การเกษตรล้านนา - หอมเทียม (กระเทียม)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

หอมเทียม (กระเทียม)


หอมเทียม หรือบ้างเรียก หอมขาว คือ กระเทียม ชื่อภาษาอังกฤษว่า Garlic Alliaceae sativum Linn, มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป และ ตอนกลางของทวีปเอเซีย เป็นพืชล้มลุกมีหัวใต้ดิน (Bulb) เกาะกันแน่น มีเยื่อบาง ๆ สีขาวหุ้มหัวทั้งหมดไว้ และมีเยื่อหนาแข็งกว่า สีขาวถึงขาวออกม่วงหุ้มแตะละกลีบไว้อีกที ด้านล่างของหัวมีรากฝอยมากมาย ลำต้นที่เกิดจากหัวเจริญขึ้นสูงได้ประมาณ ๑ - ๒ ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยวยาว แบน สีเขียวเข้มคล้ายใบหญ้า โคนของใบหุ้มลำต้นครึ่งล่างไว้ เวลาดอกบาน กาบของช่อดอกจะเปิดออกด้านหนึ่งแล้วก็เหี่ยวไป ดอกในช่อสีขาว เมื่อบานแล้วจะออกสีม่วงเล็กน้อยบานไม่พร้อมกัน เมื่อดอกบานแล้ว ต้นแก่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหี่ยวลงเหลือแต่หัวใต้ดิน ก็สามารถถอนมาตากแห้งเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป ถ้าหากจะนำไปปลูกก็แกะหัวกระเทียมแยกเป็นกลีบ ๆ ไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ กระเทียมอีกชนิดหนึ่ง เป็นกระเทียมหัวโทน ทางล้านนาบ้านเรียบ หอมดอก บางคนนำมาดองกับน้ำผึ้ง นิยมกินเป็นยาบำรุงกำลัง

การปลูกหอมเทียม

ทางล้านนามีการปลูกกระเทียมกันมานาน ทั้งปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนและปลูกเพื่อจำหน่าย การปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนจะปลูกในปริมาณน้อย หรือบ้างก็ปลูกไว้ในสวนครัวหลังบ้านสำหรับเก็บใบอ่อนมาปรุงอาหาร แต่ถ้าปลูกขายเพื่อเศรษฐกิจจะปลูกในปริมาณมากจำนวนหลายไร่ ในทุ่งนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว จะเริ่มปลูกกันในราวเดือนธนวาคม - มกราคม เมื่อเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ชาวบ้านจะตัดและขุดตอฟางออก จากนั้นก็ขึ้นฮอน คือกร่องขึ้นแปลงสูงประมาณ ๑ ฟุต แปลงกว้างประมาณ ๒ - ๓ เมตร และพรวนดิน จากนั้นปล่อยน้ำเข้าร่องน้ำทิ้งไว้ประมาณหนึ่งคืนจนดินชุ่ม ก็ลงมือปลูกกระเทียมได้ หากต้องการให้เป็นระเบียบ ก็อาจใช้ไม้ไผ่สานเป็นช่องตาราง ใช้วางทาบบนแปลง แล้วใช้กลีบกระเทียมจิ้มปลูกลงไปกลางช่องแต่ละช่องนั้น เมื่อปลูกครบทุกช่องแล้ว ก็นำตารางนั้นนอกไปวางทาบบนเนื้อที่แปลงส่วนจะนำฟางข้าวมาคลุมบนแปลง จากนั้นเมื่อกระเทียมเข้าแปลง ชาวยมงอก ลำต้นโผล่พ้นฟางข้าวที่ปูคลุมไว้นั้นแล้ว ก็ปล่อยน้ำเข้าร่องน้ำใช้บางแห่งเรียกชุ่ม ( อ่าน ” จุ้น ”) คือโพงวิดน้ำ เข้าแปลง ชาวบ้านเรียกขั้นตอนนี้ว่า ใส่น้ำหอม จากนั้นก็คอยกำจัดวัชพืช เรียกว่า เอาหย้าหอม เมื่อกระเทียมแก่จัดในมีสีเหลืองและเหี่ยวแห้งลงก็ถอนกระเทียมขึ้นมา สลัดให้ดินทีติดหลุดออก วางเรียงบนแปลงผึ่งแดดไว้ แล้วขนไปตากแดด และเก็บไว้ยังยุ้งฉางที่บ้าน โดยมัดเป็นจุกๆ แล้วนำ ๒ กระจุกมัดรวมกันไว้วางพาดบนราวไม้ถุนยุ้งข้าว ถ้ามีจำนวนมากจะทำรวมเก็บไว้ในโรงซึ่งทำไว้ต่างหาก สำหรับส่วนที่เก็บไว้บริโภคประจำวันจะทำรวมเก็บไว้ในห้องครัวบริเวณใกล้ที่ ประกอบอาหาร
 


