้าได้พอดี ฝาชนิดนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้ไม้คิ้วตีปิดร่องรอยต่อ แต่เป็นการเข้าไม้แบบเซาะร่อง จึงมีสลักตกยึดที่หัวท้ายของลูกตั้งให้ติดกับไม้กรอบ นกจากนี้ยังมีการทำคิ้วที่ไม้ลูกตั้งลูกนอนและไม้กรอบดูสวยงามอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะฝาชนิดนี้คล้ายกับฝาเรือนฝาปะกน

รูปแบบของฝาต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่มีหลักเกณฑ์การแบ่งช่องต่าง ๆ ที่ตายตัว บ่งบอกถึงความเป็นอิสระในการเลือกสรรเป็นอย่างดี

2. ฝาไม้บั่ว (ไม้ ไผ่สาน)
การใช้ไม้ไผ่ประกอบหรือสานเป็นฝาเรือนนั้นนิยมใช้กับเรือนที่เรียกว่าตูบ หรือกระท่อม แต่ที่มีใช้กับเรือนที่มีสภาพถาวรกว่าตูบก็พบได้ สำหรับเรือนฝาปะกนของภาคกลางมีการใช้ไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบของฝาที่เรียกว่า ฝาสำหรวดขัดแตะ โครงสร้างของฝาไม้บั่วทรงที่เรือนกาแล มีลักษณะเป็นแผงประกอบด้วยไม้กรอบล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน และมีลูกตั้งลูกนอนเป็นระยะ นับเป็นโครงสร้างที่คล้ายฝาสำหรวดของภาคกลาง แต่ช่องระหว่างลูกตั้งนอกมีระยะมากกว่าเช่นเดียวกับฝาชนิดอื่น คือฝาเป็นแผงมีความยาวตลอดส่วนที่จะกั้น ลักษณะลายสานทรงไม้ไผ่ขัดขึ้นลงสลับกันที่เรียกว่า ลายขัดดาน ฝาไม้บั่วของเรือนกาแลเข้าใจว่าส่วนใหญ่ใช้เฉพาะฝาด้านในทรงเรือนทำให้ไม่ ถูกแดดและฝน ทำให้คงทนได้นานเป็นร้อยปีได้เช่นเดียวกับไม้จิง ไม้ไผ่ที่ใช้คือไม้บง ไม้ไผ่สีสุก หากเป็นไม้แก่ให้นำไปแช่น้ำจนเน่าหรือรมไฟก่อนนำไปใช้จะทำให้คงทนต่อมอดได้ เป็นอย่างดี

เอกลักษณ์ ของฝาเรือนกาแล นอกจากลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะของฝาเรือนกาแลดังกล่าวแล้ว ลักษณะการวางติดตั้งฝาของเรือนกาแลนั้นมีเอกลักษณ์ กล่าวคือ ฝาเรือนด้านข้างนั้น ส่วนล่างของฝาเอนเข้าใน ตอนบนผายออกข้างนอกจากเสาเรือน มิได้ตั้งฝาให้ตรงได้ฉากกับพื้นเรือนแนบกับเสาเรือนหรือด้านบนสอบเข้า ฝาของเรือนกาแลลักษณะเอนออกเช่นนี้ เรียกว่า ฝาเติก หรือ ฝาตาก ซึ่งเป็นฝาที่ไม่พบในเรือนไทยเดิมอื่น ๆ พบได้เฉพาะเรือนกาแล ส่วนฝาด้านสกัดนั้นตั้งตรง ไม่เอนออกเหมือนฝาด้านข้าง แต่เรือนกาแลไม่ได้มีการติดตั้งฝาเช่นนี้ทุกหลัง เรือนกาแลที่มีฝาคัดตั้งตรงมิได้ผายออกนั้นมีน้อยกว่า

การผายออกของฝาตากนั้นทำมุมประมาณ 8 องศาจากแนวดิ่ง การวางฝาเช่นนี้ต่างจากหรือตรงกันข้ามกับฝาของเรือนฝาปะกน ซึ่งฝาล้มสอบเข้าทางด้านบนประมาณ 2.5 องศาตามการล้มสอบของเสา และฝาล้มสอบเช่นนี้ทุกด้านทั้งด้านยาวและด้านสกัด การล้มสอบของเสา-ฝาของเรือนไทยเดิมภาคกลางมีประโยชน์ในการทรงตัว และการยึดกับพื้นดี ส่วนการผายออกของฝาเรือนกาแลมีข้อดีคือทำให้เนื้อที่ภายในเรือนกว้าง การติดตั้งหิ้งระหว่างช่องเสาทำได้ง่ายและกว้างพอสมควรที่ระดับ 100-200 ซม.ฝาเรือนห่างจากแนวดิ่งของเสาประมาณ 14-24 ซม. โดยที่ลักษณะผายออกส่วนบนของฝาตาก เป็นเอกลักษณ์ของเรือนกาแล จึงมีผู้ให้ความสนใจและกล่าวถึงเหตุที่ทำให้ฝามีลักษณะเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะกล่าวอ้างว่าพม่าบังคับให้ทำตั้งแต่เมืองครั้งล้านนาตกอยู่ใต้ อำนาจของพม่า และได้อธิบายว่าการที่เรือนมีฝาผายออกส่วนบนทำให้เรือนมีลักษณะคล้ายโลงศพ ของพม่า เมื่อเรือนของล้านนามีลักษณะคล้ายโลงศพก็จะเกิดเสนียดจัญไรแก่ประชาชนชาว ล้านนาและทำลายจิตใจให้หมดความคิดที่จะดิ้นหลุดอออกจากการปกครองของพม่า ส่วนอีกทัศนะหนึ่งกล่าวว่า ชาวล้านนาได้สืบต่อวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าลวะ เช่น ประเพณีฆ่ากระบือเอเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ การสร้างบ้านเรือนจึงพยายามสร้างให้มีรูปร่างลักษณะคล้ายกระบือเพื่อผู้อยู่ อาศัยจะได้อยู่เย็นเป็นสุข เหตุผลที่อ้างถึงกันเหล่านี้อาจเป็นเพียงแต่ความเชื่อถือเล่าขานสืบต่อกันมา เพื่อพยายามอธิบายบางสิ่งบางอย่าง หาได้เป็นเหตุผลที่แท้จริงไม่ สถาปัตยกรรมนั้นมีวิวัฒนาการโดยตลอด เมื่อถึงจุดหนึ่งย่อมได้รูปแบบที่งดงามเหมาะสมกับชนชาตินั้น ๆ จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมล้านาที่ร่วมสมัยหรือมีมาก่อนเรือนกาแล เช่น โบสถ์ วิหาร หรือแม้กระทั่งหีบพระธรรม ก็มีลักษณะป้านออกของส่วนบน เช่นกัน นี่คือผลสุดท้ายของการคลี่คลายของสถาปัตยกรรมเมื่อมาถึงจุดแห่งความงาม ลักษณะฝาตากของเรือนกาแลจึงเป็นผลของการคลี่คลายของทางรูปแบบศิลปะมากกว่า สาเหตุจากการมีรูปร่างคล้ายหีบพระธรรม จึงน่าจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ในเรือนนั้นเสียอีก

