ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - ประเพณีใส่กระจาด (ประเพณีเส่อกระจาด)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีใส่กระจาด (ประเพณีเส่อกระจาด)

ภาค      ภาคกลาง
จังหวัด   ลพบุรี
ช่วงเวลา เดือน ๑๑ ข้างแรม ราวกลางเดือนตุลาคม

  • ความสำคัญ

เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยพวน ซึ่งจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลเทศน์มหาชาติ ซึ่งส่วนมากจะกำหนดในฤดูกาลออกพรรษา เมื่อหมู่บ้านใดกำหนดให้เทศน์มหาชาติขึ้นทางวัดก็จะส่งหนังสือกัณฑ์เทศน์ไป ตามวัดต่างๆ เพื่อให้วัดต่างๆ ส่งพระมาร่วมเทศน์ด้วย โดยเรียกวันก่อนจะถึงวันเทศน์ ๑ วัน ว่า "วันตั้ง"คือวันใส่กระจาดนั่นเอง

  • พิธีกรรม

ก่อนถึงวันใส่กระจาด ๑ วัน เรียกว่า วันต้อนสาว ชาวบ้านจะช่วยกันทำขนม ห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) คำว่าต้อนสาวเป็นภาษาท้องถิ่นคือ เจ้าของบ้านจะไปวานลูกสาวของหมู่บ้านที่รู้จักคุ้นเคยมาช่วยงานที่บ้านของตน และช่วยต้อนรับแขกที่จะมาใส่กระจาด ในคืนนี้หนุ่มๆ จะไปเที่ยวตามบ้านสาวที่ตนชอบพออยู่ และช่วยกันทำขนมไปคุยกันไปตลอดคืนรุ่งขึ้นเป็นวันใส่กระจาดชาวบ้านอื่นๆ จะนำของ เช่น กล้วย อ้อย ส้มโอ ธูปเทียน เงิน หรืออื่นๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนที่ตนรู้จัก เจ้าของบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้มารับรองแขก เมื่อแขกลากลับบ้านก็จะเอาข้าวต้มมัดฝากไปให้เรียกว่า "คืนกระจาด" ในวันนี้จะใส่กระจาดกันจนมืดทุกบ้านจะปฏิบัติอย่างเดียวกัน แขกที่ไปใส่กระจาดจะต้องกินอาหารของเจ้าของบ้านทุกบ้าน
ในวันรุ่งขึ้น เป็นวันเทศน์ ชาวบ้านจะจัดสำรับไปทำบุญที่วัดโดยนำของที่แขกนำมาใส่กระจาดทำเป็นกัณฑ์เทศน์ไปถวายพระที่วัด

  • สาระ

การนำเอาของมาร่วมสมทบทำบุญ เรียกว่า "ใส่กระจาด" เจ้าของบ้านจะเลี้ยงอาหารแก่แขก เมื่อแขกลากลับก็จะให้ข้าวต้มมัดตอบแทน ประเพณีนี้หนุ่มสาวจะมีโอกาสพบปะพูดคุยกันได้เต็มที่โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ ขัดขวาง