 
สารสำคัญในกระเทียม

ในหัวกระเทียมสดประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิดคือ
๑ . สารอินทรีย์กำมะถันหลายชนิด เช่น สารอัลลิอิน (aIIiin) อัลลิชิน (aIIicin) ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำมันที่ไม่มีสีละลายน้ำได้อัลลิล ไดซัลไฟด์ (diaIIyI disuIide) ไดอัลลิลไทรซัลไฟด์ (diaIIyI trisuIfide) เมททิล อัลลิล ไทรวัลไฟด์ (methy aIIyI trisuIfide)
๒ . น้ำมันหอมระเหยซึ่งเรียกว่า น้ำมันกระเทียม (garIic OiI) ในปริมาณร้อยละ ๐ . ๑ - ๐ . ๔ ซึ่งได้จากการนำหัวกระเทียมสดมาบุบพอแตก ลั่นด้วยไอน้ำ สารสำคัญในน้ำมันกระเทียมได้แก่ อัลลิอิน อัลลิชิน อัลลิลโปรปิล ไดซัลไฟด์ และไดอัลลิลไทรซัลไฟด์ เป็นส่วรนใหญ่ เมื่อรับประทานกระเทียมเข้าไปน้ำมันหอมระเหยของกระเทียมจะถูกดูดซึมเข้าใน ร่างกายทางลำไส้ และขับถ่ายออกจากร่างกายเป็นบางส่วนทางปอด ทำให้รู้สึกหายใจมีกลิ่นเหม็นฉุน และบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ
๓ . น้ำย่อย ( enzyme) หลายชนิด เช่น อัลลิเนส (aIIinase ) เปอรอกซิเดส (peroxideas) อินเวอเทส (invertase) และไทโรซิเนส (tyrosinase) เป็นต้น
๔ . สารอาหารชนิดต่างๆ ได้แก่ โปรตีน น้ำตาล กรดไขมัน กรดอะมิโน แร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินบีหนึ่ง บีสอง และวิตามินซี เป็นต้น ใบสด ประกอบด้วยสารสำคัญเป็นกรดมิโนหลายชนิด เช่น ไลซีน (Iysine) ซีสทีน (cystine) วาลีน (vaIine) ฯลฯ และยังมีน้ำตาลซูโครส กลูโคส วิตามินบีหนึ่ง และวิตามินซี
 
 
ประโยชน์ของกระเทียม

๑ . ประโยชน์ทางอาหาร คนไทยส่วนใหญ่ใช้กระเทียมประกอบอาหารเป็นประจำตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว โดยใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงในอาหารชนิดๆ ใช้กินสดๆกับอาหารอื่นๆ ใช้เจียวให้มี่กลิ่นหอมในการผัดอาหารต่างๆ หัวกระเทียมสดใช้ทำกระเทียมดอง เป็นต้น ส่วนใบของกระเทียมใช้เป็นผักจิ้ม หรือใช้โรยหน้าอาหารอย่างต้นหอมหรือผักชีก็ได้

