วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

รำมะนา

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ชัยนาท

  • อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
รำมะนา ประกอบด้วยดนตรี "กลองรำมะนา" ฉิ่ง ฉาบ
การแต่งกาย ทั้งหญิงและชายแต่งกายตามสมัยนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๘ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

  • วิธีการเล่น

รำมะนา เป็นการร้องเพลงโต้ตอบกันไปมาคล้ายลำตัด แต่ใช้เพลงรำวงในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ร้องขึ้นต้นและลงท้าย เช่น เพลงแปดนาฬิกา เพลงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพลงช่อมาลี เพลงดวงจันทรา และเพลงรำวงมาตรฐานมาดัดแปลงให้เข้ากับการเล่นรำมะนาได้อย่างเหมาะสม โดยมีนักดนตรี นักร้อง และนักรำ ซึ่งจะรำกันเป็นคู่ ๆ การรำจะใช้ภาษาท่าซึ่งตีบทมาจากเพลงที่ร้องโต้ตอบกัน ผู้รำจะร้องเพลงที่รำไปด้วย ลีลาท่ารำจะอ่อนช้อยงดงาม สร้างความสนุกสนานให้กับนักดนตรี นักร้อง นักรำ และผู้ชมได้เป็นอย่างดี

  • โอกาสหรือเวลาเล่น

รำมะนานิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ งานบวชนาค งานมงคลสมรส และงานสนุกสนานรื่นเริงต่าง ๆ

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

๑. ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสริมสร้างความสามัคคี
๒. "รำมะนา" น่าจะมาจาก "รำโทน" ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันแพร่หลายทุกภูมิภาคของประเทศไทย ต่างกันที่ดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่น รำโทนจะใช้โทนตีกำกับจังหวะ ส่วนรำมะนาจะใช้กลองรำมะนาตีกำกับจังหวะ และลีลาการร่ายรำรำมะนาจะอ่อนช้อยกว่ารำโทน
๓. จังหวัดชัยนาทได้นำ "รำมะนา" เข้าร่วมขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมในพิธีเปิดปีการท่องเที่ยวไทย พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๑ ณ บริเวณท้องสนามหลวง