โดยที่ฝาตากมีส่วนบนของฝาหอยออกห่างจากเสา มิได้ยึดติดเสา แต่จะมีไม้เคร่าเป็นโครงไว้สำหรับยึดฝาโดยไม้ตั้งบนหัวแงที่ยื่นพ้นเสาออกไป และยังตั้งบนพื้นเรือนอีกเป็นระยะ ๆ ปลายบนของไม้เคร่าไปยึดกับไม้กลอน (แป) ตรงตำแหน่งประมาณกึ่งกลางของหลังคากันสาด ในตำแหน่งที่มียาง (เต้า) ไม้เคร่าก็จะไปยัดกับยาง

ฝาลับ นาง เป็นส่วนของฝาที่มีลักษณะพิเศษของเรือนกาแล กล่าวคือเป็นส่วนของฝาด้านยาวผนังด้านในของเรือนที่ยื่นเลยส่วนที่กั้นห้อง นอนนออกไป 40-50 ซม. สู่บริเวณเตินนัยว่าเป็นฝาที่ช่วยกำบังหญิงสาวขณะทำงานบนเรือนจึงเรียกว่า ฝาลับนาง

ฝาปิดหน้าเติน เรือนกาแลบริเวณเตินที่ติดต่อกับชานจะเปิดโล่ง ไม่มีฝาปิด แต่บางหลังจะทำปิดบางส่วนของเตินคือ 1 ช่วงเสา ฝาปิดหน้าเตินนี้เป็นองค์ประกอบที่เจ้าของได้ต่อเติมตามความต้องการของตน มิได้เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเรือนกาแล ฝาอาจมีความสูงถึงขื่อหรือสูงพอประมาณและต่ำกว่าระดับเอวก็มี

28) ประตูเรือน เรือนกาแลเป็นเรือนใต้ถุนสูงปล่อยโล่งใช้เป็นสถานที่อเนกประสงค์ การขึ้นสู่บนเรือนนั้นใช้บันไดหน้าหรือหลังเรือน ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีประตูที่หัวบันไดเหมือนเรือนฝาปะกน แต่บางแห่งมีบันไดเป็นซี่ไม้เตี้ย ๆ ที่บริเวณหัวบันได กลางบันได หรือที่ตีนบันได เพื่อกันสัตว์เลี้ยงขึ้นเรือน

เรือนกาแลขนาดเล็กจะมีประตูเข้าห้องนอนเพียง 1 ประตู เป็นประตูที่อยู่ด้านหน้าห้อง ส่วนเรือนกาแลขนาดธรรมดาและขนาดใหญ่อาจมีประตูเข้าห้องนอนเพิ่มอีก 1 ประตู เช่น เรือนกาแลขนาดใหญ่ ซึ่งมีห้องนอนครอบคลุมเรือนทั้งสองหลัง (เรือนสองหลังร่วมพื้น) ประตูเข้าห้องนอนจะอยู่ทางด้านหน้าห้องทั้ง 2 ประตูละหลัง แม้ว่าห้องนอนซึ่งมีขนาดกว้างมิได้มีฝากั้นแยกจากกันก็ตาม ส่วนเรือนกาแลที่มิได้มีลักษณะสองหลังร่วมพื้นที่จะมีประตูที่ 2 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าประตูหน้า อยู่บริเวณด้านข้างของห้องและส่วนใหญ่ประตูที่ 2 นี้ อยู่ช่วงหน้าด้านข้างของห้อง

ตำแหน่งของประตูหน้าห้องนอนนั้นจะอยู่บริเวณช่วงในของฝาด้านสกัด ศูนย์กลางของประตูส่วนใหญ่มิได้อยู่ที่จุดกึ่งกลางของครึ่งหนึ่งของฝา แต่อยู่ค่อนข้างชิดเสาดั้งมากกว่าประตูหน้าของห้องนอนจึงไม่ได้อยู่กึ่งกลาง ของฝาด้านสกัดแต่อยู่ค่อนมาทางช่วงในของฝามากกว่า

