วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

มวยไทย

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  กรุงเทพมหานคร

  • อุปกรณ์ และวิธีเล่น

อุปกรณ์
๑. เวที ต้องยกสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า ๔ ฟุต ไม่เกิน ๕ ฟุต สร้างอย่างแข็งแรงปลอดภัยตามแบบมาตรฐานกำหนด
๒. สังเวียน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๖ เมตร ถึง ๗.๒ เมตร อยู่ภายในเส้นเชือก ๓ เส้น (หรือ ๔ เส้น) เชือกแต่ละเส้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย ๑.๙ เซนติเมตร ขึงตึงติดกับเสาที่มุมทั้ง ๔
๓. นวม ปัจจุบันนักมวยต้องสวมนวมขนาด ๔ ออนซ์
๔. การแต่งกาย ผู้เข้าแข่งขันมวยไทยต้องสวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ นอกจากนั้นอาจจะสวมปลอกรัดข้อเท้า อาจมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้
๕. มงคล นักมวยไทยทุกคน จะต้องสวมมงคลที่ศีรษะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องสวมตลอดเวลาที่ทำการไหว้ ครู และร่ายรำจะถอดออกจากศีรษะเมื่อทำการแข่งขัน
๖. ท่ารำไหว้ครู นับว่าเป็นศิลปะของแต่ละสำนัก จะอบรมสั่งสอนกันมา แต่ลีลาการร่ายรำจะคล้าย ๆ กัน
๗. เครื่องดนตรีไทย ประกอบด้วย คือ ปี่ชวา ๑ กลอง ๑ ฉิ่ง ๑ ใช้จังหวะดนตรี ตอนร่ายรำ เป็นจังหวะช้า เมื่อเริ่มต่อสู้ ดนตรีจะใช้ทำนองเร่งเร้า
๘. กรรมการผู้ตัดสิน มีกรรมการชี้ขาดบนเวที ๑ คน กรรมการข้างล่าง ๒ คน เป็นผู้ตัดสินให้คะแนน มีผู้จับเวลา ๑ คน และแพทย์ประจำเวที ๑ คน
๙. กติกาการเล่น ชก ๕ ยก ยกละ ๓ นาที พักระหว่างยก ๒ นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นคล้ายมวยสากล คือ ใช้อวัยวะต่อสู้ เช่น หมัด เท้า ศอก ชก เตะ ถีบ ทุบ ตี ถอง ฯลฯ ได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยไม่จำกัดที่ชก
๑๐. มุม แบ่งเป็นมุมแดง มุมน้ำเงิน จะเป็นที่พักให้น้ำของคู่ต่อสู้ทั้งสอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแล ให้น้ำดื่ม และนวด หรือประคบที่ช้ำ บวม ตามแต่ละกรณีขณะพัก ระหว่างเวลาพักยก ๒ นาที

วิธีเล่น
๑. การไหว้ครูและร่ายรำ เริ่มที่กราบ ๓ ครั้ง เพื่อระลึกถึงบิดา มารดา ครู อาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอพรพระคุ้มครองให้ชนะ ด้วยความปลอดภัยที่สุด แล้วร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่สอนไว้ให้ ดนตรีจะบรรเลงจังหวะช้า ซึ่งเป็นศิลปที่แตกต่างจากชาติใด ๆ เป็นจุดที่น่าสนใจมาก และแสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติด้วย
๒. เริ่มการแข่งขัน ครูจะเป็นผู้ถอดมงคลจากศีรษะ หลังจากนั้นกรรมการผู้ชี้ขาดจะเรียกนักมวยทั้งสองออกจากมุมของตนจับมือกัน พร้อมกับทบทวนกติกาสำคัญ ๆ ให้
๓. เมื่อจบการแข่งขัน กรรมการผู้ตัดสินให้นักมวยทั้งสองจับมือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

  • โอกาส/เวลาที่เล่น

มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ และป้องกันตัว สมัยโบราณเป็นการสู้แบบตัวต่อตัว สมัยปัจจุบันจะมีกติกามากขึ้น มวยอาชีพมีระเบียบกติกาเป็นทางการ มีหลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขันเพิ่มขึ้นเท่าที่หาหลักฐานได้ คือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา
แบ่งได้ ๕ สมัย คือ
๑. สมัยสวนกุหลาบ
๒. สมัยท่าช้าง
๓. สมัยสวนสนุก
๔. สมัยหลักเมือง และสมัยเจ้าเชษฐ์
๕. สมัยปัจจุบัน ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินี เป็นประจำทุก ๆ วันพฤหัสบดี วันเสาร์ วันอาทิตย์ และมีเวทีชั่วคราวอื่น ๆ เช่น เวทีกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตามต่างจังหวัด มีการแข่งขันทั้งมวยไทยและมวยสากล ตลอดจนได้รับนักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขันและจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศด้วย

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

ผู้ได้รับการฝึกวิชามวยไทยจนมีฝีมือแล้ว ย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เช่น ทำให้มีความมั่นใจในตนเอง เกิดความกล้าหาญ มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น มีความสุขุมเยือกเย็น ไม่ดีใจหรือเสียใจง่าย มีความพินิจพิเคราะห์และรู้จักใช้เหตุผล มีความมานะอดทนในการสร้างสมรรถภาพทางกาย มีเชาว์และไหวพริบ ไวทันต่อเหตุการณ์และสามารถใช้เป็นศิลปะป้องกันตัว มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ท้อแท้ หรือจำนนต่อเหตุการณ์ง่าย ๆ และมีความรักสุจริตยุติธรรม
สาระสำคัญของการเรียนมวยไทย มีดังนี้
๑. ทำให้ร่างกายแข็งแรง-อดทน
๒. ทำให้เกิดความเร็ว-คล่องตัว
๓. มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
๔. เป็นการป้องกันตัว
๕. เป็นการบริหารทุกส่วนของร่างกาย
๖. ช่วยรักษา ศิลปะประจำชาติ