๒ . ประโยชน์ทางยา ในยาแผนโบราณมีการใช้กระเทียมบำบัดอาการไอ แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ความสูง เส้นเลือดเปราะ แก้โรคท้องเสีย ขับลม ขับเหงื่อฯลฯ ทางตำรับยาสมุนไพรล้านนาก็มีการใช้กระเทียมในยาหลายขนาน เช่น ยามุตขีด ( ยารักษาโรคทางงเดินปัสสาวะ ) ยาปวดท้องเจ็บท้องน้อย อาหารท้องยินลำบาก ( ยารักษาอาการปวดท้อง เจ็บท้องน้อยบริเวรลำไส้ใหญ่ ) ยาตาตัด ( ยารักษาโรคตาต้อ ) ยาประสูติกร้อนอกตกใจ ( ยารักษาอาการตกใจจากการคลอดลูก ) ยาหลุมูกเลือด ( ยารักษาอาการท้องเสีย เป็นมูกเลือด ) ยาไฟท้องดับ ( ยาบำรุงธาตุท้อง ) ยามีดพร้าบาด ( ยารักษาแผลมีดบาด ) ยามะเร็งครุดท้องเป็นก้อน ( ยารักษาโรคลม รู้สึกมีลมเป็นก้อนในท้อง ) ยาข่อเลือดเน่า ( ยาขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอด ) ยาวัวพี ( ยาบำรุงและเจริญอาหารให้แก่วัว ) เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วในการเจาะสำหรับใส่ตุ้มหู หลังจากที่เจาะเสร็จใหม่ๆ มักจะใช้ก้านกระเทียม ซึ่งอยู่ตรงกลางหัวกระเทียมที่แห้งแล้ว มาสอดไว้ในรูเจาะนั้น จนกว่าแผลแห้งดีแล้ว จึงค่อยใส่ตุ้มหู ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฟทธิ์ของกระเทียมในด้านการรักษามากมาย ฤทธิ์ของกระเทียมและน้ำมันกระเทียม ได้แก่
๑ . ใช้ขับเหงื่อขับปัสสาวะ และขับเสมหะ โดยจะเตรียมในรูปของยาน้ำเชื่อม (GarIic syrup ) ซึ่งเตรียมได้ง่ายๆ คือใช้หัวกระเทียมสดประมาณครึ่งกิโลกรัม ทุบพอแตกใส่ในขวดโหล เติมน้ำผึ้งหรือน้ำหวานข้นๆ ๑ ถ้วยแก้ว แช่ไว้ประมาณ ๑ สัปดาห์ ใช้รับประทานวันละครึ่งช้อนโต๊ะ
๒ . ใช้ขับลม แก้จุกเสียดแน่น ท้อง อืด - ท้องเฟ้อ โดยรับประทานเนื้อกระเทียมสด ๕ กลีบหลังอาหารทุกมื้อ
๓ . ช่วยลดปริมาณคอเลสเตรอรลในเลือด โดยรับประทานสดครั้งละ ๕ กรัม วันละ ๓ ครั้ง พร้อมอาหารหรือหลังอาหารเป็นเวลา ๑ เดือน ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานกระเทียมสด อาจรับประทานกระเทียมผงหรือน้ำมันกระเทียมแทนได้ครั้งละ ๒ แคปซูล วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร
๔ . ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน โดยรับประทานเช่นเดียวกับข้อ ๓
๕ . ช่วยลดความดันดลหิต โดยรับประทานเช่นเดียวกับข้อ ๓
๖ . ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด โดยรับประทานเช่นเดียวกันข้อ ๓
๗ . ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรควัณโรค คอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ และคออักเสบได้
๘ . ช่วยรักษาโรคกลาก โดยใช้หัวกระเทียมสดฝานแล้วทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