ตำแหน่งของประตูนั้นสอดคล้องกับการใช้สอยของห้องนอนและเตินเป็นอย่างดี กล่าวคือส่วนที่ใช้เป็นที่นอนนั้นอยู่ซีกตะวันออกของเรือน ฉะนั้นประตูซึ่งอยู่ค่อนมาอีกซีกหนึ่งของห้องจึงสะดวกในการเข้าออกที่ ๆ เกี่ยวกับเตินเช่นกัน ประตูหน้าเข้าห้องนอนอยู่คนละซีกกับบริเวณที่มีหิ้งพระที่ข้างฝาเดินและอยู่ ตำแหน่งชิดกลางของเรือน จึงสะดวกในการเข้าออก

โครงสร้างของประตูที่สำคัญประกอบด้วยกรอบและบานกรอบประตู มีลักษณะโครงสร้าง 2 ชนิด คือ

•  สร้างกรอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฝา

•  ทำกรอบต่างหาก มายึดติดกับฝาภายหลัง

ลักษณะดังกล่าวนี้ต่างจากเรือนฝาปะกนพร้อมกรอบเช็ดหน้า (วงกบ) ประตูเรือนฝาปะกนทำเป็นกรอบเสริมรอบทั้งสี่ด้านโดยเซาะร่องด้านนอกทรงกรอบ ทั้งนี้เพื่อเข้าไม้อมส่วนทรงฝาที่เว้นช่องไว้โดยรอบกรอบเช็ดหน้านี้ยังนิยม ทำคิ้วลดหลั่นกันไปดูสวยงามและยังใช้ไม้หน้ากว้างกว่า นอกจากนี้ประตูเรือนฝาปะกนจะสอบด้านบนเข้าเล็กน้อย ประมาณ 2.5 องศา ตามการล้มสอบของฝา

โครงสร้างกรอบประตูลักษณะที่ 1 คือให้ทำกรอบประตูให้เป็นกรอบทรงฝาเลย โดยใช้ไม้ลูกตั้งลูกนอนของฝาเป็นกรอบของประตู ไม่ต้องมีไม้กรอบมาเสริมอีก ส่วนโครงสร้างของกรอบประตูลักษณะที่ 2 นั้นทำไม้กรอบมาเสริมต่างหากนิยมทำกันมากกว่า ไม้กรอบประตูใช้ไม้เหลี่ยมขนาดประมาณ 3*12 ซม. ทำเป็นกรอบมาติดเสริมกับฝาทางด้านนอกห้อง โดยเฉพาะด้านข้างของประตูใช้กรอบเช่นนี้แต่ด้านบนและล่างของกรอบจะใช้ไม้ลูก นอนของฝาเป็นกรอบเลย แต่ทั้งกรอบบนและล่างนี้จะมีไม้มาเสริมอีกต่างหาก คือด้านบนจะมีหัมยนต์มาติดยื่นจากไม้ลูกนอนของฝาลงมา ส่วนด้านล่างจะมีไม้ขนาดความกว้างเท่า ๆ กรอบมาติดเสริมบนไม้ลูกนอนอีกชั้นหนึ่ง ไม้นี้อาจแต่งโค้งเว้าให้ดูสวยงาม (ธรณี) กรอบประตูชนิดที่นำมาติดเสริมนี้บางแห่งทำเป็นกรอบทั้ง 4 ด้าน อย่างที่เรียกว่ากรอบเช็ดหน้า (วงกบ) มาติดเสริมบนฝาและทำคิ้วหรือสลักลวดลายอีกด้วย ซึ่งใช้ไม้ขนาดใหญ่กว่า

สัดส่วนของประตู ความสูงของช่องประตูมีความสัมพันธ์กับความสูงของฝา นอกจากนี้ประตูจะมีกรอบล้อมรอบและมีไม้เสริมที่เป็นหัมยนต์และธรณีแล้วทำให้ ช่องประตูมีความสูง (ขนาด) น้อยลง เนื่องจากมีธรณีจึงทำให้เวลาเข้าห้องต้องก้าวข้ามธรณี ไม่นิยมให้เหยียบไม้ธรณี ความสูงของกรอบล่าง หรือธรณีนั้นจะไม่สูงมากเท่าของเรือนฝาปะกน คือประมาณ20 ซม. ความสูงของช่องประตูเรือนกาแลแต่ละหลังจะไม่ต่างกันมากนัก ทั้งนี้เพราะสัมพันธ์กับความสูงของฝาซึ่งใกล้เคียงกันเกือบทุกหลังคือประมาณ 5 หรือ 6 ศอก ความสูงของช่องประตูมีประมาณ 180 ซม. แต่อาจสูงถึง 210 ซม. ทว่าถ้าเป็นประตูเล็ก ซึ่งเป็นประตูด้านข้างอาจสูงเพียง 160 ซม. โดยทั่วไปความสูงของช่องประตูเหมาะสมที่จะเข้าออกได้สะดวก สำหรับความกว้างของช่องประตูมีขนาดประมาณ 65- 80 ซม. ซึ่งเป็นขนาดไม่กว้างนักเมื่อเทียบกับบ้านสมัยใหม่ และความกว้างนี้เล็กกว่าความกว้างของประตูเรือนฝาปะกน ความกว้างของประตูเรือนนั้นได้มีผู้กล่าวกันว่า ใช้ความยาวของเท้าชายหัวหน้าครอบครัวเป็นตัวกำหนดคือประมาณ 4-5 ช่วงความยาวของเท้า

