วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

นิทานล้านนา เรื่อง แก้พิษตามราศี
 
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีลูกเศรษฐีคนหนึ่ง ชอบเดินทางไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองอยู่ไม่ขาดวันหนึ่งไปค้าดังเช่นเคย พร้อมกับบ่าวไพร่หลายคน แต่คราวนี้เคราะห์ร้าย ถูกโจรดักปล้นกลางทางต้องหนีเอาตัวรอด เสียผู้คนข้าวของทั้งหมด พลัดไปแต่ลำพังกับบ่าวที่ติดหน้าตามหลังคนหนึ่งเท่านั้น

สองคนนายบ่าวเดินเซซังไปจนค่ำก็ถึงเมืองแห่งหนึ่ง แต่เข้าพักในเมืองไม่ได้ เพราะประตูเมืองปิดเสียแล้ว จึงต้องอาศัยพักแรมอยู่ที่ศาลานอกเมือง ก่อนนอนนายบ่าวก็สนทนากัน บ่าวขอให้ลูกเศรษฐีเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ชาติ ต่าง ๆ ให้ฟัง ลูกเศรษฐีที่เป็นนายก็รับคำ แล้วให้บ่าวว่า ‘' สัคเค '' ชุมนุมเทวดาบอกกล่าวจะเล่านิทานชาดก เป็นกิริยาบุญอัญเชิญเทวดาทั้งหลายมาประชุมฟัง แต่พอบ่าวกล่าวประกาศชุมนุมเทวดาจบ ลูกเศรษฐีเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ง่วงหนักก็นอนหลับไป ไม่ทันได้เล่านิทานชาดกตามี่รับปากไว้

ส่วนบ่าวเมื่อเห็นนายหลับเสียแล้ว ก็ลงนอนบ้างแต่ไม่หลับ หูได้ยินเหมือนคนพูดกันบนขื่อศาลา ตั้งใตฟังดูก็รู้ว่าเป็นเสียงพูดของเหล่าเทวดาที่ตนประกาศชุมนุมมาฟังนิทาน ชาดก แต่ผู้เล่าหลับเสียก่อน เทวดาพากันมาแล้วก็เก้อไปไม่ได้ฟังนิทานสมความกระหายยาก ก็โกรธเคืองมากจึงคิดกันว่าจะฆ่าลูกเศรษฐีเสียให้หายแค้น

ในขั้นต้นเทวดากลุ่มนั้นก็ตกลงกันว่าจะเอาแสงพิษปนไปกับแสงแดดให้แทงตาลูกเศรษฐีเวลา ตื่นขึ้น อำนาจแสงพิษในแดดนั้นก็จะทำให้อายุสั้น ลูกเศรษฐีตื่นขึ้นก็ต้องตายเมื่อต้องแสงแดดแทงตาแต่มีเทวดาองค์หนึ่งแย้งว่า ‘' ถ้าลูกเศรษฐีตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ก่อนแดดบังเกิดขึ้น แล้วเอาน้ำล้างหน้าแสงพิษในแดดจะไม่ให้โทษอันใด ก็จะแก้พิษเสียได้ไม่ให้อันตรายบังเกิดขึ้น ลูกเศรษฐีก็จะไม่ตายตามที่ต้องการ '' เทวดาอีกองค์หนึ่งในที่ประชุมนั้นจึงว่า ‘' ถ้าเขาไม่ตายในเวลาเช้าดังที่เราคะเน ก็ต้องรอโอกาสใหม่ในตอนกลางวันอีกทีหนึ่ง คือกลางวันแดดร้อนเหงื่อออก ก็จะเอาพิษใส่ขุมเหงื่อตรงหัวใจ พิษซึบซาบเข้าในหัวใจ ลูกเศรษฐีก็จะตายตอนนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งขัดขึ้นว่า ‘' อาจจะไม่ตายก็ได้ถ้าลูกเศรษฐีรู้จักผ่อนร้อนแก้พิษยามเที่ยงเสีย โดยเอาน้ำลูบตรงหัวใจให้เย็นชุ่ม ก็เป็นอันว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ผลดี ถ้าแก้เป็น ‘'

