วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

หมากเก็บ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  กรุงเทพมหานคร

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์สำหรับเล่น คือ ก้อนหิน หรือก้อนกรวดที่มีลักษณะกลม ๆ
วิธีการเล่น
ใช้สิ่งสมมติเป็นหมาก ๕ ก้อน เริ่มต้นด้วยการทอด คือ การเทปล่อยให้หมากทั้ง ๕ กระจายไปบนพื้นกระดาน ถ้าก้อนไหนอยู่ห่างถือเป็นตัวนำและขึ้นต้นด้วยหมากหนึ่ง คือ หยิบนำลูกไว้ต่างหากโยนขึ้นไป แล้วปล่อย ๔ ลูกกระจายบนพื้น ทีละลูก และรับลูกที่โยนให้ได้ในขณะเดียวกัน ถ้าเก็บได้หมดก็ต่อหมาก ๒ หมาก ๓ หมาก ๔ ต่อไป ด้วยวิธีเล่นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเก็บลูก ๓ ลูกพร้อมกัน เรียกว่า หมาก ๓ แล้วจึงเก็บอีก ๑ ลูก ถ้ารวมหมดเรียกว่า หมาก ๔ และลูกโยนนั้นจะตกไม่ได้ ถ้าตกนับเป็นตาย ต้องให้คนอื่นเล่นต่อไป หมากเก็บนี้มีวิธีเล่นพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น การใช้มือซ้ายป้องและเขี่ยหรือเก็บหมากให้เข้าในมือทีละลูก ทีละ ๒ ๓ ๔ ตามลำดับ เรียกว่า "อีกาเข้ารัง" ถ้าเขี่ยไม่เข้าก็นับเป็นตาย ยังมี "อีกาออกรัง" "รูปู" ซึ่งใช้มือซ้ายรูปต่าง ๆ ถ้าใช้นิ้วกลางและหัวแม่มือยืนพื้น นิ้วอื่นปล่อยเป็นรูปเหมือนซุ้มประตู ก็เรียกว่า "อีกาออกรัง" ถ้าใช้นิ้วกลางกับนิ้วแม่มือขดเป็นวงกลมนิ้วชี้ชี้ตรง นิ้วนอกนั้นยันพื้นเป็นรูปเหมือนรูปู ก็เรียก "รูปู" ผู้เล่นต้องเก็บหมากลงในรูปู หรือเขี่ยออกนอกรังในขณะที่รับลูกโยนให้ได้พร้อมกัน การละเล่นชนิดนี้ต้องอาศัยการคาดคะเนให้ดี ในขณะโยนลูกว่าควรจะสูงต่ำเพียงใด ในการโปรยลูกว่าถึงกำหนดต้องเก็บเท่าไร จะได้โปรยให้หมากเหล่านั้นอยู่ชิดหรือห่างกันอย่างไร เพราะถ้ามือที่เก็บไปถูกหมากอีกลูกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในแม่ที่กำหนดไว้ก็ถือเป็นตายเหมือนกัน เช่น หมากหนึ่ง ถ้าไม่โปรยให้ห่างกันเกิดมีหมาก ๒ ลูกไปชิดกันเข้าก็ต้องพยายามเก็บลูกหมากลูกนั้นไม่ให้กระเทือนถึงอีกลูก หนึ่ง ถ้าถูกอีกลูกหนึ่งก็ถือว่าเป็น หรือถ้าเก็บหมาก ๒ เกิดไปชิดกัน ๓ ลูก ก็เก็บลำบาก ความสนุกอยู่ตรงคอยจ้องจับว่าใครจะตาย

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

การเล่นหมากเก็บไม่ได้จำกัดโอกาสและเวลา จะเล่นเมื่อใดก็ได้ ที่ว่างเว้นจากภารกิจประจำวัน เพื่อความเพลิดเพลินและสนุกสนาน

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ฝึกความว่องไว ไหวพริบ ความระมัดระวัง และฝึกสายตาอีกด้วย