บานประตู บานประตูทรงเรือนกาแลเป็นชนิดบานเดี่ยวส่วนใหญ่ใช้ไม้หน้ากว้างหลายแผ่นมา ต่อกัน ที่ใช้ไม้แผ่นเดียวก็มีบ้าง ส่วนชนิดที่ใช้บาน ชนิดที่มีกรอบและบรรจุลูกกรุไว้ภายในก็พบบ้าง บานประตูจะมีเดือยบนและล่างยื่นเลยจากไม้กรอบออกไปเพื่อสวมลงรูของไม้ข่ม ประตู (ข่มตูหรือธรณีประตู) ซึ่งวางยึดอยู่หลังกรอบล่างของประตูและสอดขึ้นใส่รูข่มหวีประตู (ข่มหัวตู) ซึ่งเป็นไม้ยึดติดกับด้านหลัง ขอบกรอบบนของกรอบบานประตูนั้นออกแบบให้เปิดเข้าในห้องเหมือนเรือนไทยเดิมภาค กลาง ส่วนใหญ่แล้วประตูของเรือนกาแลจะเปิดจากซ้ายไปขวา แต่ถ้ามีประตูด้านหน้าห้องนอน 2 ประตู คือ หลังละประตู ประตูของซีกเรือนประธานรองจะเปิดจากขวาไปซ้าย
ไม้ข่มประตูทำด้วย ไม้เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 10-12 ซม. และหนาประมาณ 2.5-4.0 ซม. ไม้นี้จะวางมัดกับพื้นเรือนชิดกับกรอบประตูด้านล่าง และมีความยาวเลยกรอบประตูออกไปอีกเล็กน้อย แต่ที่ยาวเลยไปจรดเสาดั้ง ก็มีสำหรับด้านที่อยู่ใกล้เสาดั้ง รูที่เจาะที่ไม้ข่มประตูเพื่อให้เดือยของบานประตูสอดลงไปนี้เรียกว่า ก็อกเข้าแมว แปลว่าถ้วยที่ใส่ข้าวให้แมว เพราะมีลักษณะคล้ายภาชนะดังกล่าว สำหรับไม้ข่มหัวประตูนั้นจะยึดติดกับด้านบนของกรอบประตูและเจาะรูเพื่อให้ เดือยสอดเข้าไปได้

ช่องประตูหรือธรณีประตูนั้นมีความ สำคัญ เพราะเป็นเหมือนเส้นกั้นอาณาเขตหวงห้าม คนภายนอกที่มิใช่สมาชิกในครอบครัวไม่มีสิทธ์ที่จะล่วงล้ำเข้าไปได้ หากล่วงล้ำเข้าไปจะถือว่าผิดผี ผิดจารีตประเพณีต้องมีการทำพิธีบวงสรวง เสียผี ต่อผีเรือนเป็นการไถ่โทษ

ไม้ธรณีประตูของเรือนกาแล วางยึดบนพื้นเรือน ซึ่งต่างจากเรือนฝาปะกน ซึ่งไม้ธรณีประตูยึดติดกับกรอบประตูหรือติดกับพรึง (ไม้เหลี่ยมแบนที่วางบนหัวตงอิงติดเสาต้นนอกเพื่อใช้วางแผนฝา) ไม่ได้วางบนพื้น ฉะนั้นบานประตูของเรือนฝาปะกนจะลอยสูงกว่าพื้นเรือนมากกว่า

แซว่ (กลอน ดาน) แซว่คือสลักไม้ที่เลื่อนได้เพื่อใช้ขัดบานประตูทำให้เปิดไม่ได้ แซว่ของเรือนกาแลนั้นยึดติดกับกรอบประตูมิได้ติดที่บานประตูเหมือนเรือนภาค กลาง เมื่อปิดประตูแล้วเลื่อนสลักหรือลูกกลอนจากไม้ประกับมาขัดไว้ที่บานประตู ทำให้ไม่สามารถเปิดประตูเข้าในห้องได้ การเลื่อนลูกสลักมาขัดกับลานประตูนี้เรียกว่า ลงแซว่ จดแซว่ ภาษาภาคกลางเรียกว่า ขัดดาน ลั่นดาน หรือ ขัดกลอน นับเป็นกลไกง่ายๆ แต่แข็งแรงที่ป้องกันการเปิดประตูได้เป็นอย่างดี แซว่มีส่วนประกอบสำคัญคือไม้ประกับและสลักหรือลูกสลัก ไม้ประกับเป็นไม้หนา 5- 10 ซม. ตรงกลางเซาะร่องเพื่อให้แซว่หรือลูกสลัก (ลูกกลอน) ประตูส่วนลูกสลักให้ไม้บางประมาณ 1.5- 20 ซม. ตรงกลางเจาะร่องเล็ก ๆ ตามความยาว เมื่อประกอบกับตัวประกับจะมีเดือยลอดผ่านร่องของลูกกลอนนี้ ทำให้กลอนเลื่อนได้แต่ไม่สามารถดึงถอด หรือเลื่อนเลยออกจากตัวประกับได้ เนื่องจากประตูเรือนกาแลใช้บานเดียว กลอนประตูจึงต่างจากเรือนไทยเดิมภาคกลาง ซึ่งบานประตูมี 2 บาน กลอนจึงประกอบด้วยไม้ประกับ 2 ตัว ลูกกลอนไม้มีการเจาะร่องตรงกลางแต่มีการบากไม้ให้ตรงกลางลูกกลอนเป็นเหลี่ยม สูงขึ้น คือสูงกว่าหรือหนากว่าที่ช่องไม้ที่ประกับ ทำให้ไม่สามารถเลื่อนกลอนให้หลุดออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งแซว่โดยเฉพาะไม้ประกับให้งดงาม เช่น การหยักลดหลั่นและลบเหลี่ยมมุมหรือแกะสลักลวดลายด้วย

