วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ชนกว่าง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เชียงใหม่

ใน บรรดาการละเล่นพื้นบ้านทางภาคเหนือ โดยเฉพาะการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับสัตว์นั้น การเล่นชนกว่างนับได้ว่าเป็นที่นิยมไม่น้อยกว่าการชนไก่ กัดปลา ชนวัว หรือวิ่งควาย ของภาคอื่น ๆ
กว่าง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลด้วงมี ๖ ขา แต่ละขามีเล็บสำหรับเกาะยึดกิ่งไม้ ใบไม้ได้อย่างมั่นคง กว่างบางชนิดมีเขา บางชนิดไม่มีเขา บางชนิดไม่นิยมนำมาเลี้ยง บางชนิดนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นเช่น กว่างซาง กว่างงวง กว่างกิ กว่างกิอุ และกว่างอี้หลุ้ม

กว่างซาง เป็นกว่างตัวโต ปีกและลำตัวสีน้ำตาลหรือสีแดงด้าน ๆ มีเขาด้านบน ๕ เขา ด้านล่าง ๓ เขาเขาด้านล่างขยับหนีบเข้าหากันได้ มักกินหน่อไม้ซางเป็นอาหาร อุปนิสัยอืดอาดช้าจึงไม่นิยมนำมาเลี้ยง
กว่างงวง เป็นกว่างที่มีลำตัวกลม ปีกสีแดง ส่วนหัวสีดำ มีเขาบนเขาเดียวงอโง้งเหมือนงวง กว่างกิเป็นกว่างตัวเล็กเขาบนสั้นมากจนเกือบกุด ส่วนเขาล่างยาวกว่า กว่างกิอุจะตัวโตกว่าและเขาบนจะยาวกว่า
กว่างอีหลุ้ม หรือกว่างแม่มูด เป็นกว่างตัวเมีย ไม่มีเขา มักนิยมนำมาใช้ล่อในการชน

  • อุปกรณ์ในการเล่น

กว่างที่นิยมนำมาเลี้ยงไว้ชนนั้น จะเป็นกว่างตัวผู้และมีเขาทั้งบนและล่าง ปลายเขาจะแยกออกเป็นแฉกและแหลมคม เขาบนติดกับส่วนหัวไม่สามารถขยับได้ ส่วนเขาล่างสามารถขยับหนีบได้ ซึ่งส่วนเขานี้เองคืออาวุธสำคัญในการต่อสู้กับศัตรู
กว่างชน ที่นิยมนำมาเลี้ยงไว้ชน ได้แก่ กว่างกิโตน กว่างแซม กว่างซ้ง กว่างรักน้ำปู๋ และกว่างรักน้ำใส
กว่างกิโตนนั้น เขาบนและเขาล่างยาวมาก แต่เขาล่างจะยาวกว่าเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นกว่างซ้น เขาบนและเขาล่างยาวมากและเท่า ๆ กัน ปลายเขาแหลมคม

สำหรับกว่างแซม เขาจะสั้นเท่ากันทั้งบนและล่าง ส่วนกว่างรักน้ำปู๋ เป็นกว่างที่มีสีดำสนิททั้งตัว ถ้าเป็นกว่างรักน้ำใส จะมีสีดำออกแดงน้ำตาลเล็กน้อย

ขณะเลี้ยงดูกว่างผู้เลี้ยงก็จะฝึกฝนทักษะการต่อสู้ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ใช้ไม้ไผ่เหลากลมสอดระหว่างเขาทั้งคู่แล้วปั่น ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพื่อฝึกปฏิกิริยาในการต่อสู้บางครั้งก็ใช้เชือกเส้นเล็กผูกติดกับเขาบน แล้วแกว่งเป็นวงกลมให้กว่างบินเป็นระยะ ๆ เพื่อฝึกกำลัง บางครั้งก็หากว่างตัวอื่น ๆ ที่มีกำลังด้อยกว่าคู่ซ้อม ให้เกิดความฮึกเหิม ฝึกฝนจนเห็นว่าพอจะนำไปเปรียบชนกับคนอื่นได้แล้ว จึงนำไปที่บ่อนชนกว่าง

การเล่นชนกว่างตามบ่อนนับว่าสนุกมาก เพราะมีการเปรียบกว่างหลายคู่ มีการพนันขันต่อเข้ามาเพิ่มรสชาติด้วยตามอัธยาศัย เมื่อเปรียบกว่างและตกลงกันแล้วว่าจะชนกัน เจ้าของกว่างก็จะนำกว่างมาเกาะท่อนอ้อย ซึ่งเปรียบเสมือนสนามประลอง โดยให้เกาะท่อนอ้อยทางด้านปลายทั้งสองให้เผชิญหน้ากันตรงกลางท่อนอ้อย จะฝังกว่างอีหลุ้มไว้ โดยให้ส่วนหลังโผล่ออกมา หลังจากนั้นเจ้าของกว่างก็จะใช้ไม้ไผ่เหลาเสียบเขาให้กว่างเดินเข้ามาหาคู่ ต่อสู้พอได้กลิ่นกว่างอีหลุ้ม กว่างทั้งสองก็จะเกิดการหวงและเข้าต่อสู้กัน โดยการ คาม หรือเอาเขาประสานกัน ต่างฝ่ายต่างหนีบกัน โดยไม่เพลียงพล้ำ เมื่อกว่างตัวใดพยายามเบี่ยงตัวและชิงความได้เปรียบโดยสามารถใช้เขาหนีบคู่ ต่อสู้เพียงฝ่ายเดียว ในขณะประสานเขาอยู่นั้น จะเรียกว่า
ไหล แต่ถ้าได้เปรียบจนสามารถใช้ปลายเขางัดคู่ต่อสู้จนตัวลอย จะเรียกว่า แคะ บางตัวสามารถหนีบคู่ต่อสู้ด้วยเขาทั้งสอง ยกชูขึ้นลอยทั้งตัว ก็จะถือว่าได้ชัยชนะโดยเด็ดขาดบางตัวถึงตายเพราะถูกคู่ต่อสู้หนีบด้วยเขาใน ลักษณะนี้ แต่บางตัวก็ถอดใจ ล่าถอยไม่ยอมประสานเขาเรียกว่า ถอด และหันหลังหนีไปก็จะถือว่าแพ้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่ากว่างของตนยังสู้ได้หรือไม่ เจ้าของจะจับกว่างมาพ่นน้ำหรือจับแกว่งให้บิน แล้วประลองใหม่ ถ้ากว่างตัวนั้นถอยหนีอีกก็จะถือว่าแพ้จริง ๆ

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

ฤดูกาลเล่นชนกว่าง จะเริ่มต้นตั้งแต่กลางฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาว โดยชาวบ้านจะไปจับตามกอไม้รวก ด้วยการเขย่าให้ตกลงมา ถ้าเห็นว่ามีลักษณะดีตรงตามชนิดที่จะสามารถนำมาเลี้ยงไว้ชนได้ก็จะนำมา เลี้ยง โดยให้อาหารจำพวกหน่อไม้ ลูกบวบ กล้วยสุก อ้อย

  • แนวคิด

ปัจจุบัน การเล่นชนกว่างยังคงนิยมเล่นกันอยู่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่เล่นมักนิยมไปเล่นในบ่อนเพื่อการพนัน แหล่งซื้อหากว่างที่รู้จักกันดีอยู่ตรงริมแม่น้ำปิง เชิงสะพานนวรัฐ ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่และตามกาดหรือตลาดทั่วไป