การละเล่นพื้นบ้านภาคเหนือ - โคมลอย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

โคมลอย

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำปาง

โคมลอย
หรือในบางท้องถิ่นของจังหวัดลำปางเรียกว่า ว่าว มี ๒ ชนิด คือ ว่าวลม และว่าวไฟ ว่าวลม คือว่าวที่ปล่อยในเวลากลางวัน ส่วนว่าวไฟ ใช้ปล่อยในเวลากลางคืน

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์
การทำว่าวจะใช้กระดาษเนื้อบาง ติดประกอบกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทำเป็นลักษณะของถุงลมก้นใหญ่ วงปากแคบ กระดาษที่ใช้ทำนั้น จะใช้กระดาษสีเดียวหรือหลาย สี ก็ได้ แล้วแต่ความพอใจของเจ้าต๋ำฮา (เจ้าตำรับ) ในสมัยก่อนนิยมมาช่วยกันทำที่วัด เพราะต้องใช้ สถานที่ทำเป็นลานกว้าง โดยมีเจ้าต๋ำฮาเป็นผู้ควบคุมดูแล

วิธีการเล่น
เมื่อถึงเวลาปล่อยว่าว ชาวบ้านก็จะล้อมวงเข้ามาดูอย่างใกล้ชิด บ้างก็ช่วยถือไม้ค้ำยันเพื่อช่วยให้ว่าวทรงตัวได้ จากนั้น ถ้าเป็นว่าวไฟก็จะเอาเชื้อเพลิงคือผ้าชุบน้ำมันยางเผา หรือใช้ชันหรือที่เรียกว่าขี้ขะย้าเผาเพื่อให้เกิดควันแล้วปล่อยควันไฟเข้า ไปอัดในว่าว จนว่าวลอยตัวและตึงเต็มที่ เมื่อถึงตอนนี้ ชาวบ้านก็ช่วยกันมากขึ้น บางคนก็ถือวงปาก บางพวกก็คอยให้กำลังใจอยู่รอบข้าง โดยมีขบวนแห่กลองสิ้งหม้องและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อว่าวลอยตึงเต็มที่ ก็จะนำประทัดหรือหางว่าวมาผูกติดกับวงปาก ปลดไม้ค้ำยันออก และปล่อยขึ้นไป ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะดูว่าว่าวหรือโคมของใครสวยหรือไม่ โดยดูตั้งแต่ ขนาด รูปทรงของว่าว การลอยตัว และลูกเล่นต่าง ๆ ที่ผูกติดวงปากของว่าวหรือโคมลอย

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนั้น นิยมเล่นหรือแข่งขันกันในเทศกาลงานประเพณีสำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณียี่เป็ง หรืองานบุญต่าง ๆ ไม่มีข้อจำกัด

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า เพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้นว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไป ถ้าไปตกในบ้านใครบ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียด จัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีในหมู่บ้านอีกด้วย