29) ปล่อง (หน้าต่าง)
คือช่วงที่เจาะที่ฝาเรือนมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งมีกรอบ บางแห่งไม่มีกรอบ บางแห่งมีบานปิดเปิดได้ บางแห่งไม่มี หน้าต่างมีประโยชน์เพื่อให้มีการไหลเวียนของอากาศ เพื่อแสงสว่างและเพื่อมองออกภายนอกเรือน หน้าต่างของเรือนกาแลมีขนาดเล็ก ที่เล็กมากมีขนาดประมาณ 10*18 ซม. นอกจากมีขนาดเล็กแล้วยังมีจำนวนน้อยด้วย เช่น เรือนกาแลหลังหนึ่งมีหน้าต่างเพียง 1 ช่อง และบางหลังไม่มีหน้าต่างเลย

การที่มีจำนวนหน้าต่างน้อยหรือไม่มีเลยนั้นมีพื้นฐานมาจากหลายสาเหตุ เรื่องของภูมิอากาศน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญ เรือนคนไทยในบริเวณสิบสองพันนาหรือที่เชียงตุง ในฤดูหนาวมีอากาศหนาว ก็มีผนังทึบเช่นกัน เรือนไทยลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาก็เช่นกัน เรือนเหล่านี้จะแบ่งส่วนหนึ่งของห้องนอนเป็นครัว มีเตาไฟเพื่อปรุงอาหารและยังให้ความอบอุ่นอีกด้วย ลักษณะการที่เอาครัวไว้บริเวณ หรือมุมหนึ่งภายในห้องนอนนั้นยังมีปรากฏอยู่ในเรือนกาแลบางหลังที่อยู่รอบ ๆ เชียงใหม่ เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอากาศของภาคเหนือหนาวเย็นกว่าปัจจุบัน การที่เรือนกาแลมีหน้าต่างจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะนำเอาลักษณะการสร้างบ้านเรือนมาจากดินแดนที่อยู่เหนือต่อประเทศ ไทยในปัจจุบัน เพราะมีการอพยพหรือกวาดต้อนประชาชนจากดินแดนดังกล่าวมาอยู่ในล้านนา นอกจากนี้การที่เรือนกาแลมีหน้าต่างน้อย อาจเป็นเพราะความปลอดภัยประกอบกับการสร้างบ้านปิด – เปิด ทำได้ยาก อนึ่ง คำว่าปล่อง หมายถึง ช่อง การทำช่องไว้ส่องดูภายนอกเรือนจึงทำเป็นช่องเล็ก ๆ ซึ่งส่องดุภายนอกได้ แต่ผนังเรือนซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดทึบก็ยังทำกำบังมิให้คนภายนอกมองเห็น ภายในได้

ปล่อง ที่มีบานปิดเปิดได้นั้นพบน้อยแห่ง แต่ที่มาทำเพิ่มภายหลังเป็นบานเลื่อนหรือบานปิด – เปิดได้ก็มี โดยใช้บานพับช่องชนิดไม่มีบานหน้าต่าง พบได้มากและที่ทำลูกกรงประกอบด้วยก็มี
ตำแหน่ง ที่เจาะปล่องพบว่ามีทั้งผนังด้านข้างและผนังด้านสกัดแห่งใดแห่งหนึ่งหรือ ทั้งสองแห่ง ส่วนระดับที่เจาะป่องนั้นสูงกว่าหน้าต่างเรือนปัจจุบันคือสูงประมาณ 1 ม. ขึ้นไป เข้าใจว่าเป็นระดับที่คนอยู่ภายในห้องจะส่องมองอกมาภายนอกได้พอดี

30) บันไดและเสาแหล่งหมา เรือนกาแลมีบันไดขึ้นเรือนทางด้านหน้าเป็นบันไดหลัก และอาจมีบันไดขึ้นเรือนจากบริเวณอื่น เช่น บันไดหลังเรือนหรือด้านข้างเรือนเพิ่มขึ้นอีก 1 บันได บันไดหน้าเรือนนั้นส่วนใหญ่จะพาดขึ้นชานตรง ๆ เลย ส่วนที่พาดขึ้นด้านข้างของหน้าชานหรือเตินก็พบได้ บันไดที่มีหลังคาคลุมพบได้โดยเฉพาะเรือนในเขตอำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่

บันได ของเรือนไทยเดิมภาคกลางส่วนใหญ่ ก็ไม่มีหลังคาคลุมแต่อาจมีซุ้มหลังคาคลุมประตูที่หัวบันได แต่เรือนกาแลไม่มีซุ้มที่หัวบันได ถ้ามีประตูที่หัวบันไดก็ทำง่าย ๆ มีลักษณะคล้ายรั้วชาน คือทำเป็นประตูไม้โปร่งเป็นซี่ ๆ สำหรับเรือนกาแลในเขตจอมทอง ป่าซาง จะทำประตูกั้นที่บริเวณกลาง ๆ บันได โดยมีลักษณะพิเศษ คือดั้งเสาลงดิน 1 ต้น บริเวณแนวกลางบันไดไว้สำหรับติดประตู โดยมีไม้สลักเสียบกับเสานี้ยื่นออกมาด้านหน้าบันได ที่ไม้สลักนี้เจาะรูเพื่อให้เดือยของบานบันไดสอดลงไปได้ บานประตูจึงติดกับเสานี้ด้วยเดือย เมื่อปิดบานประตูขอบบานอีกข้างหนึ่งจะวางชิดแม่บันไดโดยยกบานขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้วางบานบันไดบน ค็อบ คือ ท่อนไม้เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ยึดติดกับไม้แม่บันได ทำให้บานไม่เปิดออกได้ง่าย บานประตูบันไดเปิดปิดได้เพราะมีเดือยที่ขอบบนและล่างสอดเข้าในรูของไม้ที่ ยึดติดกับเสาดังกล่าวแล้วอีกที่หนึ่งคล้ายประตูห้องนอน