เทวดาอีกองค์หนึ่งก็หาทางลงโทษใหม่ว่า ‘' ถ้าเช่นนั้นจะเอาพิษใส่ในคนโทน้ำเวลาลูกเศรษฐีกินข้าวแล้วกินน้ำในคนโทก็จะ ต้องพิษนั้นตาย ‘' ก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งกล่าวขึ้นว่า ‘' ถ้าเขารู้จักแก้ก็จะไม่เป็นอันตรายด้วยพิษนั้น คือ ก่อนจะกินน้ำในคนโทให้รินทิ้งหน่อยหนึ่ง พิษที่อยู่บนผิวน้ำถูกรินทิ้งเสียแล้วกินเข้าไปก็ไม่มีโทษอันใด ลูกเศรษฐีก็จะแก้ตก รอดตายได้ ‘'

เทวดาองค์ถัดมาจึงว่า ‘' ถ้าไม่ตายตอนกินน้ำก็จะให้ตายตอนกินหมาก จะเอาพิษป้ายไว้ที่หางพลู กินหมากเมื่อใดก็จะต้องพิษนั้นตาย ‘' เทวดาอีกองค์หนึ่งจึงแย้งว่า ‘' ที่ว่าจะป้ายพิษไว้ที่หางพลูนั้นมีทางจะทำให้ตายได้ก็จริง แต่ก็มีทางแก้อยู่นั่นเอง ถ้าเขาเด็ดหางพลูทิ้งเสียพิษก็ไม่ติดเข้าไป ก็จะรอดไปได้ ‘'

เทวดาองค์ต่อมาก็ออกความเห็นว่า ‘' ถ้าเช่นนั้นก็ต้องรอไว้ตอนค่ำ เมื่อจะนอนเราก็เอาพิษเช็ดไว้ที่ฝ่าเท้า ลูกเศรษฐีนอนหลับไปพิษจะซึมซาบทำให้ตายไปเลย ไม่ได้ตื่นขึ้นดูดวงตะวันอีก ‘' แต่เทวดาองค์สุดท้ายในที่นั้นก็ว่า ‘' ถึงแม้จะใช้วิธีนี้ลูกเศรษฐีก็ยังมีทางรอดถ้ารู้จักแก้พิษ โดยเอาน้ำล้างเท้าเสียก่อนนอน พิษร้ายนั้นก็จะไม่ทำอันตรายแก่ลูกเศรษฐีประการใดเลย ‘'

บ่าวนอนฟังเทวดาปรึกษากันจนหลับไป จำเรื่องที่เทวดาพูดทั้งทางหนีทีแก้ได้ทุกอย่าง พอเช้ามืดพระตีระฆังก็รีบปลุกนายขึ้นเล่าให้ฟัง แล้วให้นายล้างหน้าเสียก่อนแสงอาทิตย์ส่องเป็นการแก้พิษยามเช้า ถึงกลางวันก็ให้เอาน้ำลูบอกดับพิษที่ชุ่มเหงื่อตรงหัวใจ เวลาจะกินน้ำให้รินในคนโททิ้งเสียหน่อยหนึ่งก่อน ครั้นเมื่อจะกินหมากก็เตือนให้เด็ดหางพลูทิ้งเสียก่อนจะเอาปูนป้ายพลู ก่อนนอนก็บอกให้นายล้างเท้า ทำลายพิษที่เทวดาเช็ดไว้ที่ฝ่าเท้า ลูกเศรษฐีแก้พิษไปได้หมดสิ้นตามราศรต่าง ๆ ก็รอดชีวิตไปได้ไม่ต้องตาย การแก้พิษนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมของคนทางเมืองเหนือ ทำตามอย่างนี้กันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

- ทำให้ได้รับความสนุกเพลิดเพลิน

- ทำให้รู้ถึงการนำเอาธรรมเนียมประเพณีที่ทำอยู่เปรียบเทียบกับนิทาน

- ทำให้รู้ถึงการสอนคนให้ปฏิบัติเกียวกับสุขภาพอนามัยก่อนด้วยการยกเอานิทานมาเล่า

คติ ‘'รู้จักแก้ไขให้ถูกวิธีก็สามารถเอาตัวรอดได้ ‘'