เสาแหล่งหมา คือเสาที่ใช้ผูกหมา เป็นเสาที่เป็นองค์ประกอบจำเพาะของเรือนทางภาคเหนือโดยเฉพาะเรือนกาแลและ เรือนรุ่นหลังลงมา สำหรับเรือนกาแลแล้วเสาที่ตั้งขึ้นเพื่อยึดบานประตูกลางบันไดก็ใช้เป็นเสา แหล่งหมาได้เช่นกัน ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือเสาซึ่งรับโครงหลังคาคลุมบันไดจะเป็นเสาที่อยู่ด้าน นอกโดยปักลงดินโดด ๆ บริเวณแนวเดียวกับตีนบันได เสานี้จึงใช้รับโครงหลังคาและเป็นเสาแหล่งหมาไปด้วย

การสร้างบันไดนับได้ว่ามีความสำคัญที่จะทำให้ขึ้นได้สะดวก การทรงตัวขณะขึ้นดี การสร้างบันไดไม่ดี เวลาลงส้นเท้าอาจไปขัดลูกขั้นได้ มีคติการสร้างบันไดให้ขึ้นลงสะดวกตามคำบอกเล่าของสล่าท่านหนึ่งว่า ขั้นบันไดสามแม่ขึ้นม่วน โดยการสร้างแบบง่าย ๆ คือใช้ไม้ที่จะทำแม่บันไดที่มีความยาวเท่าที่ต้องการ อาจประมาณความยาวได้โดยวางพาดบริเวณที่จะต้องการทำบันได เช่น จากชานถึงพื้นดิน เมื่อได้ความยาวของแม่บันไดแล้วนำไม้แม่บันไดทั้งสอง และหาไม้อีกแผ่นหนึ่งที่มีความยาวเท่ากันมาวางทำมุมกันให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านเท่าทำการแบ่งขั้นบันไดขั้นเท่า ๆ กันตามความต้องการเป็นจำนวนคี่ คือ 5, 7 หรือ 9 โดยใช้ไม้ทาบที่บันไดทั้งสองขีดเส้นให้ตรงกันไว้ เมื่อพลิกไม้แม่บันไดวางขึ้นขนานกัน วางลูกบันไดตามเส้นที่ขีดไว้จะทำให้ได้บันไดขึ้นม่วน ตามหลักเรขาคณิตแล้วมุมของสามเหลี่ยมเท่ากับ 60 องศา ฉะนั้น การตั้งบันไดให้ขั้นบันไดขนานกับพื้นดินจะต้องตั้งตัวบันไดให้ทำมุมกับพื้น ดิน 60 องศา แท้ที่จริงแล้วค่อนข้างจะชันไปบันไดของเรือนสมัยใหม่จะทำมุมกับพื้นดินน้อย กว่านี้

ขนาดของบันได ความของบันไดมีขนาดต่างๆ กัน ที่กว้างสุดประมาณ 200 ซม. และขนาดเล็กประมาณ 80 ซม. ลูกขั้นและแม่บันไดใช้ไม้หน้าไม่กว้างนักประมาณ15 ซม. แต่ที่ใช้หน้ากว้างกว่านี้ก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วใช้ไม้หนาประมาณ 5 ซม. จำนวนขั้นบันได นั้นส่วนใหญ่มี 7 ขั้น ที่มีมากหรือน้อยขั้นกว่านี้ก็พบได้ ตามคตินิยมของไทยจำนวนขั้นบันไดนี้ต้องเป็นเลขคี่ซึ่งเป็นความเชื่อมาจนถึง ปัจจุบัน

31) ชาน
เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรือนกาแลเช่นเดียวกับของเรือนฝาปะกน ชานคือพื้นที่โล่งลดระดับต่ำลงประมาณ 20 ซม. จากเติน ชานจะอยู่บริเวณหน้าเรือนคือหน้าต่อเติน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญเพราะสามารถใช้เป็นที่อเนกประสงค์พักผ่อนประกอบ กิจกรรมการงานหรือพิธีกรรม ไว้ตากของเป็นที่เล่นของเด็ก ฯลฯ ดังนั้นชานจึงมีขนาดกว้างพอควร ส่วนใหญ่ปูด้วยแผ่นไม้สัก หน้าไม่กว้างนักและเว้นช่องระหว่างแผ่นพอควรเพื่อไม่ให้น้ำฝนขัง แต่เดิมชานมีขนาดใหญ่แต่เมื่อซ่อมแซมใหม่ขนาดอาจทำให้เล็กลง และบางแห่งทำหลังคามุง ทั้งนี้เพราะไม้หายาก และมุงหลังคาให้ไม้คงทนขึ้น เรือนกาแลทุกหลังจะมีชานอยู่หน้าเรือน แต่อาจมีชานบริเวณหลังเรือนหรือว่าหลังครัวอีก ซึ่งจะทำให้ขนาดเล็กกว่า และใช้ประโยชน์อเนกประสงค์เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมี ชานฮ่อม คือช่องทางเชื่อมระหว่างเรือนกาแลสองหลังที่ปลูกขนานกัน ชานฮ่อมจึงอยู่ระหว่างด้านยาวของเรือนทั้ง 2 หลัง นับเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างเรือนหน้ากับหลังได้อย่างดี ในกรณีที่มีการกั้นห้องนอนของเรือนกาแลแฝดเป็นห้องนอนใหญ่ห้องเดียวก็จะไม่ มีชานฮ่อม การที่ชานลดระดับต่ำจากเตินช่วยให้นั่งห้อยเท้าได้อย่างสบาย นอกจากนี้การต่างระดับระหว่างเตินกับชาน ทำให้ผู้ใหญ่หรือพระนั่งบริเวณเตินเวลาทำบุญ ส่วนผู้อาวุโสนั้นนั่งที่ชานก็ดูเหมาะสมดี ตามประเพณีไทย รอบ ๆ ชานด้านนอกจะมีรั้วไม้กั้นอยู่โดยรอบ โดยมีระดับสูงประมาณ 70-90 ซม. ส่วนใหญ่ใช้ไม้เหลี่ยม ยึดกันไม่มีรูปแบบที่แน่นอน มีทั้งกั้นตามแนวตั้งและแนวนอน

32) รางลิน /อางลิน (รางน้ำ) เนื่องจากเรือนกาแลปลูกเป็นเรือนแฝดสองหลังคู่ขนานกัน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีรางน้ำไว้รับน้ำฝนมิให้ตกลงเปียกพื้นเรือน อางลินวางลาดจากหน้าเรือนเทต่ำลงทางหลังเรือน โดยวางระหว่างชายคาของเรือนทั้ง 2 หลัง แต่เดิมนั้นฮางลินคงใช้ไม้ซุงทั้งต้นขุดเป็นรางยาวตลอดเรือน ส่วนปลายที่อยู่หลังเรือนจะยื่นเลยหลังคาเรือนออกไป ซึ่งบางหลังจะยื่นเลยออกไปมากเกือบ 1.5 เมตร ก็มี ทั้งนี้คงจะเพื่อให้น้ำฝนไหลตกลงไกลจากตัวเรือน บางหลังไม่ใช้ไม้ซุงขุดเป็นราง แต่ใช้ไม้สามแผ่นประกบกันให้เป็นรางและยาชันกันรั่ว ภายหลังใช้รางสังกะสีแทนก็มี ฮางลินนั้นจะวางบนไม้คานซึ่งเป็นไม้เหลี่ยมที่พาดยึดติดกับเสาเพื่อรองรับ

33) ร้านน้ำ (อ่าน “ อ้านน้ำ ” )
ร้านน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเรือนกาแลพบมีทุกหลัง ร้านน้ำคือชั้นหรือทำเป็นเรือนขนาดเล็กๆ เพื่อไว้ตั้งหม้อสำหรับดื่ม ส่วนใหญ่ร้านน้ำจะทำไว้ด้านข้างของชานหน้าเรือน แต่ที่ทำไว้บริเวณด้านหน้าของชานก็มี บางแห่งก็ทำร้านน้ำไว้ตั้งบริเวณหน้าและหลังเรือน ร้านน้ำส่วนใหญ่ทำเป็นชั้นยกระดับสูงประมาณระดับลงของชานคือประมาณ 80-120 เซนติเมตร โดยมีไม้คานยึดติดกับเสาเพื่อให้วางไม้แผ่นไว้ตั้งหม้อน้ำ 2-3 หม้อหลายแห่งทำหลังคาทรงจั่วเล็กๆคลุม และบางแห่งทำกาแลเล็กๆติดไว้อีกด้วย หม้อดินที่บรรจุน้ำดื่มนั้นมีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี ทำให้น้ำเย็นพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีนิยมเมื่อดื่มน้ำ ซึ่งตักโดยกระบวยจากหม้อแล้ว จะเทน้ำที่เหลือลงรอบ ๆ ด้านนอกของหม้อน้ำเพื่อให้เปียกชื้น เมื่อน้ำระเหยจะดูดความร้อนออกไปด้วยทำให้น้ำภายในเย็นลง จะพบว่าเมื่อใช้หม้อน้ำไปสักพักหนึ่งก็จะเกิดตะไคร้น้ำ หญ้ามอสเกาะรอบ ๆ หม้อน้ำ ดูเป็นธรรมชาติดี ร้านน้ำ หม้อน้ำ กระบวยและที่วางกระบวยบางแห่งสร้างสรรค์อย่างงดงามเป็นศิลปะพื้นบ้าน ที่บ่งบอกถึงจิตใจที่รักศิลปะ ความสงบ อิสระ แต่เรียบง่าย

อนึ่งเป็นคตินิยมของชาวล้านนา ที่จะทำร้านน้ำอีกแห่งหนึ่งไว้บริเวณหน้าบ้านสำหรับผู้สัญจรได้ดื่มกิน เช่น ตั้งไว้ใกล้ทางเดินหรือร้านขายของ เป็นการแสดงออกของจิตใจที่เอื้ออารี ดังคำพังเพยที่มีมาแต่โบราณที่กล่าวว่า ทานน้ำเปนเสฎฐี ทานมูรีเปนสะค่วย (สะค่วย คือ ผู้มั่งคั่ง)

34) หิ้งพระ แต่เดิมนั้นชาวล้านนาจะไม่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในบ้าน เพราะถือว่าบ้านเป็นที่อยู่ของคน (และผีปู่ย่าหรือผีเรือน) ไม่ใช่ที่อยู่ของพระ แต่ในเมื่อบางเรือนประสงค์จะให้มีพระไว้ด้วยก็จะปลูกหอพระไว้นอกเรือน นิยมให้สามารถเปิดหน้าต่างเรือนแล้วเอื้อมมือไปจับแจกันหรือถวายข้าวพระได้ ต่อมาภายหลังได้จัดทำที่ประดิษฐานพระไว้ในเรือนโดยทำเป็นหิ้งพระ หิ้งพระมีลักษณะเป็นชั้นไม้กว้างประมาณ 20- 30 ซม. ติดไว้กับฝาเรือนบริเวณเตินโดยมากติดไว้ที่ฝาด้านข้างของเติน ระหว่างช่องเสาโดยยาวตลอดช่องเสาและสูงประมาณระดับศีรษะหรือสูงกว่าเล็กน้อย ไม่ว่าจะหันเรือนไปทางทิศใดเหนือหรือใต้ก็ตาม หิ้งพระจะตั้งไว้กับฝาด้านตะวันออกเสมอ พระพุทธรูปที่ตั้งไว้บนหิ้งจึงหันหน้าไปทิศตะวันตกเสมอไป

หิ้งพระทรงเรือนกาแลมีการติดตั้ง 2 แบบ คือ

•  ติดตั้งเป็นชั้นภายในฝาโดยใช้ฝาเป็นผนังนอกไม่ว่าฝาเรือนจะเป็นชนิดฝาตั้งหรือฝาตากก็ตาม

•  อีกแบบหนึ่งคือเจาะฝาเป็นช่องแล้วติดตั้งหิ้งซึ่งทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมปิด ด้วยไม้ 5 ด้าน เป็นเฉพาะด้านในกล่องนี้ติดตั้งยื่นพ้นฝาออกไปนอกผนังเรือน หิ้งชนิดนี้มีเฉพาะฝาตั้ง จะไม่ทำกับฝาตาก

แต่เดิมชาวไทยไม่นิยมมีพระพุทธรูปไว้บูชาที่บ้านแม้สร้างพระพุทธรูปก็ไว้ที่วัด การนิยมนำพระพุทธรูปมาไว้บูชาที่บ้านเริ่มมีในยุคหลังประมาณ 70 กว่าปีที่ผ่านมา หิ้งพระในสมัยก่อนหน้านี้จึงเป็นที่ไว้กระถางธูป พานใส่ดอกไม้ สมุดไทย ตำรายาหรือคัมภีร์ต่าง ๆ รวมทั้งรูปปูชนียวัตถุสถานต่าง ๆ รูปถ่าย รูปพิมพ์ พระพุทธรูปและรูปถ่ายของพระเถระที่มีชื่อ เช่น ครูบาศรีวิชัย ซึ่งชาวเหนือถือว่าเป็น ต๋นบุญ หรือนักบุญ ที่ควรแก่การสักการบูชา นอกจากนี้ตามฝาเรือนอาจมีรูปถ่ายของญาติพี่น้องมิตรสหาย และภาพเขียนภาพพิมพ์ เกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือยันต์ป้องกันภัย นำโชคลาภสิริมงคลและที่สำคัญคือการแขวน รูปตัวเพิ่ง คือรูปนักษัตรนั้น ๆ รวมทั้งพระธาตุประจำปี เช่น เกิดปีระกาจะมีรูปไก่และรูปพระธาตุลำพูนเป็นที่บูชา โดยมีความเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วดวงวิญญาณก็จะไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของ ตน คำว่า เพิ่ง คือ พึ่งนั่นเอง คงหมายถึงได้พึ่งเจดีย์พระธาตุดังกล่าว นอกจากนี้ยังเชื่อว่าขณะมีชีวิตอยู่ การได้ไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนจะได้บุญกุศล

35) หิ้งผีปู่ย่า
เป็นหิ้งที่จัดสร้างเหนือหัวนอน ยึดติดฝาด้านตะวันออกตรงมุมห้องอยู่ติดเสาหรืออยู่ระหว่างเสามงคลและเสาท้าย สุดของเรือน ทำเป็นหิ้งขนาดเล็ก ยื่นจากฝาเข้ามาในห้องมีระดับสูงเท่า ๆ หิ้งพระ ไม่นิยมทำหิ้งชนิดที่ยื่นออกนอกฝา เช่น หิ้งพระ ผีปู่ย่าหมายถึงวิญญาณของบรรพชนที่สิงสถิตในห้องนอนนี้ และยังให้การคุ้มครองแก่ทุกคนที่อาศัยในห้องนี้ บนหิ้งมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ธูปเทียนจากการเซ่นไหว้ด้วยไก่ หัวหมู เหล้า ของหวาน รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียนด้วยโดยประเพณีแล้วจะมีการเซ่นไหว้ผีปู่ย่าปีละ 2 ครั้ง คือในวันสงกรานต์และวันอกอื่นพรรษา งานเซ่นไหว้นี้บรรดาบุตรหลานผู้สืบสกุลเชื้อสายจากผีเดียวกัน จะมาชุมนุมพร้อมเพรียงกัน โดยปกติแล้วการปรนนิบัติต่อผีเป็นหน้าที่ของภรรยาเจ้าของบ้านหรือฝ่ายหญิง และตกทอดไปทางสมาชิกครอบครัวที่เป็นหญิง

(ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ http://lanna.arc.cmu.ac.th/Lanna/vernacular/page_01.htm)